Skip to main content
sharethis

31 ส.ค.2558  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) แจ้งว่าพรุ่งนี้ (1 ก.ย. 58) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานกรณีเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่อง ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ โดยดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14  คดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ระหว่าง  พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์  กับ  บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด โดย อลัน จอห์น มอริสัน กรรมการผู้มีอำนาจ กับพวกรวม 3 คน จำเลย จึงขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาตามวันและเวลาดังกล่าว

สำหรับคดีนี้สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุว่า โจทก์นำพยานเข้าสืบ 4 ปาก โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี มีประเด็นสำคัญ คือ  

น.อ.พัลลภ โกมโลทก เป็นผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือให้ดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวาน สืบพยานในประเด็นที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริงทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย แต่ทั้งนี้ น.อ.พัลลภ ก็ไม่ได้เบิกความต่อศาลว่ากองทัพเรือได้รับความเสียหายอย่างไร

ร.ต.ท.จรัญญู เครือแวงวงศ์ เป็นพยานที่ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวน สภ.วิชิต เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลของเวบไซต์ www.phuketwan.com จากการตรวจสอบพบว่านายอลัน มอริสัน เป็นผู้จดทะเบียน Domain names และเป็น admin ของเว็บไซต์ดังกล่าว แต่การตรวจสอบดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นเพียงข้อมูลที่ ปรากฎหน้าเว็บไซต์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดนำเข้าข้อมูลลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ พยานยังไม่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงแต่ส่งรายงานการตรวจสอบไปให้เท่านั้น

ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 7 ปาก โดยได้เบิกความยืนยันถึงการทำตามหลักวิชาชีพของสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีพยานในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พยานนักวิชาการ ผู้เชียวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ทำงานกับชาวโรฮิงญา มีประเด็นสำคัญ คือ

อลัน จอห์น มอริสัน ได้เบิกความยืนยันอกสารที่มีการอ้างว่ากองทัพเรือได้เงินค่าหัวจากชาวโรฮิงญาหัวละ 2,000 บาท นั้น  มาจากรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่ากองกำลังทางเรือเป็นผู้ที่ได้รับเงิน ไม่ใช่กองทัพเรือ  เหตุที่ลงข้อความดังกล่าว เนื่องจากสำนักข่าวภูเก็ตหวานติดตามเกี่ยวกับเรื่องชาวโรฮิงญามาเป็นเวลานาน  และสำนักข่าวภูเก็ตหวานเห็นว่าเรื่องของโรฮิงญาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและคาดหวังว่ารัฐบาลจะมองเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และเพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีการเรียกเก็บเงินจากชาวโรฮิงญา

ชุติมา สีดาเสถียร  เบิกความต่อศาลว่า หลังจากอ่านข่าวของรอยเตอร์แล้ว ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ  ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 3 ในขณะนั้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้  โดยติดต่ออยู่หลายครั้ง  จนกระทั่งโทรศัพท์ไปที่สำนักงานแล้วมีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะโทรติดต่อกลับมา แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด หลังจากนั้นอีก 3 วัน กองทัพเรือได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยทางสำนักข่าวภูเก็ตหวานก็ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวด้วย การที่พยายามติดต่อไปเป็นการรับฟังอีกฝ่ายที่ถูกพาดพิง ไม่ใช่เป็นการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว นอกจากติดต่อไปที่กองทัพเรือแล้ว ก่อนลงข่าวก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่ กอ.รมน. และตำรวจน้ำ โดยบุคคลที่พยานติดต่อคือ พล.ท.มนัส  คงแป้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนแยก 1 ในขณะนั้น ปัจจุบันถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์

นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 พยานได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอลันและนางสาวชุติมาว่ามีการละเมิดสิทธิของสื่อมวลชน หลังจากรับคำร้องแล้ว ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบ โดยได้เรียกฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาให้ถ้อยคำ ตลอดจนได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้  พยานเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่จากประสบการณ์การทำงาน การบังคับใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เนื่องจากมีการนำมาใช้กับความผิดอื่น เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  

สาวตรี สุขศรี  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เบิกความต่อศาลว่า  จากการทำวิจัยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น มาตรา 14 ซึ่งค่อนข้างที่จะหาขอบเขตได้ยากในการตีความและปล่อยให้เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจมากเกินไป มีการวางตำแหน่งของคำและการใช้ถ้อยคำที่สับสน โดยอธิบายว่า มาตรา 14(1) ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาท เจตนารมณ์ที่แท้จริงเพื่ออุดช่องว่างของการกระทำปลอมแปลงเอกสารที่ไม่สามารถจับต้องได้ ความผิดที่มุ่งหมายตามกฎหมายนี้ คือ ความผิดอาชกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การล่อเหยื่อออนไลน์ (Phishing) เป็นการหลอกลวงโดยใช้อีเมล์หรือเวบไซต์ปลอมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล แต่ปัจจุบันมีการนำไปใช้ฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมากซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับดังกล่าว

โดยในการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 14 -16 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น  มีองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทยร่วมรับฟังและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย เช่น  พันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Aliance)  คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) ผู้แทนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้แทนจากสถานทูตออสเตรเลีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net