Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นชาติในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นได้ในหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นบริบททางการเมือง บริบททางเศรษฐกิจ หรือบริบททางสังคม และจากที่ผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตการณ์การเกิดขึ้นของกระบวนการผลิตซ้ำของวาทกรรมความเป็นชาติเหล่านี้พบว่า เมื่อเกิดวิกฤตทางความเชื่อมั่นขึ้นในทางใดทางหนึ่ง(การเมือง เศรษฐกิจ สังคม) วาทะกรรมความเป็นชาติเหล่านี้มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หรือสร้างขึ้นใหม่ผ่านเครื่องมือในการกล่อมเกลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย โดยผู้ผลิตวาทกรรมเหล่านี้หาใช่ใครอื่น นอกจากผู้ที่ได้กระทำให้เกิดวิกฤตทางความเชื่อมั่นในด้านต่างๆนั่นเอง

เครื่องมือและกระบวนการที่ใช้ในการผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นชาตินั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบเรียน ภาพยนตร์ ละคร ที่ขาดไปเสียไม่ได้เลยก็คืออนุสาวรีย์(Monument) ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะชี้ให้เห็นถึงนัยยะบางอย่างที่แฝงมากับการสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งอนุสาวรีย์ใหม่ล่าสุดที่กำลังมาแรงและเป็นกระแสในช่วงนี้คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ 7 กษัตริย์ไทยหรือที่เรียกว่า "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม"  ซึ่งประกอบไปด้วย 1.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 2.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 4.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 5.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 6.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 7.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  

พระบรมราชานุสาวรีย์ถูกตั้งขึ้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่ของกองทัพบก[1] โดยจากเนื้อข่าวกล่าวถึงรายละเอียดขององค์อนุสาวรีย์ว่า

“ กองทัพบกได้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์บริเวณพื้นที่กองทัพบกใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 222 ไร่ โดยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ในอิริยาบถทรงยืน ความสูง 13.90 เมตร หล่อด้วยโลหะสำริด มีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์”[2]

ซึ่งจากข้อความที่ได้อ้างอิงมาข้างต้นนั้นเต็มไปด้วยนัยยะที่สามารถตีความไปได้ในหลายทิศทาง อีกทั้งหากผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ของประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง ก็อาจจะมองเห็นถึงความบังเอิญที่พระบมราชานุสาวรีย์ของประเทศไทยเรา มีลักษณะการสร้างที่คล้ายคลึงกับพระบรมราชานุสาวรีย์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ โดยที่ประเทศเมียร์มาร์นั้น มีพระบรมราชานุสาวรีย์กษัตริย์ 3 พระองค์ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.พระเจ้าอโนรธามังช่อ 2. พระเจ้าบาเยงนอง จอเตง นรธา(พระเจ้าบุเรงนอง) และ 3. พระเจ้าอลองพญา

โดยกรณีความเหมือนที่แตกต่างนี้ ผู้เขียนมิกล้าที่จะทำการวิเคราะห์ถึงนัยยะความเชื่อมโยงหรือการข่มกันของพระบรมราชานุสาวรีย์ของทั้งสองประเทศนี้ แต่ผู้เขียนขอยกข้อมูลเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทำการวิเคราะห์ผ่านวิจารณญาณของแต่ละท่าน

กลับมาที่เรื่องของกระบวนการผลิตซ้ำวาทะกรรมความเป็นชาติ ผ่านเครื่องมือที่รียกว่า “อนุสาวรีย์” จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในประเทศไทยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่พยายามหานัยยะซ่อนเร้นที่แฝงมากับอนุสาวรีย์เพื่อใช้อธิบาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเหตุผลของเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์นั้นๆอยู่อย่างมากมาย

ดังจะเห็นได้จากงานเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์(2557)[3]ที่กล่าวไว้ในชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์  ว่าอนุสาวรีย์คือสิ่งก่อสร้างในลักษณะประติมากรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต  แต่อนุสาวรีย์ในความหมายของคนไทยไม่ได้หมายความว่าอนุสาวรีย์นั้นเป็นเพียงรูปปั้นไร้จิตวิญญาณที่เป็นสัญลักษณ์ตั้งเด่นตระหง่านแข็งทื่ออยู่กลางเมือง แต่อนุสาวรีย์ในความคิดของคนไทยนั้น คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”  ในคติความเชื่อของคนไทยทุกยุคทุกสมัย

จากงานเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ จะเห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนั้นถูกวัฒนธรรมความเป็นอยู่ตีกรอบความคิดของตนไว้ ว่าเราจะต้องใช้ชีวิตไปในทิศทางไหน ตีกรอบในเรื่องสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่รอบตัวว่าสังคมต้องการให้เรา “กลืน” เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมความเชื่อ แม้กระทั่งสังคมยังสามารถตีกรอบแนวความคิดของเราให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาเลยก็ว่าได้

แนวความคิดของคนในสังคมส่วนใหญ่ถูกตีกรอบจากสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ” มาอย่างยาวนาน โดยความเชื่อที่เข้ามาอยู่ในความคิดของแต่ละบุคคลนั้นถูกส่งต่อให้เข้าแทรกซึมคนในสังคมอย่างแนบเนียนผ่าน “เรื่องเล่า” ซึ่งผู้ถ่ายทอดก็คือคนในสังคมที่มีความอาวุโส หรืออยู่มาแต่เก่าแต่ก่อนนั้นได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆในชุมชนของตนเองแก่ลูกหลาน และเมื่อสังคมไทยนั้นนับถือความอาวุโสกว่าของคนในสังคมเดียวกัน ความเชื่อที่ถูกเล่าขานต่อกันมาก็ถูกคนในสังคมจดจำได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

โดยในเรื่องเล่าของความเชื่อนั้นเราเรียกว่า “ความทรงจำร่วมของคนในสังคม” (collective memory) ความทรงจำร่วมของสังคมนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการปกครองในสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งความทรงจำร่วมนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามคำบอกเล่า แต่อาจเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจในสังคมที่ได้ทำการ “ยัดเยียด”  ความทรงจำให้แก่คนในสังคมเพื่อผลประโยชน์ต่อระบบของตน ความทรงจำร่วมนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับการกำเนิดของระบบสังคมในการอยู่ร่วมกันเพราะมันเป็น “อาวุธ” ที่ทรงอานุภาพที่สุดที่จะใช้ในการปกครองมนุษย์ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เช่น ความเชื่อเรื่องการเป็นสมมุติเทพของกษัตริย์ โดยความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาเพราะ ระบบของสังคมที่มีคนอาศัยอยู่ร่วมกันนั้นต้องการ “ผู้นำ” และผู้นำของสังคมนั้น จำเป็นต้องมีความสามารถหรืออาจจะเรียกว่าความเหนือมนุษย์ ซึ่งกษัตริย์คือบุคคลในอุดมคติในเรื่องเหนือมนุษย์ จึงได้เป็นผู้ปกครองของคนในสังคม และผู้ใต้ปกครองก็ถูกตีกรอบความเชื่อให้เชื่อว่าผู้ปกครองของตนเองนั้นคือเทพจริงๆ ไม่สามารถลบหลู่ได้จึงทำให้ระบบปกครองเป็นไปได้อย่างไม่มีปัญหา

การที่ระบบการปกครองของผู้ปกครองไม่มีปัญหานั้น แสดงให้เห็นว่าการยัดเยียดความทรงจำร่วมของสังคมนั้นบรรลุผล ความทรงจำในรูปแบบของอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์เป็นประติมากรรมที่คนไทยนับถือเช่นเดียวกับ “รูปเคารพ” ซึ่งอำนาจของมันคือ “ความเฮี้ยน” ที่มีอยู่ในตัวมันเอง อนุสาวรีย์จึงเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพในการบอกเล่าความทรงจำ

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า อนุสาวรีย์ในฝั่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีอิทธิพลทางความเชื่อและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จาก พวงมาลัยที่มีคนมาเคารพสักการบูชา บนบานศาลกล่าว ขอพรแก่อนุสาวรีย์ เพราะคนไทยเชื่อว่ามีความ “เฮี้ยน” อยู่ภายในอนุสาวรีย์นั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อนุสาวรีย์ทุกอนุสาวรีย์ไม่เว้นแม้แต่อนุสาวรีย์ของสามัญชน มีฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่นั้น (เทวดาอารักษ์ประจำเมืองตามความคิดของผู้เขียน) ซึ่งทุกๆอนุสาวรีย์จะมีเรื่องราวในตัวของอนุสาวรีย์ที่แตกต่างกันออกไป

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าอนุสาวรีย์มีอิทธิพลต่อคนในสังคมนั้นๆ เพราะความเชื่อหรืออาจเป็นเพราะการแฝงความทรงจำร่วมที่เป็นนัยยะทางการเมือง ที่ต้องการให้สังคมมีความทรงจำไปในทิศทางที่ผู้กำหนดความทรงจำต้องการก็เป็นได้ หรือในงานเขียนของพิบูล หัตถกิจโกศล(2527)[4] ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ อนุสาวรีย์ไทย: การศึกษาในเชิงการเมือง  โดยงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการกำเนิดขึ้นของอนุสาวรีย์ในไทย ซึ่งพิบูลได้อธิบายกระบวนการการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่มาหรือผู้สนับสนุนในการก่อสร้าง ตลอดจนศึกษาถึงการนำเอาอนุสาวรีย์ต่างๆมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง งานชิ้นดังกล่าวได้อธิบายว่าอนุสาวรีย์มาพร้อมกับค่านิยม ความคิด ความเชื่อของผู้มีอำนาจและประชาชนในแต่ละยุคสมัยที่มีอนุสาวรีย์นั้นๆเกิดขึ้น ความคิดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์นิยม(โดยให้ความสำคัญกับราชวงศ์จักรีเป็นกรณีพิเศษ) ความคิดที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ ความคิดเกี่ยวกับทหารนิยม และความคิดชาตินิยมที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มทหาร ส่วนความคิดที่ถูกให้ความสำคัญน้อยที่สุดคือความคิดที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของมาลินี คุ้มสภา(2541)[5] ในหนังสืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงการให้ความหมายของอนุสาวรีย์และอธิบายวาทกรรมหรือชุดความทรงจำต่างๆที่แฝงมากับ(ชื่อ)ตัวอนุสาวรีย์ และอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าตัวอนุสาวรีย์มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการ “กระจาย”ความหมาย ให้กับผู้ที่พบเจอ โดยหนังสืออธิบายว่า อนุสาวรีย์ไม่ได้มีความหมายตายตัวหรือหยุดนิ่งอยู่ที่กับที่ ยกตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใช่ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความหมายของความคิดทางการเมือง สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ หรือสารที่สื่อทางการเมือง บางครั้งภายในสังคมอนุสาวรีย์นี้ถูกสร้างความหมายขึ้นโดยใช้พื้นที่ในชีวิตประจำวัน ผ่านการใช้ภาพ การสร้างเรื่องราวผ่านงานเขียน ความหมายของคำหรือภาษา ซึ่งจะก่อความหมายหนึ่งๆ ของตนขึ้นมาภายใต้เหตุการณ์สภาวการณ์ที่เฉพาะของตน ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ในลักษณะของสิ่งที่ถูกกระทำ (object) เท่านั้น หากยังเปิดโอกาสของการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นจากการสร้างในฐานะผู้กระทำ (subject) ขึ้นมาเองได้ ในที่สุดอนุสาวรีย์จะเป็นทั้งสิ่งที่ถูกกระทำและกระทำการไปด้วยพร้อมๆกัน ไม่สามารถแยกขาดบางสิ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างง่ายดาย เด็ดขาด และชัดเจน

ส่วนงานเขียนที่ถือว่าเป็นไฮไลท์และเข้มข้นที่สุดในการศึกษาเกี่ยวกับอนุสาวรีย์บุคคลก็คืองานเขียนของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ(2538)[6]ในหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  มุ่งอธิบายถึงการใช้ตัวบุคคลในประวัติศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือโดยให้คำอธิบายใหม่ๆแก่ประชาชน โดยหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนั้นให้ภาพในการอธิบายการกำเนิดของอนุสาวรีย์ในยุคต่างๆจนถึงการอธิบายเหตุผลในการสร้างอนุสาวรีย์ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่โดยใช้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเป็นตัวเล่าเรื่องราวงานเขียนซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไว้ว่า อนุสาวรีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์ “สามัญชน” แห่งแรกในประเทศไทยซึ่งสร้างขึ้นโดนแฝงนัยยะต่างๆทางการเมืองไว้ จากกการที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์พบว่าสายพินว่าต้องการสื่อว่า อนุสาวรีย์เป็นเพียงสื่อกลางที่รัฐบาลใช้สื่อสารกับประชาชน โดยบรรจุเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ถูก “สร้างเพื่อนำมาใช้” ประโยชน์กับอำนาจของตน และเป็นอนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนี้ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าสามัญชนก็สามารถมีอนุสาวรีย์เหมือนชนชั้นสูงได้ แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม และอนุสาวรีย์ยังเป็น “สตรี” ซึ่งสามารถสื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย รวมถึงเนื้อหาในหนังสือที่สายพินสื่อว่าวัฒนธรรมในการนับถือท้าวสุรนารีนั้นสามารถเปลี่ยนให้ วีรสตรี กลายเป็น เทวดา ประจำเมืองผ่านทางวีรกรรมทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเผยแพร่ได้อีกด้วย

สุดท้ายงานเขียนที่ได้อธิบายถึงความหมายทางลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์คืองานเขียนของ ชาตรี ประกิตนนทการ(2548)[6] ในหนังสือคณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายถึงระบบสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างในงานสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ว่ามีความหมายทางการเมืองอย่างไร ในยุคต่างๆ ซึ่งตัวหนังสือจะเล่าถึงยุคเฟื่องฟูของการใช้ระบบสัญลักษณ์ในการ“ข่ม”กัน ของระบอบการปกครองทั้งสองระบอบ(ระบอบเก่ากับระบอบใหม่) ไปจนถึงยุคตกต่ำที่ทำให้การใช้ระบอบสัญลักษณ์เพื่อย้ำถึงความเป็นประชาธิปไตยของกลุ่มคณะราษฎร ที่ต้องการนำเสนอแก่ประชาชนได้ถูกทำให้มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยกลุ่มของระบอบเก่า โดยในหนังสืออธิบายว่า "ระบบสัญลักษณ์แบบใหม่ที่กล่าวมานี้ ในสายตาของคนทั่วไปที่ถูกครอบงำด้วยกระแสที่ต้องการ "ลบ/ล้าง" ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในทุกวิถีทาง อาจมองสิ่งเหล่านี้ว่าไร้สาระและไร้รสนิยมทางศิลปะสถาปัตยกรรม เป็นงานศิลปะที่ถูกการเมืองแทรกแซง หรือมองการนำตัวเลขวันที่ต่างๆ มาแปลงเป็นงานสถาปัตยกรรมว่าเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ แต่ถ้าลองตัดอคติในเชิงอุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่ออกไป และมองเลยผ่านจากการประเมินคุณค่าในเชิงสุนทรียภาพ(ที่ไม่มีอยู่จริง) ออกไปบ้าง ก็จะมองเห็นว่า อย่างน้อยงานเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อยุคหนึ่งของสังคมไทยที่สำคัญยิ่ง” จากงานเขียนทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็พอจะทำให้คิดได้ว่า เหตุใดการสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆนั้นจึงยังคงเป็นแฟชั่นที่ฮิตติดลมบนในสังคมไทย

"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" จึงอาจมีหรือไม่มีของแถมที่แฝงมาตามเนื้อหาในประวัติศาสตร์กระแสหลักของแต่ละพระองค์ก็เป็นได้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดังกล่าวแล้ว ทางกองทัพบกยังได้เนรมิต “อาณาจักรเเห่งการเรียนรู้” ขึ้น ภายในบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้อีกด้วย โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์” โดยภายในอุทยานราชภักดิ์นี้ประกอบไปด้วย ลานอเนกประสงค์ ใช้สำหรับกระทำพิธีสำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศด้วย โดยองค์ประกอบหลักของอุทยานราชภักดิ์มี 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ หล่อด้วยโลหะสำริด ซึ่งกองทัพบกได้ขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและปั้นพระบรมรูปต้นแบบ

ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่ลานอเนกประสงค์ ประมาณ 91 ไร่ ใช้สำหรับกระทำพิธีสำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ

ส่วนที่ 3 คือ พิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ บริเวณด้านล่างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยแบ่งเนื้อที่ที่เหลือ 126 ไร่ เป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบและจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย[7] นอกจากนี้ข้อมูลยังกล่าวอีกว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช.กลาโหม) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า กองทัพได้เชิญชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

พล.อ.อุดมเดช ยังกล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า นับตั้งแต่เข้ามาเป็น ผบ.ทบ.ได้มอบนโยบายหลัก 12 ประการของ คสช.แก่กำลังพล โดยประการที่สำคัญที่สุดคือ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ "อุทยานประวัติศาสตร์สมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยามเป็นการแสดงความจงรักภักดี และประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติทั้งในยามรบ และยามสงบ โดยทุกพระองค์ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์นำมาสู่ความเจริญและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทย

อุทยานราชภักดิ์ยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับงบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระมหากษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ องค์ละ 45 ล้านบาท รวมการจัดสร้างลาน แท่นฐาน และปรับสร้างภูมิทัศน์ และการจัดนิทรรศการห้องพระราชประวัติ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 700-800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการจัดสร้างจะไม่ใช้งบประมาณจากทางภาครัฐ แต่จะใช้ "เงินบริจาค" จากประชาชน และภาคเอกชนทั้งสิ้น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความจงรักภักดีด้วยการสมทบทุนถวายความจงรักภักดีเพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์ เผยแพร่พระราชประวัติของกษัตริย์แห่งสยามที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ผบ.ทบ. กล่าวให้คำมั่นว่า การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์จะสำเร็จไปด้วยดี และขอให้ไว้วางใจในเรื่องเงินบริจาคที่จะไม่ให้เกิดการทุจริต โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด โดยอุทยานราชภักดิ์จะแล้วเสร็จภายในปี 2558 นี้[8]

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคงพอที่จะให้ท่านผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ ถึงกระบวนการการสร้างวาทะกรรมความเป็นชาติ และนัยยะอื่นๆตามเนื้อข่าวที่ได้อ้างอิงไว้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านเพื่อใช้เป็นภูมิคุ้มกันแก่ตนเองในการที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อกับของแถมที่แฝงมากับอนุสาวรีย์ทั้งหลายเหล่านั้น

 

อ้างอิง

http://www.komchadluek.net/detail/20150514/206255.html

เรื่องเดียวกัน

นิธิ   เอียวศรีวงศ์. 2557. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

พิบูล หัตถกิจโกศล. 2527. อนุสาวรีย์ไทย: การศึกษาในเชิงการเมือง. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มาลินี คุ้มสุภา. 2541. นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สายพิณ  แก้วงามประเสริฐ. 2538. การเมืองไทยในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

ชาตรี ประกิตนนทการ. 2548, คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ", พิมพลักษณ์ กรุงเทพฯ : มติชน.

อ้างแล้ว, น.1.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net