นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ศก.ไทยซึมตัว ลดดอกเบี้ยกระตุ้นได้ไม่มาก ชี้ทีม ศก.ใหม่ควรผลักดันแข่งขันส่งออก

เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีลักษณะซึมตัวลงแต่ยังไม่ชะงักงัน จำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนผลของการลดดอกเบี้ยอาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากจากหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาความเชื่อมั่นทำให้การลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาคเอกชนไม่เดินหน้าเต็มที่ ค.ร.ม.เศรษฐกิจใหม่น่าจะลดแรงกดดันจาก ตปท.ปัจจัยการเมืองยังมีส่วนกำหนด

21 สิงหาคม 2558 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ในการปาฐกถา เรื่อง เศรษฐกิจและสังคมไทย ปรับตัวอย่างไรให้ยั่งยืน? ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการปาฐกถาว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องเอาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องมุ่งสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพสามารถเผชิญความท้าทายและโอกาสในสองสามทศวรรษหน้าให้ได้ นอกจากนี้ต้องเติบโตอย่างมีพลวัตเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องมีการพัฒนาและเติบโตที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงด้วยการสร้างวินัยทางการเงินการคลังและระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง ต้องลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เมื่อเรามี ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคงและมีคุณภาพ 

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวในฐานะ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ อีกว่า การสร้างบ้านนั้นบางทีใช้วิธีซ่อมแซ่มบ้านเก่าก็พอเหมือนการปฏิรูปย่อยๆ บางครั้งต้องปรับโครงสร้างของบ้านใหม่เหมือนการปฏิรูปใหญ่ แต่บางครั้งต้องรื้อถอนโครงสร้างเดิมเพื่อสร้างบ้านใหม่เลยเปรียบเหมือนการอภิวัฒน์ จะใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่เหตุปัจจัยของประเทศในแต่ละช่วงเวลา

การปฏิรูปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพจะช่วยลดความสูญเสีย ความขัดแย้งรุนแรงได้ระดับหนึ่ง

การปฏิรูปควรพัฒนาไปสู่ สันติประชาธรรมรัฐสวัสดิการ (สันติธรรม+ประชาธิปไตยสมบูรณ์+เศรษฐกิจเสรีที่มีระบบรัฐสวัสดิการ) เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่มีความเป็นธรรม ลดการผูกขาดทั้งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีระบบสวัสดิการที่มีผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productive and efficient Welfare System) ไม่ใช่เป็นระบอบเสรีแห่งการผูกขาดอย่างเช่นในปัจจุบัน การแก้ปัญหาให้กับคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย ระบบสวัสดิการเป็นเพียงการช่วยบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การทำให้พี่น้องร่วมชาติที่มีฐานะยากจนและรายได้น้อยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว ต้องทำโดยการเพิ่มสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต (เงินทุน ที่ดินและความรู้) และ ต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคอันเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

ส่วนแนวทางการปฏิรูปที่เน้นไปที่ลดความเหลื่อมล้ำนั้น อนุสรณ์ ธรรมใจ แสดงความเห็นด้วยโดยกล่าวว่า “จากงานวิจัยล่าสุดของ ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์และคณะ พบว่า ดัชนี Gini Coefficient (ดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ) แปรผันในช่วง 0.6-0.7 ซึ่งถือว่าสูงมากติดอันดับโลกและยังไม่มีแนวโน้มลดลง ผมมองว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหมด ซึ่งมีทั้งความเหลื่อมล้ำในโอกาส ความเหลื่อมล้ำในสิทธิและอำนาจทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีและความมั่นคงทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อสันติธรรม ความสงบสุข พัฒนาการ และ ประชาธิปไตยของประเทศ

อนุสรณ์ ได้กล่าวถึง สถานการณ์เฉพาะหน้า ต้องทำให้ผู้คนมีความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องปรามไม่ให้มีการก่อเหตุวินาศกรรม สอบสวนข้อเท็จจริงและนำคนผิดมาลงโทษให้ได้

หากไม่สามารถดำเนินได้จะกระทบต่อความเชื่อมั่น กระทบต่อภาคการลงทุน การท่องเที่ยวได้ มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นแหล่งรายได้เฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1.7-1.8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 14.2-14.5% ของจีดีพี เฉพาะส่วนของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10.3% ของจีดีพี การประเมินยังเป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้ง ยังไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงบางอย่างได้ในขณะนี้

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการ shut down กรุงเทพฯยุติลง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ขยายตัวสูง สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆยังคงอ่อนแอ รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในเกณฑ์สูง ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 14.9 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7.26 แสนล้านบาท โดยทางการมีเป้าหมายของปี พ.ศ. 2558 ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากถึง 28 ล้านคน เป้าหมายรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมนี้แล้ว เป้าหมายนี้คงจะไม่บรรลุเพราะทางการต้องทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเดือนอยู่ที่เฉลี่ยนเดือนละ 2.3-2.4 ล้านคน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกสามารถทำได้สำเร็จแต่ครึ่งปีหลังเกิดความไม่แน่นอนจากความไม่สงบ หากควบคุมได้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงในระดับ 300,000 คนและเป้าหมายน่าจะใกล้เคียงปี พ.ศ. 2556   หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ นักท่องเที่ยวอาจจะลดลงมากกว่า 500,000 คนโดยประมาณ 

อนุสรณ์ วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจไทยตอนนี้ว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีลักษณะซึมตัวลงแต่ไม่ใช่ภาวะชะงักงัน (Stagnation) ไม่ได้กระเตื้องดีขึ้นอย่างที่คาดไว้ จำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนผลของการลดดอกเบี้ยอาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากจากหนี้ครัวเรือนสูง จึงต้องลดดอกเบี้ยให้ต่ำมากเป็นพิเศษช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความเชื่อมั่นทำให้การลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาคเอกชนไม่เดินหน้าเต็มที่ สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักการประชาธิปไตย จะต้องปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ โดยเฉพาะต้องรอดูปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูง การส่งออกหดตัวมาก การลงทุนต่ำกว่าคาด ส่วนการบริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินเฟ้อน่าจะขยายตัวไม่ถึง 0.5% ในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะติดลบต่อเนื่อง ใกล้เคียงภาวะเงินฝืดมากขึ้นตามลำดับ

ในส่วนของการปรับคณะรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจนั้น ดร. สมคิดและทีมเป็นผู้มีความรู้ดีทางด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การตลาดระหว่างประเทศ international marketing และน่าจะให้น้ำหนักนโยบายประชานิยมมากขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ดร. อุตตมะ และ ดร. สุวิทย์ เป็นคนรุ่นใหม่น่าจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น ดร. อุตตมะน่าจะบริหารกระทรวง ICT ได้ดี คุณอภิศักดิ์เคยประสบความสำเร็จและปฏิรูปธนาคารกรุงไทย น่าจะบริหารจัดการกระทรวงการคลังได้ เวลานี้กระทรวงคลังต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและระบบภาษี  รวมทั้งต้องบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบความยั่งยืนด้วย

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่คงช่วยทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นบ้าง และน่าจะผลักดันเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อทำให้สถานการณ์ส่งออกไทยดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจอาจไม่ได้มีนัยยสำคัญมากในการเปลี่ยนแปลงทิศทางและภาวะซบเซาของเศรษฐกิจไทยเนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆที่มีผลกระทบมากกว่า ทีมนี้น่าจะช่วยเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน แก้ปัญหาการตกต่ำของการส่งออก เดินสายสร้างความเชื่อมั่นเพราะหลายท่านชำนาญทาง marketing ประสานงานเพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติด้วยทีมเศรษฐกิจที่เป็นทีมพลเรือนมากขึ้น การปรับเปลี่ยนอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้บ้าง แต่ไม่มีนัยยสำคัญอะไรในระยะยาว เพราะปัญหาเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจเป็นผลจากหลายปัจจัย ไม่ได้อาศัยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ประเทศต้องมียทธศาสตร์ระยะยาว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง กลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและมีคุณภาพดีขึ้น เป็นไปตามกรอบเวลาเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และเดินหน้าเจรจาทำ FTA และลดแรงกดดันจากชาติตะวันตกในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่กระทบต่อเศรษฐกิจ

การมีทีมเศรษฐกิจใหม่อาจทำให้เกิดความหวังและการทำงานเชิงรุกมากขึ้นแต่คาดหวังมากไม่ได้ เพราะตัวแปรปัจจัยมากมายซับซ้อน และมี non-economic factors ที่กระทบเศรษฐกิจมากโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ไขให้บรรเทาลง และต้องสร้างความปรองดองและเอกภาพแห่งชาติให้ได้  หากประสบความสำเร็จ ไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก มีโอกาสทางการลงทุนอีกมากภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท