Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิในไทยยื่นหนังสือที่สถานทูตจีน เพื่อเรียกร้องให้ทางการจีนยุติการคุกคามทนายความและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในจีน แต่สถานทูตจีนไม่ส่งตัวแทนออกมารับจดหมายจึงยื่นหนังสือให้มาสคอตแพนด้าแทน


ตัวแทนกลุ่มยื่นหนังสือกับแพนด้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรีจีน-ไทย
หลังสถานทูตจีนไม่ได้ส่งตัวแทนออกมารับจดหมาย 

6 ส.ค. 2558 เวลา 10.00 น. ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเครือข่าย พร้อมนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมตัวกันที่หน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ถ. รัชดาภิเษก กรุงเทพ เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการคุกคามทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยยื่นหนังสือผ่านแพนด้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรีจีน-ไทย เนื่องจากทางสถานทูตจีนไม่ได้ส่งตัวแทนออกมารับจดหมาย

เจนจิณณ์ เอมะ ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจีนกวาดจับทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน เป็นจำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ด้วยสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ แม้ภายหลังจากที่มีการสอบสวนได้มีการปล่อยตัวทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ยังคงมีทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนกว่า 20 คน ที่ยังถูกควบคุมตัว โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด

“การกระทำของรัฐบาลจีนในกรณีนี้ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางและเป็นระบบอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวถึงสวัสดิภาพของผู้ถูกจับกุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย และอีกทั้งยังมีข้อกังวลถึงการคุกคามต่อครอบครัวของเขาเหล่านั้น”

โดยทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจีนดังนี้

·       ให้ยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อคุกคาม ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงครอบครัวและบุคคลผู้เกี่ยวข้องในประเทศจีนในทุกวิถีทาง

·       ให้รัฐบาลจีนเปิดเผยชะตากรรมของผู้ถูกจับกุมทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข และต้องให้สิทธิแก่ทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

ด้าน บารมี ชัยรัตน์ กรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงทางการจีน ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2558 โดยสมาชิก นักกิจกรรมและผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากประเทศต่างๆ ได้ส่งจดหมายถึงสถานทูตจีนในประเทศนั้นๆ เพื่อเรียกร้องให้ทางการจีนยกเลิกมาตรการปราบปรามทนายความและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน

“ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเหล่านี้คือบุคคลที่พยายามช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนให้ได้รับความเป็นธรรม แต่การที่พวกเขาช่วยคนอื่นกลับทำให้พวกเขาต้องตกเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดเผยที่อยู่ของทนายความและนักกิจกรรมที่หายตัวไปทั้งหมด และเรียกร้องให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนสามารถเข้าถึงทนายและการติดต่อกับครอบครัวได้ และรัฐต้องให้การประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวต้องได้รับการคุ้มครองจากการทรมาน และการปฏิบัติโดยมิชอบทุกกรณี”

ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการประสานงานไปยังสถานทูตจีนประจำประเทศไทยแล้วเพื่อขอยื่นจดหมายในวันและเวลาดังกล่าว แต่เนื่องจากทางสถานทูตจีนไม่ได้ส่งตัวแทนออกมารับจดหมาย ดังนั้นจึงมีการยื่นหนังสือกับแพนด้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรีจีน-ไทยแทน

ภาพรณรงค์ของแอมเนสตี้ฯ 


 

จดหมายเปิดผนึก
 
วันที่ 6 สิงหาคม 2558
 
เรียน   ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย
เรื่อง    ขอให้รัฐบาลจีนยุติการคุกคามทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
 
            จากกรณีที่รัฐบาลจีนกวาดจับทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน เป็นจำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ด้วยสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  แม้ว่าได้มีการปล่อยตัวทนายความฯและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาหลังจากการสอบสวน  แต่ยังคงมีทนายความฯและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกกว่า 20 คน ที่ยังคงถูกควบคุมตัว โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด การกระทำของรัฐบาลจีนในกรณีนี้ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางและเป็นระบบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ถึงสวัสดิภาพของผู้ถูกจับกุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย อีกทั้งยังมีข้อกังวลถึงการคุกคามต่อครอบครัวของเขาเหล่านั้น ด้วยประการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
 
            การดำเนินกิจการของทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ก็เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ รัฐบาลจีนในฐานะของรัฐภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติย่อมมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้ปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม และยกระดับ ซึ่งสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคม ปฏิบัติการดังกล่าวของรัฐบาลจีน- แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการดังกล่าว อันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะประกันคุณค่าที่สำคัญนั่นคือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 
 
            ในนามของทนายความสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามรายนามและองค์กรแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลจีนดังนี้
 
1.      ยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบในการคุกคาม ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทนายความสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครอบครัวและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเขาเหล่านั้น และ
 
2.      รัฐบาลจีน ต้องเปิดเผยชะตากรรมของผู้ถูกจับกุมโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข และต้องให้สิทธิแก่ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่าง เท่าเทียม และ เป็นธรรม ดังมีรายชื่อแนบท้ายตามจดหมายฉบับนี้ รวมถึงผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ทั้งหมดทันที
 
ด้วยเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
1.      สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
2.      มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
3.      ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
4.      มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
5.      สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
6.      ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7.      นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ
8.      นางสาวผรัณดา  ปานแก้ว  ทนายความ
9.      นางสาวมาซีเต๊าะ หมันหล๊ะ  นักกฎหมาย 
10.  นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักสิทธิมนุษยชน
11.  นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์  นักกฎหมาย
12.  นายศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย
13.  นางสาวอุบลวรรณ บุญรัตนสมัย นักกฎหมาย
14.  นางสาวสุนิดา ปิยกุลพานิชย์   นักกฎหมาย
15.  นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ
16.  นางสาวศิวนุช สร้อยทอง ทนายความ
17.  นายมนตรี อัจฉริยสกุลชัย ทนายความ
18.  นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ ทนายความ
19.  นายอัมรินทร์ สายจันทร์  นักกฎหมาย
20.  นางสาวคุณัญญา สองสมุทร ทนายความ
21.  นายอนุชา วินทะไชย นักสิทธิมนุษยชน
22.  นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์  นักกฎหมาย
23.  นางสาวคอรีเยาะ มานุแช  นักกฎหมาย
24.  นางสาวประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า  นักกฎหมาย
25.  นางสาว ส.รัตนมณี  พลกล้า  ทนายความ
26.  นางสาวนภาพร  สงปรางค์  ทนายความ
27.  นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ทนายความ
28.  นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ
29.  นายบัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
30.  นายปรีดา นาคผิว  ทนายความ
31.  นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย นักสิทธิมนุษยชน
32.  นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ
33.  นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ
34.  นางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์  ทนายความ
35.  นางสาวภาวิณี ชุมศรี  ทนายความ
36.  นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล  นักกฎหมาย
37.  นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ ทนายความ
38.  นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ
39.  นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ
40.  นายพนม บุตะเขียว ทนายความ
41.  นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ
42.  นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ
43.  นางเจนจิณณ์  เอมะ นักสิทธิมนุษยชน
44.  นางสาววราภรณ์  อุทัยรังษี ทนายความ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net