ดรามาปฏิรูปสื่อในยุคคืนความสุข สภาวิชาชีพสื่อไม่ใช่คำตอบ?

13 ส.ค. 2558 ตอนหนึ่งในการเสวนาสาธารณะ หัวข้อ "ดรามาสื่อไทยกับเส้นทางการปฏิรูปสื่อในยุคคืนความสุข" จัดโดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการอภิปรายถึงแนวคิดร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตราฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่เสนอโดย สปช.

ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวในฐานะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน สปช. ว่า เป้าหมายหลักในการปฏิรูปสื่อของ สปช. คือทำให้ประชาชนเท่าทันสื่อ แต่ถ้าจะฝากความหวังไว้ที่ประชาชน ประชาชนก็ยังนิยมเสพดรามา ขณะที่งานศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ก็พบว่า เนื้อหาในสื่อที่มองประชาชนเป็นพลเมืองมีไม่มากนัก และส่วนที่มองเป็นพลเมืองก็เรตติ้งต่ำ นอกจากนี้ สื่อยังไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายรัฐอย่างลงลึกว่ามีอะไรที่กระทบประชาชนบ้าง เป็นเพียงการบอกเล่าเท่านั้น

ชนัญสรา กล่าวต่อไปว่า การจะให้สื่อดูแลตัวเอง มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบกันเอง ก็มีงานศึกษาพบว่า สื่อไม่อยากทำ เพราะมีค่าใช้จ่าย เคยมีผู้ช่วยทดลองโทรไป ก็ไม่มีคนรับเรื่อง พอจะฝากความหวังไว้ที่องค์กรวิชาชีพ ก็พบว่า ปัญหาที่ทั่วโลกเจอคือ การที่องค์กรวิชาชีพที่กำกับดูแลกันเอง ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย จะพบปัญหาเสือกระดาษ ซึ่งต่อมา ประเทศต่างๆ ก็มีแนวโน้มให้องค์กรวิชาชีพมีอำนาจทางกฎหมายไปเชื่อมร้อย หรือบางประเทศก็ใช้การกำกับร่วม

ชนัญสรา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย สปช.มองว่า ทางออกคือการมีร่มใหญ่ในชื่อ "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" มีสามคณะ คือ 1. คณะกรรมการกำกับดูแลโดยประชาชนและการรู้เท่าทันสื่อ ทำหน้าที่ส่งเสริมการรู้ทันสื่อ ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบร้องเรียนผ่านช่องทางที่มี 2. คณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ และ 3. คณะกรรมการจริยธรรม มีบทบาทส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเอง โดยสภาฯ ให้การรับรององค์กรวิชาชีพ หลังจากผ่านมาตรฐาน เช่น มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนชัดเจน จากนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อทำหน้าที่ออกบัตรประจำตัวให้ เพื่อป้องกันการใช้สถานะสื่อหาประโยชน์ส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ชนัญสรา กล่าวถึงจุดด้อยของร่างกฎหมายนี้ว่า เป็นการออกในภาวะที่เร่งรีบมาก โดยเดิมตั้งใจจะทำประชาพิจารณ์กับเจ้าของสื่อและประชาชน แต่ สปช.มาหมดอายุลงเสียก่อน โดยในวันที่ 13 ส.ค.นี้ สปช. ได้ส่งมอบงานทั้งหมด ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายนี้ให้ ครม. หาก ครม.เห็นด้วย ก็จะไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาและเข้า สนช. ต่อไป อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า สภาวิชาชีพสื่อนี้อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากคนที่เป็นสื่อด้วย

อธึกกิต แสวงสุข วอยซ์ทีวี เจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง" แสดงความไม่เห็นด้วยกับการมีสภาวิชาชีพสื่อดังกล่าว โดยตั้งคำถามว่า องค์กรที่จะมาเป็นร่มใหญ่นี้จะมาจากไหน ได้อำนาจมาอย่างไร พร้อมชี้ว่า แม้กระทั่งผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจปิดกั้นเสรีภาพคนอื่นหรือเสียงข้างน้อยได้

เขากล่าวว่า เมื่อพูดในรายละเอียดเช่น การมีอำนาจออกบัตรประจำตัว ถ้ามีการถอนจะเท่ากับหมดอนาคตอาชีพสื่อโดยปริยาย ถามว่า ในสังคมไทย เราจะห้ามใครเป็นสื่อ หรือแสดงความเห็นได้หรือไม่ จะบังคับอย่างไร หากจะไล่ออกจากการเป็นสมาชิก แล้วถ้าหนังสือพิมพ์นั้นๆ บอกว่าไม่สนใจ จะมีเสรีภาพเผยแพร่ตีพิมพ์ไหม และหากเขาทำแล้วขายได้จะเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ครั้งหนึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อเคยจะเล่นงานสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งในทางกฎหมาย แต่ตราบใดที่เขามีคนดู เขาก็คือสื่อ ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เพราะฉะนั้น ปัญหาการควบคุมกันในองค์กรสื่อ จึงไม่ใช่การใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งจะขัดหลักเสรีภาพสื่อ

อธึกกิตชี้ว่า แนวคิดนี้ผิดตั้งแต่ที่จะให้สื่อควบคุมกันเองแล้ว สื่อไม่ควรต้องควบคุมกันเองด้วยซ้ำไป สื่อจะควบคุมกันเองได้ด้วยการแข่งขัน เนื่องจากสื่อหลากหลายมากขึ้น สื่อจะเปิดโปงกัน และประชาชนก็จะรู้ทันสื่อ เพราะฉะนั้น หลักการคือเปิดให้แข่งกันโดยเสรี ด้วยทัศนะและข้อมูล

พูดอย่างถึงที่สุด อธึกกิต กล่าวว่า คนที่เข้าร่วม สปช. เพื่อร่างกฎหมายคือคนที่ยอมรับการรัฐประหาร และอาศัยอำนาจร่างกฎหมายซึ่งจะควบคุมสื่อที่ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาเห็นว่า ทำไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าในทางกลับกัน หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่งตั้งตัวเขาเข้าไปร่างกฎหมาย คนก็คงไม่ยอมรับเช่นกัน

อธึกกิต ชี้ว่า ขณะนี้ประชาชนเป็นสื่อแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องการตรวจสอบสื่อ เชื่อว่า ถ้ามีการโต้แย้งที่มีน้ำหนักสื่อก็จะหน้าแตกไปเอง ทุกสื่อต้องดูแลตัวเอง ส่วนที่ต้องอาศัยการตรวจสอบจากภายนอกมีไม่กี่อย่าง เช่น เรื่องเฮทสปีชทางการเมือง การทำอะไรที่ละเมิดจรรยาบรรณ เช่น ภาพศพ ภาพน่าเกลียด การละเมิดผู้เสียหายระดับบุคคลที่สู้กับสื่อไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ขององค์กรเชิง watchdog ซึ่งต้องไม่ใช่ภาคประชาชนแบบเดิมๆ ที่มีทัศนะเดิมๆ ทั้งนี้ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการสื่อคือความแตกแยกและเลือกข้างไปแล้ว ดังนั้น ภาวะที่ดีที่สุดคือ การไม่มีอำนาจ ปล่อยให้เถียงกันไป ใช้จรรยาบรรณเพื่อสร้างเครดิต เพราะอย่างไรสื่อก็คือธุรกิจ ต้องรักษาตัว สร้างเครดิตเพื่อยืนระยะให้ได้

จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอให้จับตาดูร่างกฎหมายที่จะออกมาว่า บัตรประจำตัวสื่อนั้นจะกลายเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา เห็นความพยายามอย่างมากที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ในลักษณะควบคุมบังคับ โดยพบว่า ในเอกสารของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน กระทรวงกลาโหม มีการพูดถึงภูมิทัศน์สื่อที่สับสนวุ่นวายไม่มีความรับผิดชอบ ต้องมีการกำกับควบคุม และให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อและสามารถเพิกถอนได้ รวมถึงยังพบความคิดลักษณะนี้ ทั้งจากผู้นำระดับรองใน คสช. และ สปช.

จักร์กฤษ กล่าวว่า ส่วนตัวยืนยันตลอดว่า เรื่องจริยธรรมใช้กฎหมายบังคับไม่ได้ เป็นเรื่องจิตสำนึกที่เกิดขึ้นเอง ย้ำว่า สภาวิชาชีพสื่อฯ ไม่ใช่คำตอบ พร้อมเสนอทางออกว่า เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยน สื่อสลับซับซ้อนขึ้น ต้องคิดวิธีการใหม่ ถึงเวลาที่ต้องนิยามความเป็นสื่อในบริบทปัจจุบันให้ชัด เพื่อชัดเจนในการบริหารจัดการสื่อแต่ละประเภท เพราะเราไม่สามารถคาดหวังจรรยาบรรณจากสื่อได้ทั้งหมด สอง สร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค โดยให้ภาคประชาชนเป็นตัวแทนผู้ถูกละเมิด จัดการบางเรื่องที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากสื่อมักทำผิดกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว มาตลอด แต่ไม่มีใครคุ้มครองผู้เสียหายเลย 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) ชี้ว่า แนวคิดเรื่องสภาวิชาชีพนั้นเลียนแบบมาจากสภาทนายความ และแพทยสภา ซึ่งความจริงแล้วมีจุดมุ่งหมายคนละอย่างกัน เพราะของสภาทนายความและแพทยสภา เป็นเรื่องความรู้ แต่สื่อเป็นเรื่องความเห็น ไม่มีทางบอกว่าถูกหรือผิด ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น สื่อสารมวลชนวันนี้ก็ไม่ใช่สื่อสารมวลชนอีกต่อไป แต่เป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่มไปเรื่อยๆ คนที่สนใจเรื่องหนึ่งๆ ก็จะมีสื่อของเขา เราไม่สามารถมีองค์กรวิชาชีพให้คนตรวจสอบกันเอง เพราะจะมีอคติและจะไม่มีใครเชื่อใคร สุดท้าย สิ่งที่จะคานกันได้คือผู้บริโภค

ชนัญสรา แลกเปลี่ยนว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องรู้เท่าทันสื่อของประชาชน แต่อยากให้มองเรื่องการให้ประชาชนตรวจสอบได้ เป็นปลายทางหรือเป้าหมาย ไม่ใช่วิธีการ เนื่องจากมองว่า เราสามารถมีได้หลายวิธีการ โดยวิธีหนึ่งคือสภาวิชาชีพฯ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถผลักภาระไปที่สภาวิชาชีพฯ ทั้งหมด คงต้องถามสื่อเองด้วย นอกจากนี้ ต้องทำให้คนเข้าถึงสื่อไอซีทีเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเพียงคนในเมืองเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เสนอว่า อย่าเพิ่งติดกับดักการสร้างกลไกสภาวิชาชีพสื่อฯ แต่ให้ลองนึกจากรูปธรรม ให้ทุกช่องได้ตกลงร่วมกัน เปิดให้มีสิทธิในการชี้แจง (right to reply) มีการบาลานซ์สองฝ่ายก่อน ส่วนเรื่องร่างกฎหมายนั้น ในวันที่ 2 ก.ย. จะมีการนำร่างทุกฉบับมาพิจารณาหาจุดร่วมกัน ทั้งของ กสทช.และ สปช. พร้อมย้ำว่าทุกฝ่ายควรมีความเห็นร่วมกันก่อน และส่วนตัวไม่อยากให้รัฐหรือ กสทช.เป็นคนทำหน้าที่ตัดสิน

สุภิญญากล่าวถึงประเด็นการละเมิดของสื่อว่า ควรหาเส้นแบ่งให้ชัดเจน พร้อมยกตัวอย่างกรณีอมรินทร์ทีวี รายการหนึ่งซึ่งมีอดีตผบ.ตร. วิจารณ์นายตำรวจเรื่องนโยบายโยกย้าย กรณีนี้ มองว่า เรื่องใครวิจารณ์ใครในแง่การทำงาน วิจารณ์ในศักยภาพการทำงานของเขาเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะด้านหนึ่งก็ทำให้สาธารณะได้ประโยชน์ และหากบุคคลนั้นรู้สึกเสียหาย ก็สามารถไปฟ้องได้ แต่ กสทช. จะตัดสินคำวิจารณ์นั้นถูกหรือผิดไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ กสทช. และหากการกระทำดังกล่าวผิดจรรยาบรรณ ก็สามารถส่งเรื่องกลับไปที่ช่อง ให้กำกับกันเอง ถ้า กสทช.ตัดสินจะยากทันที ในทางกลับกัน หากเป็นการด่า เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจจะถูกตัดสินว่าผิดได้ เพราะการวิจารณ์คน ควรให้ความเป็นธรรมให้เขาชี้แจง

นอกจากนี้ สุภิญญา กล่าวถึงการทำงานของ กสทช.ในช่วงสองรัฐบาลว่า สถานการณ์กลับตาลปัตรกัน โดยช่วงก่อนรัฐประหารที่มีการชุมนุมยาวนาน ประชาชนลุกฮือ มีช่องข่าวช่องการเมืองที่มียอดชมสูง มีการใช้ช่องถ่ายทอดการชุมนุม มีการออกมาวิจารณ์โต้กันไปมา กสทช. ถูกตั้งคำถามว่าจะไม่ทำอะไรเลยหรือ แต่พอช่วง "คืนความสุข" ใต้ คสช. มีการใช้ "อำนาจเด็ดขาด" ทำให้ทุกอย่างเงียบหายไป สิ่งที่ กสทช.ควรทำคือการดึงกลับไปที่จุดตรงกลางก็หายไป และกลายเป็นไปอยู่ที่ฟากความมั่นคง ทำให้สื่อปลอดจากการเมืองมากที่สุด เป็นภาวะสุดขั้วไปสุดทาง เกิดการทำ MOU ทั้งที่ควรเกิดก่อนรัฐประหาร

สุภิญญา เล่าว่า กสทช.มีการเชิญสื่อมาเตือน มีการทำ MOU ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย ทุกสัปดาห์จะมีเรื่องชงให้ตรวจสอบ เริ่มจากทีวีดาวเทียม ขยับมาที่ฟรีทวี ล่าสุด มีกรณีช่องอมรินทร์ทีวี ที่วิจารณ์การโยกย้ายตำรวจ แต่กรรมการเห็นว่ายังไม่เห็นว่าขัดประโยชน์สาธารณะหรือความมั่นคง ประเด็นนี้จึงตกไป

สุภิญญา มองว่า ความพยายามทำให้สื่อปลอดการเมือง ส่งผลตรงกันข้ามกับปรัชญาของ กสทช. ที่ต้องการผลักดันทีวีดิจิทัล ใต้ระบบใบอนุญาต เพื่อให้อยู่ในระบบเปิด เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การออกแบบให้มีช่องเยอะก็เพื่อให้มีข้อมูลที่หลากหลายและถ่วงดุลกัน แต่เมื่อมีความพยายามทำให้ช่องข่าวปลอดการเมือง จึงกลายเป็นว่าสื่อนำเสนอแต่ข่าวบันเทิง

"นโยบาย คสช.ทำให้ทีวีดิจิทัลไม่สามารถแสดงความสามารถของช่องที่อยู่ในระบบเปิดอย่างระบบใบอนุญาตได้" สุภิญญาย้ำ

สุภิญญา กล่าวเปรียบเทียบด้วยว่า ขณะนี้เราไม่ได้มีทีวี 28 ช่อง (ช่องธุรกิจ 24 ช่อง และช่องสาธารณะ -ช่อง 5, 11, ไทยพีบีเอส, รัฐสภา) แต่มี 29 ช่อง โดยช่องที่ 29 คือ คสช. เป็นซูเปอร์ชาแนล เพราะมีโลโก้เป็นของตัวเอง มาเมื่อต้องการมา และกลายเป็นคนคุมผังรายการทุกช่อง เพราะทุกช่องต้องปรับผังตาม ทำให้ผังรายการรวนหมด และเวลาไพร์มไทม์หายไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท