Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ว่าด้วยทักษิโนมิคส์การที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตทีมเศรษฐกิจของคุณทักษิณรับตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์นำมาซึ่งความวิตก (ความหวัง?) ว่าจะเป็นการหวนคืนของ “ทักษิโนมิกส์”

ทักษิโนมิกส์คืออะไร? ทักษิโนมิกส์คือชื่อเรียกแนวทางการจัดการเศรษฐกิจไทยสมัยรัฐบาลทักษิณที่มีลักษณะเฉพาะตัวบางประการแตกต่างจากแนวแนวนโยบายก่อนหน้านั้นจนผู้คนสังเกตและขนานนามให้เพื่อสื่อความกันได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “ทักษิโนมิกส์” นั้น  ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งผู้มีอำนาจเด็ดขาด ดำเนินการปฏิรูปปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจไทยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยเข้าใกล้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว

การยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้เข้าใกล้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือการไล่กวดโลกให้ทัน หมายความว่าประเทศไทยตัดสินใจที่จะมีสัมพันธ์แนบแน่นกับทุนนิยมโลก/ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งในห้วงเวลานี้มักหมายถึงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและยึดถือการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายและดัชนีวัดการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยในเวลานั้น (และในเวลานี้?) ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานและเงื่อนไขด้านจำนวนผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มากพอจะร่วมขบวนเศรษฐกิจโลกในลักษณะดังกล่าวได้

ด้วยเหตุนี้การปฏิรูประบบราชการและองค์กรในกำกับของรัฐในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ และ dual-track policies ที่หมายถึงนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันระดับโลกของบริษัทใหญ่ในเมืองและส่งเสริมเศรษฐกิจของ “รากหญ้า” ในชนบท (Akira Suehiro, 2014, 304) จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

รัฐบาลทักษิณจึงเดินหน้าเปิดเสรีทางการค้า เชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกให้มากขึ้น สร้างชุดนโยบายที่มุ่งเพิ่มจำนวนผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วยการทำให้คนที่ไม่เคยมีเงินมีเงิน ทำให้คนที่ไม่เคยคิดหรือไม่เคยมีโอกาสลงทุนเกิดความต้องการหรือมีโอกาสที่จะลงทุน ริเริ่มโครงการกองทุนหมู่บ้านหรือโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรเพื่อนำเงินไปไว้ในมือชาวบ้านโดยตรงหรือการสนับสนุนให้ชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการในโครงการ OTOP ตลอดจนสร้างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเพื่อลดภาระในการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสสะสมทุนและเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดโลกในวงกว้างทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการแทนที่การมีส่วนร่วมในฐานะแรงงานเท่านั้นดังเช่นในอดีต

ในกระบวนการดำเนินแนวนโยบายแบบทักษิณ รัฐบาลได้ใช้อำนาจทั้งที่ชอบธรรมและดิบเถื่อนหักหาญกลุ่มผลประโยชน์เก่าหรือกระทบกระทั่งรังแกชาวบ้านชุมชนท้องถิ่นตลอดจนภาคประชาสังคมนอกเครือข่ายของพวกตนเองเพื่อรื้อ/ปฏิรูป/สร้างใหม่ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจโดยอิงความชอบธรรมจากฉันทานุมัติที่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นฐานในการใช้อำนาจ

ความหมายของทักษิโนมิกส์จึงมิได้อยู่ที่เพียงตัวนโยบาย dual-track เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันอย่างมากกับที่มาของอำนาจกำหนดนโยบาย กระบวนการในการใช้อำนาจเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ที่มาของอำนาจในกระบวนการกำหนดนโยบายนี้สำคัญเพราะว่าในกระบวนการกำหนดนโยบายจะมีการเจรจาเสมอไม่ว่าจะเป็นผู้นำจะเป็นใครหรือใช้ระบอบใดบริหารประเทศ โดยผู้นำจะเจรจากับอำนาจที่หนุนหลังเขาเป็นหลัก เมื่อเขาต้องเจรจาต่อรองกับใครเขาก็แบ่งปันโลกทัศน์และผลประโยชน์กับคนที่เขาคุยด้วย ดังนั้นเมื่อที่มาของอำนาจทักษิณมาจากประชาชนเขาจึงต้องคุยกับประชาชน (แน่นอนว่าเขาคงจะคุยกับคนอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน) 

ในกระบวนการใช้อำนาจเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ทักษิณใช้รัฐเป็นกลไกผลักดันเศรษฐกิจ เช่น เปลี่ยนหน้าที่ผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ เปลี่ยนหน้าที่ทูต เป็นทูตซีอีโอ ฯลฯ

ส่วนเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้น ทักษิโนมิกส์มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการร่วมขบวนทุนนิยมโลกและพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะร่วมขบวนไปกับทุนนิยมโลกให้ได้
จะเห็นได้ว่าทักษิโนมิคส์มีบุคลิกลักษณะที่สำคัญคือ ผู้นำอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งใช้กลไกรัฐเพื่อรับใช้ตลาด มุ่งขยายทุนนิยมโลกาภิวัตน์

เมื่อเปรียบเทียบกับแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์กับลักษณะแกนกลางของทักษิโนมิกส์ทั้ง 3 ประการดังที่ได้กล่าวมา สิ่งที่แตกต่างกันคือ รัฐบาลประยุทธไม่จำเป็นต้องคุยกับประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบาย พวกเขาคุยกันในหมู่ “คนกันเอง” (ที่เรียกว่า “คนดี”) ไม่กี่ราย รัฐบาลประยุทธ์มุ่งใช้กลไกของรัฐไปในเรื่องความมั่นคงมากกว่าใช้ในเรื่องการพาณิชย์ เช่น ผู้ว่าฯ ถูกกำชับให้ช่วยสอดส่องตรวจตราจับกุมผู้เห็นต่าง ทูตถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลภาพลักษณ์รัฐบาล เป็นต้น และแม้ว่ารัฐบาลนี้จะมุ่งขยายทุนและอำนวยความสะดวกให้ทุนอย่างมากแต่เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่การแช่แข็งประเทศไทยให้อยู่ในสถานะเดิมมากกว่าที่จะร่วมขบวนโลกาภิวัตน์

โดยพื้นฐานแล้วนโยบายเศรษฐกิจของไทยทุกรัฐบาลจะส่วนที่คล้ายคลึงกันในแง่ของการมุ่งขยายทุน แม้แต่รัฐบาลประยุทธ์ที่ประกาศยึดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวนโยบายหลักได้ยังเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนแก่บริษัทต่างชาติและอำนวยความสะดวกให้ทุนข้ามชาติอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาไม่นานหลังเข้าสู่อำนาจ สิ่งที่แนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์จะคล้ายคลึงกับทักษิโนมิกส์ก็คงจะเป็นเรื่องการมุ่งขยายทุนนิยมและความเป็นเผด็จการ

แม้ว่านโยบายของทักษิณจะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนมากและนักวิชาการจำนวนหนึ่งจัดสิ่งที่เขาทำเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยที่สำคัญแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะอำนาจนิยมของทักษิณ การผลักดันนำกลไกรัฐรับใช้ตลาดอย่างเข้มข้นและการมุ่งเชื่อมโยงกับโลกด้วยการขยายพื้นที่ทุนนิยมอย่างกว้างขวางของทักษิณนั้นส่งผลกระทบในด้านลบต่อสังคมด้วย

การใช้อำนาจเกินเลยและผลเสียจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในยุคทักษิโนมิกส์นั้นจะมากน้อยยังถูกถ่วงทานด้วยกรอบของประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ นั่นคือ ถึงทักษิณจะมีอำนาจมากแต่อย่างมากที่สุดเมื่อครบสี่ปีเขาต้องลงจากตำแหน่งให้ประชาชนเลือกใหม่ ประชาชนที่ไม่พอใจนโยบายหรือพฤติกรรมของเขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เดินขบวนประท้วงได้ ฯลฯ ในขณะที่กรอบโลกาภิวัตน์นั้นนอกจากด้านที่รุกคืบยึดทรัพยากรท้องถิ่นทำกำไรแล้วก็ยังมีด้านที่ช่วยกำกับและยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ

จริงอยู่ที่ว่าทักษิณเกิดจากประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์และด้วยประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์นี่แหละที่คอยขวางมือเท้าของเขามิให้กระทำการตามอำเภอใจได้ทั้งหมด

ดังนั้นเราอาจจะนิยาม “ทักษิโนมิกส์” ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจนิยมขยายทุนภายใต้กรอบประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ที่คอยกำกับถ่วงทาน

ถ้าเชื่อว่าทักษิโนมิกส์ “สร้างปัญหา” ให้กับสังคมไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา “ทักษิโนมิกส์” ที่ปราศจากเครื่องมือกำกับและถ่วงทานก็น่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าของสังคมไทยในภายภาคหน้าด้วย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net