Skip to main content
sharethis

หลังเหตุระเบิดบริเวณศาลพระพรมหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อค่ำวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ‘กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช’ ผู้ศึกษาด้าน Critical Terrorism เขียนความเห็นลงในสเตตัสเฟซบุ๊กว่าด้วยการก่อการร้าย การใช้ความรุนแรงและการสร้างความกลัว โดยทิ้งท้ายไว้ว่าความกลัวตายเป็นสิ่งที่เกิดในยุคสมัยใหม่ (อ่านรายละเอียด) ‘ประชาไท’ สัมภาษณ์ ‘กฤดิกร’ เพิ่มเติมเพื่อขยายความประเด็นดังกล่าว พร้อมข้อเสนอในการจัดการความกลัว 

ประชาไท: ที่บอกว่าความกลัวตายเป็นเรื่องของคนชั้นกลางและคนในยุคสมัยใหม่ มันต่างจากความกลัวตายในฐานะสัญชาตญาณอย่างไร
ประการแรก ผมอยากจะอธิบายว่า ไม่ได้แปลว่า คนก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ไม่มีความกลัวตาย แต่ว่าความกลัวไม่ได้เป็นความกลัวสูงสุดในยุคก่อนสมัยใหม่ เพราะว่าเขาไม่ได้มองเอาชีวิตเป็นคุณค่าสูงสุด เพราะมีความกลัวบางอย่างเหนือกว่าความตาย เช่นกลัวพระเจ้าจะทอดทิ้ง กลัวว่าผู้เป็นนายหรือลอร์ดจะตาย แม้เขากลัวที่จะตาย แต่เขายินดีที่จะตายแทนเจ้านายเขา นั่นคือ ความกลัวตายไม่ใช่ความกลัวสูงสุดของมนุษย์ในโจทย์นั้น

ประการที่สองก็คือ การเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชนหรือ human rights ทำให้คนเรามองชีวิตตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของชีวิตนั้น แต่ก่อนหน้านี้ คนเราไม่ได้มองชีวิตเราในฐานะที่เป็นสมบัติของตัวเราเอง ชีวิตของเราเป็นสมบัติของคนอื่น เป็นสมบัติของพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นนาย จริงๆ ทั้งในบทความของผมและตอนที่ให้สัมภาษณ์ ผมพยายามใช้คำว่า "ปศุสัตว์ทางการเมือง" สมมติว่า เรามีฟาร์มหมูแห่งหนึ่ง เราจะเอาหมูไปเชือดในโรงฆ่าสัตว์ เราก็ไม่รู้หรอกว่าหมูตัวนั้นมันกลัวตายหรือไม่ มันอาจจะกลัว หรือไม่กลัวก็ได้ เหมือนกับมนุษย์ยุคก่อน แต่สุดท้ายคนที่เป็นเจ้าของหมู เจ้าของทรัพย์สิน เจ้าของชีวิตพวกนี้ ก็สามารถสั่งให้หมูตายเมื่อไหร่ก็ตาย แต่เมื่อเกิด Human rights ขึ้นมา มันเป็นการบอกกับคนทุกคนว่า เฮ้ย ชีวิตของคุณเป็นของตัวคุณเอง ชีวิตของคุณมันไม่ใช่สมบัติของคนอื่น ทีนี้ คุณค่าของชีวิตมันถูกผลักดันให้สูงขึ้นมา แล้วสุดท้าย ความกลัวสูงสุดในยุคสมัยใหม่โดยทั่วๆ ไป เขาจึงถือว่านั่นคือการกลัวความตาย ฉะนั้น วิธีการที่จะสร้างความกลัวได้อย่างสูงสุด คือการทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อความตายหรือเสียชีวิต

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า ความคิดที่ว่าความตายเป็นระดับรอง เกิดขึ้นหลังจากมีเรื่องศาสนา หรือความเชื่อแบบนั้นด้วยไหม
ไม่เชิงอย่างนั้น งานหลักๆ ที่ผมใช้อธิบายเรื่องนี้ คือ งานของThomas Hobbes ผมให้ความสำคัญกับ Thomas Hobbes มาก เพราะเขาเป็นนักคิดที่มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคเก่าเข้าสู่ยุคใหม่พอดี ฉะนั้น เขาเห็นถึงสภาพสังคมทั้งในยุคเก่าและเตรียมจะเข้าสู่ยุคใหม่

Thomas Hobbes ได้อธิบายถึงว่า คนร่วมยุคสมัยกับเขาไม่ให้คุณค่าในการพยายามรักษาชีวิตของตนเอง โดยใช้คำว่า the Virtue of the Cowardice "คุณค่าของความขี้ขลาด" เพราะว่ายิ่งคุณขี้ขลาดเท่าไหร่ คุณก็จะพยายามรักษาตัวเองให้หนีจากความตายเท่านั้น ซึ่งสำหรับ Thomas Hobbes แล้ว มันคือสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับยุคสมัยใหม่ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าในยุคสมัยเก่า เพราะว่าในยุคสมัยเก่า หลายครั้งแม้จะกลัวตาย แต่ฉันก็ถวิลหาความตายที่มันทรงเกียรตินะ เช่น กลุ่มไวกิ้งถวิลหาความตายในสนามรบ ไม่ได้แปลว่าไม่กลัวตายในภาวะอื่น แต่ถ้าจะต้องตายขอตายในสนามรบ เพื่อที่จะได้ไปสู่วาลฮาลลา (Valhalla) ที่เป็นดินแดนของพระเจ้า หรือการรบแบบครูเสดหรือจีฮัดก็เหมือนกัน มีลักษณะอย่างนี้

แล้วกระบวนการแบบนี้มันเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ใช้วิธีการก่อการร้ายใช่ไหม

ขออธิบายต่อนิดนึง คือที่ผมพูด มันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ lord กับ vessel หรือเจ้านายกับบ่าว หรือศาสนากับผู้นับถือศาสนาเท่านั้นนะครับ มันยังรวมถึงไอเดียต่างๆ เช่น ชาตินิยม ความพยายามแบ่งแยกดินแดน

มันรวมถึงกระบวนการที่ฝึกทหารให้ไปรบด้วยหรือเปล่า คือทหารที่เข้าไปรบในสนามรบ คือ เข้าสู่แดนประหารในระดับหนึ่งแล้ว?
ใช่ครับ ตั้งแต่ดั้งเดิมมา สงครามเป็นรูปแบบหนึ่งของวิถีการแสวงบุญหรือ วิถีทางแบบนักบุญ (martyrdom) ที่เชื่อว่าการเสียสละชีวิตตนเองจะนำมาสู่สิ่งที่มันยิ่งใหญ่กว่าในชีวิตหลังความตายต่อไป ฉะนั้น แม้ว่าในสงครามยุคใหม่จะมีความเชื่อแตกต่างกันบ้างในเรื่องชีวิตหลังความตาย แต่ในท้ายที่สุด มันหมายความว่า กลุ่มที่ไปสู้เพื่อสงคราม ถ้าไปโดยสมัครใจ แปลว่าเขาเห็นชุดคุณค่าบางอย่างที่สำคัญกว่าความเสี่ยงตายของเขา มีชุดคุณค่าบางอย่างที่มีค่ามากกว่าความเป็นหรือความตายของเขาที่เขาต้องเข้าไปเสี่ยง เช่น สงครามการก่อร้ายในสหรัฐอเมริกา เขาอาจจะมองการแก้แค้นให้กับชาติของตนมีคุณค่าสูงกว่า มองชาตินิยมมีคุณค่าสูงกว่า หรือปกติทหารสหรัฐฯ เป็นทหารอาชีพ พูดง่ายๆ ก็คืออาจจะมองแค่ได้เงิน คือ เงินมีค่ามากกว่าการใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก คือมันเป็นไปได้หลายอย่าง แต่นั่นหมายความในท้ายที่สุดแล้ว แม้แต่ในสังคมที่ดูท่าทางจะมีความทันสมัยที่สุด มันก็ไม่ได้ทิ้งคราบความเป็นกระบวนทัศน์ (ideology) ในยุคโบราณออกไปทั้งหมด ทุกอย่างมันยังมีของตกค้างอยู่

ฉะนั้น มันมีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากในทางความคิด ที่เราจะเห็นได้คือกรณีสวีเดน เมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการประกาศว่า พฤติกรรมที่เป็นการสนับสนุนชาตินิยมภายในชาติเขาถือว่าเป็นอะไรที่ผิด คือมันกลายเป็น nation without nationalism คือเป็นชาติที่พยายามลดทอนความเป็นชาตินิยมของตัวเองลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเราก้าวเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่ และรักตัวเองเหนือกว่าค่านิยมต่างๆ ได้ขึ้นมาเรื่อยๆ

ในส่วนโมเดลของการจัดการหลังจากเกิดเหตุความรุนแรงลักษณะแบบที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันที่แล้ว อย่างที่คุณกฤดิกรยกกรณีเรื่องที่นอร์เวย์ที่ให้ผู้ก่อเหตุไปสู่กระบวนการยุติธรรมแบบปกติ ให้ความเป็นมนุษย์กับเขา มีโมเดลตัวอย่างหรือรูปแบบการจัดการของรัฐหรือประชาชนแบบอื่นๆ หรือไม่ในการจัดการหลังเหตุความรุนแรง

ผมเองก็หนักใจกับการตอบข้อนี้ เพราะผมไม่ได้ถูกเทรนด์หรือชำนาญการสายนี้โดยตรง คือผมชำนาญการในเชิงทฤษฎีแกนกลางการก่อการร้าย ไม่ได้เจาะลึกไปในรายละเอียดถึงลักษณะในเชิงปฏิบัติของแต่ละกลุ่มแต่ละชาติ

แต่เท่าที่นึกออกตอนนี้ คือของกลุ่มนอร์เวย์หรือสแกนดิเนเวียที่นำหน้าที่สุด คือกรณีนอร์เวย์เป็นกรณีเดียวที่นึกออกตอนนี้ เพราะปกติแล้ว การก่อการร้ายถือเป็น taboo ทางการเมืองสำคัญมากในโลกตะวันตก ทำให้แม้แต่ประเทศที่มีพัฒนาการทางด้านการดำเนินคดีค่อนข้างจะสูงมากแล้ว ส่วนใหญ่พอมาเจอคดีก่อการร้ายปุ๊บ เขาพร้อมจะกลับไปสู่วิถีทางแบบบาร์บาเรียน แบบดิบเถื่อน และก็เลือกปฏิบัติขึ้นมาอย่างชัดเจน ในอังกฤษ ก็มีการดำเนินคดีลับ ซึ่งปกติการดำเนินคดีต้องเป็นแบบเปิด ในอเมริกาก็ไม่ต้องพูดถึง กวนตานาโมเบย์นี่ถูกขังลืมกันไปเยอะ

แล้วถ้าจะมีอีกก็คือกรณีสวีเดนที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ที่เป็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบายระดับรัฐในระยะยาว คือรัฐต้องลดทอนค่านิยมต่างๆ ซึ่งจะมาทำให้เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่าเหนือกว่าชีวิตเราได้ อย่างที่สวีเดนทำ ที่ให้เลิกเข้าแถวหน้าเสาธงและพยายามยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่มันสะท้อนถึง หรือสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมภายในชาติเขาขึ้นมา มันเป็นอะไรที่ก้าวหน้ามาก ถ้าพูดถึงการทำในฐานะชาติ

ลักษณะนี้ ผมคิดว่าเป็นรูปแบบโมเดลที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ แม้ว่าจะต้องอาศัยความเข้าใจต่อภาวะความเป็นสมัยใหม่และประชาธิปไตยและคุณค่าอื่นๆ ที่เหนือกว่าร่างกายไปค่อนข้างจะมาก 

แนวโน้มของสวีเดนหรือประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่พยายามสลายอุดมการณ์แบบชาตินิยม มันจะส่งผลต่อการระดมทหารในประเทศไหม และกองทัพจะถูกลดบทบาทลงหรือไม่

ประการที่หนึ่ง ผมเข้าใจว่าทางสแกนดิเนเวียเข้าใจดีว่าภายใต้สถานการณ์โลกปัจจุบัน ความสำคัญหรือบทบาทของกองทัพมันต่ำลงมาก มันไม่จำเป็นต้อง recruit (เกณฑ์ทหารใหม่) คนหรือเรียกคนมาเหมือนเดิมในปริมาณเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว การลดทอนมันเกิดขึ้นได้

ประการที่สอง ลักษณะของทหารต่อไปจะไม่ใช่ลักษณะทหารเชิงบังคับอีก มันจะเป็นทหารที่สุดท้ายแล้ว make your choice เรียบร้อยแล้วว่า “โอเค ฉันทำไปในฐานะอาชีพอย่างหนึ่ง” เหมือนกับคนที่เป็นนักดับเพลิง ที่เข้าไปดับไฟในฐานะอาชีพอย่างหนึ่ง แล้วก็ได้รับเงินมา มีความเสี่ยงที่จะถูกไฟคลอก ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงที่เขาได้รับการชั่งน้ำหนักเรียกร้อยแล้วว่า “โอเค ฉันทำมันในฐานะอาชีพอย่างแท้จริง” เราได้รับความเสี่ยงสูงหน่อย แต่เราก็ได้รับเงินมา ก็เหมือนกับตำรวจ

ผมคิดว่าลักษณะต่อไปของทหารจะมีความใกล้เคียงกับตำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าเหมือนกับนักดับเพลิงอะไรกลุ่มนี้ครับ

บางประเทศก็จะมองว่าถ้ายังมีแนวคิดที่พร้อมจะพลีชีพ พร้อมจะตายเพื่อชาติหรือเพื่อชีวิตโลกหน้า ในขณะที่ประเทศหนึ่งก็พยายามที่จะสลายคนที่จะสามารถที่จะต่อสู้หรือเข้าไปรบหรือป้องกันตนเองที่เสี่ยงตายมากๆ อย่างสนามรบได้ มันจะส่งผลให้ฝ่ายหลังเสียเปรียบในดุลอำนาจการเมืองโลกหรือไม่

สมมติคุณมีทหารเท่าเดิมหรือมากขึ้นเพื่อจะรับมือคนเหล่านั้น คำถามก็คือคุณฆ่าเขาแล้วมันได้อะไร ต่อให้คุณมีกองกำลังที่พร้อมที่จะรับมือคนเหล่านั้น คุณพร้อมที่จะฆ่าเขาตายสักโขยงได้ มันก็ไม่จบครับ ผมยกตัวอย่างให้เลยที่ชัดเจน คนที่ทำทุ่มเทกับเรื่องนี้มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกาที่มีสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ลงทุนไปไม่รู้กี่ปีแล้ว งบประมาณก็ไม่ต้องพูดถึง ผู้เสียชีวิตหรือเหยื่อจากสงครามการก่อการร้ายสงครามเดียวมากกว่าเหตุการณ์การก่อการร้ายในประวัติศาสตร์ทั้งหมดรวมกันเสียอีก สุดท้ายคุณได้อะไรมา สุดท้ายคุณได้ ISIS โผล่มา สุดท้ายคุณได้จำนวนสาขาของอัลกออิดะฮ์ที่เพิ่มขึ้น สมัยก่อนคนอัฟกานิสถานเองได้นิยมชมชอบอัลกออิดะฮ์อะไรมากมายก่ายกองมันก็เป็นกลุ่มอินดี้ของมัน แต่ว่าตั้งแต่เกิดสงความการก่อการร้ายขึ้น เขาถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่างกลุ่มอินดี้กลุ่มหนึ่งที่บ้าๆ ในประเทศเขากับอีกประเทศหนึ่งที่มารุกรานเขาและฆ่าคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เขาตายเป็นเบือ สุดท้ายคนก็ถูกบีบบังคับและกลายเป็นว่าหลังจากเกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแทนที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์จะลดลง สาขาของอัลกออิดะฮ์กลับผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และปริมาณคนที่เข้าร่วมกับกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นมากมาย

คำถามผมก็เลยกลับไปสู่คำถามเดิมคือมีทหารเยอะแล้วมันช่วยอะไรกับเรื่องนี้ ผมไม่เห็นความหมายของการช่วย เพราะว่าคุณมีทหารเยอะ คุณเอาไปฆ่าเขาให้ตายหมด สุดท้ายสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ก็คือคุณต้องพัฒนาบุคลากรสายการข่าวคุณ สายเฝ้าระวังคุณ เพราะว่าผู้ก่อการร้ายมันไม่ได้มีกองกำลังขนาดถือปืนเป็นกองทัพเข้ามาสู้ อย่างมากมันก็ทำไม่เกินทีละ 10 คน กองกำลังคุณเพื่อสู้กับคน 10 คน แต่ละครั้งคุณมี 100 คนก็สบายๆ แล้ว

ที่คุณต้องการจริงๆ ก็คือ หนึ่ง ระบบฝ่ายการข่าวที่ดี ระบบการเฝ้าระวังภัยที่ดี และที่สำคัญที่สุดสมมติมันเกิดเหตุขึ้น เราจะจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบได้อย่างไร ไม่ใช่ที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน ที่อย่างเมื่อบ่ายนี้พบสิ่งที่คาดว่าเป็นวัตถุระเบิดแถวตอม่อรถไฟฟ้านานา สถานีรถไฟฟ้านานายังใช้งานได้อยู่เลย นี่แสดงให้เห็นว่าวิธีการจัดการหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วยังไม่เป็นระบบ ผมคิดว่าเราต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้มากกว่าการเพิ่มปริมาณทหารเพราะมันไม่ได้ช่วยอะไร

จากปัญหาการไม่มีระบบการป้องกันเหตุ แล้วความรับผิดชอบของรัฐบาลหลังจากเกิดเหตุ ควรเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาแทบจะไม่มีคนเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ

ผมเป็นคนที่ไม่ได้นิยมชมชอบรัฐบาลทหารเท่าไหร่ แต่ผมก็ต้องพูดอย่างแฟร์ๆ ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลฝ่ายเดียวทำไม่ได้หรอก โอเคเราอาจจะพูดในแง่ว่าเราต้องพัฒนาการข่าวเราไหม เราต้องพัฒนาระบบการป้องกันเหตุของเราไหม เราพูดได้ แต่มันไม่เชิงความรับผิดชอบอย่างเต็มตัว เพราะเราต้องเข้าใจว่า มันไม่มีใครรู้ว่ามันจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ถ้าเกิดว่าเขารู้แล้วไม่จัดการ อย่างนี้เราสามารถถามหาความรับผิดชอบได้ เราไปถามหาความรับผิดชอบกับคนที่เขาเองเขาก็ไม่รู้และไม่ได้อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ว่ากันแบบแฟร์ๆ ที่สุดมันก็ไม่ใช่การเรียกร้องที่แฟร์นัก

แต่ว่าสิ่งที่เราถามหาหรือเรียกร้องได้ก็คือ คุณจะลอยแน่นิ่งอย่างปัจจุบันต่ออีกไม่ได้นะ เหตุการณ์มันแสดงให้เห็นแล้วว่ามันสามารถเกิดขึ้นแบบนี้ได้ที่ประเทศเรา ฉะนั้นคุณแทนที่จะเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำนั้น คุณเอางบตัวนั้นซึ่งมันไม่ได้ต่อต้านการก่อการร้ายอะไรได้เลย เอางบดังกล่าวมาพัฒนาระบบตรงส่วนนี้ดีไหม เอามาพัฒนาบุคลากรและการข่าวดีไหม ถ้าจะมีสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจริงๆ ผมคิดว่ามันคือเรื่อวิธีการจัดการหลังเกิดเหตุมากกว่า อันนี้มันเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว มันรู้แล้วว่ามันมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น เราจะไปจัดการกับภาวะฉุกเฉินนี้ได้อย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เรารู้อยู่ตรงหน้าแล้ว ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลสอบตก และตรงนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถถามหาความรับผิดชอบได้

การเกิดเหตุระดับนี้ถ้าเกิดขึ้นเมืองนอกอย่างน้อยๆ ต้องปิดบริเวณและไลน์รถไฟฟ้าต้องปิดทั้งหมด เพราะมันอยู่ใกล้พื้นที่ตรงส่วนนั้น และเช็คก่อนแล้วเคลียร์คนออกจากพื้นที่ แต่ระหว่างที่เคลียร์คนนั้นเราก็ต้องสามารถเช็ครถเช็ครายบุคคลได้ กล้องจราจรที่ใช้จับความเร็วหรือว่าใช้จับการฝ่าไฟแดงนั้นเวลาฝ่าทีเห็นแม้กระทั่งหน้าคนขับอยู่แล้ว มันสามารถเอามาร่วมใช้กับกระบวนการแบบนี้ได้ เพราะทั่วโลกเขาก็ใช้กัน

ผมเข้าใจวิธีคิดของทหารว่าเขาพยายามสร้างเรื่องหรือทำการแก้ไขให้ทุกอย่างมันดูชิลๆ ไปหมด ให้ทุกอย่างดูง่าย ไม่ให้ตื่นตระหนก ซึ่งเป็นวิธีการตอบโต้การพยายามสร้างความกลัวของฝั่งโน้น แต่ว่าการชิลเกินไปมันไม่ใช่วิธีการตอบโต้ที่ถูกต้องเสมอไป

ฝรั่งหรือประเทศที่เขาเจอการก่อการร้ายมาเยอะกว่าเรา เขาใช้วิธีการแก้ไขด้วยการเข้าไปจัดการกับพื้นที่ตรงนั้นอย่างทันท่วงที จัดการอย่างเป็นระบบและชัดเจน บางทีไม่ต้องการให้เร็วให้ชิล หรือล้างถนนได้ แล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ แต่ใช้วิธีการทำให้ทุกอย่างชัดเจน เป็นระบบที่สุด การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนของเขาได้มากกว่าด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเราเรียกร้องและหาความรับผิดชอบต่อรัฐบาลได้

 

"เรากลัวการก่อการร้ายได้ แต่กลัวมันเหมือนกับที่กลัวอุกกาบาตตกใส่
เราคำนวณทิศทางของดวงดาวได้ว่าอาจจะมีอุกกาบาตลูกนี้เข้ามาใกล้แล้วเฝ้าระวังมัน
เราสร้างระบบแบบเดียวกันด้วยวิธีคิดแบบเดียวกัน
โอเคระบบมันต่างกันเพราะอันหนึ่งเป็นดาวอันหนึ่งเป็นคน
แต่หมายถึงว่า ในเชิงไอเดียแล้วเราสร้างระบบแบบนี้
เราก็เดินถนนทุกวันโดยไม่ได้กลัวอุกกาบาตตกใส่
ฉะนั้น เราก็ทำแบบเดียวกันกับการก่อการร้ายนี่แหละ
ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นถูกขังอยู่ในคุกที่เรียกว่ารัฐแทน
แล้วเราจะมีรัฐที่กลายเป็นผู้ก่อการร้ายที่ควบคุมตัวเราเอง
เราจะอยู่ในคุกนั้นแทน"

 


ในการจัดการปัญหาหลังจากเกิดเหตุ มันเกิดความกลัว ถ้าเกิดรัฐบาลและประชาชนกลัวมาก ด้านหนึ่งมันจะกลายเป็นปัจจัยที่จะสร้างมุมกลับว่าจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการที่จะเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในที่จะดำเนินชีวิตตามปกติก่อนเกิดเหตุไหม

ผมไม่ได้บอกว่าเราห้ามกลัวการก่อการร้าย เพราะมันเป็นภัยที่เราสามารถตายได้ เราควรจะกลัว เราควรจะระวังมัน แต่เราต้องไม่ตื่นตระหนก ผมพูดตามตรงว่าจริงๆ มันมีงานเรื่องนี้เยอะที่ศึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง หรือ  Liberalization of Fear เวลาที่คนเราตื่นกลัวมากๆ หวาดผวามากๆ ตื่นตระหนกจนเกินไป เราพยายามจะสร้างกรอบของระบบการตรวจสอบอย่างล้นเกินที่สุดท้ายแล้วมันจะกลายมาเป็นกรงขังเราเอง

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเป็นที่ชัดเจนมาก ผมอยากจะแสดงสถิติสักนิดว่าคนที่เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพอๆ กับคนที่ตายเพราะอุกกาบาตตกใส่ ฟ้าผ่าตาย หรือผึ้งต่อย เอาจริงๆ คนตายเพราะโดนก่อการร้ายเผลอๆ จะน้อยกว่าโดนกวางขวิดตาย ประเด็นของผมก็คือผมไม่ได้บอกว่าเราห้ามกลัวกวางห้ามกลัวผึ้งห้ามกลัวฟ้าผ่าห้ามกลัวอุกกาบาต เรากลัวสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เนื่องจากว่าคุณค่าของมันในฐานะอันตรายที่คุกคามชีวิต ถ้ามองในเชิงสถิติแล้วน้อยมาก เราสามารถเดินในเมืองทุกวันได้โดยที่เราไม่ได้หวาดผวาหรือตื่นตระหนกว่าจะมีอุกกาบาตตกใส่หัว เช่นเดียวกันเราก็สามารถเดินในเมืองได้แบบชิลๆ ทุกวันได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดภัยก่อการร้ายเข้ามาหาเรา เราอยู่แค่ในฐานะที่รู้ในมโนสำนึกตลอดเวลาเท่านั้นเองว่าโอเคมันมีภัยก่อการร้ายอยู่ มันสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วเราก็สร้างการเฝ้าระวังมัน สร้างระบบระวังภัยที่ดี

สหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณในด้านการป้องกันการก่อการร้ายและงบประมาณเกี่ยวกับการก่อการร้ายสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศในด้านความมั่นคง ทั้งๆ ที่การเสียชีวิตจากสิ่งอื่นๆ สูงกว่าเยอะ เรื่องเอชไอวี เรื่องความยากจน มีคนที่ตายเพราะสิ่งเหล่านี้มากกว่าการก่อการร้าย 3 เท่า 10 เท่า แต่งบประมาณเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายสูงกว่าพวกนี้ 3 เท่า ก็จะเห็นความไม่พอดีกับระดับความเป็นภัยที่เกิดขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ผมพยายามเตือนว่า เฮ้ย โอเค เรากลัวการก่อการร้ายได้ แต่กลัวมันเหมือนกับที่กลัวอุกกาบาตตกใส่ เราคำนวณทิศทางของดวงดาวได้ว่าอาจจะมีอุกกาบาตลูกนี้เข้ามาใกล้แล้วเฝ้าระวังมัน เราสร้างระบบแบบเดียวกันด้วยวิธีคิดแบบเดียวกัน โอเคระบบมันต่างกันเพราะอันหนึ่งเป็นดาวอันหนึ่งเป็นคน แต่หมายถึงว่า ในเชิงไอเดียแล้วเราสร้างระบบแบบนี้ เราก็เดินถนนทุกวันโดยไม่ได้กลัวอุกกาบาตตกใส่ ฉะนั้น เราก็ทำแบบเดียวกันกับการก่อการร้ายนี่แหละ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นถูกขังอยู่ในคุกที่เรียกว่ารัฐแทน แล้วเราจะมีรัฐที่กลายเป็นผู้ก่อการร้ายที่ควบคุมตัวเราเอง เราจะอยู่ในคุกนั้นแทน

ล่าสุดมีการไปควบคุมตัวคนที่โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าเหตุอะไร ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 ส.ค.นี้ (อ่าน) มองการจัดการปัญหาอย่างนี้อย่างไร

ผมโพสต์(เฟซบุ๊กส่วนตัว)ตั้งแต่สเตตัสแรกๆ หลังเกิดเหตุการณ์ว่าจนถึงจุดนี้ทหารควรคิดได้แล้วว่า แทนที่จะเอาเวลาเอาบุคลากรเอางบประมาณมาส่องเฟซบุ๊กแล้วมาไล่จับคนนี่ ควรจะเอาบุคลากรไปสร้างระบบเฝ้าระวัง อันนี้เป็นภาวะพารานอยด์ คิดว่าเป็นความโง่สุดขีดของทางรัฐบาล ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ได้กลัว แต่นี่มันคือความโง่ล้วนๆ ไม่รู้ว่าจะเรียกอย่างไรดี คือวิธีการคิดของทหารนี่เขาคิดว่ามีกำลังยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะรัฐบาลทหารไทยที่เคยชินกับการใช้กำลังที่สูงกว่ากดขี่คนที่ไม่มีทางสู้ตลอดเวลา ฉะนั้น เขาจะคิดว่าการควบคุมทุกอย่างมันง่าย มันไม่มีอะไรที่เขาต้องตื่นกลัว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ อาวุธชิ้นใหญ่ๆ สมองที่ไม่ต้องเยอะมากมันไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเหตุการณ์การก่อการร้าย การวางระเบิดอย่างนี้ ผมคิดว่าเขาไม่ได้กลัว เขาแค่พารานอยด์ เขาคิดไม่ออกว่าเขาต้องทำอย่างไร เพราะว่าเขาไม่เคยที่จะต้องอยู่ในสถานะที่จะต้องทำอย่างนี้มาก่อน เพราะวันๆ มีแต่ใช้ปืนขู่คนแล้วก็จบเคลียร์ปัญหาได้ ใช้ปืนขู่คนเคลียร์ปัญหาได้ อย่างล่าสุดที่ที่นายกฯ ออกมาพูดก็ใช้ลักษณะวิธีการพูดแบบเดียวกันที่บอกว่ามือวางระเบิดและผู้เกี่ยวข้องออกมามอบตัวเถอะเพราะกลัวจะถูกปาดคอ เห็นไหมครับใช้วิธีพูดแบบขู่ไว้ก่อน วิธีคิดแบบทหารมันจบที่ตรงนี้ ผมไม่คิดว่าเขาไปไล่ล่าคนในเฟซบุ๊กเพราะว่าเขากลัว แต่เป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาต้องทำอะไร เพราะเขาไม่เคยเจอกับสถานการณ์นี้เขาดีลไม่ถูก มันจึงการเป็นการพารานอยด์อย่างที่เป็นอยู่นี้

 

 
ข้อเขียนของกฤดิกรในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 เวลา 23.37 น. 
 
1. ประเมินเรื่องความสำเร็จของการเผยแพร่ความกลัวของกลุ่มก่อเหตุ
- ในเบื้องต้นต้องยอมรับว่าผลจากเหตุการณ์ค่อนข้างจะมีความสำเร็จสูงในหมู่ประชาชนชาวไทย ทั้งใน กทม. และชาวไทยในภูมิภาคอื่นทั่วไป ที่ติดตามข่าวสาร ซึ่งในจุดนี้เราจะเห็นได้จากการที่คนใน กทม. แทบไม่กล้าออกไปไหน, หุ้นตกอย่างรุนแรง ที่มาทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Panic Sell (การเทขายจากความวิตกกังวล), รวมไปถึงความตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัดของการสร้าง เสพ และกระจายข่าวสาร ที่ตอนนี้ "เอะอะๆ" ก็คิดว่าระเบิดไว้ก่อนอย่างที่มีการแชร์ภาพข่าวเก่า ของห้างฯ ที่ไหม้ย่านบางแค ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ถูกหยิบยกมาผสมมั่วไปหมด เพราะคนตื่นกลัว และสำนักข่าวบางแห่งก็พร้อมจะกระโจนเข้าใส่แบบไม่ดูเหนือดูใต้ในทันที นั่นคือ เราเห็นความตื่นตระหนกทั้งในระดับผู้รับสารเอง และผู้สร้างสารด้วย จากประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าการเผยแพร่ความกลัวสำเร็จมากทีเดียว
 
- ทีนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อการสร้างความกลัวมัน "จุดติด" ขึ้นมา โดยที่เรา "มืดแปดด้านไปหมด" ว่าอะไรคืออะไร ใครทำ มาจากไหน อย่างไร? โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว จะต้องรีบหาทางออกด้วยการหาคำตอบให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อมาอุดช่องว่างของความ "กลัว" นี้ และเพื่อจะถมความรู้สึก "ไม่มั่นคง" (insecure) ของตนเองออกไปให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ "ธง" ในจิตใจของคนเราทำงานโดยเร็ว เราจะเห็นประชาชนจำนวนมาก "จินตนาการ" คำตอบต่อคำถามที่พวกเขาไม่รู้คำตอบ (ใครทำ มาจากไหน อย่างไร) ด้วยการแทนที่ด้วย "ธง" ในใจพวกเขาไปในทันที อย่างพอเกิดระเบิดเสร็จ มีประชาชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเริ่มใช้ธงของตนเองทันทีว่า ทักษิณแน่นอน ยิ่งลักษณ์จ้างมาแน่นอน ฯลฯ บางคนนี่เป็นถึงระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยดัง ด้านเศรษฐศาสตร์กันเลยทีเดียว
- จากจุดนี้เอง ที่เป็นช่องให้ทางรัฐบาลใช้เป็น "ช่อง" ในการกอบโกย "ข้อได้เปรียบทางจิตใจ" จากสถานการณ์นี้ในทันที ด้วยการรีบออกมา "ประกาศฟันธง" อย่างทันท่วงที ไม่รอการสืบสวนของท่านโฆษกฯ สำนักนายกที่สรุปทันทีว่ามาจาก "การเมือง" แน่นอน
 
ที่ผมบอกว่ามันคือการ "กอบโกยข้อได้เปรียบ" ก็เพราะว่า
(1) ประชาชนต้องการอุดช่องว่างความกลัวในทันที อย่างที่กล่าวไปแล้ว และ
(2) ความเป็นไปได้อื่นๆ ไม่มีความเป็นไปได้ใดเลยที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล นอกจากคำตอบแบบนี้ จะตอบว่ากลุ่มจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำ ก็แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาภาคใต้ของตน, จะบอกว่ากลุ่มก่อการร้ายจากภายนอกทำในทันที ก็ยิ่งสร้างความกลัว และบ่งชี้ถึงปัญหาความล้มเหลวในการเฝ้าระวังภัยของตน ทั้งๆ ที่เป็นทหารแท้ๆ เพราะฉะนั้นคำตอบมันเลยถูกตัดเหลือแค่บอกว่า "กลุ่มการเมืองทำ" ตอบแบบนี้แล้ว เป็นประโยชน์กับรัฐบาลไปโดยปริยาย เพราะเท่ากับบอกว่าประเทศยังไม่สงบจากพิษภัยการเมือง ต้องให้พวกตนควบคุมสถานการณ์ต่อไปก่อน อย่าเพิ่งเลือกตั้ง ฯลฯ ได้ใจประชาชน โดยไม่ต้องเม้กโพลล์อะไรก็ไม่รู้อีกสิบยี่สิบสำนักเลย
 
- เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมอยากเชิญชวนให้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Mist ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง "ภัย" ที่เราไม่รู้ที่มา ว่า มาจากไหน คืออะไร จะมาอีกเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราจะเห็นการล่มสลายของระบบเหตุผลในตัวประชากรที่ถูกบีบอัดอยู่ในพื้นที่ของความกลัว ที่ตนไม่รู้ขอบเขต และสุดท้ายก็เลือกที่จะหาแพะมาเป็นเหยื่อเพื่อถมความกลัวในจิตใจของตน ไม่ว่าคนชี้นำเหตุผลนั้นจะดูไร้สติปานใดก็ตาม ... ลองหามาชมดูนะครับ มันอาจจะเหมือนหนังสัตว์ประหลาดแต่มีดีกว่านั้นมากครับ
-----
 
2. ประเมินความสำเร็จในการจัดการความกลัวของรัฐบาล
- บอกตามตรงครับว่าล้มเหลวแบบโดยสิ้นเชิง คือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าระเบิดที่ใช้นั้นน่าจะเป็น TNT ไม่ใช่ระเบิดที่เราเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่ระเบิดทำเองได้ ฉะนั้นผมคิดว่าบุคลากรฝ่ายการข่าวมีปัญหาแน่นอนครับ ผมว่าแทนที่วันๆ จะไปนั่งส่องสเตตัสเฟซบุ๊กคน แล้วไล่จับคนเข้าคุก หรืออะไรทำนองนี้ สู้เอาเวลาและบุคลากรไปเสริมใหกับงานข่าวดีกว่าครับ คือ จะว่ายังไงดี ถ้าเป็นกลุ่มก่อการร้ายจริงๆ เนี่ย เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ ที่มโนอยู่ และอยากได้จนเนื้อเต้นนี่มันก็ไม่ช่วยอะไร ไม่แก้ปัญหานะครับ เอาเงินซื้อเรือดำน้ำ มาพัฒนาระบบการตรวจสอบดีกว่าไหม เพิ่มบุคลากรตรวจสอบตามด่านผ่านแดนต่างๆ, ขยายขอบเขตการรับรู้ข่าวสาร, ฝึกและจ้างเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญการจริงๆ มา ไม่ใช่เหลาะแหละ ไม่สะดวกนิด ไม่สะดวกหน่อย ก็ล้มเลิกไป แบบกรณีการพยายามพัฒนาระบบสนามบินดอนเมืองที่ผ่านมา เป็นต้น
 
- ประเด็นต่อมา ผมคิดว่าสำคัญอยู่นั่นคือ mindset หรือวิธีคิดแบบทหาร ซึ่งมองทางออกของปัญหา และการตอบโต้ปัญหาผ่านเลนส์ของความรุนแรงอย่างเดียว คือ ด้วยความคิดที่เคยชินกับการใช้อำนาจ "ข่ม" คนที่ไม่มีทางสู้ตลอดเวลา ผมว่ามันทำให้เคยชิน และคิดว่าควบคุมได้หมด แต่พอถึงเวลาจริงๆ เมื่อต้องเจอกับรูปแบบการต่อสู้ที่ใช้อาวุธชิ้นใหญ่ๆ กับระดับสติปัญญาไม่ต้องมากนักมาจัดการด้วยไม่ไหวเนี่ย เราก็จบ เราก็มืดแปดด้าน งงไปทั่วเพราะไม่ได้เตรียมอะไรไว้เท่าไหร่ ... บอกตามตรง วิธีคิด หรือ mindset แบบนี้เอง ก็เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ก่อน 9/11 ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาก ไม่มีใครกล้าแตะ จนเกิดเรื่องขึ้น ผมคิดว่ากรณีเราก็คล้ายกัน แค่ในสเกลที่เล็กกว่ามากน่ะครับ
-----
 
3. ที่มาของความกลัว
- คือ ได้พูดถึงเรื่องการกระจายความกลัวอะไรมามากแล้ว ผมอยากขออธิบายเรื่อง "ที่มาของความกลัว" สักนิดครับ เอาให้ถูกจริงๆ คือ ที่มาของ "ความกลัวตาย" คือจริงๆ ผมอยากจะบอกว่า "ความกลัวตาย" มันเป็นของที่ค่อนข้างใหม่นะครับ คือเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และการกำเนิดขึ้นของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่เรียกว่า "สิทธิในการมีชีวิตอยู่" (Right to live one's life) ที่ทำให้มนุษย์เราเปลี่ยนสถานะจากการเป็น "ทรัพย์สิน" (ที่ผมมักเรียกว่า "ปศุสัตว์ทางการเมือง") ของเจ้านาย มาเป็นเลือดและเนื้อที่มีสิทธิเหนือชีวิตของตน ก่อนหน้านี้ "ชีวิต" ไม่ได้ถูกมองในฐานะสิ่งที่มีค่าที่สุด อย่างจะเห็นได้จากพวกไวกิ้ง ถวิลหาความตายในสนามรบ หรือ สงครามคูเสด หรือจิฮาดในอดีต ที่ทำไปเพื่อสุดท้าย ถูกมองว่าเป็นการสละชีพเพื่อสิ่งที่มีค่าเหนือกว่าชีวิต เป็นเส้นทางชีวิตแบบที่เรียกว่า martyrdom หรือแบบนักแสวงบุญนั่นเอง
 
ความสำคัญของประเด็นนี้มันอยู่ที่ กลุ่มก่อการร้ายส่วนใหญ่เข้าใจอย่างมากถึงต้นตอของความกลัวของมนุษย์สมัยใหม่ จึงมุ่งทำลายที่ศูนย์กลางของ "ความเป็นสมัยใหม่" ของที่นั้นๆ เป็นหลัก ที่นอกจากจะสร้างความกลัวแล้ว ยังเป็นการบุกถึงแกนกลางของ "ความเป็นสมัยใหม่" ของรัฐนั้นๆ ไปด้วย ทำให้ความกลัวมันทวีคูณ มันใกล้ตัว มันจริงจัง อย่างเหตุเกิดในภาคใต้มาตั้งนานปี เราที่อยู่นอกพื้นที่นั้น ก็ไม่ได้กลัวอะไรเป็นพิเศษ แต่พอเกิดเหตุขึ้นใน กทม. ที่เป็นศูนย์กลาง "ความเป็นสมัยใหม่" ของไทย ต่อให้ตัวอยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถรู้สึกถึงความน่ากลัว ความใกล้ตัวได้ เพราะสุดท้ายแล้วความเป็นสมัยใหม่ กับความกลัวตายมันแยกกันไม่ได้ (จะเห็นได้ว่านับแต่ 9/11 เป็นต้นมา เป้าหมายของการ "ก่อเหตุ" มักจะเป็นจุดศูนย์กลางของความเป็นสมัยใหม่ตลอด ผิดกับสมัยก่อน ที่ทำกับรูปปั้นบ้าง, สถานทูตบ้าง ซึ่งเน้นในเชิงสัญลักษณ์)
 
- ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผมอยากอธิบายว่า โดยมากกลุ่มก่อการร้ายนั้น เค้าจะสู้เพื่อชุดคุณค่าบางประการที่พวกเค้าให้ค่า "เหนือกว่าชีวิต" นั่นคืออาศัยอยู่ใน "กระบวนทัศน์" หรือ ideology แบบ "เก่า" แบบนักแสวงบุญนั่นเอง ทำให้การรุนแรงใช้กับพวกเขาไม่ได้ผล พวกเราตอบโต้พวกเค้าด้วยความรุนแรง ฆ่าพวกเค้า แล้วไง? ก็พวกเค้าพร้อมจะตายอยู่แล้ว ในเมื่อชีวิตไม่ใช่สิ่งสูงสุดของเขา ยิงให้ตาย ฆ่าให้ตาย มันก็ไม่จบ มีแต่ปลุกให้เกิดคนไม่กลัวตายแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ
-----
 
4. วิธีการรับมือความกลัว จากภัยก่อการร้าย
- จงระวังมัน แต่อย่าตื่นกลัว จงใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ เพราะต่อให้ "ภาพ" ของการก่อการร้ายมันน่ากลัว เพราะมันถูกจงใจทำให้เป็นเช่นนั้น แต่หากเราทำใจนิ่งๆ แล้วลองคิดดูดีๆ เราจะพบว่าในเชิงสถิติ มันไม่ใช่สิ่งทีน่าตื่นตระหนกถึงเพียงนั้น คือ เราจะพบว่าอัตราการตายจากการก่อการร้าย ในแต่ละปีทั่วโลก พอๆ กับการโดนอุกาบาตตกใส่, ฟ้าผ่าตาย, หรือผึ้งต่อย, ฯลฯ คือ ประมาณ 1 คนใน 80,000 คน ที่เสียชีวิตจากการก่อการร้าย
 
คือ ไม่ได้บอกว่าอย่ากลัวฟ้าผ่า, อย่ากลัวอุกาบาต, ฯลฯ แต่เราไม่ต้องตื่นตระหนกกับมันจนเกินไป เราสามารถดำเนินชีวิต "เป็นปกติได้" แม้จะมีโอกาสเจอภัยพวกนี้เช่นกัน ฉะนั้นเราต้องพยายามทำตัวแบบเดียวกันกับกรณีก่อการร้ายครับ อย่าเดินตามเกม และความต้องการผู้ก่อการร้ายครับ
 
คือ การตื่นตระหนก ตื่นกลัวจนระแวดระวังเกินไป จะนำเราเข้าไปสู่ภาวะ Over-surveillance หรือ ในทางคอนเซ็ปต์เรียกกันว่า Liberalization of Fear ครับ ที่เราจะถูกล้อมกรอบด้วยการตรวจสอบอย่างบ้าคลั่งเกินจริง ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นการขังตัวเองอยู่ในคุกที่เรียกว่า "รัฐ" ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากความกลัวไปเสีย (ลองดูซีรี่ย์เรื่อง Person of Interest นะครับจะเข้าใจเลย)
 
- นอกจากไม่ตื่นตระหนกแล้ว สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การต้องพยายาม "เข้าใจ" เหตุผลเบื้องหลังการกระทำของผู้ก่อการร้ายครับ ไม่ใช่เริ่มต้นที่การเหยียดไว้ก่อนว่าพวกนี้คลั่ง พวกนี้บ้า ไม่มีเหตุผล ไร้สติ ฯลฯ แล้วทุกอย่างก็จะไม่ดีขึ้น เพราะมันจะนำมาสู่การใช้กำลังในท้ายที่สุด ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกไปว่ามันไม่ช่วยอะไร
 
ที่ผมบอกว่า "เข้าใจ" พวกเขานั้น ไม่ใช่หมายความว่าเราต้อง "ยอมรับ" การกระทำนั้นนะครับ "ไม่ครับ" แต่ว่าเมื่อเราพยายามเข้าใจพวกเขาแล้ว อย่างน้อยนั่นแปลว่าเรากำลังมองพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีชีวิต มีจิตใจ มีความคิด เหมือนกับเรา
 
หนึ่งในจุดที่พอบ่งชี้ได้คือ นับตั้งแต่ 9/11 เป็นต้นมา สาขาวิชาด้านการก่อการร้าย นับเป็นสาขาวิชาที่มีการขยายตัวมากที่สุดในโลก ซึ่งจะเห็นได้ชัดถึงการพยายามทำความเข้าใจต่อ "ปัญหา" นี้ในระดับสากล ในทางตรงกันข้าม การศึกษาด้านนี้ในหมู่คนไทย กลับโดนแช่แข็งแน่นิ่ง ในระดับที่ทั้งประเทศไทยตอนนี้ มีคนจบสาขานี้ไม่เกิน 5 คน (จริงๆ น่าจะ 3 คน) และก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับการแยแสนัก
 
- สุดท้าย ผมอยากพูดถึงการรับมือกับ "ผู้ก่อการร้าย" ในกรณีที่จับเขาได้ ผมอยากให้ลองดูกรณีของนอร์เวย์ [แก้ไขข้อมูลครับ ตอนแรกจำผิดเป็นสวีเดน] ที่แทนที่จะใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ แต่พวกเขากลับมอบ "ความเป็นมนุษย์" อย่างเต็มขั้นให้กับผู้กราดยิงสังหารคนตายหลายสิบคน ด้วยการปฏิบัติกับเขาเฉกเช่นคนทั่วไป ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เข้าคุกก็ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด (ตามมาตรฐานคุกนอร์เวย์ ที่ดีพอๆ กับโรงแรมสามดาวบ้านเรา) และเมื่อพ้นโทษก็สามารถกลับเข้าสังคมได้
 
ไม่ใช่ขังลืมตายที่กัวตานาโมเบย์แบบสหรัฐอเมริกา หรือปฏิบัติกับนักโทษการเมืออย่างไม่ยุติธรรมแบบในไทย (คดี 112 นี่ตัวดี)
 
การทำแบบนี้คือการทำให้คนซึ่ง "ไม่ให้คุณค่ากับชีวิตในฐานะคุณค่าสูงสุด" (คือ ไม่รักชีวิต ในภาษาบ้านๆ) กลับมา "รักชีวิตของเขา" เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วิถีทางแบบ "นักแสวงบุญ" อีก และก็กลับมาสร้างความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ

 

 
ข้อเขียนของกฤดิกรในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 เวลา 00.26 น.

สเตตัสสุดท้ายของคืนนี้แล้ว ... ผมอยากพูดถึงเรื่องการฟันธงของท่านโฆษกรัฐบาลหน่อยเท่านั้นแหละครับ
คือ อย่างที่ผมคิดว่าทุกท่านคงทราบกันดี ว่าการ "ฟันธง" ครั้งนี้ เกิดขึ้นเร็วมาก ไม่มีเวลาสืบสวนหาความจริง หาหลักฐานอะไรทันการณ์แน่ๆ แต่ทำไมออกมา "ฟันธงคดี" เร็วยิ่งกว่าอเมริกาโบ้ยอัลเคดะฮ์อีก?
 
อย่างที่ผมเขียนในสเตตัสก่อนๆ นะครับว่า ความเป็นไปได้หลักๆ น่าจะมาจาก "3 ส่วน" (เอาแบบ possibility น้อยแค่ไหนก็ช่าง มาวางๆ) และอาจจะมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีกที่ผมนึกไม่ถึง แต่แน่ๆ หลักๆ มีอย่างน้อยสามกลุ่ม คือ เสื้อแดง, ทหารทำเอง, หรือภาคใต้
 
ผมคิดว่า "ถ้าคิดเร็วๆ" ไม่ว่าใครก็จะคิดได้ว่า possibility รวมๆ ประมาณนี้ ฉะนั้น มันก็ by default แหละครับที่ทหารจะต้องรีบฟันธงว่าเป็นการเมือง เพราะ
 
1. ไม่มีทางพูดอยู่แล้วว่าตัวเองทำ (ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าเป็นเคสนี้อ่ะนะ)
2. ไม่มีทางพูดหรอกว่ากลุ่มภาคใต้ทำ (ต่อให้สมมติกลุ่มนี้ทำจริงๆ) เพราะจะแปลว่าตัวเองบริหารจัดการคุมความสงบภาคใต้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
 
ฉะนั้นมันก็เหลือตัวเลือกเดียวคือ "โบ้ยการเมือง" เพราะนี่คือการ "กอบโกย" ผลประโยชน์จากสถานการณ์ได้ดีที่สุด ก็แค่นั้น เพื่อ prolong เหตุผลในการอยู่ของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งโพลล์ปลอม 38 สำนักเรย
ต่อให้ไม่ใช่ฝ่ายที่ก่อเหตุเอง (และผมก็เชื่อเช่นนั้น แต่ไม่ขอตัดความเป็นไปได้) ต่อให้ไม่รู้ว่าใคร แต่ก็ต้องรีบออกมาฟันธงอยู่ดี เพื่อกอบโกยจากสถานการณ์ชิบหายนี้ให้ได้มากที่สุด ก็เท่านั้นครับ Politics is the victim of the time.
 
Even they (ทหาร) didn't do it, but they wish for it.
 
[edit เพิ่ม] ผมลืมบอกอะไรนิดนึง โดยมากแล้ว ในหมู่กลุ่มก่อการร้าย "การก่อเหตุ" นั้น ทำเพื่อ either (1) ต้องการ voice อะไรบางอย่าง or (2) ต้องการ "เบี่ยงเบน" ความสนใจ (misdirection) จากบางสิ่งที่กำลังจะทำนะครับ
ผมเองก็สุดจะทราบได้ว่าแบบไหน [จบการ edit เพิ่ม]
 
ย้ำอีกครั้ง ‪#‎อย่าเพิ่งฟันธง‬ #อย่าเพิ่งฟันธง ‪#‎อย่าเพิ้งฟันธง‬
และ ‪#‎PrayDoesNotHelp‬ ‪#‎CalmMindAndWiseBrainHelp‬

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net