Skip to main content
sharethis

หลัง GTH ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ผ่านยูทูบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างกระแสตอบรับเป็นอย่างมาก โดยมียอดวิวกว่า 2 ล้านวิว ตามมาด้วยการแถลงข่าววานนี้ นำโดยผู้กำกับอย่าง เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รวมทั้งนักแสดงนำอย่าง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ และ วี วิโอเลต วอเทียร์ ยิ่งสร้างกระแสให้หนังดังกล่าวมากขึ้น โดยเว็บสนุกดอทคอมได้รายงานบางส่วนของคำแถลงของผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่ง นวพล กล่าวถึงที่มาของหนังว่า "จากประสบการณ์ชีวิตจริงที่เป็นฟรีแลนซ์ และทำงานหนักมากจนไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐ ในห้องตรวจแคบๆ ได้เจอหมอผู้หญิงรุ่นเดียวกัน เขาตรวจปกติ ถามเราเป็นปกติ แต่เราเขินหมอ ผมจึงนำไอเดียนี้มาทำเป็นหนังรักมาเสนอพี่เก้ง พี่วรรณที่ GTH ซึ่งพี่ๆ สนใจไอเดียนี้"

ตัวอย่างภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ

ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งของเรื่องคือระบบการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งดูเหมือนเป็นงานที่ให้อิสระแก่คนงาน ในขณะที่เรื่องราวบางส่วนของหนังจากคำแถลงดังกล่าวกลับต้องทำงานหนักจนป่วย

ในโอกาสนี้ประชาไท สัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีงานเขียนเกี่ยวกับระบบการจ้างงานแบบใหม่อย่างฟรีแลนซ์ ผ่านบทความเช่น “เราทุกคนคือศิลปิน”:อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน รวมทั้งเคยเสนอประเด็นรายได้พื้นฐาน (Basic income) ในการสร้างสวัสดิการแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบอย่างฟรีแลนซ์ เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจระบบการจ้างงานแบบนี้ ว่ามีที่มาและการขูดรีดแรงงานอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอในการสร้างสวัสดิการภายใต้ระบบการจ้างงานแบบนี้ เช่น ข้อเสนอ รายได้พื้นฐานอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional basic income) และรูปแบบการจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวด้วย

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาพจากวิดีโอสัมภาษณ์โดยสำนักข่าวประชาธรรมในประเด็นรายได้พื้นฐาน Basic income กับการผลิตข้ามรัฐชาติ 

00000

"อุดมการณ์ที่สำคัญมากของการปลดปล่อยคนงานออกจากโรงงานก็คืออุดมการณ์ว่าด้วยการเป็นผู้ประกอบการ การที่คนพวกนี้มีอิสระ ทำงานอย่างอิสระไม่ต้องอยู่ผูกติดกับที่ทำงาน มีเวลาทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงเราจะพบว่าถ้าเทียบเวลาการทำงานที่คนงานที่อยู่นอกโรงงานใช้ในการผลิตในแต่ละวันแนวโน้มอาจจะมากกว่าคนงานที่ทำงานในโรงงาน 8 ชั่วโมง"  เก่งกิจ กล่าว

ประชาไท : รูปแบบการจ้างงานฟรีแลนซ์ คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน?

เก่งกิจ : การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์นั้นขยายตัวมากในทศวรรษ 70 - 80 เป็นต้นมา ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบทุนนิยมพัฒนามาเป็นร้อยๆ ปี แต่มีคนไม่เยอะที่ถูกจ้างงานเป็นเวลาแบบโรงงานและออฟฟิศ ยุคแรกๆ อาจจะเป็นแรงงานส่วนมากที่เป็นผู้ชายอย่างในสหภาพแรงงาน หรือสมาชิกสหภาพฯ ที่มีความรู้ที่ทำงานในโรงงานได้ แต่ในแรงงานเด็ก ผู้หญิงและรวมไปถึงช่างฝีมือ หรือทุกวันนี้เราอาจจะเรียกนักออกแบบหรือศิลปิน คนเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบจ้างงานที่เราเข้าใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะทำงานขายเป็นชิ้น หรือรับจ้างที่จะผลิตเป็นอย่างๆ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ทำงานที่บ้านเขาก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนและรวมไปถึงเป็นแม่บ้านที่ไม่ได้ค่าตอบแทน   คือท่ามกลางการพัฒนาของระบบทุนนิยมเป็นร้อยปี ประชากรจำนวนมหาไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานแบบปกติ

การพัฒนาของระบบอุตสาหกรรมในช่วง 1930 ที่มันเข้มข้นขึ้นภายใต้ระบบสายพานการผลิต รวมถึงขยายตัวของระบบรัฐสวัสดิการมันทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบจ้างงานเพื่อที่จะรับสวัสดิการจากรัฐ แต่ผู้หญิงจำนวนมากก็ยังถูกกันออกจากระบบการจ้างงานแบบนี้อยู่ดี หรือคนที่ทำงานช่างฝีมือจำนวนมากก็ถูกกันออกการจ้างงานแบบเต็มระบบอยู่ดี

ตั้งแต่ 1930 – 1970 มันคือช่วงพีคของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งคนจำนวนมากเข้าไปทำงานในและสัมพันธ์กับเครื่องจักร โดยสิ่งที่เขาได้รับก็คือค่าแรง แต่เมื่อทศวรรษ 60 ขบวนการแรงงานในโลกเริ่มเข้มแข็งมากเพราะมันเอาคนจำนวนมากไปกระจุกตัวอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม จึงเกิดการรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน การขยายตัวของพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการแรงงาน หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือพรรคแรงงาน ประกอบกับการขยายตัวของระบบการศึกษาชั้นสูง คือลูกหลานในชนชั้นแรงงานสามารถที่จะเข้าถึงโรงเรียนเทคนิคช่างฝีมือระดับสูงได้ รวมถึงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ นั่นหมายความว่าพัฒนาการของการสถาปนาตัวของรัฐสวัสดิการหรือการต่อสู่ของคนงานในช่วงหลายสิบปี มันทำให้คนงานหรือลูกหลานของคนงานสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าโดยทั่วไปพบว่าทักษะและความรู้ของแรงงานสูงขึ้นโดยรวมทั้งหมด คือพลังทางการผลิตเพิ่มขึ้น

ในทศวรรษ 70 ทุนเผชิญหน้ากับหลายปัจจัย ปัจจัยที่ 1 ที่พูดไปแล้วคือ ความเข้มแข็งของขบวนการในแรงงานในรูปของสหภาพแรงงาน ปัจจัยที่ 2 ทุนเผชิญหน้ากับพลังทางการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการที่การศึกษาจากการที่ได้รับการดูแลจากรัฐสวัสดิการ การพัฒนาของรัฐ เมื่อคนพวกนี้ได้รับการพัฒนาแต่เมื่ออยู่ในโรงงานเขาไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะว่าการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มันพัฒนามากๆ และเป็นระบบสายพานการผลิตมันจะลดทอนความสามารถของคนงานลงไปเรื่อยๆ ให้ผูกอยู่กับตัวเครื่องจักร

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ทุนมันเห็น ที่หนึ่งทุนมันเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง สองทุนมันเห็นโอกาสที่มันเกิดขึ้นจากศักยภาพของแรงงานทั่วทั้งสังคมที่มีพลัง มีความสามารถหรือมีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทุนต้องการที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากการเผชิญหน้ากับคนงานโดยตรง และทุนก็มองว่าการเอาคนงานไปกระจุกตัวกันจะทำให้พลังทางการผลิตที่คนงานมีนั้นมันถูกลดทอนมันจะไม่นำไปสู่การสร้างมูลค่าหรือสร้างอะไรได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุนคิดในทศวรรษ 70 ก็คือ ต้องปลดปล่อยคนงานออกจากโรงงาน เพราะหนึ่งเพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับคนงาน สองคือปลดปล่อยให้ศักยภาพของคนงานมันไปอยู่ในทุกที่ เพราะการผลิตความรู้หรือการผลิตไอเดีย การผลิตภาษา การผลิตสัญญะหรืออารมณ์ความรู้สึกการดีไซน์ที่เป็นงานฝีมือทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมที่แรงงานมากระจุกตัวกันก็ได้ คือการผลิตแบบนี้มันเกิดที่ไหนก็ได้ ทำงานที่บ้านก็ได้ ร้านกาแฟก็ได้ ยิ่งเราเอาแรงงานมากระจุกตัวในโรงงานมากเท่าไหร่ศักยภาพหรือพลังในการผลิตยิ่งลดลง ต้องให้การผลิตมันมีอิสระมากขึ้น แรงงานถึงจะมีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เพิ่มขึ้น อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุนต้องการหยิบฉวยหรือดึงเอาศักยภาพของคนงานมาใช้ อันที่สองคือต้องการลดทอนความขัดแย้ง

แต่อุดมการณ์ที่สำคัญมากของการปลดปล่อยคนงานออกจากโรงงานก็คืออุดมการณ์ว่าด้วยการเป็นผู้ประกอบการ การที่คนพวกนี้มีอิสระ ทำงานอย่างอิสระไม่ต้องอยู่ผูกติดกับที่ทำงาน มีเวลาทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงเราจะพบว่าถ้าเทียบเวลาการทำงานที่คนงานที่อยู่นอกโรงงานใช้ในการผลิตในแต่ละวันแนวโน้มอาจจะมากกว่าคนงานที่ทำงานในโรงงาน 8 ชั่วโมง

เพราะฉะนั้นการจ่ายเงินต่อชิ้น การ Outsource ฟรีแลนซ์ การทำงาน Part time ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการอันใหญ่ของระบบทุนนิยมที่ต้องการทำให้แรงงานมีลักษณะยืดหยุ่นที่สุด เพื่อที่จะบริหารจัดการได้ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุนก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเพราะว่าทุนแค่ไม่จ่ายงานให้กับฟรีแลนซ์ก็จบ เพราะฉะนั้นทุนสามารถสะสมทุนได้อย่างยืดหยุ่นภายใต้อุดมการณ์ว่าด้วยการเป็นเจ้าของตัวเอง การเป็นทุนมนุษย์ การเป็นเจ้าของกิจการ การมีอิสระในการทำงาน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่มาพร้อมๆ กัน ภายหลังจากความขัดแย้งในช่วง 1970

"..อย่างที่ตัวหนังชื่อว่าห้ามป่วยหรืออะไรเหล่านี้มันคือปัญหาจริงๆ ของคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ แต่ถ้าเราอยู่ในระบบที่การจ้างเราลาป่วยได้ มันมีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเหล่านี้มาจึงมีสวัสดิการที่จะจ่ายให้" เก่งกิจ กล่าว

ในฐานะคนงานรูปแบบการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มันมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?

ถ้าเกิดเราทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานในในออฟฟิตสิ่งที่เราจะได้คือเรามีสิทธิที่จะลาป่วย ซึ่งสิทธินี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ของขบวนการแรงงานและสหภาพต่างๆ แต่การทำงานแบบฟรีแลนซ์หรือการทำงานที่เป็น Part Time หรือการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ที่ไม่ถูกจ้างในระบบ คนเหล่านี้ถ้าเขาป่วยจะไม่รับสิทธิเพราะเขาจะไม่มีรายได้ ถ้าเขาไม่มีมนุษย์สัมพันธ์อันดีถ้าไม่สร้างคอนเน็คชั่นอยู่ตลอด หรือไม่วิ่งหางานอยู่ตลอดโอกาสที่เขาจะได้งานที่จะเลี้ยงตัวเขาเองไม่ได้ รวมถึงเวลาป่วยมันก็ไม่มสวัสดิการที่จะรักษาตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่างที่ตัวหนังชื่อว่าห้ามป่วยหรืออะไรเหล่านี้มันคือปัญหาจริงๆ ของคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ แต่ถ้าเราอยู่ในระบบที่การจ้างเราลาป่วยได้ มันมีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเหล่านี้มาจึงมีสวัสดิการที่จะจ่ายให้

เวลาที่พูดเรื่องนี้ต้องพูดในแง่ของการพัฒนาการของทุน คือทั้งแรงงานและทุนในทางทางทฤษฎี ต่างคนต่างสู้เพื่อเป็นอิสระซึ่งกันและกันเสมอ แรงงานก็ต่อสู้เพื่อที่จะหลุดออกจากการขูดรีดของทุน และโรงงานคือพื้นที่แรงงานรู้สึกว่าตัวเองถูกขุดรีด ทุนเองก็รู้สึกว่าการพึ่งพิงพลังทางการผลิตของแรงงาน คือเอาแรงงานมากระจุกตัวกัน ต้องทุ่มเทให้กับฝ่ายบุคคลการควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด คือการที่ทุนเองก็ต้องพึ่งพิงกับแรงงานอย่างเข้มข้น จากการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรมจึงเป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งมันถึงเข้มข้นสูงที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างพึ่งพิงซึ่งกันและกัน หรือเผชิญหน้ากัน

การปลดปล่อยคนงานจากโรงงานในทศวรรษ 70 มันเป็นผลของการต่อสู้ทั้งทุนและแรงงาน เป็นสิ่งที่ทุนและแรงงานเห็นพ้องต้องกันคือการหลุดออกจากรูปแบบการผลิตในโรงงาน เพราะฉะนั้นแรงงานจะรู้สึกว่าตนเองมีอิสระมากขึ้น ทุนเองก็รู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งพิงหรือเผชิญหน้ากับคนงานโดยตรง แต่ในแง่การผลิตถ้าเทียบแล้วในโรงงานอุตสาหกรรมการควบคุมการผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การต่อสู่ในพื้นที่ของการผลิตเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อคนงานเป็นอิสระแล้ว ทุนไม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้โดยตรง แต่สิ่งที่นายทุนควบคุมคือ ผ่านอันที่หนึ่งคืออุดมการณ์ว่าด้วยผู้ประกอบการ และสองคือกลไกของการที่เมื่อผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่จะเอาตัวเองไปขายไปแข่งขันเป็น SMEs หรืออะไรก็ตาม จากนิยามของแรงงานที่ไม่มีปัจจัยในการผลิต เมื่อหลุดออกจากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งที่เขาจะทำคือทำให้ตัวเองมีเครดิตเพื่อไปกู้เงินกับแบงค์ เพราะฉะนั้นทำไมทุนการเงินถึงโตมากตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 - 80 เป็นต้นมา เพราะว่าเมื่อปลดปล่อยคนงานออกมาจากโรงงาน คนงานเหล่านั้นต้องการปัจจัยการผลิตพื้นฐานหรือการกู้เงินเพื่อไปลงทุน เพราะฉะนั้นทุนการเงินจึงเป็นสิ่งที่โตมาเพื่อรองรับการควบคุมแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของการผลิตโดยตรง

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เป็นหนี้ทั้งนั้น เพราะเขาไม่ได้อยู่ในระบบรัฐสวัสดิการที่ถูกทำลายถูกรื้อถอนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือรับผิดชอบตัวเองจ่างเงินเพื่อมีรถ เพื่อมีบ้าน เพื่อสร้างสร้างเครดิตของตัวเองในระบบทุนนิยมหรือในระบบตลาด หรือกู้เงินมาทำการลงทุน เพราะฉะนั้นในแง่นี้ทุนควบคุมผ่านการทำให้แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในโรงงานเป็นลูกหนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำไมวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาจึงเกิดขึ้นจากการที่คนไม่มีปัญญาจะจ่ายหนี้ เพราะแรงงานจำนวนมากทั้งในระบบและนอกระบบของสหรัฐฯ เป็นลูกหนี้ของแบงค์ขนาดใหญ่ ทำไมบริษัทการเงินใหญ่ๆ มันถึงล้มแล้วรัฐบาลถึงต้องไปอุ้ม เพราะคนไม่มีปัญญาจะจ่ายหนี้แล้ว

นี่เป็นสิ่งที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุนเองก็ไม่สามารถหลุดได้จากแรงงาน และตราบใดที่แรงงานยังต้องพึ่งพา ยังรับรู้ตัวเองในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการอยู่ แรงงานก็จะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากทุน

สำหรับข้อดีของรูปแบบการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ จากความเป็นอิสระส่งผลต่อความสามารถในการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ก็จะถูกทำให้ปรากฏได้มากขึ้น ความเป็นมนุษย์ถูกทำให้ปรากฏได้มากขึ้น ความหลากหลายถูกทำให้ปรากฏได้มากขึ้น  ในขณะที่ในระบบอุตสาหกรรมนั้นทุกคนต้องเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่ควรจะพูดไม่ควรจะคิดเมื่อเราอยู่ต่อหน้าเครื่องจักร

รูปแบบการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มีทั้งข้อดีและข้อเสียดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วคนงานจะสร้างสวัสดิการได้อย่างไร เพราะด้านหนึ่งคนงานอาจมองว่าสวัสดิการจะสร้างผ่านกลไกตลาดอย่างบริษัทประกันชีวิต จากการมีอุดมการณ์แบบผู้ประกอบการ ขณะที่อำนาจการต่อรองทั้งสวัสดิการและค่าแรงกับนายจ้างดูเหมือนจะลำบาก เพราะเป็นปัจเจคไม่มีการรวมตัว อย่างสหภาพแรงงานในโรงงาน โดยเฉพาะถ้าเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีทักษะพิเศษอะไร แต่เป็นสิ่งทีหาได้ทั่วไป ในทัศนะของคุณเก่งกิจจะมีแนวทางในการสร้างสวัสดิการที่ดี ค่าแรงที่เป็นธรรมให้กับการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ได้อย่างไร?         

อันนี้ยังมีการถกเถียงกันเยอะตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ในเมื่อคนที่ถูกจ้างงานนอกระบบมันมีจำนวนเพิ่มขึ้น กาต่อสู่ผ่านสหภาพแรงงานมันยังเป็นโมเดลที่ใช้ได้ไหม เพราะเมื่อคนจำนวนมากไม่ได้อยู่ในโรงงาน แล้วเขาจะ Organize ตัวเองเป็นสมาชิกสหภาพฯ ได้อย่างไร และเวลาที่การต่อรองของสหภาพฯ ที่ในระดับพื้นฐานที่สุดคือต่อรองเฉพาะสมาชิกหรือคนในโรงงานเดียวกันหรือสถานประกอบการที่เชื่อมต่อกันในนามของสหภาพฯ แต่คนอื่นก็จะไม่ได้ผลประโยชน์จากการต่อรองการต่อสู่อันนี้

เป็นประเด็นใหญ่มากถ้าเราวิเคราะห์ว่าผลิตเกิดขึ้นทั้งในและนอกโรงงาน หรือการที่บอกว่าผู้หญิงที่ทำงานบ้านล้วนแล้วแต่ทำการผลิต หรือคนที่ทำงานช่างฝีมือก็ทำการผลิต ถ้าคนทุกคนในสังคมตอนนี้ทำการผลิต แต่มีความเข้มข้นของการจ้างงานไม่เท่ากัน บางคนอาจจะทำที่ประจำวันละ 3 ชั่วโมง บางทีอาจไปรับงานอื่นในวันนั้นด้วย หรือบางคนไม่ได้ถูกจ้างงานเลยแต่ก็ทำการผลิต เช่น คนเก็บขยะ เป็นต้น ถ้ารูปแบบระบบของทุนเป็นอย่างนี้เราจะใช้การเรียกร้องสวัสดิการเฉพาะคนที่ทำงานแต่ละโรงงานหรือแต่ละภาคการผลิตได้จริงๆ ไหม คำตอบก็คือมันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดเราไม่สามารถพูดแยกส่วนได้ว่าคนที่ทำงานฟรีแลนซ์จะได้อะไร คนที่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมจะได้อะไร เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่ทุนทำก็คือการบริหารจัดการให้แรงงานมีความแตกต่างกันออกไปหลายระดับเพื่อทำให้รวมตัวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่จุดที่จะเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งเป็นสิ่งที่แรงงานเฉพาะภาคการผลิตที่ถูกจ้างเรียกร้อง แต่คนทำงานฟรีแลนซ์ไม่สามารถดึงเขาเข้ามาเป็นแนวร่วมของการเรียกร้องตรงนี้ได้

เพราะฉะนั้นตอนนี้มันมีข้อเสนอจากขบวนการแรงงานหรือคนที่ต่อสู้เรื่องพวกนี้ในหลายที่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานออกแบบทำงานศิลปะต่างประเทศ หรือคนที่ตกงานแต่ทำงานผลิตในเมืองโดยไม่ถูกนับว่าทำงาน คนเหล่านี้มันมีการเรียกร้องไอเดียที่เรียกว่า ‘unconditional basic income’ คือ รายได้พื้นฐานอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่ได้พูดถึงค่าแรง เพราะนิยามของ ค่าจ้าง (wage) นั้นให้เฉพาะคนที่ทำงานในโรงงานเท่านั้น ซึ่งเป็นนิยามที่แคบ แต่ในเมื่อคนจำนวนมากทำการผลิต สิ่งที่เราต้องพูดถึงไม่ใช่เรื่องของการขึ้นค่าแรงอย่างเดียว แบบที่เราสู้เรื่องค่าแรง 300 บาท แต่มันต้องพูดถึง income เป็นการตั้งคำถามกับสังคมสังคมหนึ่งถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ เราต้องได้รายได้เท่าไหร่ ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็น ‘basic income’

และ ‘basic income’ มันจะข้างชาติ ข้ามเพศไปด้วย เพราะเวลาที่แรงงานข้ามชาติมาทำงานในไทยทุกวันนี้ ถูกจ้างงานในค่าแรงที่ถูกกว่า ไม่มีสวัสดิการ รวมตัวกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุนบริหารกำไรหรือบริหารการสะสมทุนโดยการที่ทำให้แรงงานมีหลายระดับและก็กีดกันกันเอง เพราะฉะนั้นไอเดียเรื่อง  ‘unconditional basic income’ นั้น ใครก็ตามที่เข้ามาทำงานหรืออยู่ในสังคมหนึ่งๆ ต้องได้รายได้ในมาตรฐานอันเดียวกัน แม้ว่าเขาจะถูกจ้างงานในระบบหรือไม่ก็ตาม

อย่างในฝรั่งเศสเคยมีช่วงหนึ่งที่เขาเรียกร้องให้หากอายุ 20 ปี รัฐตองจ่ายเงินในทันที ต่อให้เขาได้งานทำหรือยังไม่ได้งานทำหรือไม่ รัฐต้องจ่ายเงิน เพื่อให้เขามีอิสระได้ แล้วไอเดียอันนี้ก็จะมีนายทุนแย้งว่าถ้าเราจ่ายเงินให้เขาก็จะขี้เกียจทำงาน หากไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน แต่เราจะพบว่าถ้าเราดูตัวเลขทางเศรษฐกิจในส่วนภาคการผลิตที่เป็น creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่ง 99% เป็นการจ้างแบบฟรีแลนซ์ เศรษฐกิจแบบนี้ส่วนใหญ่มีสัดส่วนของ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ และมูลค่าของสินค้าที่ผลิตขึ้นมันมีมูลค่าสูงกว่าสินค้าที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นในแง่นี้นักเศรษฐศาสตร์ก็แย้งว่าถ้าเราสนับสนุนรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับคนที่ทำงานอิสระทั้งหลาย แนวโน้มเศรษฐกิจก็จะโตขึ้น รัฐจะได้ภาษีกลับเข้าไปเพิ่มขึ้น แล้วรัฐก็จะเอาเงินภาษีเหล่านั้นมาจ่าย รวมถึงการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าด้วย อันนี้ไม่ได้แย้งรัฐสวัสดิการแต่มันพัฒนารัฐสวัสดิการให้ไกลขึ้นอีกที่ครอบคลุ่มคนที่หลากหลาย

เดิมระบบรัฐสวัสดิการให้คนเงินที่ตกงานแล้วก็บีบให้คนที่ตกงานมีงานทำ แต่ทุกวันนี้พูทีดไม่ได้แล้วว่าใครตกงานไม่ตกงาน เพราะจริงๆ แล้ว ทุกคนทำงานแต่ไม่ได้ถูกจ้างงานเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดมันจะต้องข้ามพรมแดนอันนี้

"สิ่งที่เราต้องพูดถึงไม่ใช่เรื่องของการขึ้นค่าแรงอย่างเดียว แบบที่เราสู้เรื่องค่าแรง 300 บาท แต่มันต้องพูดถึง income เป็นการตั้งคำถามกับสังคมสังคมหนึ่งถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ เราต้องได้รายได้เท่าไหร่ ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็น basic income" เก่งกิจ กล่าว

แล้วรูปแบบการเรียกร้องจะทำอย่างไร เพราะการรวมตัวในลักษณะสหภาพแรงงานแบบเดิมๆ ก็อาจจะไม่ได้ แล้วจะมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจออกนโยบายเหล่านี้มาได้อย่างไรบ้าง?

อันนี้ก็พูดยาก เพราะมันเป็นแค่การทดลองเสนอตอนนี้เพราะว่ามันยังทำไม่สำเร็จ แต่เราลองยกตัวอย่างว่าตอนนี้เรากำลังเปิดอาเซียน เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงอาเซียนเป็นหน่วยเดียวกัน แต่หน่วยอันนี้วางอยู่บนช่วงชั้นแรงงานอย่างเข้มข้น คือมีแรงงานหลายราคา และทุนสะสมทุนโดยเอาแรงงานราคาถูกมาแทนที่แรงงานราคาแพงในแต่ละประเทศเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงาน เพราะฉะนั้นทุนควบคุมผ่านอันนี้ เพราะฉะนั้นขบวนการแรงงานในหลายๆ ที่ ก็เกลียดแรงงานข้ามชาติเนื่องจากมองว่ามาแย่งงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นยุทธวิธีของการบริหารจัดการแรงงานของทุน

ถ้าตอนนี้ชนชั้นนำกำลังพูดถึงการเปิดเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน การเชื่อมโยงกัน จริงๆ แล้วในส่วนของแรงงานที่ข้ามเชื่อชาติข้ามประเทศกัน น่าจะพูดประเด็นเดียวกันที่ว่าในอาเซียนนั้นเราควรมีรายได้พื้นฐานอันเดียวกันไหม หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าแรงพื้นฐานที่เท่ากันไหม มันจะทำให้แรงงานข้ามชาติไม่ถูกกดขี่ คือสิ่งที่เราต้องทำคือการสลายช่วงชั้นที่อยู่ในตลาดแรงงาน แต่มันต้องเกิดจากการต่อสู้ของคนงานที่ไม่สามารถจะจำกัดตัวอยู่ในเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งได้ เพราะไม่เช่นนั้นมันจะสร้างการกีดกันคนอื่นออกไป ไปสนับสนุนช่วงชั้นของตลาดแรงงานอยู่ดี

ถ้าเป็นเช่นนั้นหลังจากปรับรายได้พื้นฐานเท่ากันหมดทั้งอาเซียน ประเทศเดิมรายได้น้อยก็อาจไม่อพยพมาทำงานในประเทศที่ค่าจ้างแพงหรือไม่?

อันนี้ควรเป็นสิ่งที่แรงงานควรจะเลือก เป็น job choices คือแรงงานมีสิทธิที่จะเลือกงาน เหมือนกับที่ทุนมีสิทธิที่จะเลือกรงงาน แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือแรงงานไม่มี job choices ไม่มีเสรีภาพในการเลือกงาน เพราะทุนใช้ทั้งการกีดกันด้วยเพศ การกีดกันด้วยเชื้อชาติ เพื่อแบ่งย่อยให้ตลาดแรงงานมีหลายช่วงชั้นที่สุด เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้แรงงานมีสิทธิที่จะเลือกงาน บางคนก็อาจมาทำงานในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งมีหลายปัจจัย ไม่ใช่เรื่องรายได้อย่างเดียว อันนี้มันเป็นเสรีภาพในการเลือกได้

แต่ปัญหาตอนนี้คือกลไกของตลาดแรงงานมันไม่เคยฟังก์ชั่น ที่มันไม่ฟังก์ชั่นเพราะทุนจงใจที่จะทำให้มันไม่เปิดเสรีจริงๆ ในการจ้างงาน โดยใส่เงื่อนไขปัจจัย เช่น เรื่องเพศ เพศสภาพ ใส่ปัจจัยเรื่องเชื้อชาติเข้าไปเพื่อทำให้เกิดแรงงานมีหลายระดับที่จะขูดรีดหรือโยกย้ายแรงงานได้ เพราะฉะนั้น job choices หรือ เสรีภาพที่จะเลือกงานจริงๆ มันไม่เคยมีสำหรับแรงงาน

เวลาที่เราพูดถึงอาเซียน ทุนสารถเลือกแรงงานจากประเทศไหนก็ได้ ตามที่ถูกที่สุด แต่แรงงานไม่สามารถเลือกได้ เพราะแรงงานถูกแบ่งด้วยความเป็นชาตินิยม เชื้อชาติอะไรต่างๆ จำนวนมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงรูปธรรมของการเปิดเขตการค้าเสรี เปิดเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงเลย

เวลาทุนพูดถึงการค้าขายระหว่างประเทศมันคือการลดอัตราภาษีเพื่อให้สินค้ามันเคลื่อนย้ายได้ในมาตรฐานเดียวกัน แต่สิ่งที่ทุนไม่เคยพูดถึงก็คือแรงงานไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในมาตรฐานค่าแรงอันเดียวกัน ซึ่งเขามีสิทธิที่จะเลือกเคลื่อนย้ายได้ ถ้าเราจะผลักดันเรื่องนี้ในกระแสที่คนพูดถึงเรื่องอาเซียน เรื่องนี้อาจจะเป็นประเด็นน่าจะมีประโยชน์

แล้วมันจะไปผลักดันในเชิงนโยบายได้อย่างไร?

คงจะต้องรณรงค์ เพราะจริงๆ แล้วในลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา ในยุโรป มีการพูดถึงเรื่องนี้เยอะมาก เป็นเครือข่ายข้ามประเทศมีการทำวิจัยเรื่อง basic income อย่างมหาศาล เพื่อแก้ปัญหาของการทำงานของฟรีแลนซ์ แต่ประเทศไทยไม่พูดถึงกันเลย

การทำงานแบบฟรีแลนซ์มันมีอุดมการณ์แบบผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดแบบปัจเจคนิยมค่อนข้างมาก แล้วจะมีการรวมตัวกันได้อย่างไร เพื่อเคลื่อนไหว เพื่อรณรงค์?

เอาเข้าจริงเขาไม่ได้มีความเป็นปัจเจคนิยมมากอย่างที่ทุนพยายามทำให้มี เพราะคนที่ทำงานในหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นคนที่สื่อสารกับคนมากกว่าคนในในโรงงานอุตสาหกรรมอีก สื่อสารกบคนอื่นไม่น้อยไปกว่าคนที่ทำงานในโรงงาน เพราะในโรงงานเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงนั้นแทบไม่ได้พูดกัน แต่การทำงานฟรีแลนซ์หรือการทำงานผ่านโลกดิจิตอลออนไลน์ทั้งหลายมันจำเป็นที่ต้องการการสื่อสารการส่งต่อข้อมูลมหาศาล เพราะฉะนั้นทำไมประเทศที่มีการพัฒนา creative economy digital เพิ่มขึ้น แรงงานไม่ได้มีอำนาจต่อรองลดลง ต่อให้ทุนโยนแรงงานออกไปนอกโรงงาน แต่มันมีวิธีการจัดตั้ง (organize) แบบอื่นๆ มันไม่มีรูปแบบที่ตายตัวแบบที่เราพูดถึงสหภาพแรงงาน เวลาที่เขาดีเบตกันว่าองค์กรปฏิวัติในยุคนี้ควรจะเป็นอย่างไร จะเป็นเป็นแบบเลนินไหม พวกนักทฤษฎีที่ศึกษาเรื่องนี้มันก็จะบอกเป็นแบบนั้นไม่ได้เพราะคนงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม มันจัดตั้งผ่านสหภาพทั้งหมดได้ ต้องคิดเป็นโมเดลแบบอื่น ที่มันมีการจัดตั้งได้ ซึ่งประเด็นพวกนี้มันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่ตก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net