Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2   ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอบทความที่แปลจากเวปไซต์ของสำนักข่าวบีบีซีซึ่งเขียนโดยนายพอล เรโนลด์ส ภายใต้ชื่อว่า Hiroshima argument age 60 years on แปลว่า “ข้อถกเถียงเกี่ยวกับฮิโรชิมายังคงดุเดือดมาจนถึง 60 ปี” (บทความนี้ถูกเขียนเมื่อ 10 ปีก่อน) บทความชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าแรงจูงใจที่แท้จริงในการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ยังคงก่อให้เกิดการตีความทางประวัติศาสตร์อันหลากหลายแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานก็ตาม

ปัญหาเช่นนี้น่าจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการแก้ไขบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นในยุคของนายชินโซ อะเบะ การจัดงานระลึกถึงการทิ้งระเบิดร้ายแรงเช่นนี้ย่อมดึงดูดความสนใจให้คนญี่ปุ่นยุคใหม่หันมาใคร่ครวญว่าควรจะสนับสนุนลัทธิกองทัพนิยมใหม่หรือไม่ท่ามกลางการแข่งขันทางอำนาจกับเพื่อนบ้านเช่นจีน (หรือรัสเซียในอนาคตข้างหน้า) อันจะส่งผลต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่มากก็น้อย

ในวาระครบรอบ 60  ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา เกิดคำถามใหม่ขึ้นว่าจริงๆ แล้วจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทิ้งอาวุธมหาประลัยนี้ ? และการทิ้งระเบิดได้ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้จริงหรือไม่ ?

จะมีคนสูญเสียชีวิตไปมากกว่านี้หรือไม่ถ้าสหรัฐฯ ไม่ทิ้งระเบิด ? ไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์ตอบคำถามเหล่านี้ได้ตรงกันจริงๆ เลย และพวกเด็กๆ ชาวอเมริกันที่พ่อของพวกเขาซึ่งอาจจะถูกส่งไปบุกญี่ปุ่นในปี 1945 มักจะประหลาดใจว่าพวกเขาควรขอบคุณระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งลงในฮิโรชิมาในวันที่ 6 เดือนสิงหาคม และอีกครั้งที่ฮิโรชิมาในวันที่ 9 หรือไม่

วินสตัน เชอร์ชิลเปรียบเทียบการระเบิดเหล่านั้นว่าเป็น “การมาครั้งที่ 2 ของความกริ้วโกรธแห่งพระผู้เป็นเจ้า”

ประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ คือแฮร์รี ทรูแมนก็ยอมรับถึงความสำคัญของพวกมัน เมื่อเขาได้ทราบเรื่องว่า การทดลองระเบิดปรมาณูประสบความสำเร็จก็ตัดสินใจจะใช้มันโดยปราศจากการเตือนล่วงหน้า ดังที่เขาได้เขียนลงในบันทึกประจำวัน “เราได้ค้นพบอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันอาจจะเป็นไฟบรรลัยกัลป์ที่ถูกพยากรณ์ในยุคของยูแฟรตส์ วาเลย์ภายหลังโนอาห์และเรืออันแสนอัศจรรย์”

ทัศนคติของมนุษยชาติจากนั้นก็แตกแยกกันต่อไปต่อคำถามที่ว่าทำไมถึงมีการตัดสินใจทิ้งระเบิด

มุมมองของคนส่วนใหญ่เห็นว่า ทรูแมนทิ้งระเบิดปรมาณูเพราะว่าเป็นทางเลือกเพียงหนทางเดียวของการบุกญี่ปุ่น การทิ้งระเบิดเพลิงอย่างต่อเนื่องจะไม่นำไปสู่การยอมแพ้ของญี่ปุ่นเพราะกองทัพญี่ปุ่นพร้อมที่จะสู้จนหยดสุดท้าย แต่สิ่งแรกที่อยู่ในความคิดของทรูแมนคือโอกาสแห่งการสูญเสียชีวิตคนอเมริกันจำนวนมหาศาล

ทรูแมนเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า “ผมได้ถามนายพลมาร์เเชลล์ว่าทหารอเมริกันจะต้องสูญเสียชีวิตเท่าไร ถ้าต้องยกพลขึ้นบก ณ พื้นที่ราบของกรุงโตเกียวและตรงจุดอื่นๆ ของญี่ปุ่น เขาก็เสนอความคิดว่า การบุกเช่นนั้นจะทำให้ทหารบาดเจ็บล้มตายกันอย่างน้อยสุดก็ประมาณสองแสนห้าหมื่นคน”

ในหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของทรูแมน  เดวิด แม็คคัลลัฟเห็นว่าแผนสำหรับการบุกญี่ปุ่นมีอยู่จริง

“แต่น่าสังเกตอย่างมากว่าไม่มีสิ่งแน่ชัดว่ามีการเตรียมพร้อมสำหรับการบุกจากทั้ง 2 ฝ่าย ประเด็นนี้ถูกมองข้ามมาเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น”

ทรูแมนก่อนหน้านี้ได้อนุมัติให้คณะเสนาธิการร่วมเคลื่อนย้ายกำลังพลจำนวนกว่า 1 ล้านนายเพื่อเตรียมบุกญี่ปุ่นเป็นครั้งสุดท้าย ในขณะที่ญี่ปุ่นมีทหารประจำการอยู่ในประเทศตนอยู่กว่า 2.5 ล้านนาย

แต่ว่ามีการเจรจาเพียงพอเพื่อให้ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วหรือ ?

จุดยืนของฝ่ายสัมพันธมิตรคือต้องการให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไร้เงื่อนไขเหมือนกับที่เยอรมันเพิ่งโดนมา

อดีตเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ ประจำกรุงโตเกียวคือนายโจเซฟ กริวแนะนำว่าควรจะอธิบายพวกญี่ปุ่นให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าพวกเขาสามารถมีจักรพรรดิต่อไปได้ เขารู้สึกว่าสิ่งนี้จะทำให้การเจรจาดำเนินต่อไปและอาจจะสำเร็จลุล่วงเสียด้วยซำ

แต่ที่พวกสัมพันธมิตรทำได้อย่างมากที่สุดคือการเสนอให้ประชาชนญี่ปุ่นมีสิทธิในการตั้งรัฐบาลของตัวเอง ดังคำประกาศในการประชุมพอตส์ดัมซึ่งเป็นการบอกโดยนัยว่าองค์พระจักรพรรดิยังคงอยู่ได้ แต่ภาษาไม่ได้ระบุถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจน เพียงแต่พูดว่าญี่ปุ่นต้องมีรัฐบาลที่รับผิดชอบและฝักใฝ่ไปทางสันติภาพ

คำประกาศนี้ยังถูกเพิกเฉยโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งก็เกิดการแตกแยกกันขึ้นมาภายในเหมือนกัน แม้แต่ผู้สนับสนุนการเจรจายังไม่เห็นด้วยกับหลายๆ คำในประกาศและพวกหัวรุนแรงยังเพิ่มเงื่อนไขที่ต้องการมากขึ้นไปอีก


การขาดการเจรจา

บัดนี้หนังเล่มใหม่ก็ได้เสนอการตีความครั้งใหม่แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของเหตุการณ์ครั้งนั้น ในหนังสือชื่อ “Racing the Enemy”   นายซึโยชิ ฮาซะกาว่า ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสงครามเย็นของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซันตา บาร์บาราได้กล่าวโทษทั้งสตาฃลินและทรูแมนที่ไม่พยายามทำอะไรไปมากกว่านี้เพื่อเจรจาเพื่อให้ญี่ปุ่นยอมแพ้

เขายังอ้างด้วยว่าเพราะการที่สหภาพโซเวียตเข้ามาทำสงครามกับญี่ปุ่นแค่ภายหลังการระเบิดที่ฮิโรชิมา ทำให้ญี่ปุ่นวิตกกังวลอย่างแท้จริง และทำให้พวกเขายอมแพ้ในที่สุด นาย ฮาซะกาว่ายังกล่าวอีกด้วยว่าสตาลินปฏิเสธการหยั่งเชิงเพื่อยุติสงครามโดยญี่ปุ่น เพราะเขามุ่งมั่นที่จะเอาผลประโยชน์จากการเข้าร่วมสงครามและสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธการหยั่งเชิงแบบนี้จากการตีความรหัสลับของญี่ปุ่น เพราะว่าไม่ชอบมัน

ทรูแมนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงความต้องการ“การยอมแพ้อย่างไร้เงื่อนไข” เพราะเขาต้องการล้างแค้นญี่ปุ่นซึ่งมาโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์เพื่อเรียกร้องคะแนนความนิยมจากประชาชนอเมริกันและต้องการแสดงอำนาจอย่างเหนือชั้น

ดังนั้นนายฮาซะกาว่าเห็นว่าโอกาสทั้งหลายทั้งปวงจึงได้หมดไป มายาคติที่ว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูเท่านั้นจะทำให้สงครามสิ้นสุดลงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบรรเทาความรู้สึกผิดบาปที่มีอยู่ในสำนึกของ ประธานาธิบดีทรูแมนและชาวอเมริกันทั้งปวง

นายฮาซะกาว่ายังอ้างว่าบรรดาผู้นำหัวรุนแรงของญี่ปุ่นไม่ได้วิตกกังวลมากจนเกินไปเกี่ยวกับความพินาศที่เกิดจากระเบิดปรมาณู เพราะการทิ้งระเบิดตามปกติของอเมริกาก็ทำให้เสียหายพอๆ กันหรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ

นายโกเระชิกะ อานามิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเยือกเย็นและเปรียบเทียบการทำลายล้างญี่ปุ่นเหมือนกับการร่วงโรยของดอกไม้

ตามทฤษฎีของนายฮาซะกาว่า สิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นตื่นตระหนกคือกองทัพแดง ญี่ปุ่นยอมแพ้เพราะรับไม่ได้ที่กองทัพของโซเวียตเข้ามาร่วมบุกและเข้ายึดครองในบางส่วนของประเทศตนดังประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งกับรัสเซียในอดีต

การตีความครั้งนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์อเมริกันคือริชาร์ด บี แฟรงค์เจ้าของหนังสือชื่อ “Downfall”   ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1999

นายแฟรงค์สรุปว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่จะเชื่อว่าการสิ้นสุดของสงครามนั้นมีความเป็นไปได้ก่อนที่จะทิ้งระเบิดระเบิดปรมาณู เขาศึกษาความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นคือนายชิเกะโนริ โตโกที่จะเปิดการเจรจากับทางกรุงมอสโคว์ ซึ่งเขาได้ชี้ให้เห็นว่า การเจรจาไร้ประสิทธิภาพและไม่มีความแน่นอนชนิดที่ว่าเอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นประจำกรุงมอสโคว์คือ นายนาโอตากะ ซาโตะยังดูถูกดูแคลนการเจรจาครั้งนี้

นายซาโตะได้ส่งโทรเลขหลายๆ ฉบับเป็นเชิงตำหนิไปยังเจ้านายของเขา โดยเน้นให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์ของสิ่งที่ญี่ปุ่นยื่นเสนอให้ทางรัสเซีย ซึ่งทางฝ่ายอเมริกันก็รู้เรื่องดีจากการอ่านการโต้ตอบระหว่างนายโตโกกับนายซาโตะ

นายแฟรงค์เห็นว่าเพื่อทำให้ข้อเสนอที่จะคงจักรพรรดิไว้ส่งผลที่แน่นอน นายโตโกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเองได้บอกนายซาโตะว่า การตีความคำว่า “ยอมแพ้” ที่มีคำยืนยันอย่างนั้นรวมอยู่ด้วยยังไม่เพียงพอ ตามความจริงแล้ว บรรดารัฐมนตรีอย่างเช่นนายพลอานามิยังเพิ่มเงื่อนไขหลายอย่างเข้าไปในตอนท้ายรวมไปถึงคำปฏิเสธไม่ให้ญี่ปุ่นถูกยึดครองแม้แต่น้อย

มุมมองของนาย เฮซะกาว่า ที่ว่าพวกรัสเซียคือสาเหตุของการยอมแพ้ของญี่ปุ่นไม่ใช่ระเบิดดูจะไม่เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์หัวเก่า

นี่เป็นเพราะถึงแม้เป็นเรื่องจริงที่ว่า ระเบิดปรมาณูไม่ได้ทำให้นายพลอานามิและลูกน้องยุติการเรียกร้องให้ต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มันก็ได้นำไปสู่การแทรกแซงอย่างจริงจังจากจักรพรรดิฮิโรฮิโต

สมเด็จพระจักรพรรดิทรงได้กล่าวถึงระเบิดผ่านพระราชดำรัสอย่างเด็ดขาดต่อหน้าคณะรัฐมนตรี แสดงว่าระเบิดนั้นย่อมส่งผลกระทบถึงพระองค์ และกระแสพระราชดำรัสนี้ได้ทำให้นายพลอานามิต้องจำยอม ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคิดจะทำรัฐประหารและปลิดชีพตัวเองหลังจากนั้นไม่นานนัก

การถกเถียงยังคงมีอยู่ต่อไป ที่การประชุมซึ่งจัดโดยองค์การกรีนพีซที่กรุงลอนดอนเพื่อฉลองครบรอบ 60 ปีของการสิ้นสุดสงคราม ศาสตราจารย์มาร์ก เซลเดนแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ณ กรุงนิวยอร์ก ได้อ้างว่า การตัดสินใจของทรูแมนเกิดจาการครุ่นคิดทางกลยุทธ์โดยกล่าวว่า

“ความเชื่อที่ว่าการทิ้งระเบิดสามารถทำให้สงครามสิ้นสุดเร็วขึ้นจะทำให้อำนาจของสหรัฐมั่นคงขึ้นอย่างมหาศาลในเอเชีย”

แท้จริงแล้ว มันเกิดจากการแข่งขันกับพวกรัสเซีย ระเบิดปรมาณูคือการประกาศให้โลกรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐ ฯ และยังเป็นการหยุดยั้งไม่ให้พวกรัสเซียคืบหน้าไปยังญี่ปุ่นและการทิ้งระเบิดยังทำให้สหรัฐฯ เข้ามามีอำนาจในการยึดครองญี่ปุ่น ดังที่เป็นมาในประวัติศาสตร์

เดวิด แม็คคัลลัฟได้ยกการตีความแรงจูงใจของ ทรูแมน เรียบง่ายยิ่งกว่าว่า

"ประธานาธิบดีหรือคนอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งนี้จะสามารถตอบคนอเมริกันได้อย่างไรถ้า ภายหลังการนองเลือดจากการบุกญี่ปุ่น แล้วมารู้กันว่าอาวุธที่มีอำนาจร้ายแรงพอพอจะยุติสงครามถูกสร้างเสร็จในช่วงกลางฤดูร้อน แต่ไม่ยอมใช้ ?”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net