เรียกร้อง กสทช.เปิดรายงานประเมินราคาประมูล 4G

17 ส.ค. 2558 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงผลงานวิจัยและเสวนา "ประมูล 4G ใครได้-ใครเสีย : รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?" ที่ห้องบรรยาย ศ.101 ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์

พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงรายงานการศึกษา ในหัวข้อ “ประมูล 4G กับผลประโยชน์สาธารณะ” โดยเสนอให้ กสทช.เปิดเผยผลการศึกษาการประเมินราคาตั้งต้นการประมูลให้สาธารณะเข้าถึง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงเสนอให้มีการประมูลคลี่นความถี่ทั้งสองในครั้งเดียวกัน (multi-band auction) ซึ่งราคาสะท้อนการทดแทนของคลื่นความถี่ และผู้ประกอบการสามารถกำหนดสัดส่วนคลื่นความถี่ที่ตนต้องการถือ ด้วยกลไกตลาด

พรเทพ ยังเสนอให้แบ่งชุดคลื่นความถี่ออกเป็น 5 MHz เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกจำนวนคลื่นที่ตนเองต้องการถือครองอย่างเหมาะสมตามกลไกตลาด ทั้งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น โดย กสทช.อาจจำกัดไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดถือครองเกิน 2 ชุดคลื่นความถี่ (10 MHz) สำหรับคลื่น 900 และ 3 ชุดคลื่นความถี่ (15 MHz) สำหรับคลื่น 1800 รวมถึงเสนอให้ยกเลิกข้อกำหนด spectrum cap จากเกณฑ์การประมูล ทำการศึกษาถึงระดับ spectrum cap ที่เหมาะสมด้วยวิธีที่เป็นวิชาการ และรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำเป็นหลักเกณฑ์กำกับดูแลตามกระบวนการต่อไป

 

หวั่นไม่ได้ประมูล 4G เหตุรัฐวิสาหกิจ-นโยบายคกก.เศรษฐกิจดิจิทัล
สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “ประมูล 4G ใครได้–ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?” ว่า การประมูลรอบนี้ นายกรัฐมนตรีทำหนังสือเตือนว่าอย่าให้เกิดปัญหาขึ้นแบบเมื่อครั้งประมูล 3G นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต 30 ล้านเครื่อง และใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีอุปกรณ์เพิ่มเป็น 60 ล้านเครื่อง ความต้องการใช้คลื่นจึงมีมหาศาล จะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะขับเคลื่อนไม่ได้ ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ในตลาดพอ

อย่างไรก็ตาม สมเกียรติ ชี้ว่า การประมูลรอบนี้ มีความเสี่ยง 2 ประการ ประการแรก คืออาจจะไม่มีการประมูล อันมาจากสองสาเหตุ คือ หนึ่ง รัฐวิสาหกิจอาจฟ้องร้องศาลไม่ให้มีการประมูล เพราะมองว่าตัวเองยังมีสิทธิการใช้อยู่  และ สอง หากร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลกำกับ กสทช. ประกาศใช้ แล้วรัฐบาลขณะนั้นมีแนวคิดที่ผลักดันโดยกลุ่มผลประโยชน์ การประมูลอาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลจัดการได้ เช่น ให้นโยบายกับรัฐวิสาหกิจให้เดินหน้าการประมูล 4G และมอบนโยบายไม่ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลขัดขวางการประมูล

ประการที่สอง คือ หากมีการประมูลเกิดขึ้น มีคำถามว่าจะเกิดการแข่งขันขึ้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้ มีข้อสังเกต คือ หนึ่ง มีหลักการประมูลว่า หากมีผู้ประมูลมากกว่าใบอนุญาต ราคาประมูลจะเริ่มที่ 70% ของราคาประเมิน แต่หากมีผู้ประมูลไม่มากกว่าจำนวนใบอนุญาต จะคิดที่ 100% เท่ากับราคาประเมิน

สมเกียรติ มองว่า เมื่อเทียบเงื่อนไขกับคราวประมูล 3G แล้ว เห็นว่า ราคาประเมินการประมูล 4G ต่ำลงจากเดิม ขณะที่อายุใบอนุญาตนาน 19 ปี ขณะที่ของ 3G อยู่ที่ 15 ปี ประกอบกับขณะนี้ผู้ประกอบต่างๆ เริ่มมีการจับมือใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขที่ดีขึ้น และภาวะขาขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะราคาต่ำลง นอกจากนี้ เรื่องที่สำคัญคือ มูลค่าคลื่นเท่าไหร่แน่ กสทช. ควรต้องเปิดเผยรายงานประเมินราคาคลื่นต่อสาธารณะ

ข้อสังเกตที่สอง กรณีมีข่าวว่าอาจมีการประมูลสองครั้งในวันเดียว เช้า-บ่าย ซึ่งอาจแบ่งเป็นการประมูลใบอนุญาต 2 ใบ โดยผู้ประกอบการ 3 ราย ทั้งเช้าและบ่าย กังวลว่าอาจเกิดการฮั้วกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้ราคาที่ต่ำกว่าประเมิน หรือเกิน 70% ไม่มาก ซึ่งเขาเสนอว่า หากสามารถจัดการประมูลแบบมัลติแบนด์ได้ จะดีสำหรับสังคม โดยควรจัดห่างกัน 3-4 เดือนขึ้นไป จะทำให้ฮั้วกันยากขึ้น

สมเกียรติชี้ว่า เรามีบทเรียนจากการประมูล 3G แล้วว่า หากไม่เกิดการแข่งขัน รัฐและประชาชนจะเสียประโยชน์ ขณะที่ผู้ประกอบการจะได้คลื่นในราคาถูกและได้กำไรไป

แนะมองไปข้างหน้า คุยแผนเปลี่ยนผ่านจากสองจี

ขณะที่ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวถึงการทำรายงานประเมินราคาประมูลว่า ก่อนหน้านี้ เมื่ออนุกรรมการของวุฒิสภา เชิญไปให้ข้อมูลเรื่องประมูล 3G ได้ให้ความเห็นว่า โดยปกติ จะมีสองเจ้าประเมินราคา แต่ครั้งนี้ กสทช.ให้ ITU ประเมินเจ้าเดียว ซึ่งตัวแทน ITU บอกเองว่าไม่เคยประเมินให้ที่ไหนเลย ไทยเป็นที่แรกในโลก และเป็นการว่าจ้างเอกชนต่อด้วย นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว โอเปอเรเตอร์รายหนึ่ง ยื่นความเห็นมาเองว่า จากการศึกษาของเขาเห็นว่าราคาตั้งต้นเราถูกไป นอกจากนี้ เห็นว่า สังคมอยากเห็นการเปิดเผยรายงานและรีวิวอย่างเป็นวิชาการ

ส่วนกรณีผู้เล่นรายใหม่นั้น ประวิทย์ เสนอว่า ต้องคุยกันเป็นนโยบายว่าจะเดินหน้าอย่างไร โดยเขาเห็นว่า ควรแยกเงื่อนไขประมูลของรายใหม่และรายเก่าต่างกัน เพราะรายเก่า มีโครงข่ายอยู่แล้ว เพียงแค่ใส่อุปกรณ์เพิ่ม ขณะที่รายใหม่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ตั้งเสา ต้นทุนเทียบกันไม่ได้ นอกจากนี้ แผนการประมูลจะต้องชัดเจน โดยชี้ว่า ตอนประมูล 3G มีการประกาศก่อนประมูลเพียงเดือนเดียว และให้ยื่นซองในสามสิบวัน ใครก็ตั้งบริษัทไม่ทัน ส่วนปีนี้ที่ไม่ติง เพราะถือว่ารู้กันมาเป็นปีแล้วว่าจะมีการประมูล แต่ว่าต้องเลื่อนออกมา พร้อมชี้ว่า กรณีเยอรมนี มีการประกาศล่วงหน้าว่าจะมีการประมูลอย่างน้อยต้อง 6 เดือนขึ้นไป

ประวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีใครพูดถึง คือ ตอนนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผ่านสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต แต่เป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากระบบ 2G ไป 3G และ 4G ซึ่งเขามองว่า ควรมีการวางแผนเรื่องการเปลี่ยนผ่านนี้ เพราะจะมีผู้บริโภคตกค้างราวสิบล้านคน ที่ยังชินกับอุปกรณ์เดิม และหลังจากนี้ 2G ในไทยจะเหลือเพียงดีแทครายเดียว มีคำถามว่าจะกำกับการผูกขาดอย่างไร และถ้ารายอื่นเข้ามาให้บริการ 2G ด้วย จะให้ระยะเวลาเท่าไหร่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท