เมื่อ "รัฐ" เข้ามาเล่นบท "ผู้สนับสนุน" ภาคประชาสังคมและ NGOs อย่างเป็นทางการ !

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.2558) ราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558”  โดยระเบียบดังกล่าวมีความน่าสนใจ ในแง่ของปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคม เนื่องจากเป็นการแสดงบทบาท “อย่างเป็นทางการ” ของรัฐในที่เล่นบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุน” ภาคประชาสังคมและ NGOs อย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่ออ่านจากระเบียบดังกล่าวแล้วผมมีข้อสังเกต ดังนี้

1. อาจเป็นเจตนาดีของรัฐที่ “ให้ความสําคัญในการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการดําเนินการ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงสมควรส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ในการร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กร ภาคประชาสังคมของภาครัฐให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” ก็ได้ (โปรดดูอรัมภบทของระเบียบ) แต่อย่างไรก็ดีผมขอตั้งข้อสังเกตขีดเส้นใต้สามร้อยเส้นไว้ว่า ระเบียบ ฯ ฉบับนี้คงมีเจตนามา “จัดแถว” บรรดาองค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ทั้งหลายให้อยู่ในโอวาท ขับเคลื่อนงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ... ที่สำคัญคือต้อง“สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล” ด้วยนะฮะ!

2. ระเบียบ ฯ ฉบับนี้กำหนดให้มี “ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ” โดยมีนายก ฯ หรือรองนายก ฯ ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธาน มี รมต.สำนักนายก ฯ เป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้อํานวยการสํานักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สมควรขีดเส้นใต้สามร้อยเส้น “ผู้จัดการ ส.ส.ส.” ในฐานะกรรมการโดยตำแหน่ง ไว้ ณ ที่นี้ก่อน เพราะในระเบียบข้อท้าย ๆ จะว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนเงินงบประมาณและบุคลกร ) นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคม คือ (1) ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปี ในด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ด้านการส่งเสริมสิทธิชุมชนหรือสิทธิพลเมือง ด้านการส่งเสริมความเป็นธรรมหรือลดความเหลื่อมล้ําทางสังคม และด้านกลุ่มประชากรหรือผู้ด้อยโอกาส จํานวนด้านละสองคน (2) ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปี ในด้านกฎหมาย จํานวนหนึ่งคน

( ผมทราบว่าในภาคส่วนของ NGOs เอง ก็มีองค์กรของเขาเองที่ชื่อว่า “คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)” เพื่อทำภารกิจเป็น เป็นกลไกกลางในการประสานงานและเชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ ที่ทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งในเมืองและชนบท )

3. คณะกรรมการชุดนี้ มีอํานาจหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ํา พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคมและมีอํานาจหน้าที่โดยเฉพาะ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมดําเนินกิจกรรมหรือโครงการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมถึงกิจการเพื่อสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด, จัดทําแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนําไปปฏิบัติ , กําหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุน โครงการและกิจกรรมตามอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เป็นต้น

จากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเห็นว่าคณะกรรมการ ฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนด “แนวนโยบาย” ในการสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม และ NGOs ในการขับเคลื่อนงาน นี่แหละครับ ! ที่ผมเห็นว่าเป็นบทบาทที่มีนัยสำคัญซึ่งจะเปลี่ยนแปลงบทบาทประชาสังคม หรือ NGOs ให้เป็น “ประชาสังคมภาครัฐ” และ “NGOs ภาครัฐ”

4. ในระเบียบ ฯ ข้อ 11 กำหดว่า “เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการทําความตกลงกับ หน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินการอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการของคณะกรรมการ เพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนบุคลากร สถานที่ งบประมาณ เงินบริจาค และเงินรายได้อื่น ตามที่กฎหมายกําหนด” นี่ก็เป็นข้อยืนยันอีกข้อหนึ่งครับว่า คณะกรรมการ ฯ ชุดนี้ จะมาทำหน้าที่เป็น “สปอนเซอร์” จัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนบทบาทภาคประชาสังคม และ NGOs อย่างเป็นทางการ (ซึ่งหลายท่านอาจเห็นว่า “ก็ดีไง! ภาคประชาสังคมจะได้มีทุนในการขับเคลื่อนงาน” / แต่อย่ากระนั้นเลยครับ! เมื่อท่านทั้งหลายรับการสนับสนุนจาก คกก.ชุดนี้เพื่อขับเคลื่อนงาน ท่านอย่าลืมว่าการขับเคลื่อนงานนั้นจะต้องกระทำบนอาณัติ ที่ว่า “ สนับสนุนการดําเนินงานขององค์กร ภาคประชาสังคมของภาครัฐให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ” ดังนั้น หากภาคประชาสังคม หรือ NGOs ใด ที่ขับเคลื่อนงานในลักษณะ “นอกแถว” (ต่อต้านนโยบายของรัฐ) ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ท่านก็อย่าได้หวังที่จะได้รับการส่งเสริมจาก คกก. ชุดนี้ เลยครับ )

ผมไม่อยากจะคิดเลยครับว่า หากรัฐใช้กลไกของรัฐเข้ามาครอบงำ ภาคประชาสังคม และ NGOs ในฐานะ “ขบวนการ (เคลื่อนไหว) ทางสังคม” แล้วละก็... ปรัชญาหรือธรรมชาติขององค์กรเหล่านี้จะถูกบิดเบือนไปอย่างไร ?

 

ปล. หรือว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไป !

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท