Skip to main content
sharethis

12 ส.ค. 2558 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมีประเด็นปัญหาที่พบจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาพรวม 9 ประเด็นได้แก่ ปัญหาการกำหนดแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ปัญหาการจัดทำผังเมือง ปัญหาการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย ผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่อ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557 ปัญหาการจัดการทรัพยากรพลังงาน ผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาการจัดการกากของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน และปัญหาการจัดการทรัพยากรประมงทะเล

คณะอนุกรรมการฯมีข้อเสนอเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้

1. ระงับหรือยุติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และสิทธิชุมชน เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรณีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกทั้งที่ปากบารา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา กรณีการดำเนินการตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดน กรณีการจัดผังเมืองในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และกรณีโครงการเหมืองแร่โปรแตซ จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ หากจะยังคงดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรมต่อไป ควรเริ่มต้นกระบวนการใหม่โดยต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจอย่างแท้จริง

2. ชดเชย เยียวยา และฟื้นฟู ในกรณีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล กรณีผลกระทบจากโครงการสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ภาคอีสาน และกรณีผลกระทบมลพิษจากการโรงงานอุตสาหกรรม

3. กรณีผลกระทบจากการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 64/2557  มีความเห็นว่า ควรยุติการดำเนินนโยบายยึดคืนผืนป่ารวมทั้งที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ยุติการตัดฟันต้นยางพารา และยุติหรือชะลอการดำเนินคดีในกรณีที่มีพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 66/2557 นอกจากนี้ควรทบทวนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผน

ทั้งนี้ รายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรรวมถึงข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กสม.จะติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

อนึ่ง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มิถุนายน 2552 – กรกฎาคม 2558 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมทุกประเภทฐานทรัพยากร อาทิ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ทรัพยากรแร่ ดิน และหิน ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรพลังงาน จำนวนประมาณ 800 คำร้อง 

 

สรุปสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร
และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา [1]
เดือนสิงหาคม 2558

(1) ภาพรวมสถานการณ์ปัญหา

ในประเด็นสิทธิมนุษยชนกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการร้องเรียนครอบคลุมทุกประเภทฐานทรัพยากร กล่าวคือ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ทรัพยากรแร่ ดิน และหิน ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรพลังงาน ในขณะที่ลักษณะของปัญหาการละเมิดสิทธิก็เชื่อมโยงในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับปัญหาภายในชุมชนไปจนถึงระดับนโยบายและกฎหมาย อาทิ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐที่ขัดกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ กฎหมายผังเมือง กฎหมายแร่ กฎหมายป่าไม้ กฎหมายพลังงาน เป็นต้น และ       ยังเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐทั้งระดับท้องถิ่นไปจนถึงรัฐบาลอีกด้วย

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่กำลังมีการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะในระดับอาเซียนที่กำลังจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของทุนข้ามชาติจำนวนมากไปยังประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เพียงพอ เช่น พม่า ลาว หรือกัมพูชา อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของทุนข้ามชาติดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างทุนข้ามชาติและชุมชนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ที่พึ่งพาทรัพยากรเหล่านั้นในการดำรงวิถีชีวิตมาช้านาน และได้กลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยด้วยเช่นกัน อาทิ กรณีประชาชนชาวกัมพูชาร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนสัญชาติไทยที่ไปก่อตั้งโรงงานน้ำตาลและสัมปทานที่ดินที่ชุมชนท้องถิ่นอาศัยทำกินอยู่นับหมื่นไร่เพื่อปลูกอ้อยที่ประเทศกัมพูชา และก่อให้เกิดปัญหาการขับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากพื้นที่ และการขัดขวางไม่ให้ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนเคยพึ่งพาอาศัยมาช้านาน เป็นต้น

(2) สถานการณ์เด่นและข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. ผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาคใต้
1.1 สถานการณ์ปัญหา

จากการที่รัฐได้กำหนดให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จนถึงแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่สามในปัจจุบัน โดยมีส่วนขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลงสู่พื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และศูนย์กลางพลังงานของประเทศ ด้วยโครงการโรงถลุงเหล็กต้นน้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีกรณีร้องเรียนเรื่องคัดค้านแผนพัฒนาเวสเทิร์นซีบอร์ดและแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด และแผนยุทธศาสตร์จังหวัดส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรณีร้องเรียนคัดค้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าวเป็นแผนที่กำหนดให้มีการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กและศูนย์กลางพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก โรงถลุงเหล็กข้างต้น มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำ ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ จึงทำให้มีโครงการต่างๆ ดังกล่าวเกิดขึ้น และเป็นกรณีร้องเรียนของชาวบ้าน ได้แก่ กรณีร้องเรียนเรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกของเครือสหวิริยา และท่าเทียบเรือตำบลอ่าวน้อย และการเปลี่ยนสีผังเมืองเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าทับสะแก

ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้มีการร้องเรียนคัดค้านโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชรวม 22 โครงการ เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดเป้าหมายหลักแผนพัฒนาภาคใต้และแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่สาม ที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงงานปิโตรเคมี จึงก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในพื้นที่จังหวัดสงขลามีการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาภาคใต้รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ได้มีการเปิดดำเนินการไปแล้วและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา โครงการวางท่อจากโรงแยกก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ อำเภอจะนะ โครงการเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ โครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา แปลงสัมปทานปิโตรเลียม G5/43 อ่าวไทย และกรณีแก้ไขน้ำท่วม อำเภอจะนะ ส่วนอีกประเภทคือการร้องเรียนคัดค้านโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อขออนุมัติในการดำเนินโครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง อำเภอจะนะ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง อำเภอนาทวี โครงการระบายน้ำปลักปลิง อำเภอจะนะ ส่วนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำแซง และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำขัน อำเภอรัตภูมิ อยู่ระหว่างการชะลอโครงการ

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสงขลาได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมภายใต้แผนแม่บทเพื่อการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกรอบความร่วมมือของพื้นที่เศรษฐกิจสามฝ่าย ได้แก่ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย – มาเลเซีย และพัฒนาการลงทุนด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งวางแผนที่จะใช้ฐานการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นอกจากนี้ พื้นที่จังหวัดสงขลายังเป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจด้านพลังงานฝั่งทะเลอ่าวไทยด้วย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ส่วนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง และโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำ ตลอดจนเตรียมระบบการส่งน้ำ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นประตูเมืองอุตสาหกรรมและสะพานเศรษฐกิจพลังงาน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางพลังงานและการขนส่งของภูมิภาค โดยสะพานเศรษฐกิจจะเชื่อมต่อการขนส่งด้านพลังงานระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จากฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มาสู่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสงขลา ผ่านระบบรถไฟรางคู่และท่อพลังงาน กรณีร้องเรียนในจังหวัดสตูลทั้งหมดเป็นโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อขออนุมัติโครงการ โดยเป็นการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู และโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่วนการร้องเรียนคัดค้านโครงการอื่นๆ จะเป็นโครงการที่กำหนดขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสตูล ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการนิคมอุตสาหกรรมละงู และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง อำเภอควนกาหลง ส่วนโครงการขุดอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูลและเมืองเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียนั้น เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศในเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT
ผลการตรวจสอบพบว่า แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นจากรัฐส่วนกลาง โดยที่ไม่มีประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและจัดทำ จึงละเลยสิทธิของชาวบ้านและชุมชนในการกำหนดอนาคตและเจตจำนงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา ส่งผลให้ชะตากรรมและชีวิตของท้องถิ่นถูกกำหนดมาจากองค์กรภายนอก ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ สิทธิในมาตรฐานการครองชีพ จากการประกอบอาชีพที่อิงอาศัยกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งบทเรียนผลกระทบจากพื้นที่อื่นๆ ทำให้ชาวบ้านมีความกังวลว่าโครงการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้จะเข้ามาทำลายถิ่นอาศัยและแหล่งทำมาหากินประกอบอาชีพของตนเอง นอกจากนี้ โครงการพัฒนาภาคใต้เป็นชุดแผนงานโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งได้มีการวางแผนกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว และเจ้าของโครงการก็รู้ดีว่ามีผลกระทบ แต่ไม่ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลและไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินโครงการต่อสาธารณะ อันส่งผลต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในด้านอื่น ๆ อีกทั้งพื้นที่ดำเนินโครงการมักจะทับซ้อนกับพื้นที่ฐานทรัพยากรของชุมชน  จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาก็ละเลยสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

1.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. รัฐควรชะลอหรือระงับกระบวนการดำเนินโครงการที่ได้มีการกำหนดมาแล้วตามแผนพัฒนาเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มีความรุนแรงมากขึ้น และเพื่อป้องกันผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนได้

2. ทบทวนแผนพัฒนาและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศทั้งหมด และให้รัฐบาลยึดหลักการสากลในการจัดทำแผนบนฐานการคำนึงถึงสิทธิชุมชน สิทธิการพัฒนา และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง

 


2. การจัดทำผังเมืองละเมิดสิทธิมนุษยชน
2.1 สถานการณ์ปัญหา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและชุมชนมากขึ้นในประเด็นผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง มีทั้งในส่วนจากสาระการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการดำรงอยู่ของชุมชน ปัญหาสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการผังเมือง ทั้งในช่วงก่อนและหลังการประกาศบังคับใช้ผังเมือง ปัญหาการปฏิบัติงานของรัฐที่ก่อให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนและชุมชน โดยไม่มีมาตรการคุ้มครองป้องกัน ปัญหาการตีความกฎหมายที่เป็นช่องว่างให้เกิดการพัฒนา โดยมีคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผังเมืองจากจังหวัดปราจีนบุรี ระยอง สตูล สระบุรี ชุมพร สงขลา และนครศรีธรรมราช

การพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวที่ผ่านมา ส่วนมากเป็นการพิจารณาตามแนวคิดการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน อำนาจการตัดสินใจ การอ้างเอกสารและข้อมูลทางเทคนิคที่ขาดการอธิบายให้เป็นที่เข้าใจของประชาชนและชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วม การอ้างนโยบายของรัฐ และการอ้างอิงกฎหมายในส่วนเฉพาะอำนาจบังคับใช้มากกว่าการพิจารณาผลกระทบและเจตนารมณ์ของกฎหมายและผังเมือง รวมทั้งการขาดการสื่อสาร การจัดทำคู่มือ แนวทางสำหรับประชาชนและชุมชนในการมีส่วนร่วมและเข้าใจในกระบวนการทางผังเมืองที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อการดำรงชีวิตและชุมชน จึงทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่คุ้มครองสิทธิชุมชน

2.2 ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา
1. การแก้ปัญหาผังเมืองที่กระทบสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมุ่งอยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ถูกต้อง พิจารณาถึงความคุ้มครองต่อชีวิตประชาชน สิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิชุมชน และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง โดยต้องเคารพคุณค่า ลักษณะเฉพาะของพื้นที่และใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ

2. ต้องปฏิรูปกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองทุกระดับ

3. กรมโยธาธิการและผังเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องหยุดการดำเนินการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายผังเมือง ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองนำเสนอโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีสาระการบังคับใช้ผังเมืองที่ไม่กำหนดระยะเวลาหมดอายุ อันเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชน     

4. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 ในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบของกรรมการผังเมือง และการกระจายอำนาจการตัดสินใจด้วยการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชนโดยเพิ่มกลไกคณะกรรมการ ผังเมืองในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นที่มีอำนาจการตัดสินใจผังเมือง การจำแนกบทบาท อำนาจ หน้าที่ระหว่างคณะกรรมการผังเมืองระดับชาติ ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นให้ชัดเจนโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่มีสัดส่วนขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพร่วมเป็นกรรมการโดยมีสัดส่วนที่เหมาะสม    

5. การแก้ปัญหาผังเมืองไม่อาจทำได้ด้วยการแก้กฎหมายผังเมืองเพียงฉบับเดียว แต่ต้องปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เช่น พ.ร.บ.แร่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น

6. ให้นำมาตรา 15 (3) ของพระราชบัญญัติผังเมือง มาบังคับใช้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

7. ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและคณะกรรมการผังเมือง กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อคิดเห็นและคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นโดยต้องเปิดเผยเหตุผลและผลการพิจารณาต่อ ผู้ร้อง โดยต้องกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสโต้แย้งแสดงหลักฐาน ตลอดจนมีสิทธิในการอุทธรณ์

8. ให้คณะกรรมการผังเมืองใช้อำนาจตามมาตรา 27 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 โดยออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากเห็นว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นการขัดต่อนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญตลอดจนมาตรการในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินที่สุจริตดังกล่าว ให้มีความชัดเจนและเป็นธรรม

9. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน

10. การแก้ไขปัญหาผังเมืองหมดอายุควรแก้ไข พ.ร.บ.ผังเมือง โดยขยายระยะเวลาการบังคับใช้ผังเมืองรวมให้มากขึ้น เช่น 10 ปี และให้มีการประเมินเพื่อแก้ไขปรับปรุงผังเมืองโดยมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับฟังความเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างทั่วถึงและให้กฎกระทรวงผังเมืองรวมเดิมสามารถใช้บังคับได้ต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมฉบับใหม่

11. ให้มีการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในการจัดทำผังเมืองในระดับนโยบาย และผังที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการจัดทำแผน นโยบายของรัฐในหลายด้าน เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  พื้นที่จังหวัดหรือพื้นที่เฉพาะที่จะมีการพัฒนาที่จะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดแย้ง เพื่อให้เกิดทางเลือกการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสม ที่เป็นการร่วมกำหนด และลดความขัดแย้งในระดับโครงการ อีกทั้งเป็นแนวทางการวางผังในระดับชุมชนอีกด้วย อันเป็นการส่งเสริมสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทางเลือก ทิศทางการพัฒนาของชุมชน

12. ให้มีการส่งเสริมความเข้มเข็งของชุมชนในกระบวนการมีส่วนร่วมโดย จัดทำคู่มือ แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนและชุมชน ท้องถิ่น สามารถเข้าใจสิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการผังเมือง และเข้าใจการนำผังเมืองไปใช้ประโยชน์

13. การประสานความร่วมมือกับชุมชน เครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากลไก และกระบวนการวางผังแบบมีส่วนร่วมในแบบมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ 

14. การส่งเสริมการจัดทำผังตำบล ผังชีวิต เชื่อมโยง มาสู่ผังชุมชนที่เป็นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น และการนำผังเมืองไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำธรรมนูญชุมชน

15. ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจของคณะกรรมการผังเมืองและข้อมูลประกอบการพิจารณาให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นการแสดงความรับผิดชอบในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ โดยแสดงการลงมติและมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร


3. นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดน
3.1 สถานการณ์ปัญหา

1) กรณีการกำหนดพื้นที่จังหวัดตากให้เป็นหนึ่งในห้าพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ตำบลท่าสายลวด และตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ซึ่งมีบ้านเรือนของประชาชนและมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการทำเกษตร ทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ โดยมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นชุมชนจำนวนหลายร้อยครอบครัว แต่โดยผลของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ซึ่งมีผลเป็นการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 803 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เนื้อที่ 2,182 ไร่ และที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เนื้อที่ 13 ไร่ ให้มีสภาพตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้กรมธนารักษ์จัดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและดินทำกินที่อยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

2) กระบวนการเสนอพื้นที่เพื่อประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ไม่มีการตรวจสอบพื้นที่และการชี้แจงข้อมูลหรือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน เนื่องจากไม่มีการทำความเข้าใจถึงความจำเป็นและกระบวนการชดเชยเยียวยาความสูญเสียดังกล่าวที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นธรรมต่อประชาชน อีกทั้ง เมื่อเกิดกรณีร้องเรียนดังกล่าวขึ้น ก็ไม่ได้รับการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนจากผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3) พื้นที่ดังกล่าวแม้โดยสภาพทางกฎหมายจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่เมื่อปรากฏในสภาพความเป็นจริงว่าเป็นบ้านเรือนและที่ดินทำกินของประชาชน ทั้งยังมีข้อโต้แย้งของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิครอบครองและการอยู่มาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่า โดยจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า มีประชาชนอยู่ในพื้นที่จริงในลักษณะการอาศัยและทำกินมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ก่อนปี 2479 ดังนั้น รัฐจึงควรดำเนินการตรวจพิสูจน์สิทธิอย่างชอบธรรมเพื่อให้เกิดความชัดเจนถูกต้อง เนื่องจากหากปรากฏว่า ประชาชนมีสิทธิในที่ดินมาก่อนและเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินได้ การเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวคืนมาเป็นที่ราชพัสดุเพื่อจัดสรรเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิต่อประชาชนอย่างร้ายแรง ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีประชาชนบางรายมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และในปี 2557 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตากและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดตาก ให้ดำเนินการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่และมอบหมายเจ้าหน้าที่ไปร่วมระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวตามแผนปฏิบัติการของกรมที่ดิน การเพิกถอนพื้นที่ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุจึงทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการพิสูจน์และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินตามกระบวนการที่ถูกต้อง

3.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
รัฐควรชะลอหรือยกเลิกการดำเนินกระบวนการตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดน จนกว่าจะสามารถจัดให้มีกระบวนการที่มีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนการตัดสินใจ และหลักประกันตามคำประกาศว่าด้วยการบังคับโยกย้ายแห่งสหประชาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน
 

4. ผลกระทบจากการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 64/2557 และแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรป่าไม้
4.1 สถานการณ์ปัญหา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรหลายพื้นที่รวม 41 คำร้องว่า ได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่อ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64 / 2557 เข้าดำเนินการขับไล่ บุกยึด และรื้อทำลายทรัพย์สินของราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า โดยเจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพียงพอว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาอย่างไร อยู่ในขั้นตอนใด ไม่มีการแยกแยะลักษณะของการกระทำและราษฎรที่ถูกกล่าวว่ากระทำผิดว่าเข้าข่ายผู้บุกรุกรายใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนดหรือไม่ ไม่เปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว และที่สำคัญราษฎรเหล่านี้ยังมีลักษณะที่เป็นไปตามเงื่อนไขตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66 / 2557 ข้อ 2.1 ที่ระบุว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมๆ นั้น ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” โดยจากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

(1) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีประกาศคำสั่ง คสช.
ภายหลังจากวันที่มีประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 (วันที่ 14 มิถุนายน 2557) ได้เกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานด้านป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ปกครอง อ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557     เข้าดำเนินการต่อประชาชน โดยมีทั้งการบังคับให้อพยพโยกย้าย โดยไม่ได้มีการจัดพื้นที่รองรับไว้ล่วงหน้า หรือรื้อถอนทำลายบ้านเรือนทรัพย์สิน พืชผล บ้านเรือนและบังคับให้ออกจากพื้นที่ / การทำลายพืชผลอาสิน และห้ามเข้าทำกิน การยึดพื้นที่ และห้ามเข้าทำกินหรือถูกให้ออกจากพื้นที่ / การติดประกาศคำให้ชาวบ้านรื้อถอนพืชผล สิ่งปลูกสร้าง หรือคำสั่งห้ามมิให้ประชาชนเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชผลทางเกษตรที่ปลูกไว้ในพื้นที่ บังคับให้ประชาชนออกไปจากพื้นที่ หรือห้ามทำกิน / การจับกุมดำเนินคดีและคุมขังชาวบ้าน ตัดฟันพืชผล สั่งห้ามไม่ให้เก็บเกี่ยวผลผลิต รื้อถอนบ้านพักอาศัย และให้ออกจากพื้นที่ / และการข่มขู่บังคับด้วยวาจาหรือกำลังอาวุธ หรือการบังคับให้ลงลายมือชื่อยินยอมออกไปจากที่ดินทำกิน

(2) จากการตรวจสอบพบว่าการปฏิบัติการตามข้อ (1) มีสาเหตุของการกระทำดังนี้
2.1 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโดยไม่มีการกลั่นกรองข้อมูล และแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่  ที่มีบริบทความเป็นมาของปัญหา รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน และไม่มีความชัดเจนในการกำหนดลักษณะการกระทำและผู้กระทำว่าลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่มีเจตนาในทางการค้าหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน และลักษณะใดเป็นการกระทำเพื่อการดำรงชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทำให้ในหลายกรณีได้เกิดข้อขัดแย้งว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กลับกลายเป็นผู้ที่ควรได้รับการยกเว้นตามข้อ 2.1 ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/2557 ที่ว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งมีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” ซึ่งพบว่า ในทุกคำร้องเป็นราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม มีรายได้น้อย และมีที่ดินขนาดเล็กเพียงในแปลงพิพาทเท่านั้น มิใช่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่แต่อย่างใด

2.2 เกิดปัญหาความไม่ประสานสอดคล้องกันในการปฏิบัติการในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับนโยบายหรือระดับส่วนกลาง กับหน่วยงานในระดับปฏิบัติการหรือในระดับพื้นที่ ส่งผลให้การปฏิบัติการของหน่วยงานในระดับพื้นที่ปฏิบัติการไปโดยขาดความเข้าใจและละเลยต่อการยึดกุมหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติการที่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย

(3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อราษฎร มีดังนี้
3.1 ในกรณีที่มีการตัดฟัน รื้อถอน และทำลายพืชผลอาสินที่ชาวบ้านปลูกไว้ พบว่าได้มีการยอมรับในภายหลังว่า เป็นความผิดพลาดในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เอง แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ ผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมเพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

3.2 ในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้ออกจากพื้นที่ พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้จัดหาสถานที่/จัดสรรที่ดินรองรับ หรือดำเนินกระบวนการใดที่จะเป็นการประกันว่า ผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากพื้นที่เหล่านี้มีพื้นที่รองรับแห่งใหม่ในทันทีที่ต้องออกจากพื้นที่เดิม ทำให้ผู้ที่ถูกบังคับดังกล่าวต้องระเหเร่ร่อนไปตามพื้นที่ต่างฯ ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน

3.3 ในกรณีคำร้องที่ได้มีการประสานงาน เจรจา หรือข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาจนทำให้สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่คลี่คลายลงได้แล้วนั้น ปรากฏว่าเมื่อมีประกาศคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้นำผลการเจรจาหรือข้อตกลงที่ได้ดำเนินการมาจนทำให้ยุติปัญหาลงได้นั้นไปพิจารณาดำเนินการต่อ แต่กลับบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และทำให้สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่อีกครั้ง และยังทำให้สภาพปัญหามีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นและความขัดแย้งก็มีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

3.4 ในกรณีที่ราษฎรถูกทำลายพืชผลอาสิน พบว่ามิได้สำรวจตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนการปฎิบัติการ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในทางปฎิบัติ และสร้างความเสียหายเดือดร้อนกับราษฎรในหลายพื้นที่

3.5 ในกรณีที่ราษฎรถูกจับกุมดำเนินคดี ทำให้ครอบครัวต้องประสบกับความทุกข์ยากและเดือดร้อนอย่างหนัก จากการที่ผู้หาเลี้ยงครอบครัวถูกจับกุม เป็นผู้ที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ทำให้บางรายเสียชีวิตในระหว่างดำเนินคดี

3.6 ในกรณีคำร้องที่มีการเรียกตัวแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ไปรายงานตัวปรับทัศนคติและถูกกักตัวไว้ในค่ายทหาร พบว่า เจ้าหน้ารัฐใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกต่อกลุ่มประชาชนที่มีบทบาทเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นการขยายขอบเขตการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกของ คสช. ที่ในตอนแรกมุ่งเน้นการเรียกตัวบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างหรือต่อต้านการรัฐประหารเป็นหลักเท่านั้น คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า เป็นที่ยอมรับกันโดยกว้างขวางว่า วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรที่ดีที่สุดที่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชน คือการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรตั้งแต่ต้น ดังนั้น การนำกฎอัยการศึกมาใช้จัดการปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากร นอกจากจะยิ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้นแล้วนั้น ยังถือเป็นการบั่นทอนรากฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

(4) กระบวนการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกระบวนการจัดทำแผนการปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ครบถ้วนรอบด้านอย่างเพียงพอ เช่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว โดยกระบวนการจัดทำจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้การกำหนดวิธีการปฏิบัติงานตามแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขาดการพิจารณาทางเลือกอื่นที่อาจบรรลุเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ เช่น เป้าหมายการพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี ได้เช่นกัน นอกจากการมุ่งเน้นวิธีการไล่รื้อชุมชนเพื่อยึดคืนพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย และยังรวมถึงขาดการพิจารณาทางเลือกของเทคโนโลยี เครื่องมือและหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์สิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่า เช่น แผนที่ต่างๆ ที่ต้องอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับเครื่องมือทางสังคม เช่น การพิจารณาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนนั้นด้วย มิใช่มุ่งเน้นแต่เพียงการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว

4.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. รัฐควรยุติการดำเนินนโยบายยึดคืนผืนป่ารวมทั้งที่ดินของรัฐอื่นๆ และยุติการตัดฟันต้นยางพาราของประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/2557
2. รัฐควรทบทวนแผนแม่บทการแก้ไขปัญหา การทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผน

5. ปัญหาการจัดการทรัพยากรพลังงาน
5.1 สถานการณ์ปัญหา

สถานการณ์ปัญหาการจัดการทรัพยากรพลังงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนและปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการจัดหาทรัพยากรพลังงานที่เหมาะสมและไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และวิถีการดำรงชีวิตของชุมชน เช่น กรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการขาดการมีส่วนร่วมและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่เกษตรของชุมชนจากโครงการสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ของภาคอีสานและภาคเหนือ เช่น ลำปาง สุรินทร์ กาฬสินธุ์ อุดรธานี บุรีรัมย์ และขอนแก่น กรณีคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และตรัง กรณีคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี หรือกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งอยู่กลางชุมชนและอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน เช่น การคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดเชียงราย กระบี่ หรือตราด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขนส่งด้านพลังงาน เช่น การร้องเรียนให้แก้ไขผลกระทบจากสารเคมีต่อพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนที่เกิดจากการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และอยุธยา กรณีการร้องเรียนขอให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนจากการก่อสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดน่าน ลำปาง และระยอง รวมทั้งกรณีท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รั่วในอ่าวไทยในบริเวณจังหวัดระยอง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล และการประกอบอาชีพประมงและการท่องเที่ยวบริเวณเกาะเสม็ดและชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล

5.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. ในกรณีผลกระทบจากโครงการสำรวจปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ของภาคอีสานและภาคเหนือ รัฐควรเร่งดำเนินกระบวนการแก้ไขปัญหาและเยียวยาแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในกรณีที่ได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว และรัฐควรยุติหรือชะลอโครงการสำรวจในพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินการเอาไว้ก่อน รวมทั้งการชะลอหรือยุติโครงการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อเป็นการบรรเทาความขัดแย้งในพื้นที่และไม่สร้างปัญหาผลกระทบในอนาคต

2. ในกรณีการร้องเรียนปัญหาผลกระทบหรือร้องคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล รัฐควรชะลอหรือยุติโครงการเอาไว้ก่อนเช่นกัน และให้เริ่มกระบวนการที่ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งแต่ต้น

3. ในทางนโยบายรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้เป็นอันดับแรก โดยไม่มีการจำกัดจำนวน ข้ออ้างที่ว่าสายส่งไฟฟ้าเต็ม เป็นเพราะมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นระบบผูกขาดสามารถขายได้แต่เพียงผู้เดียว หลักการที่ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นผู้สามารถป้อนไฟฟ้าได้ก่อนเป็นหลักการที่เรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยพลังงาน” เพราะเป็นการกระจายอำนาจซึ่งเคยผูกขาดอยู่กับคนจำนวนน้อย ไปสู่อำนาจของคนจำนวนมากที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว

4. ที่ผ่านมาการคิดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลทุกประเภทโดยเฉพาะถ่านหิน มีการบิดเบือนต่ำกว่าต้นทุนจริง เนื่องจากไม่มีการรวมเอาผลกระทบจากภายนอก (External Cost) ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะผลกระทบต่อการล่มสลายของชุมชน ดังนั้น การเปรียบเทียบเพื่อเลือกเทคโนโลยีและชนิดทรัพยากรพลังงานที่เหมาะสมเพื่อผลิตไฟฟ้า (ตามหลักการผลิตแบบต้นทุนต่ำสุดได้ผลิตก่อน) จะต้องตั้งอยู่บนฐานของราคาไฟฟ้าที่เป็นจริง การบิดเบือนดังกล่าวทำให้เกิดมายาคติที่เข้าใจว่าประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกในระยะสั้น แต่กลับสร้างปัญหาด้านสังคมแก่ประเทศในระยะยาว

5. ระบบการรับซื้อไฟฟ้าควรเป็นแบบ Net Metering ซึ่งไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแต่อย่างใด เพราะไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้จะมีราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าขายให้กับเจ้าของบ้าน วิธีการดังกล่าวได้ใช้มาแล้วใน 43 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งๆ ที่ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำกว่าประเทศไทย ระบบ Net Metering นี้มีข้อดีที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ (1) ลดความต้องการไฟฟ้าในช่วงพีค นั่นคือลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (2) ลดการใช้พลังงานสกปรก (3) ลดการสูญเสียพลังงานในระบบสายส่งและการผลิต และ (4) ประชาชนสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 

6. มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 93 ที่ว่า “ต้องสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและเอกชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและการผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่ายด้วย” ควรมีความชัดเจนกว่านี้ คือให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายย่อยมีความสำคัญในอันดับแรก

6. ผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาการจัดการกากของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม
6.1 สถานการณ์ปัญหา

กรณีร้องเรียนในประเด็นปัญหาผลกระทบมลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 2 โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่มาจากการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องละเลย ไม่ติดตาม หรือกำกับดูแลให้การประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมเป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการประกอบกิจการ และบางกรณีมีเจตนาที่จะปล่อยมลพิษออกจากโรงงานเข้าสู่ชุมชน อาทิ การร้องเรียนผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดชุมพร โรงงานหลอมทองแดงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี และชลบุรี หรือโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

ในส่วนกรณีปัญหาการจัดการกากของเสียภาคอุตสาหกรรม มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหลายกรณี โดยกรณีร้องเรียนที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและดินจากการสะสมของสารเคมีที่เป็นพิษ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน สัตว์และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาเกิดจากหน่วยงานรัฐละเลยที่จะแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีเนื่องจากไม่มีระบบควบคุมตรวจสอบกิจการรับกำจัดขยะและของเสียภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานและการไม่มีกลไกในการติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทำให้สถานการณ์ปัญหาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพมีความรุนแรงมากขึ้น และลุกลามไปจนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับภาคเอกชนที่ถูกกล่าวหา จนทำให้เกิดการลอบทำร้าย คุกคาม และลอบสังหารแกนนำชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียนจนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่ากฎหมายที่ใช้ควบคุมและจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังมีช่องโหว่และไม่ครอบคลุมหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

6.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. ในกรณีการร้องเรียนในประเด็นผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รัฐควรกำหนดมาตรการและกลไกให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และควรเป็นการทำงานเชิงรุกมากกว่าการดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในหลายกรณีพบว่า ผลกระทบมลพิษที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากจนแก้ไขได้ยาก

2. ในกรณีปัญหาการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมมีข้อเสนอดังนี้
2.1 ด้านกฎหมาย : การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และ/หรือให้มีการออกกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัตินั้นเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาและเสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้แก้ไขในประเด็นดังนี้
  1) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และกฎกระทรวง
    - เพิ่มโทษให้มีการเพิ่มค่าปรับ การประกันความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมสำหรับโรงงานที่ใช้สารอันตราย
    - ให้แยกประเภทโรงงานประเภท 101 แยกโรงบำบัดน้ำเสีย และเตาเผาขยะ  ให้เป็นคนละประเภทกัน เช่น แยกเป็น โรงงานลำดับที่ 101.1 (บ่อบำบัดน้ำเสีย)
    - ให้แยกประเภทโรงงานลำดับที่ 105 (เช่น 105.1 กิจการคัดแยก และ  105.2 เป็นฝังกลบ)
    - ให้แยกประเภทโรงงานลำดับที่ 106 (เช่น 106.1, 106.2, …..) ตามประเภทของสารอันตราย (เทียบกับอนุสัญญาบาเซล หรือเลขพิกัดศุลกากร เป็นต้น
2) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริม    และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
    - ต้องทำอีไอเอสำหรับ โรงงานลำดับที่ 105 (คัดแยก, ฝังกลบ) และ 106 (รีไซเคิล) ทุกประเภท
   - เพิ่มประเภทโรงงานที่สร้างผลกระทบเพิ่มจากปัจจุบัน 35 ประเภท
   - แก้พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เพิ่มอำนาจ กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจตรวจสอบ สั่งปิดโรงงาน
3) แก้ไขเพิ่มเติม  พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535
   - แก้นิยามคำว่า “มูลฝอย” ให้แยกขาดจากขยะอุตสาหกรรม
   - ออกกฏกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการการควบคุมกิจการรับซื้อของเก่าชุมชน เพื่อเป็นแนวการออกข้อบัญญัติแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 เพื่อเพิ่มโทษและออกกฎกระทรวง ความลึกและความกว้างของบ่อดิน
5) ออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เพื่อเพิ่มเติมคดีความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมตามกฎหมายโรงงาน  ให้เป็นคดีพิเศษ และตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อสอบสวนและดำเนินคดี
6) การเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ ได้แก่
    - การออกกฎหมายจัดการและเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
      และเครื่องใช้ไฟฟ้า
    - การออกกฎหมายการรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR)

2.2 ด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม : ควรมีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง ให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ดังนี้
1) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการออกใบอนุญาตและตรวจสอบโรงงาน
2) เร่งรัดให้โรงงานที่ก่อกำเนิดของเสีย และโรงงานที่รับบำบัดและกำจัดของเสียเข้าสู่ระบบรายงานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเร็ว
3) ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินค่าบริการบำบัดและกำจัดของเสีย ทั้งที่ต้นทางและที่ปลายทาง
4) เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่โรงงานรับบำบัดและกำจัดของเสีย และโรงงานรีไซเคิลของเสีย
5) เร่งดำเนินการตามกฎหมายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขนส่งของเสียอันตรายติดตั้งระบบ GPS กับยานพาหนะที่ขนส่งของเสียอันตราย
6) กรอ. แจ้ง และขอความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก่อนอนุญาตให้นำกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายไปถมในที่ลุ่ม
7) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนที่ดินรกร้างว่างเปล่า บ่อดินเก่า
8) เสริมสร้างสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการจัดการมูลฝอย และการดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
9) ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการขยะแต่ละท้องถิ่นเรื่องการกำกับดูแลร้านรับซื้อของเก่า ประสิทธิภาพการรวบรวม การขนส่ง และอื่นๆ

2.3 ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน : ส่งเสริมความเข้มแข็งและสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และศึกษาวิจัยให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการนำเข้าของเสียเคมีวัตถุตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย

2.4 ด้านการป้องกันปัญหาจากการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ : ปัจจุบัน  มีการนำเข้ากากอุตสาหกรรม รวมถึงขยะอันตราย จากต่างประเทศเข้ามาบำบัด กำจัด และเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยขาดการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าให้รัดกุม ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยผ่านข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาโดยอาศัยการควบคุมตรวจสอบที่หละหลวม  ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับกากอุตสาหกรรมและขยะพิษจากต่างประเทศมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว จึงจะต้องมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1) ต้องทบทวนนโยบายความร่วมมือทางการค้าที่เปิดทางให้นำเข้าของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้มายังประเทศไทย รวมถึงการส่งออกของเสียอุตสาหกรรมของไทยไปต่างประเทศ

2) การรับรองและให้สัตยาบรรณแก่อนุสัญญาบาเซลภาคแก้ไข (Basel Ban Amendment)

3) ให้มีการตรวจสอบการนำเข้าของเสียอันตรายจากประเทศอย่างเข้มงวด

2.5 ด้านการคุ้มครองและป้องกันสิ่งแวดล้อมและประชาชนจากการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง : ปัจจุบันมีพื้นที่หลายแห่งที่กลายเป็นแหล่งลอบทิ้งขยะอันตราย สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนและก่อผลกระทบรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการแก้ปัญหา เพื่อพื้นฟูและเยียวยาแก้ไขพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กลับคืนมาอยู่ในสภาวะที่ปกติ และปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยและการดำเนินกิจการต่างๆ รวมถึงจัดทำมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคต

2.6 ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางจัดการขยะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
1) การทบทวน Roadmap และแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี
ให้รัฐบาลทบทวนการจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินการและจะดำเนินการต่อไปในอนาคตภายใต้ Roadmap  ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และแผนการจัดการขยะอุตสาหกรรม 5 ปี (2558-2562)  ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่จะให้มีการสร้างเตาเผา และการสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ หลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อกำจัดขยะสะสมและขยะในอนาคต เนื่องจากการกำจัดขยะด้วยการเผาหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า แม้ว่าจะกำจัดขยะได้รวดเร็ว แต่จะก่อมลพิษสูง ส่งผลกระทบหลายด้านต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวาง โดยที่การจัดการขยะที่ดียังมีอีกหลายแนวทาง รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดการขยะตามแนวทางและด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความสมดุลและเหมาะสมกว่าการให้น้ำหนักกับการสร้างโรงไฟฟ้าและเตาเผาขยะ

2) ยกเลิกนโยบายไม่ต้องทำ EIA สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะ
ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเรื่องการละเว้นไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ขนาดไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ และขอให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว เนื่องจากอดีตที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีระบบการขัดแยกขยะอุตสาหกรรมและ    ขยะชุมชนที่ดี เชื้อเพลิงจากขยะจะมีองค์ประกอบของสารอันตรายจำนวนมาก มีหลายชนิดที่จะก่อให้เกิดมลพิษรุนแรงทั้งต่อสุขภาพคน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสภาพแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้มีนโยบายศึกษาและจัดทำรายงานอีไอเอสำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด กำจัด ขยะอุตสาหกรรม และมีระบบการติดตามการรายงานมลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานเหล่านี้ให้รัดกุมขึ้น

3) จัดทำโครงการนำร่องศูนย์จัดการขยะครบวงจร ก่อนประกาศเป็นนโยบาย
ขอให้รัฐบาลจัดทำพื้นที่นำร่อง สำหรับศูนย์รวมการจัดการขยะแบบครบวงจร  (ฝังกลบ คัดแยก และรีไซเคิล) 1 จังหวัด 1 ศูนย์รวมกำจัดขยะ ตามแนวความคิดเรื่องขยะเกิดที่ไหน จะต้องจัดการที่นั่น ไม่ควรมีการเคลื่อนย้ายขยะจากแหล่งกำเนิดไปกำจัดยังท้องที่อื่นๆ และมีการศึกษาข้อดี ข้อเสีย หรือผลกระทบด้านต่างๆ ก่อนที่จะนำมาแนวทางนี้มาใช้เป็นนโยบายหลักในการจัดการขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน

4) การยอมรับสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการปัญหาขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน
 ปัญหาขยะทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนกำลังก่อปัญหาและส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ชุมชนชนบทและชุมชนเกษตรมักตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขยะเหล่านี้ โดยที่ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลไม่ได้เกิดขึ้นในท้องที่ของชุมชนเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากก่อความเสียหายต่อชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน การดำรงชีพ และอื่นๆ ของชุมชนเหล่านี้อย่างรุนแรงแล้ว การแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบัน หากเดินผิดทางจะกลายเป็นการไปซ้ำเติมความทุกข์ และการละเมิดสิทธิของชุมชนเหล่านี้อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น และจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมที่จะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐอย่างกว้างขวาง

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทบทวนนโยบายบางประการให้สมดุล และเปิดโอกาสให้ชุมชนในแต่ละท้องที่เข้ามาร่วมเสนอข้อมูล เสนอปัญหา เสนอข้อคิดเห็น และร่วมมือในการจัดทำนโยบาย การตรวจสอบปัญหา และร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องฟังและให้โอกาสแก่ประชาชนหรือชุมชนแต่ละท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเอกชน และข้าราชการ เป็นต้น
 

7. ปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่
7.1 สถานการณ์ปัญหา

สถานการณ์ปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่ แม้จำนวนคำร้องในประเด็นนี้จะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 1 แต่พบว่าความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรแร่ที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 2 กลับมิได้ลดน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านขนาดของผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากการปนเปื้อนสารพิษ เช่น ไซยาไนท์ และปรอท ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อาทิ การร้องเรียนผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย และพื้นที่รอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก

กรณีการร้องเรียนการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จากการตรวจสอบพบว่า มีข้อสงสัยว่าเหมืองจะเป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนไซยาไนท์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการแต่งแร่ รวมถึง โลหะหนักบางตัว อาทิ สารหนู แมงกานีส ฯลฯ ในสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบเหมืองหรือไม่ เนื่องด้วยหลังจากที่เหมืองได้รับใบอนุญาตโรงแต่งแร่ ชาวบ้านรอบเหมืองเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เริ่มมีอาการผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น ผดผื่นคันตามผิวหนัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย แสบตา นอกจากนี้ยังมีอาการเครียด นอนไม่หลับ เนื่องจากเสียงระเบิดจากขุมเหมืองและการมีฝุ่นฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่วหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รวมตัวกันในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของชุมชน โดยการเริ่มยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขปัญหาผลกระทบ มีการประกาศยกเลิกการใช้บ่อน้ำบาดาลบางจุดเพราะพบสารอันตรายเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยออกประกาศห้ามกินหอยขมในลำห้วยเหล็ก ตรวจพบการปนเปื้อน ปรอท ตะกั่ว และไซยาไนท์ ในเลือดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง หน่วยงานภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัดและก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้มากนัก การเคลื่อนไหวของชุมชนทำให้ ปี พ.ศ. 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอการขยายพื้นที่ประทานบัตรและให้ศึกษารวมถึงแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ที่มาของสารพิษเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ปัญหาจึงยังไม่ถูกแก้ไข ไม่มีการเยียวยาแต่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย ไม่มีการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ ชาวบ้านที่เจ็บป่วยเริ่มมีจำนวนมากขึ้นและอาการรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันทางบริษัทก็พยายามจะขอขยายพื้นที่ประทานบัตรทำเหมือง และมีกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ชาวบ้านปกป้องสิทธิของชุมชนด้วยตนเองโดยใช้วิธีการตั้งด่านปิดถนนทางเข้าออกของเหมืองที่ตัดผ่านหมู่บ้าน เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันระหว่างชาวบ้านและบริษัท มีการเจรจาต่อรอง มีการข่มขู่ คุกคามแกนนำชาวบ้าน จนกระทั่งกลางดึกของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ จับตัว ข่มขู่ และทำร้ายชาวบ้าน กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เพื่อมิให้ขัดขวางการขนแร่ออกจากบริเวณเหมือง เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศไทย ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทางชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดได้ยื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้า คสช. ขอให้แก้ไขปัญหา ปัจจุบันทหารได้มีการจัดตั้งกลไกการทำงานเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ชาวบ้านมีข้อเสนอให้ปิดเหมืองถาวรและฟื้นฟู

กรณีการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ส่งผลกระทบทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเหือดแห้ง ขาดน้ำใช้ทำเกษตร ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดมลพิษทางฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหิน มีการตรวจพบการปนเปื้อนสารไซยาไนด์ สารหนู และโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภค พบชาวบ้านเจ็บป่วย ส่วนชุมชนที่ไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ก็ได้ย้ายถิ่นฐานออกไป เกิดภาวะชุมชนล่มสลาย วัดร้าง โรงเรียนร้าง ปัจจุบันเหมืองยังคงเปิดดำเนินการและขยายพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ คัดค้าน ถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกกลุ่มอิทธิพลกราดยิงปืนเข้าใส่ในบ้าน ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ และได้ยื่นหนังสือต่อ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เข้ามาดูแลจัดการกับปัญหา และมีนักวิชาการที่รวมกลุ่มกันทำงานศึกษาเพื่อพิสูจน์ที่มาของสารพิษ โดยมีมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นแกนหลักร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

นอกจากกรณีร้องเรียนปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่แล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้รับการร้องเรียนในประเด็นปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแร่หลายกรณี โดยกรณีร้องเรียนที่สำคัญได้แก่ การคัดค้านการโครงการเหมืองแร่โปรแตซในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นเหมืองแร่ใต้ดินขนาดใหญ่ มีพื้นที่สัมปทานประมาณ 7 หมื่นไร่ กำลังการผลิตปีละ 2 ล้านตัน สำรวจในปี 2516 ทำสัญญาในปี 2527  ปัจจุบันเป็นของบริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น ในเครือบริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบพบว่า ชุมชนรับทราบข้อมูลในปี 2544 และหวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในประเด็นต่อไปนี้

1) ผลกระทบต่อเกษตรกรรมที่เป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชนท้องถิ่นจากการขยายตัวของดินเค็ม น้ำเค็มจากการแต่งแร่ และความเค็มจากกองเกลือ 2) ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษขณะทำเหมือง ฝุ่นเกลือ ฯลฯ รวมทั้งจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในระยะยาว 3) ความเสี่ยงจากดินทรุด เหมืองถล่ม  อุบัติเหตุจากการทำเหมือง 4) ความเสี่ยงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อวิถีท้องถิ่น      5) ความเสี่ยงซึ่งชุมชนไม่สามารถจะควบคุมได้ เช่น มีการออกกฎหมายรับรองการทำเหมืองใต้ดินที่อยู่ลึกเกิน 100 เมตรโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน หรือการใช้ช่องอุโมงค์เหมืองสำหรับทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมและกากนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวกันในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เคลื่อนไหวคัดค้านและพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่องตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทางบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนที่จะออกประทานบัตรเหมืองแร่ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปะทะกันรุนแรงหลายครั้ง ทั้งในขั้นตอนการรังวัดปักหมุดขึ้นรูปแผนที่การทำเหมือง รวมถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันเหมืองยังไม่ได้รับประทานบัตรเปิดดำเนินการ

7.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1) ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่

1.1 เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
1.2 ยุติการทำเหมืองที่ก่อให้เกิดผลกระทบ และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
1.3 ยกเลิกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมและเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
1.4 ให้มีองค์กรอิสระควบคุม กำกับ ระบบการประเมินผลกระทบ

2) ข้อเสนอต่อการปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแร่
  2.1 ยกเลิกการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ ในการบีบบังคับให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิติดตาม ตรวจสอบ หรือต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิของชุมชนได้
  2.2 ยืนยันหลักการ “ทรัพยากรแร่เป็นของชุมชน” ซึ่งดำรงอยู่อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กับทรัพยากรอื่นๆ และผู้คนในชุมชนอย่างลึกซึ้ง ชุมชนจึงต้องเป็นผู้ตัดสินการใช้ทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นจึงต้องยกเลิก ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และให้พิจารณาโดยใช้ร่างของภาคประชาชนเป็นหลัก
  2.3 นโยบายสาธารณะเหมืองแร่ต้องสร้างสรรค์ และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ สื่อสาร และสร้างทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลาย จากฐานข้อมูลศักยภาพชุมชนที่มีอยู่มากกว่าการยึดความรู้ด้านเศรษฐกิจการลงทุนและเทคโนโลยีเหมืองแร่ เช่น “เก็บเห็ดร้อยปี ภูเขาก็ยังอยู่”
  2.4 พัฒนาเครื่องมือ แนวทาง วิธีการ รูปแบบ และกลไก การมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูล และการตัดสินโครงการเหมืองแร่ต่างๆ ด้วยเจตจำนงที่เป็นอิสระไม่มีการครอบงำ
  2.5 ผลักดันให้มีการรับผิด มีบทลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบาย / ตัดสินใจอนุญาตโครงการผิดพลาดจนก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น ปลดออก ไล่ออก ยึดใบอนุญาต เป็นต้น
 2.6 ให้มีการจัดระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นการเฉพาะ ในพื้นที่ชุมชนเหมืองแร่ หรือมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพเฉพาะ โดยเรียกเงินจากผู้ก่อความเสียหาย
2.7 ให้มีกฎหมายเฉพาะด้านการฟื้นฟูการปนเปื้อน โดยผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยกำหนดให้เป็นกลไกที่เยียวยาโดยทันที โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องไปฟ้องร้องและรอคอยยาวนาน

8. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน
8.1 สถานการณ์ปัญหา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย ได้รับกรณีร้องเรียนต่างๆจากประชาชนในพื้นที่ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ว่า ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ ทะเลชายฝั่ง และสินแร่ ตามวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชนภาคการเกษตร   จากโครงการของรัฐบาลไทย รัฐวิสาหกิจไทย หรือบริษัทธุรกิจไทยที่ไปลงทุนตามประเทศต่างๆ โดยมีกรณีร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมด 14 กรณี แบ่งเป็น 7 กลุ่มประเด็น โดยมีทั้งที่เป็นกรณีการร้องเรียนคัดค้านโครงการของรัฐหรือเอกชนไทยที่ไปลงทุนก่อสร้างในพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศหรือในพื้นที่ต่างประเทศ เช่น โครงการสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนฮัตจี ลุ่มน้ำสาละวิน (พรมแดนไทย-พม่า) เขื่อนบ้านกุ่ม (พรมแดนไทย-ลาว) เขื่อนไซยบุรี ประเทศลาว และโครงการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและระเบิดเกาะแก่งลุ่มน้ำโขง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำและการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำจำนวนมาก กรณีบริษัทเอกชนสัญชาติไทยได้รับสัมปทานที่ดินขนาดใหญ่ในประเทศกัมพูชา 2 แห่ง เพื่อประกอบอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล โดยการได้รับสัมปทานที่ดินดังกล่าวได้ส่งผลให้มีการขับไล่และยึดพื้นที่ของชุมชนจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยและที่พื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งเกิดสภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ได้แก่ กรณีสัมปทานที่ดินในเกาะกง กัมพูชา และกรณีสัมปทานที่ดินในอุดรมีชัย กัมพูชา กรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ซึ่งส่งผลให้เกิดการเข้าไปยึดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชุมชนชาวพม่าจำนวนมาก และกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองหงสา ประเทศลาว

8.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
ในการตรวจสอบกรณีร้องเรียนเหล่านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาว่า แม้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีร้องเรียนนี้จะเกิดขึ้นนอกพื้นที่เขตอำนาจรัฐไทย แต่เมื่อพิจารณาในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 (2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 2(1) และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 39 และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : Implementing the Protect, Respect, Remedy Framework (2554)) ส่วนที่ 2 ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน (The corporate responsibility to respect human rights) ข้อ 11 ถึงข้อ 23 ต่างยืนยันว่า เป็นพันธกรณีอย่างชัดเจนสำหรับรัฐภาคีอย่างเช่นประเทศไทย ที่จะต้องประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเป็นพันธกรณีที่จะต้องป้องกันไม่ให้บริษัทที่ตั้งอยู่ในดินแดนของตนหรือจดทะเบียนอยู่ใต้เขตอำนาจของตน ไปทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอให้รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงกลไกและกฎหมายอันจะนำมาซึ่งการตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดนทั้งในระดับประเทศและร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มาตรฐานการตรวจสอบใกล้เคียงและใช้ร่วมกันได้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้

9. ปัญหาการจัดการทรัพยากรประมงทะเล
9.1 สถานการณ์ปัญหา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรประมงทะเลหลายกรณีว่า ชาวประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้านไม่มีส่วนในการกำหนดกติกาหรือการหวงห้ามเครื่องมือประมง มักโดนกลุ่มคนที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่หรือเครื่องมือที่ละเมิดกติกาของชุมชนท้องถิ่นรุกล้ำเข้ามาทำลายทรัพยากรในพื้นที่ ปัญหาการดำเนินนโยบายผ่อนผันเครื่องมือประมง เช่น อวนลากผิดกฎหมาย เรือปั่นไฟจับปลาตัวเล็กจากต่างถิ่น ทำให้สามารถเข้าไปจับปลาในเขตต่างๆ ได้ ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการรักษาทรัพยากรใกล้บ้านตัวเอง

9.2 ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา
1. รัฐควรนำเอาแนวปฏิบัติ “เพื่อการสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยสมัครใจในบริบทของความมั่นคงทางอาหารและการขจัดความยากจน” ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำรับรองในข้อตกลงนี้ในนามของคณะกรรมการการประมง ในองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มาใช้ในการทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง
2. ในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล ชายฝั่ง และการประมง รัฐต้องสนับสนุนให้ใช้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงภูมินิเวศน์แบบมีส่วนร่วม มาเป็นแนวทางหลักในการจัดการ แทนการกำหนดแนวทางบริหารจัดการแบบเดียวกันทั่วประเทศ
3. รัฐควรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการหยุดใช้เครื่องมือและวิธีการทำการประมงที่ละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและทรัพยากร
4. รัฐต้องระมัดระวัง ไม่ให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อตอบสนองการส่งออกต่างประเทศ จนเกิดผลกระทบชาวประมงขนาดเล็กของประเทศ เช่น การผ่อนผันการประมงผิดกฎหมาย การเร่งรัดจดทะเบียนเรือประมง การกำหนดวิธีการบริหารจัดการใหม่ๆโดยที่ไม่สอดคล้องกับประเทศไทยเอง เช่น การกำหนดจำกัดชาวประมงขนาดเล็ก แทนที่จะจัดการควบคุมชาวประมงที่มีศักยภาพการจับมากกว่า เป็นต้น
 

 

[1] สรุปจากข้อมูลการร้องเรียนและการตรวจสอบในการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2552 – 2558) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net