เรียนเล่นเล่น #11 Copyright: A Very Short Introduction

 

7 ส.ค. 2558 "เรียนเล่นเล่น ครั้งที่ 11" จัดโดยประชาไท อธิป จิตตฤกษ์ ผู้ศึกษาด้านลิขสิทธิ์ บรรยายในหัวข้อ Copyright: A Very Short Introduction รายละเอียดมีดังนี้

ในโลกนี้ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า กรณีต่างๆ ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักไม่ฟันธง แต่จะให้ตัวบทพิจารณาว่า ละเมิดไหม แต่ทั้งหมดขึ้นกับการตีความของศาลและกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับสหรัฐอเมริกา กฎหมายลิขสิทธิ์มีความยาวขนาดหนังสือเล่มกลางๆ เฉพาะส่วนข้อยกเว้นการเปิดเพลงในที่สาธารณะ น่าจะมีความยาวเท่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทยทั้งฉบับ ขณะที่กฎหมายของไทยนั้น ค่อนข้างสั้น มีลักษณะเป็นนามธรรมมาก และให้อำนาจศาลในการตีความตัวบทมาก

เวลาพูดถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ มีขนบความเข้าใจสองแบบ คือ หนึ่ง แบบอังกฤษ อเมริกา และคอมมอนเวลธ์ ซึ่งมองว่า ลิขสิทธิ์ไม่ใช่สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งที่รัฐให้ เพื่อให้สังคมสร้างความรู้ออกมา และ สอง แบบภาคพื้นทวีปยุโรป ที่ถือว่า ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิตามธรรมชาติ ไม่ต่างจากสิทธิอื่น รัฐแค่ออกกฎหมายมารองรับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะคิดไม่เหมือนกัน แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกก็หน้าตาคล้ายกันหมด นั่นเพราะทั้งหมดอยู่ใต้ข้อตกลงทางการค้าเดียวกัน เป็นความเห็นร่วมว่า ต้องมีการคุ้มครองบางอย่างต่อผู้สร้างงาน

ในตอนแรกนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองนอกเหนือรัฐ เช่น พ่อค้าหนังสือนำงานของนักเขียนอังกฤษไปตีพิมพ์ใหม่ในฝรั่งเศส และนำกลับมาขายในอังกฤษ ก็ถือว่าไม่ละเมิดแล้ว สร้างความปวดหัวอย่างมาก ทำให้ต้องตกลงทางการค้ากันให้คุ้มครองในประเทศคู่ค้าด้วย ทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์มีหน้าตาคล้ายกัน

ลิขสิทธิ์ คืออะไร
ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิในการผูกขาดการทำ 4 อย่าง ได้แก่ โอนถ่าย ทำซ้ำ ดัดแปลง และนำแสดงต่อสาธารณะ

1.โอนถ่าย
เป็นสิทธิที่คนมักจะลืม การโอนถ่ายเป็นสิ่งที่อยู่มาตั้งแต่แรกกับลิขสิทธิ์ โดยพื้นฐาน คนมักเข้าใจว่าการโอนถ่ายเป็นสิทธิคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคนที่จะหาประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นบริษัท หรือสำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มา เป็นสิทธิที่ให้คนอื่นใช้อย่างผูกขาด สิทธินี้ไม่ไปด้วยกันกับสิทธิมนุษยชน ในความหมายที่ว่าเมื่อเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิแน่ๆ แต่อันนี้แยกจากตัวเจ้าของ ผลคือคนสร้างงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นคนละคน ส่งผลให้คนแต่งเอาเพลงไปเล่นไม่ได้ หรือคนเขียนหนังสือ เมื่อตีพิมพ์ในวารสาร แล้วไม่สามารถมีสิทธิในงานได้

2.ทำซ้ำ (ทำสำเนา)
ไม่ใช่การก็อปแบบที่ชอบพูดกันในภาษาไทย ซึ่งเป็นการเอาบางส่วนงานมาใช้ในบริบทใหม่ หรือดัดแปลง

