Skip to main content
sharethis

ภรรยาของนายพอละจี  รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ ยื่นหนังสือขอดีเอสไอรับเป้นคดีพิเศษหลังผ่านไป 1 ปี 4 เดือนไม่คืบซ้ำหัวหน้าอุทยานคนเก่ากลับเข้าพื้นที่ ระบุพยานเกิดความหวาดกลัว

6 สิงหาคม 2558  เวลา 10.00 น.   ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ  นางสาวพิณนภา   พฤกษาพรรณ   ภรรยาของนายพอละจี  รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย  ซึ่งหายตัวไปภายหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีการหายตัวของนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทำให้มีอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวน เกิดความหวาดกลัวของพยาน และมีความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน

น.ส. พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของนายบิลลี หรือพอละจี รักจงเจริญ ระบุว่ามีความกังวลเรื่องคดีที่ไม่มีความคืบหน้าและหวั่นเกรงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เนื่องจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลับเข้าในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากถูกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงชี้ว่ากระทำความผิดวินัย ในการจับกุมตัวนายบิลลี่ ซึ่งครอบครองน้ำผึ้งป่า เพราะไม่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนตามระเบียบของทางราชการ และถูกย้ายไปช่วยราชการที่กรุงเทพฯ

น.ส. พิณนภายังระบุว่า แม้ทีมสืบสวนสอบสวนจะพบหลักฐานบางอย่างและมีการตรวจดีเอนเอของนายพอละจี แต่ผ่านมานานแล้วก็ยังไม่ทราบผล จึงอยากให้ทางดีเอสไอเข้ามารับคดีดังกล่าวและติดตามความคืบหน้า พร้อมทั้งขอให้แต่งตั้ง พ.ต.ท.ไตรวิช น้ำทองไทย หัวหน้าทีมสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ร่วมเป็นคณะสอบสวนคดีพิเศษด้วย

คดีนี้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558

ด้าน พ.ต.ต. วรณัน  ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนไว้และกล่าวว่าทางดีเอสไอให้ความสำคัญกับคดีดังกล่าว แต่ก็ต้องประสานกับทางพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบที่จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ โดยเบื้องต้นต้องพิจารณาว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาหรือไม่ และมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เข้าข่ายเป็นคดีที่จะรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ เช่น มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล พนักงานสอบสวนทำอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นต้น

นายบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจากค้นตัวนายบิลลี่แล้วพบรังผึ้งและน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนแล้วที่ไม่มีผู้ใดพบเห็นนายบิลลี่อีกเลย

ทั้งนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายขององค์การสหประชาชาติไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 เท่ากับเป็นการยอมรับถึงความสำคัญของการป้องกันมิให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายและตระหนักว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net