Skip to main content
sharethis

อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ร่วมชุมนุมเบอเซะวันที่ 2 โดยระบุว่าไม่ได้มาเพื่อสนับสนุนเบอเซะ แต่สนับสนุนประชาชน เบอเซะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ด้าน รมว.กลาโหมโจมตีมหาธีร์ว่าละเมิดหลักการตัวเอง ทั้งที่ในอดีตมีทัศนะต่อต้านการชุมนุม ส่วนนายกรัฐมนตรี 'นาจิบ ราซัก' อัดเบอเซะยับผ่านสุนทรพจน์เนื่องในวันเอกราช ระบุด้อยจิตวิญญาณของชาติ

พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ "เบอเซะ" (Bersih) ชุมนุมใหญ่ใกล้กับจัตุรัสเมอเดก้า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 ส.ค. นี้ (ที่มา: ประชาไท)

คลิปผู้ชุมนุมเบอเซะร่วมกันร้องเพลง "เนอการากู" หรือเพลงชาติมาเลเซีย ระหว่างการชุมนุมในช่วงเวลา 14.00 น. เมื่อวันที่ 30 ส.ค. (ที่มา: ประชาไท)

 

30 ส.ค. 2558/กัวลาลัมเปอร์ - ตามที่พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

 

มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภรรยา นั่งรถไฟ KTM มายังสถานีกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเข้าพื้นที่ชุมนุมเบอะเซะ เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 30 ส.ค. นี้ (ที่มา: Malaysiakini)

 

2 รัฐมนตรีอัดมหาธีร์ - 'ฮิซชามุดดิน' ระบุมหาธีร์ละเมิดหลักการของตัวเองที่เคยต้านการชุมนุม 

ต่อมาภายหลังจากที่มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 4 เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุมเบอเซะที่จัตุรัสเมอเดก้าเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) เช้าวันนี้ (30 ส.ค.) เขาถูกคนในรัฐบาลมาเลเซีย ออกมาวิจารณ์ ทั้งนี้ตามรายงานของมาเลเซียกินี

โดยรองนายกรัฐมนตรีผู้ดำมีตำแหน่งเป็น รมว.มหาดไทย อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) กล่าวหาว่า มหาธีร์ ใช้เวลาเพียง 6 นาที ไม่ได้แปลว่าเขาสนับสนุนกลุ่มเบอะเซะ 4

ขณะที่ ฮิชชามุดดิน ฮุสเซ็น (Hishammuddin Hussenin) รมว.กลาโหม กล่าวว่า มหาธีร์กำลังส่งเสริมสิ่งที่เป็นอันตราย "เขาควรตระหนักถึงผลร้ายด้านความปลอดภัยและความโกรธแค้น ถ้าการชุมนุมบนท้องถนนบานปลาย"

รมว.กลาโหม กล่าวด้วยว่า "หลายประเทศในโลกได้ล่มสลายลง เมื่อผู้นำถูกโค่นด้วยการชุมนุมบนท้องถนน"

ฮิชชามุดดิน กล่าวว่า ในอดีตมหาธีร์เคยระบุว่าการชุมนุมบนท้องถนนไม่ใช่ช่องทางที่เหมาะสมในการแสดงออกถึงความคับข้องใจ โดยเขากล่าวต่อว่า "มหาธีร์ได้ละเมิดหลักการต่อสู้ทางการเมืองของเขาเอง การกระทำของเขาขัดแย้งกับคุณค่าที่เขาปลูกฝังให้กับพรรคอัมโน (UMNO) และประชาชน ในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี"

 

มหาธีร์ตอบ 2 รัฐมนตรี เอาที่สบายใจเลย - ยืนยันสนับสนุนประชาชนไม่ได้สนับสนุนเบอเซะ

ต่อมา มาเลเซียกินี รายงานว่า ในเวลา 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันนี้ (30 ส.ค.) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้กลับมาบริเวณที่ชุมนุมอีกครั้ง โดยมหาธีร์ และภรรยา พญ.ซิติ ฮัมซาห์ (Siti Hamzah) ได้นั่งรถไฟชานเมือง KTM มาลงที่สถานีกัวลาลัมเปอร์ โดยมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซาอิด อิบราฮิม (Zaid Ibrahim) ติดตามมาด้วย

โดยในการเยือนครั้งที่สองนี้ มหาธีร์ไม่ได้เข้าไปถึงกลางที่ชุมนุมอย่างจัตุรัสเมอเดก้า แต่ครั้งนี้ใช้เวลาในพื้นที่ใกล้กับที่ชุมนุมราว 1 ชั่วโมง โดยเขากล่าวกับผู้ชุมนุมที่ทางเข้าตลาดปะซาเซนี รวมทั้งแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในร้านอาหารย่านตลาดปะซาเซนีด้วย

ต่อคำให้สัมภาษณ์โจมตีของ 2 รัฐมนตรี มหาธีร์ตอบผู้สื่อข่าวว่า "เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะว่าผม พวกเขาสุขสบายแล้วนี่"

โดยในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มหาธีร์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2546 กล่าวว่าไม่ได้มาในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ แต่มาเพราะเป็นผู้สนับสนุนประชาชนมาเลเซียทุกคนที่อยู่บนท้องถนนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ลาออก

ทั้งนี้มหาธีร์ กล่าวว่า ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ แต่สนับสนุนประชาชน ส่วนกลุ่มเบอเซะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และมีสิทธิเช่นกัน "เบอเซะก็เป็นรักยัต" มหาธีร์ใช้คำในภาษามลายูซึ่งแปลว่า "ประชาชน" ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่ทุกคนที่สวนเสื้อเหลือง หลายคนไม่ได้สวมเสื้อเหลือง ผมมาที่นี่เพื่อแสดงความสามัคคีกับประชาชน" มหาธีร์ให้สัมภาษณ์

มหาธีร์ย้ำถึงความจำเป็นที่นาจิบ ควรลาออก และกล่าวด้วยว่าสิ่งนี้จะช่วยกู้ภาพของพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) "ในรัฐสภา แนวร่วมแห่งชาติครองเสียงข้างมาก และมีสิทธิที่จะเลือกผู้นำคนใหม่" มหาธีร์กล่าวย้ำความเห็นก่อนหน้านี้ของเขา ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อแนะนำพรรคฝ่ายค้านให้ร่วมลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อขับนาจิบ ออกจากอำนาจ

"ประชาชนทั้งหมดไม่ต้องการผู้นำคอร์รัปชั่นแบบนี้ เราต้องขจัดผู้นำแบบนี้ และถ้าเราสามารถทำได้ผ่านวิธีการปกติ"

อย่างไรก็ตาม มหาธีร์ได้ชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ทำลายช่องทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดเขาได้ อย่างเช่น การย้าย อับดุล กานี เปตาล (Abdul Gani Patail) ออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด

นอกจากนี้มหาธีร์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าเขาไม่ควรเข้าร่วมกับการชุมนุม Bersih 4.0 โดยเขาตอบว่า "ไม่ ผมคิดว่า ผมได้แสดงจุดยืนของผมที่นี่ว่าผมสนับสนุนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล" "จิตวิญญาณของผมอยู่กับคุณทุกๆ คน ผมจะต้องกลับบ้านแล้ว" มหาธีร์ กล่าว

 

นาจิบ ราซัก อัดเบอเซะยับผ่านสุนทรพจน์วันได้รับเอกราช ระบุด้อยจิตวิญญาณของชาติ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก ได้กล่าวสุนทรพจน์ออกอากาศเนื่องในวันเอกราชมาเลเซีย (Merdeka Day) โดยเป็นการบันทึกเทป เพื่อนำมาออกอากาศในคืนวันที่ 30 ส.ค. โดยเดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ ซึ่งอ้างรายงานของสำนักข่าวทางการของมาเลเซีย "เบอนามา" รายงานว่า นาจิบ ระบุว่า เขาและรองนายกรัฐมนตรี อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี และคนอื่นๆ จะดำเนินงานต่อไปด้วยความพยายาม แม้ว่าจะมีความท้าทาย และอุปสรรค

"แน่นอน เราจะไม่ยอมให้ใครทั้งจากภายในและภายนอก เข้ามาขโมย ทำให้ล่มจม หรือทำลายสิ่งที่พวกเราสร้างกันขึ้นมา ขอให้พวกเราจดจำไว้ ถ้าเราไม่มีเอกภาพ สูญเสียความสามัคคีและการประสานสอดคล้องกันเมื่อไหร่ ทุกปัญหาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ และทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความมานะก็จะถูกทำลายลง"

ในคำกล่าวสุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังชื่นชมถึงความหมายของคำว่าเอกราช และวีรกรรมของทหารและสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคงที่อุทิศชีวิตเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะอยู่อย่างผาสุกและปรองดอง "นี่ป็นสาเหตุวาทำไมเราจึงปฏิเสธทุกรูปแบบของการชุมนุมบนท้องถนน ที่รบกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและได้แต่สร้างความยากลำบากให้ประชาชน เพราะว่าพวกเขาไม่ยอมโต และกาประท้วงก็ไม่ใช่ช่องทางที่เหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นสำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย"

นาจิบ กล่าวอ้างอิงถึงการชุมนุมของกลุ่มเบอเซะ ที่ชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. เวลา 14.00 น. ที่กัวลาลัมเปอร์ โกตากินาบาลู และกูชิง ด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 32 ชั่วโมงที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม สะท้อนถึงจิตใจคับแคบและด้อยวิญญาณของชาติ

 

ชุมนุมใหญ่โดย "เบอเซะ" เรียกร้องนายกรัฐมนตรีลาออกหลังมีเรื่องอื้อฉาวด้านการเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อนึ่ง พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ซึ่งแปลว่า "สะอาด" ในภาษามลายู วางแผนจัดชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4.0" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยก่อนหน้านี้มีการชุมนุม Bersih มาแล้ว 3 ครั้งได้แก่ในปี 2550 ปี 2554 และปี 2555 โดยทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่จนถึงเวลาที่รายงาน (23.45 น. ของวันที่ 30 ส.ค. 2558 ตามเวลาประเทศมาเลเซีย) ยังไม่มีการตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

ล่าสุดในเวลาเที่ยงคืนตามเวลาประเทศมาเลเซีย ประธานกลุ่มเบอเซะ มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ (Maria Chin Abdullah) ได้ประกาศยุติการชุมนุมแล้วในเวลาเที่ยงคืน โดยนำผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติมาเลเซีย และตะโกนว่า "เมอเดก้า!" หรือ "เอกราช!" ในภาษามลายู ก่อนสลายการชุมนุม

บรรยากาศการชุมนุมช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. บริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้าหลายจุด รวมทั้งที่สถานีรถไฟฟ้า LRT มัสยิดจาเม็ก ก็มีเวทีย่อยเช่นกัน และในเวลาเที่ยงคืนผู้ชุมนุมร่วมกันนับถอยหลังเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนของวันใหม่ ซึ่งเป็นวันรำลึกการได้รับเอกราช ร่วมกันร้องเพลงชาติมาเลเซีย "เนอการากู" ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ

 

คลิปชุมนุม Bersih 4.0 คืนสุดท้าย นับถอยหลังสู่วันฉลองเอกราช: ข้อสังเกตจากผู้สื่อข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นการชุมนุมคืนสุดท้าย โดยรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้าซึ่งเป็นเวทีหลัก บริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีผู้ชุมนุมทำเวทีย่อยหลายจุด รวมทั้งที่สถานีรถไฟฟ้า LRT มัสยิดจาเม็ก อาคารเทศบาลกัวลาลัมเปอร์หลังเก่า ก็มีเวทีย่อยเช่นกัน จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวมีเวทีย่อยรอบเวทีใหญ่อย่างน้อย 4 เวที

โดยเวที ทำแบบง่ายๆ ใช้ท้ายรถ หรือต่อเวทีขนาดเล็กๆ พอสำหรับขึ้นไปยืนปราศรัย "คนก็จะเดินไปเดินมาเหมือนม็อบ เหลืองแดงบ้านเรา และจะหยุดตามเวทีย่อยเป็นกล่มใหญ่" ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกต โดยตามทางแยก หรือจุดสำคัญ จะมีอาสาสมัคร คอยจัดการเส้นทางจราจร คอยจัดการขยะ บ้างก็ตั้งกลุ่มแจกน้ำดื่ม

"การชุมนุมครั้งนี้ มีอาสาสมัครจำนวนมากและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เฉพาะฝ่ายลอจิสติกส์ก็มีอาสาสมัครกว่า 200 คนแล้ว นอกจากนี้หลังเลิกการชุมนุมยังพบอาสามัครช่วยกันเก็บขยะบนถนนอย่างจริงจัง" ผู้สื่อข่าวระบุ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมในคืนสุดท้าย เป็นไปอย่างราบรื่นและผ่อนคลาย ผู้คนออกมาเดินไปเดินมาเต็มถนน โดยผู้ชุมนุมสัดส่วนใหญ่เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน และมีเชื้อชาติอื่นรองๆ ลงมาคือมลายู และทมิฬ รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ในมาเลเซีย นอกจากนี้ในช่วงค่ำจะมีคนทมิฬ มาร่วมชุมนุมในจำนวนที่มากขึ้นกว่าช่วงกลางวันซึ่งเป็นเวลาทำงาน ส่วนรอบเวทีย่อยต่างๆ จะมีกลุ่มคนนั่งฟังปราศัยเป็นกลุ่มใหญ่

และในเวลาเที่ยงคืนผู้ชุมนุมร่วมกันนับถอยหลังเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนของวันใหม่ ซึ่งเป็นวันรำลึกการได้รับเอกราช ร่วมกันร้องเพลงชาติมาเลเซีย "เนอการากู" ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ (อ่านรายงานต่อที่นี่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net