ทำซ้ำ คือทำเหมือนเดิมแป๊ะ เช่น พิมพ์หนังสืออีกเล่ม ก็อปไฟล์อีกไฟล์ อัดรูปอีกแผ่น

3.ดัดแปลง
เป็นสิทธิที่กว้างที่สุด และมีความต่างในการคุ้มครอง ครอบคลุมตั้งแต่เอาวรรณกรรมมาทำละคร ทำหนัง เอาเพลงไปประกอบภาพยนตร์ สารคดี เอาโค้ดคอมฯ มาดัดแปลง แปลงานเขียนจากภาษาหนึ่งไปภาษาหนึ่ง สร้างสิ่งปลูกสร้างตามแบบแปลน (ถ้าไม่จ่ายทุบตึกทิ้ง) เอารูปปั้นมาทำแบบเล็กลง สิทธิเอารูปมาตัดปะ (ในทางกฎหมาย ละเมิดแน่ แต่ทางปฏิบัติ ไม่ละเมิด แสดงให้เห็นว่า ถึงมีกฎหมายบัญญัติ แต่ถ้าคนในแวดวงปล่อยให้ละเมิด ก็เป็นสิ่งที่ทำได้) เอาเพลงคนอื่นมาเรียบเรียงใหม่ (ในหลายแวดวงไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นการให้เกียรติด้วยซ้ำ) สิทธิในการอ้างอิง (quote) เอาบางส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ มาผลิตซ้ำเป็นงานใหม่ เข้านิยามดัดแปลง แต่ไม่ถูกคิดว่าละเมิดเพราะแต่ละแวดวงไม่รู้สึกว่า ต้องมาเอาเรื่องเอาราว เช่น งานวิชาการ ไม่อ้างอิงไม่ได้ แต่ถ้าต้องขออนุญาตทุกครั้งก็ลำบาก โดยทั่วไปจะมีข้อยกเว้น เช่น ในการทำงานวิชาการ แต่ถ้าเอามาพิมพ์ขาย จะใช้อีกเงื่อนไขหนึ่ง

การอ้างอิง ถ้าทำนอกบริบทงานเขียนจะมีปัญหาทันที การ sample เพลง แม้ว่ามันคือกิจกรรมแบบเดียวกัน หรือ ทำสารคดีหนังสัตว์ประหลาด เอาคลิปหนังสัตว์ประหลาดมารวมกัน เหมือนการอ้างอิง แต่ถ้าไม่ขออนุญาต โดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์แน่ เพราะมีมาตรฐานอยู่แล้วว่าต้องขอและจ่ายเงิน

4.นำแสดงต่อสาธารณะ
น่าจะกำเนิดช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส ในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง นักแต่งเพลงได้ยินนักดนตรีเอาเพลงที่ตัวเองแต่งมาเล่น จึงฟ้องศาลและชนะคดี จะเห็นว่า ในฝรั่งเศส ศาลมีบทบาทขยายขอบเขตลิขสิทธิ์ ขณะที่ทางอังกฤษ กฎหมายยาวกว่าและแป๊ะกว่า ถ้ากฎหมายไม่ครอบคลุม จะถือว่าไม่ละเมิด แต่ก็จะเห็นว่า อังกฤษมีการออกกฎหมายใหม่มาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ความเป็น "สาธารณะ" เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ว่า อะไรคือพื้นที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัว กรณีการเปิดเพลงในร้านกาแฟนั้น กฎหมายไทย ตัวบทไม่มีคำตอบ เขียนแค่ "ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์จนเกินไป" คำว่า "เกินไป" เมื่ออ่านด้วยประสบการณ์ที่ต่าง ก็คิดไม่เหมือนกันแล้ว แต่กฎหมายอเมริกา จะระบุว่าพื้นที่ของคุณมันเท่าไหร่ เครื่องขยายเสียงกี่ตัว สถานประกอบการประเภทไหน เปิดผ่านวิทยุสาธารณะหรือไม่  

สิ่งที่คนชอบเข้าใจผิดว่าอยู่ใต้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์
- ความคิดลอยๆ การพูดออกมาลอยๆ (ปาฐกถายาวๆ อย่าง "I have a dream" มีค่าลิขสิทธิ์ ล่าสุด คนทำหนังมาร์ติน ลูเธอร์คิงไม่ยอมจ่ายให้ผู้ดูแลกองมรดกมาร์ติน และใช้วิธีเขียนสปีชขึ้นใหม่)
- โลโก้ของสิ่งต่างๆ ไม่ถูกนับเป็นงานออกแบบที่มีลิขสิทธิ์ ความผิดเกี่ยวกับโลโก้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเครื่องหมายการค้ามากกว่า (ซึ่งเป็นอาญาแผ่นดิน ใครเห็นแจ้งตำรวจได้เลย ขณะที่ลิขสิทธิ์ เป็นอาญาบุคคล เจ้าของไม่ว่าก็ทำอะไรไม่ได้ ย้ำว่า เป็นเรื่องที่นักข่าวหลายสำนักรายงานผิดบ่อยมาก เวลามีข่าวตำรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ มันคือการจับสินค้า "ละเมิดเครื่องหมายการค้า" มากกว่า

- กระบวนการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แบบที่เป็นนวัตกรรม (อาจอยู่ภายใต้สิทธิบัตร) เช่น วิธีการทำไข่เจียวแบบใหม่โดยใช้เครื่องมือประหลาดๆ วิธีทำ ไม่มีลิขสิทธิ์แน่ แต่คนคิดอาจมีสิทธิบัตรเหนือ ถ้าเขียนแล้วไปยื่นกับหน่วยงนออกสิทธิบัตร

ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดเดียวที่คุ้มครองทันทีที่ทำออกมา
สิทธิบัตร-เครื่องหมายทางการค้า ต้องยื่นจดก่อนได้รับความคุ้มครอง

-สิทธิจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว

-การแสดงออกต่างๆ แบบที่มีต้นฉบับ เช่น เพลงบลูส์ มีคนแต่งเพลงใหม่มา ตัวเพลงมีลิขสิทธิ์ แต่โครงสร้างเพลงไม่มีลิขสิทธิ์ 

-ของต่างๆ ที่มีลักษณะในเชิงหน้าที่ต่างๆ ส่วนที่มีลักษณะหน้าที่ ไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น หากมีคนออกแบบเก้าอี้ห้าขา โดยอธิบายเชิงหน้าที่ว่า ขาที่ห้ามีเพื่อกันเอียงไปข้างหน้า ถ้ามีคนทำเก้าอี้ห้าขามา จะอ้างลิขสิทธิ์ส่วนที่กันไม่ให้ล้มไม่ได้ เพราะเป็นส่วนที่จำเป็นเพื่อทำให้อุปกรณ์ทำงานได้

-ข้อเท็จจริงและทฤษฎีต่างๆ

อะไรที่ลิขสิทธิ์คุ้มครอง  
- งานเขียน ที่มีความยาวและมีความเป็นต้นฉบับ
- งานเขียนทางดนตรี (written music)
- งานปั้น
- ภาพเขียน
- รูปถ่าย 
- ภาพยนตร์
- งานบันทึกเสียงทางดนตรี
- งานออกแบบ ออกแบบตึก ผลิตภัณฑ์
- สิทธิของนักแสดง
- สิทธิเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์

สิ่งที่ยังถกเถียงกันตอนนี้ว่ามีลิขสิทธิ์หรือไม่
- สิทธิในการถ่ายรูปในที่สาธารณะ (freedom of panorama) โดยทั่วไป เวลาถ่ายรูปยังไงก็จะเจอของที่มีลิขสิทธิ์ ป้ายโฆษณา ตึก ในทางปฏิบัติคือมีข้อกำหนดว่าการถ่ายในที่สาธารณะไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

- ลิขสิทธิ์ของตัวฐานข้อมูล โดยทั่วไป ข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ แต่เมื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลใหญ่ๆ ยังตกลงกันไม่ได้ ประเด็นนี้จะร้อนขึ้นๆ เรื่อย ในยุค big data ที่มีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากๆ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล  (คนจะเคลมลิขสิทธิ์ เมื่อมันมีมูลค่า)

- การโหลดเพลงผ่านบิตทอร์เรน บางกฎหมายถือว่าคนดาวน์โหลดไม่ละเมิด เพราะทางเทคนิค การดาวน์โหลดเพลงเป็น peer to peer อาจถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคล

- ถ่ายเอกสารแบบเรียน หลายประเทศเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมแบบเรียนหยิบมาเล่นงาน แต่ละประเทศมีไกด์ไลน์ว่า ถ่ายเอกสารได้กี่เปอร์เซ็น เยอะที่สุดคือ บราซิล 50% ขณะที่ไทยถ่ายได้ทั้งเล่ม โดยมีฎีการะบุว่า หากร้านถ่ายเอกสารถ่ายหนังสือขาย จะเป็นการละเมิด แต่ถ้านักศึกษาเป็นผู้ว่าจ้างให้ถ่าย ไม่ถือเป็นการละเมิด พอเริ่มเข้าสู่ระบบออนไลน์ มหาวิทยาลัยเมืองนอกไม่ใช่หนังสือเล่มแล้วหันมาใช้อีบุ๊กแทน อีบุ๊กจะมากับระบบทำลายตัวเอง พอหมดเทอม ก็ทำลายตัวเอง เกิดประเด็นว่าถ้าปลดล็อกไฟล์จะละเมิดไหม

- สิทธิในการทำไฮเปอร์ลิงก์ มีคำถามว่า ถ้าเว็บไซต์ลงลิงก์สู่สิ่งละเมิดจะถือว่า เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ไหม แนวโน้มโดยรวมศาลบอกว่าไม่ผิด เพราะเหมือนการเอานิ้วชี้บอกทางเฉยๆ กรณีไทยยังไม่เห็นมาตรฐาน มีเพียงคำเตือนในโรงภาพยนตร์ว่าการส่งลิงก์ทางไลน์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนในตัวบทกฎหมายไม่มีบอกชัดเจนว่าละเมิดหรือไม่

- สิทธิในการทำ excerpt (ข้อความที่ตัดตอนมา) คล้ายสิทธิโควท สำนักข่าวฝั่งยุโรปโวยกูเกิลว่า เวลาแสดงผลค้นข่าวแล้วมี excerpt เป็นการละเมิด นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า google tax นี่เกิดจากการมองกูเกิลเป็นบริษัทอเมริกัน ที่หาประโยชน์ที่คนยุโรปสร้าง เป็นการเข้าข้างผู้ผลิตท้องถิ่น แนวคิดแบบนี้ไม่มีในอเมริกา

- สิทธิในการทำแบ็คอัพ เววลาที่เอาข้อมูลคอมพิวเตอร์ไปก็อปปี้อีกที่เพื่อป้องกันการแฮก หรือฮาร์ไดร์ฟเจ๊ง เราไม่ได้แบ็คอัพแต่งานตัวเอง อาจจะมีหนังที่ได้มาอย่างชอบธรรมด้วย คำถามคือ สิทธิในการแบ็คอัพมีไหม เพราะเดิม เป็นการละเมิดแน่ๆ เช่น เพลง

 

ประวัติศาสตร์กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย
สิทธิผูกขาดตีพิมพ์หนังสือ ปรากฏในกฎหมายไทยครั้งแรกใน ประกาศหอพระสมุดวชิรญาณ (ตรงกับปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายลิขสิทธิ์ในยุโรปลงตัวแล้ว) ระบุว่า ใครจะเอาหนังสือห้องสมุดไปพิมพ์ต้องขอจากหอสมุดก่อน เท่ากับรัฐมีอำนาจควบคุมผลิตซ้ำหนังสือ

เริ่มแรก ไทยใช้คำว่า กรรมสิทธิ์ จนเมื่อก่อนปฏิวัติ 2475 มีการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ซึ่งเกิดหลังจากไทยลงนามในอนุสัญญาเบิร์น เป็นกฎหมายแรกในไทยที่มีการใช้คำว่า ลิขสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญไทย บอกว่า ลิขสิทธิ์ มาจาก ลิขิต+สิทธิ คือ สิทธิเหนือการเขียน ใกล้เคียงกับ author's right หรือสิทธิของผู้ประพันธ์ ในภาคพื้นทวีป

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าหลังจากไทยไปลงนามสนธิสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศ ก็มักมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ขึ้น

โครงสร้างกฎหมายลิขสิทธิ์สมัยใหม่ในโลก
แม้ใช้ถ้อยคำต่างกัน แต่โครงสร้างคล้ายกัน

  1. บอกว่างานไหนเข้าข่ายคุ้มครองลิขสิทธิ์ (ดู มาตรา 6, 7 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537)
  2. นิยาม (มาตรา 4)
  3. ชนิดของการใช้ที่ได้รับการค้มครอง (มาตรา 15-17)
  4. ระยะเวลาในการคุ้มครอง (มาตรา 19-26)
  5. การใช้ที่ถือว่าไม่ละเมิด (มาตรา 32-43)
  6. การละเมิดลิขสิทธิ์และบทลงโทษ บอกว่าอะไรผิด (มาตรา 27-31 และ 69-70)

Embed
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 นั้นยังบังคับใช้อยู่ แต่ที่เพิ่มมาคือ เรื่อง DRM  ข้อมูลบริหารสิทธิกับมาตรการทางเทคโนโลยี
คือเพิ่มหมวดใหม่มาหนึ่งหมวด เรื่องนี้เป็นเรื่องเทคนิคมากๆ เวลาผู้เชี่ยวชาญในแนวคิดแบบเดิมบอกจะไม่ตรงกับกฎหมาย เช่น กรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่า การ embed ผิด แล้วมาแก้ทีหลังว่าไม่ผิด เป็นการมองง่ายๆ ว่า คนที่แปะ embed คือการนำงานของอีกคนมา "นำแสดงต่อสาธารณะ" ต้องผิดแน่ แต่ไม่ได้มองว่า มันมีตัวกลางอย่างยูทูบ ซึ่งก่อนที่คนจะสมัครสมาชิกเพื่ออัพโหลดงาน ต้องยอมรับเงื่อนไข ซึ่งให้เว็บผลิตซ้ำได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้น กรณีนี้ถ้าจะผิด คนแรกที่โดนคือยูทูบ ดังนั้น ยูทูบและเว็บอื่น จะมีเงื่อนไขการใช้บอกอยู่แล้ว

วิธีคิดง่ายๆ ทำอะไรไม่ละเมิด
งานที่จะใช้มีลิขสิทธิ์ไหม ดูนิยามที่มาตรา  4 และ 6-7 ถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่ละเมิด ถ้าเข้าข่าย ดูว่างานนั้นอยู่ในการคุ้มครองไหม (รูปถ่ายเก่า ภาพยนตร์ งานบันทึกเสียง จะหมดลิขสิทธิ์ นับแต่งานถูกแพร่ภาพ 50 ปี) ถ้ายังอยู่ในการคุ้มครอง ดูการใช้ว่า เข้าข่ายละเมิดไหม ที่มาตรา 27-31  เช่น เอาหนังสือมาโชว์ในห้องประชุม ไม่เข้าข่ายละเมิด เพราะเป็นที่ส่วนบุคคล เอาซีดีมาร่อนเล่น ถ้าเข้าข่ายละเมิดอีก ดูว่า อยู่ในข้อยกเว้นการใช้ไหม ที่มาตรา 32-43 

 

ถาม-ตอบ
ถาม: การใช้รูป/คลิปจากสำนักข่าวอื่น/คนอื่นมีลิขสิทธิ์ไหม 
ตอบ: ต้องดูความจำเป็นแค่ไหน ต้องเป็นกรณีที่หากไม่มีสิ่งนั้นจะไม่มีข่าวเลย เช่น กรณีสหรัฐฯ มีคนบันทึกภาพตำรวจไล่ยิงคนดำได้ ถ้ามีคลิปเดียว หากไม่ถูกเผยแพร่ออกมาจะไม่มีข่าว ไม่มีหลักฐาน แต่ถ้าเอาใช้เพียงเพราะเขาถ่ายสวยกว่า การอ้างแบบนี้ไม่ชัดเจนพอ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท