Skip to main content
sharethis
 
30 ส.ค. 2558 องค์กรสิทธิมนุษยนชนไทยออกคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย 30 สิงหาคม 2558 ระบุรัฐไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้ โดยรายละเอียดของคำแถลงทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
 
คำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย 30 สิงหาคม 2558
 
เนื่องด้วยวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย โดยองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ด้วยเล็งเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่ง
 
การบังคับบุคคลให้สูญหาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิอาจยอมรับได้ เพราะเป็นรูปแบบที่ร้ายแรงรูปแบบหนึ่งที่ได้ปรากฏขึ้นทั้งในสังคมไทย และสังคมมนุษย์ ที่เรารู้จักกันดีก็คือ “การอุ้มฆ่า” ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาดจาก “การถูกบังคับให้สูญหาย” ซึ่งบ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็มักจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในเครื่องแบบ ที่มีหน้าที่ในการ “พิทักษ์สันติราษฎร์” หรือดูแล “กิจการด้านความมั่นคง” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอ
 
การบังคับให้สูญหาย ถือเป็นหนึ่งในปัญหามนุษยธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งที่ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความสะพรึงกลัวให้เกิดขึ้นภายในสังคม ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในความปลอดภัย ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวผู้ใกล้ชิด หากแต่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสังคม โดยรวมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการอำนาจนิยมทหาร ในสถานการณ์ความขัดแย้งภายในที่มีความสลับซับซ้อน ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิในการมีชีวิต และสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมีหลักประกันในด้ายความปลอดภัย ถือเป็นสาระสำคัญในหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2491) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. 2519) 
การบังคับให้หายสาบสูญ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องนับตั้งแต่บุคคลสูญหาย จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และเยียวยาโดยสมบูรณ์ ในที่นี้ญาติมิตรของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่มีความซับซ้อน และ ซ้ำซ้อนในหลายมิติที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต สิทธิในการที่จะได้รับรู้ความจริง (ว่าบุคคลที่รักของเขาหายไปไหน) สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม ต้องได้รับการเคารพ 
 
ในต่างประเทศและทางสากล ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังดำรงอยู่ จากรายงานของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยไม่สมัครใจและถูกบังคับ (United Nations Working Group on Enforced and Involuntary Disappearances - UNWGEID) ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการสูญหาย จำนวน 53,000 กรณี จาก 84 รัฐ/ประเทศ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง กรณีนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมอาวุโสจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) ที่สูญหายไปกว่า 990 วัน กลางกรุงเวียงจันทน์ กรณีนายโจนัส เบอร์โกส์ นักพัฒนาด้านสิทธิเกษตรกร ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยไปเมื่อปี 2552 กรณีของไทย นอกจากนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานแล้ว ยังมีการสูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 2535 จำนวน 31 ราย และทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 ก็อยู่ในระบบฐานข้อมูลผู้สูญหาย ของคณะทำงานสหประชาชาติด้วย
 
การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติยังมีมติที่ 47/133 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535 รับรองปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทั้งมวลให้ปลอดจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการที่ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติได้จัดทำร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคลทั้งมวลจากการบังคับให้หายสาบสูญ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัยที่ 61 ของสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ภายหลังจากที่มีประเทศภาคีร่วมลงนามครบ 20 ประเทศ
 
นอกเหนือจากการที่รัฐพึงจะต้องมีพันธกิจในการคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามหลักการสากลแล้ว ยังจะต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนและมาตรฐานคุณธรรมขั้นสูงในการใส่ใจในสิทธิมนุษยชน เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกผู้คนอีกด้วย
 
รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 ตามที่ได้มีการแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนหน้านั้น โดยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทำให้ยังไม่มีผลบังคับผูกพันตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ ที่ผ่านมาแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐไทยในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังขาดความชัดเจน ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการจัดการกับปัญหาการหายสาบสูญในกรณีต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรก (พ.ศ. 2544-2548) ฉบับที่สอง (พ.ศ. 2552-2556) จนถึงฉบับที่ 3 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2557-2561) แล้ว ก็แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นับแต่กรณี นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (สูญหายเมื่อ พ.ศ. 2534 สมัย รสช.) กรณีการปราบปรามประชาชนเมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งผ่านไปแล้วกว่า 23 ปี แต่ผู้สูญหายอย่างน้อย 31 คน (จากรายงานของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุไว้ว่า 48 ราย) ยังคงไร้วี่แวว กรณีทนายความนักสิทธิมนุษยชน นายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 กรณีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย อีกทั้ง กรณีนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น ที่จังหวัดขอนแก่น บางกรณีสูญหายไประหว่างที่รัฐใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. 2546 – 2547 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งล่าสุดกรณีนาย “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ อดีตสมาชิก อบต. ผู้นำชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่สูญหาย ไปเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ประมวลรายชื่อ และจำนวนผู้สูญหาย ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา นับแต่ พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน มีรายชื่อผู้สูญหายกว่า 100 รายที่ยังไร้วี่แวว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย 
 
อย่างไรก็ดี องค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ร่วมลงชื่อท้ายคำแถลงนี้ มีข้อเสนอรูปธรรมต่อรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
1. รัฐ และหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคม ต้องตระหนักว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นอาชญากรรม
 
2. รัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องแสดงเจตจำนงในการร่วมผลักดันให้ สิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ และสาระสำคัญของสังคมอย่างชัดแจ้ง
 
3. รัฐบาลให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture - CAT) โดยมิชักช้า
 
4. รัฐบาลให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยมิชักช้า
 
5. รัฐสภา หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องเร่งพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับอนุสัญญาทั้งสองฉบับอันได้แก่ ความผิดกรณีการซ้อมทรมาน การปฏิบัติที่เลวร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการอุ้มหาย (สูญหายโดยการถูกบังคับ) กำหนดมูลความผิดตามอนุสัญญาดังกล่าวว่าเป็นความผิดทางอาญา และมีโทษทางอาญา เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนง และความจริงใจของรัฐที่มีต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้มีการดำเนินการมีผลในทางปฏิบัติ โดยเร็ว
 
6. รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ทางสังคมได้เข้าร่วม อาทิเช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน นักกฎหมาย นักวิชาการ นักวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
 
7.รัฐต้องเร่งปฏิรูประบบและกลไกในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปตำรวจ ทั้งกระบวนการสร้างเสริมพฤตินิสัย ความสำนึก และ กลไกในการตรวจตราอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชน สำนึกแห่งความถูกต้อง และเป็นธรรมให้กับบุคลากรในความดูแลของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง และเที่ยงธรรม
 
หากรัฐไทยไร้ซึ่งความเป็นกลาง และระบบยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ อาจส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะ ลูกเล็กเด็กแดง หญิงชาย ผู้สูงวัย ยากดีมีจน ต่างชาติพันธุ์ ศาสนาและความเชื่อ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั้งในประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ
 
สังคมจึงต้องมีส่วนร่วมกันในการดูแล และร่วมสร้างหลักประกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีความเห็นพ้องกันว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในสังคมของเรา
 
ประการสำคัญ รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นด้วยมาตรการที่เหมาะสม อันจะเป็นภารกิจสำคัญของการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ยุติปัญหาการซ้อมทรมาน และการอุ้มหายอย่างจริงจัง
 
กลุ่มเพื่อนประชาชน 
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สถาบันสังคมประชาธิปไตย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
 
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ กลุ่มเพื่อนประชาชน
สุณัย ผาสุข Human Rights Watch 
งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 
ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ธนภัทร อารีพิทักษ์
เพลินใจ อัตกลับ
ชนะ จันทร์แช่ม
ฤทธิชัย โฉมอัมฤทธิ์ 
บดินทร์ สายแสง
บัณฑิต หอมเกษ
สมฤดี พิมลนาถเกษรา
วริสรา มีภาษณี
ปฐมพร แก้วหนู
ชานนท์ ลัภนะทิพากร
วชิรวิทย์ สร้อยสูงเนิน
ณัฐฏ์ชนนท์ อัครมณี
นิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง 
เลิศศักดิ์ ต้นโต
บารมี ชัยรัตน์
 
 
30 สิงหาคม 2558
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net