Skip to main content
sharethis

25 สิงหาคม 2558 รายงานข่าวจาก ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่า คปก. ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การบังคับใช้และปรับปรุงกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน” เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม สำนักงาน คปก. โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้เสียหายและทนายความ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีผลในการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

โดย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหารือให้ทาง คปก.  จัดการเสวนาทางวิชาการ จากกรณีที่มีผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานเสียชีวิตจากการถูกรถยนต์ชนในประเทศไทยเป็นระยะต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงควรมีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการหารือร่วมกันในวันนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้คนเกิดความยับยั้งชั่งใจมีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ตัวอย่างหนึ่งที่ควรนำมาศึกษาคือ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาเมาแล้วขับโดยการเพิ่มจำคุกและโทษปรับสูงขึ้น 10 เท่าพร้อมตัดแต้มใบขับขี่และเอาผิดกับร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ให้กับผู้นั้นรวมทั้งคนที่เดินทางไปด้วย รวมถึงการกำหนดให้กรณี “เมาขับ ชนคนตาย” เป็นเรื่องของ “เจตนา” ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณคดีเมาแล้วขับลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับประเทศไทย กรณีที่ผู้ซึ่งเป็นจำเลยเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิต ศาลมักพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งการพิจารณาในลักษณะดังกล่าวนำไปสู่การลงโทษที่ไม่รุนแรง ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม โดยอาจแก้ไขกฎหมายเช่น การเพิ่มโทษ หรือออกมาตรการที่มีผลต่อการยับยั้งพฤติกรรมที่นำไปสู่การเกิดเหตุดังกล่าว รวมถึงการหาแนวทางเพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่าง

ด้าน กฤษดา กำแพงแก้ว ผู้ประสานงานผู้เสียหายคดีนักจักรยานถูกชน กล่าวแสดงความเห็นว่า กรณีเมาแล้วขับของประเทศไทยนั้นยังกำหนดโทษไม่รุนแรง ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อโทษ

ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการเมาแล้วขับนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังมีสาเหตุมาจากการไม่เคารพกฎระเบียบการจราจรรวมถึงความประมาทในการขับขี่ ดังนั้นจึงต้องร่วมกันหารือว่าควรมีการเพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับเป็นเหตุให้รถชนผู้เสียหายหรือไม่ นอกจากนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยังต้องคำนึงถึงกระบวนการของการประกันภัยด้วย

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและ เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่งคือ การแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้ทุกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง (เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส) ต้องมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทุกราย นอกจากนี้ ในชั้นของตำรวจและอัยการ ควรมีการบันทึกข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เมาแล้วขับเพื่อดูว่ามีการกระทำความผิดซ้ำหรือไม่

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่าศาลควรพิจารณาลงโทษหนักกรณีอุบัติเหตุ “เมาขับ ชนคนตาย” ด้วยโทษสูงสุด คือจำคุก 10 ปี (ไม่รอลงอาญา) โดยหากเป็นกรณี “เมาขับ” ที่ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุควรให้มีการ “กักขัง” แทนการรอลงอาญา และเห็นควรให้มีการกำหนดความเร็วที่ใช้ในการในการขับขี่ในเขตเมืองให้ลดลง เช่น การขับขี่ในเขตชุมชน เป็นต้น

ส่วนทางด้านนักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ดร.สุเมธ องกิตติกุล กล่าวเสนอแนะว่า การแก้ปัญหาที่แท้จริงควรเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว เนื่องจากการขับรถในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์ยังไม่ค่อยรับรู้ถึงการขับขี่ของจักรยาน การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต้องทำอย่างเป็นระบบ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ การมีเครื่องมือในการบันทึกข้อมูลการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิด ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการจับและปรับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ กล่าวเสนอให้มีการปรับปรุงกองทุนทดแทนผู้ประกันภัย เนื่องจากปัจจุบัน กองทุนดังกล่าวมีเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำในวงเงินที่น้อย ซึ่งกองทุนทดแทนผู้ประกันภัยนี้มีขึ้นเพื่อการชดใช้ความเสียหายในเบื้องต้นสำหรับกรณีที่ผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากที่ใดได้

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า โดยหลักการแล้วจึงควรตีเส้นระหว่างมาตรการที่จะนำมาใช้ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุบนท้องถนน โดยมาตรการก่อนเกิดเหตุนั้นจะต้องนำเอาทุกมาตรการที่มีอยู่มาบังคับใช้เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนกรณีหลังการเกิดเหตุมีความเห็นว่าควรปรับปรุงการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มโทษ

ขณะที่ พ.ต.อ.ทินกร ณัฏฐมั่งคั่ง ผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า โดยหลักโครงสร้างทางกายภาพของถนนออกแบบมาเพื่อการขับขี่ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ความเร็วในการขับขี่ของรถยนต์และจักรยานมีความแตกต่างกัน การแก้ไขกฎหมายที่จะเกิดขึ้นควรมีความครอบคลุมในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดให้การเมาขับ ชนคนตายเป็นเจตนา เพราะอาจเป็นเรื่องที่ผิดหลักการในทางกฎหมาย จึงควรเน้นไปที่การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนนโดยให้ความสำคัญต่อทั้งสภาพคนและสภาพรถในการขับขี่ประกอบกัน

สมชาย หอมลออ ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือการเขียนกฎหมายของไทยในเรื่องนี้ยังมีความสับสน เช่น กฎหมายจราจรที่มีความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนกับกฎหมายอาญา ซึ่งการเขียนกฎหมายควรยึดหลักการว่า หากเรื่องใดสามารถกำหนดไว้ในกฎหมายอาญาได้ก็ควรกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่หากเป็นกรณีพิเศษเช่น การกำหนดโทษในกรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ควรกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะ จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายสมชายมีความเห็นว่า หากกำหนดให้การเมาขับ ชนคนตายเป็น “เจตนา” จะเป็นเรื่องที่ขัดหลักกฎหมายอาญา แนวทางแก้ไขควรเป็นการกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมมากกว่า เช่น การกำหนดเหตุเพิ่มโทษกรณีเมาขับโดยประมาทไว้ในกฎหมายอาญา เป็นต้น

สำหรับเรื่องมาตรการและโทษทางอาญานั้น สมชาย มีความเห็นว่า การกำหนดโทษทางอาญาไว้เพียงการจำคุกหรือกักขังนั้นเป็นข้อจำกัดของศาลมากจนเกินไป ศาลควรมีมาตรการที่มีความหลากหลายที่ส่งผลในระยะยาว เช่น มาตรการที่ไม่ให้คนเข้าถึงแอลกอฮอล์โดยง่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ การให้การศึกษาต่อสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวกับการจราจรก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงบนถนน

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลความเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net