Skip to main content
sharethis

สนช. ลงมติผ่าน ร่างพ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โอนงบเหลือใช้ปี 58 กว่า 7.9 พันล้านบาท ตั้งเป็นงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน สนช. เสนอเอาไปใช้เยียวยาเหยื่อเหตุรุนแรง กระตุ้นเศรษฐกิจ และบริหารจัดการน้ำ

20 ส.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติ ผ่าน3วาระรวด ให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 176 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า เป็นการโอนงบประมาณประจำปี 2558 ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบางหน่วยงาน ที่ใช้ไม่หมดในบางรายการ ราว 7,917 ล้านบาท ไปตั้งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบปี 58 โดยจะโอนงบในส่วนนี้ ไปยังหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้งบเพิ่มเติม พร้อมชี้ว่า น่าแปลกใจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ไม่มีการก่อสร้างโครงการใด ๆ ทั้งที่ได้รับการจัดสรรงบไปแล้ว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ขัดข้องหากหน่วยงานเดิมมีโครงการที่ชัดเจนหรือมีความจำเป็นเร่ง ด่วน ก็สามารถจัดสรรกลับไปได้

ด้านสมาชิก สนช. เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมกับมีการเสนอให้นำงบประมาณฯ ในส่วนนี้ ไปใช้ในการเยียวยาผู้ประสบเหตุจากการก่อเหตุรุนแรง นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำไปใช้บริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. ส่วนหนึ่งเห็นว่า จะเกิดข้อจำกัดจากเงื่อนเวลาที่เหลืออยู่น้อย จนทำให้หน่วยงานที่รับโอนงบประมาณไปใช้ต่อ ไม่สามารถใช้งบได้ทันในปีงบประมาณนี้ ซึ่งสุดท้ายเมื่อโครงการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ก็จะต้องยกไปดำเนินการต่อในปีงบประมาณหน้าอยู่ดี พร้อมชี้ว่า กรณีที่กระทรวง และหลายหน่วยงาน ใช้งบฯ ไม่หมดตามที่ขอจัดสรรนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในการจัดสรรงบ ประมาณ และการวางแผนดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น จากนี้ไปรัฐบาลจะต้องกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ

สำหรับงบประมาณ ปี 58 ที่ใช้ไม่หมด และจะโอนไปตั้งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 7,917,077,700 บาท มาจาก 21 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดย 3 อันดับแรกที่โอนคืนงบฯ มากสุด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 5 หน่วยงาน รวม 2,741,094,000 บาท / กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 20 หน่วยงาน รวม 2,287,167,400 บาท/ และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 523,324,900 บาท

ส่วนอีก 18 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 482,333,800 บาท / กระทรวงการคลัง จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 248,911,700บาท /กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 10,327,600 บาท / กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 5 หน่วยงาน รวม 14,128,500 บาท / กระทรวงคมนาคม จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 43,910,700 บาท / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 หน่วยงาน รวม 111,120,200 บาท / กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 17,354,100 บาท / กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 31,148,700 บาท / กระทรวงยุติธรรม จำนวน 4หน่วยงาน รวม 29,037,200 บาท / กระทรวงแรงงาน จำนวน 1 หน่วยงาน รวม 690,000 บาท / กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 5,340,900 บาท / กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 197,361,200 บาท / กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 หน่วยงาน รวม 87,232,000 บาท / ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 หน่วยงาน รวม 244,729,000 บาท /หน่วยงานของรัฐสภา จำนวน 1 หน่วยงาน รวม 22,015,000 บาท / หน่วยงานอิสระของรัฐ จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 31,800,000 บาท /จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวม 164,092,900 บาท /และ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 509,934,200 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net