สภาชนเผ่าพื้นเมือง ยื่นหนังสือยูเอ็น-รัฐสภา จี้ออกกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

ค้านพรบ.ป่าชุมชน เชื่อแยกคนออกจากป่า สภาชนเผ่ายื่นหนังสือยูเอ็น-รัฐสภาออกกฏหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เรียกร้องเคารพอัตลักษณ์

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2558 ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในนามสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเมืองกว่า 100 คน ซึ่งได้มีการจัดงานสมัชชาชนเผ่าระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมายังหน้าอาคารสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน กทม. โดยมีการแสดงการเต้นรำหน้าตึกและถือป้ายเรียกร้องให้สังคมไทยยอมรับอัต ลักษณ์ของชนเผ่าทั่วประเทศไทย และได้มีการแถลงการณ์ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) เรื่อง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยคือคำตอบในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชนเผ่า พื้นเมืองในประเทศไทย และเร่งรัดการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) เป็นผลมาจากกระบวนการรวมตัวเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิภาคประชาชนที่เป็น ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ มนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง United Declaration on the Rights of Indigenous People (UNDRIP)

ในการประชุมสมัชชาของกลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2557 ณ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งเป็นสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) เพื่อมีบทบาทและหน้าที่ตามที่กำหนดในธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศ ไทย พ.ศ. 2557 โดยที่ประชุมได้มีมติเลือกคณะทำงานขับเคลื่อนกิจการสภา ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารกิจการสภา จัดให้มีการขึ้นทะเบียนกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อดำเนินการคัดสรรผู้แทนเข้า เป็นสมาชิกสภา และจัดให้มีการประชุมสมัชชาสภาตามที่กำหนดในธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่ง ประเทศไทย พ.ศ. 2557

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า บัดนี้ มีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองในระดับพื้นที่ได้มาขึ้นทะเบียนตามที่ธรรมนูญกำหนด จำนวน 38 กลุ่มชนเผ่า และ 2 สภาชนเผ่าพื้นเมืองในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการคัดสรรผู้แทนแต่ละชนเผ่าซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนกิจการสภา ได้ประกาศรับรองการเป็นสมาชิกสภาไว้แล้วจำนวน 190 ท่าน จึงได้จัดประชุมสมัชชาครั้งที่ 2/2558 ขึ้นในวันที่ 8 ส.ค. พ.ศ. 2558 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จึงถือได้ว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยมีองค์ประกอบของสมาชิกสภาครบ ถ้วนตามที่กำหนดในธรรมนูญสภาฯ

ในแถลงการณ์ระบุว่า ในโอกาสวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล วันที่ 9 ส.ค.  สชท. จึงขอเรียกร้องและเสนอดังนี้ 1. ให้รัฐบาลยอมรับและเคารพการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามปฏิญญาสหประชาชาติว่า ด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

2. ให้รัฐบาลรับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…… ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้นำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2558 และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพระราชบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อ พิจารณาเป็นการต่อไป

กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี รองประธานสภาชนเผ่าพื้นเมือง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการยื่นหนังสือที่รัฐสภาว่า กรณีการทำงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองนั้น เคยผลักดันร่างกฎหมายเพื่อการก่อตั้งสภาในยุคคณะปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยได้ยื่นให้นายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังไม่มีกำหนดวาระของการประชุมเพื่อพิจารณา ทำให้การทำงานเพื่อออกนโยบายระดับมหาภาคทำได้ยาก สภาชนเผ่าต้องทำหน้าที่ที่เน้นปฏิบัติกันเองภายในพื้นที่ ชุมชน แต่ระดับนโยบายและการออกกฎหมายเพื่อรองรับอย่างเป็นทางการไม่มี

“เราอยากให้รัฐสภา ทำความเข้าใจร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าฯ ให้ชัดเจนและเข้าใจว่าปัญหาการคุกคาม คนพื้นเมืองมีขึ้นทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะการเร่งผ่าน พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่พยายามแยกชนเผ่าออกจากป่า นั้นเรามองว่าคุกคามการมีอยู่ของคนพื้นเมือง พวกเราจึงยอมเดินทางเข้ากรุง และหารือร่วมกันเพื่อผลักดันกฎหมายที่ช่วยให้สิทธิแก่ชาติพันธุ์ทั่วไทย” กิตติศักดิ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท