คุยกับผู้กำกับหนังสั้นชื่อประหลาด...แหม่มแอนนา หัวนม มาคารองฯลฯ (สปอยมาก)

คุยกับรัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ถึงหนังสั้นที่เพิ่งอัปโหลดให้คนทั่วไปดูทางยูทูบ กระเทาะแก่นความเป็นไทยและแนวคิดหลังอาณานิคม เป็นงานที่พาโลกวิชาการเจอมาเจอกับโลกศิลปะ สัญญะ และการตีความ


ภาพจากเฟซบุ๊ก Jit Phokaew

ลิงก์ยูทูบของหนังสั้นเรื่องหนึ่งถูกแชร์ต่อๆ กันในเฟซบุ๊ก และถูกกล่าวถึงโดยนักวิจารณ์หนังหรือบุคคลทั่วไปหลากหลายคน (ชมตัวอย่างเบื้องต้นในล้อมกรอบด้านล่าง)  และเพียง 3 วัน นับตั้แต่การปล่อยวันแรกเมื่อ 23 ส.ค.2558 ก็มียอดคนดูทะลุ 10,000 วิวแล้ว แม้คลิปนี้จะไม่ได้เปิดสาธารณะก็ตาม

(ชมได้เฉพาะผู้มีลิงก์เต็มเท่านั้น และคุณได้สิทธินั้น เดี๋ยวนี้ ! https://www.youtube.com/watch?v=t8w0G16djYU)

รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค คือเจ้าของผลงาน เป็นทั้งผู้กำกับและผู้เขียนบท เขาสร้างหนังสั้นต้นทุนต่ำเรื่องนี้เข้าประกวดเทศกาลหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว และมันเพิ่งเผยโฉมให้คนได้ชมในวงกว้าง หนังมีลักษณะเฉพาะและดูเหมือนมีสิ่งต่างๆ ให้ต้องตีความเยอะ ประชาไทจึงชวนผู้กำกับคนรุ่นใหม่สนทนาถึงผลงานชิ้นนี้

คณะผู้จัดทำหนังมีใครบ้าง

หลักๆ ก็ผมน่ะครับ คือทำเองขึ้นมาเฉยๆ ครับ แล้วผมก็ไปชวนเพื่อนหรือน้องที่รู้จักกันมาช่วยกัน ไม่ได้ทำเป็นโครงการอะไร

ก่อนหน้านี้ ผมทำหนังสั้นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อปี 2013 ชื่อเรื่อง ‘มะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ’ ซึ่งมีอยู่ใน youtube มันเป็นหนังแบบที่เอาทวิภพมาอ่านใหม่ เอามณีจันทร์มาอ่านใหม่ โดยส่วนตัวผมเป็นคนสนใจงานวิชาการพวกหลังอาณานิคมอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าในไทยไม่ค่อยมีงานพูดถึงอาณานิคมในเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์  แบบที่เป็น mass เท่าไร ก็เลยอยากจะลองสร้างงานที่เหมือนผสมวิชาการกับงานหนัง

งานชิ้นนี้ต้องการจะสื่ออะไร ทำไมต้องเป็น “แหม่มแอนนา”

ผมสนใจประเด็นพวก postcolonialism ในเมืองนอกมันจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาหรืออธิบายสังคมของประเทศที่เกิดหลังอาณานิคมว่าถูกครอบงำโดยความคิดของสังคมฝรั่งตะวันตกอะไร ยังไง แต่ผมรู้สึกว่าในประเทศไทยมันจะมีอาการแบบว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครนะ แต่เอาเข้าจริง ถ้าเอาข้อเท็จมาดูประเทศไม่ได้รอดพ้นไปจากโครงสร้างอาณานิคม ในยุคเดียวกันเราไม่ต่างไปจากพม่า เวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา เราถูกผนวกกับระบบอาณานิคมโลกอยู่แล้วในเชิงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม แต่ว่าในเชิงการเมืองการปกครอง “เราเป็นเอกราช” ทีนี้ผมรู้สึกว่าสังคมไทยชอบสร้างการผลิตซ้ำมายาคติความพิเศษตัวเองในฐานะหนึ่งในประเทศในเอเชียที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร อะไรแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัย ให้ขุด ให้ตั้งคำถามกับมัน

ไอเดียผมอยากจะทำสัก 3-4 เรื่อง อย่าง แหม่มแอนนาฯ เป็นเรื่องที่ 2 เรื่องแรงมะนีจันฯ จะพูดถึงผลตกค้างของอาณานิคมฝรั่งเศส ไปสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเสียดินแดน ทวิภพที่เป็นต้นฉบับจะเป็นเรื่องของมณีจันทร์ที่ได้กระจกวิเศษแล้วย้อนเวลาไปที่สมัยเสียดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันกลายเป็นลาว แต่ด้วยความสารถของมณีจันทร์ช่วยให้จากเสียเยอะกลายเป็นเสียน้อย ทวิภพเป็นวรรณกรรมกระแสหลักที่ค่อนข้างจะสร้างมายาคติเกี่ยวกับการเสียดินแดนอย่างทรงพลังที่สุดในความคิดคนไทยปัจจุบัน แต่ผมกลับรู้สึกที่ว่าทวิภพมีเรื่องย้อนเวลา แต่ก็กลับไปอยู่แต่ในกรุงเทพ กลับไปคุยคนโบราณในกรุงเทพ กับคนในรั้วในวัง คำถามคือมันไม่เคยไปคุยกับคนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงว่าเขารู้สึกเป็นสยามหรืออะไร เหมือนกับว่าเสียงของประชากรส่วนนี้ถูกทำให้หายไปจากกระแสหลัก นั่นคือไอเดียของหนังเรื่องที่แล้ว

ทีนี้มาเรื่องนี้จึงแตะประเด็นเกี่ยวกับความคิดเรื่องเอกราชว่า ต่อให้เราเป็นเอกราช แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่พึ่งพิง หรือไม่อิงแอบอำนาจอาณานิคมเลย มันไม่ใช่ว่าเราสู้กับอำนาจฝรั่งได้เบ็ดเสร็จแต่มันเป็นการต่อรองอะไรบางอย่าง พอยุคสมัยเปลี่ยนมาเป็นปัจจุบัน เราพยายามปฏิเสธว่าเราไม่เคยอยู่ในอิทธิพลของอาณานิคมเลย เราเก่งมากอะไรประมาณนี้

แล้วทำไมตัวละครในเรื่องทำไมต้องเป็น แอนนา ,ทับทิม ,พริ้นซ์ มันมีแนวคิดมายังไง

ผมสนใจที่จะนำเอาตัวละครที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงหรือคนพอจะรู้จักอยู่แล้วมาเล่นซ้ำ เพราะว่ามันง่ายดี คนจะเก็ตไอเดีย ไม่ต้องปูเรื่องตัวละครเยอะ อย่างแหม่มแอนนาเป็นตัวละครผู้หญิงฝรั่งมาสอนบรรดาพระราชโอรสธิดาในสมัยรัชกาลที่4 แต่ในขณะเดียวกันคนไทยก็จะรู้สึกว่าเธอน่าหมันไส้ ผมก็เลยคิดขึ้นมาและพยามลดทอนแบบเป็นหนังที่ไม่มีตังค์ ก็จะเหลือ 3 ตัวละครก็ถ่ายแต่ในบ้าน พยายามให้ 3 ตัวนี้มันแทนค่าให้เห็นไดนามิก(พลวัตร)ของสังคมได้ มีฝรั่ง มีชนชั้นนำ มีชนชั้นล่าง

อย่างทับทิมกับพริ้นซ์เป็นตัวแทนของอะไร

เวลาเราพูดถึงเจ้าอาณานิคมกับคนที่เป็นคนในปกครอง มันมีความหลากหลายในตัวมัน ผมสนใจความหลากหลายภายใน มันไม่ได้มีแค่คู่ตรงข้ามหรือแค่เจ้าอาณานิคมกับคนในปกครอง คนในปกครองเองก็มีความหลากหลายอยู่ข้างในอีกทีหนึ่ง สมมุติคนอินเดียซึ่งเป็นคนในปกครองอังกฤษ แต่คนอินเดียก็จะมีชนชั้นมหาราชา ชนชั้นชาวนา สุดท้ายชนชั้นมหาราชาไปเรียนต่อที่ลอนดอน แบบนี้ก็รวยมาก พวกเขาดูมีศักดิ์ที่สูงกว่าแรงงานในโรงงานของอังกฤษเอง ต่อให้เป็นแรงงานคนขาวชาวอังกฤกษก็เถอะ

มันมีมิติที่เยอะกว่าแค่ฝรั่งที่มาศิวิไลซ์คุณ เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับผลประโยชน์จากอาณานิคม ระบบอาณานิคมเอา modernity (ความทันสมัย) มาให้ประเทศโลกที่3 แต่ว่าในขณะเดียวกันมันไม่ใช่ว่าประชากรทั้งหมดในประเทศที่ 3 จะได้ modernity นั้น สุดท้ายแล้วคนที่ได้ผลประโยชน์จจากการต่อรองมันก็จะเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่บนยอดพีรามิด

มันเคยมีกรณีนักวิชาการอินเดียคนหนึ่งที่เกิดในยุคที่ได้เอกราชแล้ว แต่เธอเล่าว่าสมัยสาวๆ เธอไปต่างจังหวัดแล้วเจอผู้หญิงแก่ๆ 2 คนไปซักผ้าที่อยู่แม่น้ำแล้วก็พูดประมาณว่าต้องไปภาษี เสียเงินให้กับพวกอังกฤษอีกแล้วเหรอ ผู้หญิงคนนั้นหัวเราะแล้วบอกว่า “ป้าๆ ไม่รู้หรอกเหรอว่าเราเป็นเอกราชแล้ว” แล้วเธอก็มาตระหนักรู้ตอนโตว่าจริงๆ แล้วมันไม่ต่างกันหรอกสำหรับป้าจนๆ 2 คนในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองแบบ “อังกฤษ” หรืออยู่ในแบบการปกครองของคน “อินเดีย” เอง เพราะว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของคนที่ถูกเบียดขับเป็นชายขอบมากๆ มันไม่เคยได้รับ modernity จริงๆ มันแค่เป็นการเปลี่ยนการปกครอง ทับทิมเหมือนเป็น native อีกแบบนึงที่ถูกเบียดขับออกจากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาของฝรั่ง เพราะว่าในนามของความเจริญมันไม่ได้ทุกคน มันมาแค่เฉพาะคนบางกลุ่ม

แล้วชื่อเรื่องที่มีคำว่า “หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน” คืออะไร ดูไม่ไปด้วยกัน

มันเป็นอารมณ์ขันบางอย่าง ทำให้ชื่อหนังมันไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีความกวนตีน ผมรู้สึกตลกดีเวลาที่มีคนอ่านแล้วมีคำว่า “หัวนม” อยู่บนชื่อ แต่แต่ละอย่างมันก็พ้อยท์ไปสู่อะไรต่างๆ  หัวนมอาจจะหมายถึงอวัยวะที่ไม่สวยงาม ฟังดู pre-modern มากๆ มาคารองก็จะดีขึ้นมาหน่อย โพนยางคำก็อะไรไม่รู้ เหมือนกับมันเอา key word ที่ใช้แทนอะไรก็ได้มารวมกันแล้วฟังดูประหลาดมากกว่าที่เป็นชื่อเรื่องแล้วเข้าใจได้ทันที

หลังจากที่ได้ปล่อยฉายออกไปมีผลตอบรับอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ฉายครั้งแรกที่นิทรรศกาลหนังสั้นและวิดีโอเมื่อปีที่แล้ว ตอนนั้นเสียงตอบรับที่ดี คนรีแอคค่อนข้างดี เหมือนกับว่ามีอะไรที่ทำให้เขาหัวเราะส่งเสียงได้เรื่อยๆ แต่ว่าผมไม่ได้อัพลง youtube มาปีนึงเลย เพิ่งอัพเมื่อวานนี้ (23 ส.ค.)  ตอนนั้นสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราเกิดความไม่แน่ใจว่าถ้าเราเปิด Public (สาธารณะ) ไปมาก มันจะปลอดภัยทั้งตัวเราเอง นักแสดงและทีมงานไหม แต่สุดท้ายแล้วเราก็ลองดูว่ามีอะไรที่ดูน่ากังวลบ้าง ซึ่งก็ได้ตัดนิดๆ หน่อยๆ ก่อนอัพลง youtube

แล้วผีศาลที่ปรากฏในหนังสื่อถึงอะไร ทำไมต้องเซ่นไหว้ด้วยมาคารอง

ปกติ colonization ต่อให้มีการเปลี่ยนอะไรๆ ให้เป็นฝรั่งมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีที่เปลี่ยนได้บ้าง เปลี่ยนไม่ได้บ้าง  ผีเป็นสิ่งตกค้างที่เปลี่ยนไม่ได้ การที่ไม่ยอมเปลี่ยนนี้ก็ไปขวางทางอะไรบางอย่างในการเดินไปข้างหน้า แต่ว่ามาคารองในความคิดทีแรกภาพมันน่าสนใจดี ปกติจะไหว้อะไรที่เป็นไทยแต่คราวนี้ไหว้อะไรที่มันดูแปลกตา และมันอาจทำให้เห็นอีกว่าต่อให้เป็นสิ่งเก่าๆ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแต่มันก็ปรับตัวเองเพื่อให้อยู่ได้ อยู่ต่อในโลกร่วมสมัยได้

ตอนสุดท้ายของเรื่องที่ทับทิมได้ดูหนังเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเป็นทาส หนังพูดถึงประเด็นที่ว่า “ทาสไทย” และ “ทาสต่างประเทศ” มันแตกต่างกัน อยากให้ช่วยขยายความ

มันไม่เหมือนกัน ในงานวิจัยหลายชิ้นก็พยายามบอกว่า คำว่า “ทาส” ในภาษาไทยกับคำว่า slave ในภาษาอังกฤษ จริงๆ แปลแล้วไม่ได้เท่ากันและแทนกันได้ขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าในไทยวาทกรรมการเลิกทาส เรื่องการปลดปล่อยทาส มันถูกใช้เพื่อผลประโชน์บางอย่าง เพื่อสร้างมายาคติบางอย่างที่จะผูกอยู่กับในเรื่องของบุญคุณ ขณะที่ทาสในหนังหรือหนังสือต่างประเทศจะเป็นการต่อสู้ของทาสเองที่พยามสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพของตนเอง แต่ทาสไทยจะเป็นลักษณะแบบรอรับอิสระจากคนที่สูงกว่า เรียกง่ายๆ ทาสฝรั่งนั้น aggressive  กว่า มีความต่อต้านกว่า

แหม่มแอนนาบอกว่าการศึกษาจะทำให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน แต่ทำไมพอทับทิมบอกว่าอยากเป็นเจ้าคนนายคนบ้าง แหม่มแอนนาถึงบอกให้ไปดูแลปริ้นซ์แทน

ผมเห็นว่ามันเป็นความย้อนแย้งอะไรบางอย่าง แบบหน้าไหว้หลังหลอกของความสมัยใหม่ เราพูดเรื่องความเจริญแต่ไม่ใช่เรื่องความเจริญของทุกคนนะ ถ้าทุกคนได้สิทธิ์เท่าเทียมกันแบบนี้โครงสร้างมันเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้แหม่มเข้ามาโครงสร้างเหมือนเดิมแต่แค่เปลี่ยนเสื้อผ้า การที่ทับทิมลุกขึ้นมาจะเปลี่ยนแปลงด้วยมันทำให้โครงสร้างเดิมอาจจะพังครืนลง แล้วแหม่มก็จะมีภาวะแบบไม่แน่ใจว่าจะช่วยทับทิมดีหรือไม่ช่วยดี ปฏิเสธในตอนแรกแต่ก็ให้รางวัลปลอบใจโดยการให้ดูหนังแทน คือก็ไม่ใช่คนที่จะช่วยให้ยืนขึ้นมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็แทรกๆ อะไรที่ทำให้ทับทิมมีไอเดียขึ้นมา

ความเห็นบางส่วนจากผู้ชม (รวบรวมแบบตัดทอนจากเฟซบุ๊ก)

“สำหรับผมคือ มันสนุกนะ กับคนที่รู้อยู่แล้วน่ะ ดูแล้วจะฟิน มันไม่ใหม่ในประเด็นที่เล่น แต่มันใหม่ในมุมว่า เออ มันมีคนทำหนังเอาอะไรพวกนี้มาเล่นแล้วว่ะ ซึ่งสำหรับคนดูหนังน้อยอย่างผม นี่คือความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของวงการหนังที่ชาวบ้านชาวช่องทำกันเองนะ

ส่วนถ้าคุณคิดว่ามันไปได้ไกลกว่านี้ อันนี้ผมไม่มีข้อถกเถียงนะ เพราะผมไม่รู้ว่าโจทย์ของคนทำคืออะไร ถ้าเขาแค่อยากระบายเรื่องพวกนี้ ผมว่ามันผ่าน แต่ถ้าบอกว่าอยากเผยแพร่สู่คนหมู่มาก มันยังไปไม่ถึง เพราะมันดูยังสนุกได้แต่ในคนที่สนใจและรู้เรื่องอยู่แล้วมากกว่า” Natmaytee Bird Saiyawej

“เพิ่งได้ดู เห็นคนแชร์ๆ แปะๆ ตั้งแต่บ่ายแระ สุดติ่งมาก อย่างกับดูประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ ร.5 ยันปัจจุบันใน 40 นาที ในมุมแบบ critical และ post-colonial เหี้ยๆ ด้วย (ยังกะปาหนังสือ Siam Mapped มาทั้งเล่ม ซึ่งก็มีโผล่มาในเรื่องอ่ะนะ) บอกตามตรงชอบทุกฉากตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้าย

..อันนี้ตีความตามใจผมนะครับ และบอกก่อนว่าตัวผมเองไม่เคยดู Anna and the King มาก่อน...

ชอบการใช้ปริ๊นซ์ กับทับทิมในฐานะตัวแทน "คนไทย" มาก โดยปริ๊นซ์เป็นผู้ดีโง่ๆ ดีแต่ปาก บ้าอำนาจแบบ "ปริ๊นซ์" สมชื่อ (ประชาธิปัตย์ชัดๆ + ทหาร + อีลีตสยาม) กับ "ทับทิม" (สีแดง) ที่เป็นไพร่ที่ดูเหมือนจะพร้อมปรับตัวเองเข้าสู่หลักการสากล แต่ก็กลับไปสู่วัฒนธรรมก้มกราบได้ทันทีที่มีคนยื่นของที่ตัวเองอยากให้ จุดยืนไม่เคยจะมี (เสื้อแดง กับประชานิยม)

จิกกัดทุกวงการ ตั้งแต่ไพร่ ยันฮิปสเตอร์ ทั้งความไทย และจิกกัดโคโลเนียลลิซึมแบบฝรั่ง เล่นกับ binary opposition อย่างแยบคาย และที่ชอบที่สุดคือการสะท้อนวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบ” Kritdikorn Wongswangpanich

“หนึ่งในประเด็นที่ชอบมากก็คือการที่แหม่มแอนนา ซึ่งเป็นตัวแทนของความศิวิไลซ์และเป็นตัวแทนของ “การช่วยเหลือคนอื่นเพราะมองว่าคนอื่นต่ำต้อยด้อยกว่าและช่างโง่เง่า” นั้น ไม่ได้เป็นชาว Caucasian แล้วในปัจจุบัน แต่กลับมีสภาพเหมือนสาวฐานะดีเชื้อสายไทย/จีนที่ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกมา แหม่มแอนนาในเรื่องนี้มองว่าชาวบ้านเป็นพวกที่ช่างด้อยการศึกษาและควรได้รับการแปลงโฉมเสียใหม่ เธอคิดว่าสิ่งที่เธอทำคือการทำดีอย่างหนึ่ง แต่ไปๆมาๆ เธอกลับพบว่าเธอไม่ต้องการให้ชาวบ้านพวกนั้นได้เผยอหน้าขึ้นมาทัดเทียมกับเธอ เธอยินดีที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ก็ต่อเมื่อชาวบ้านอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าเธอเท่านั้น เธอต้องการจะช่วยชาวบ้าน และต้องการจะรักษาสถานะของตัวเองให้สูงส่งกว่าชาวบ้านไว้ต่อไป

การที่แหม่มแอนนาในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นฝรั่ง แต่มีสภาพเหมือน “สาวไทย/จีนฐานะดี” จึงทำให้เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้สามารถสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์ในอดีตและสถานการณ์ในปัจจุบัน และสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทยไปด้วยในขณะเดียวกัน การที่ตัวละครเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า “แหม่มแอนนา” ทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์ไทย และการที่ตัวละครเรื่องนี้พูดถึงอาณานิคมในอินเดีย, แอฟริกา และพวกอินเดียนแดง ทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์โลก แต่การที่ตัวละครแหม่มแอนนาในเรื่องนี้มีสภาพเป็นสาวไทย/จีนฐานะดี ทำให้เรานึกถึงลักษณะบางอย่างในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน” Jit Phokaew

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท