Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาคนไทยคงยอมรับว่าสังคมไทยอยู่ในวงวันของความขัดแย้งมาตลอด กระทั่งการเข้ามาปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การชุมนุมประท้วงบนท้องถนนโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเงียบสงบลง

ทว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาสิบปีไม่ได้หายไปไหน ความขัดแย้งที่แบ่งฝั่งคนในสังคมไทยออกเป็นสองกลุ่มใหญ่เป็นอย่างน้อยได้ย้ายพื้นที่ลงไปกระจายตัวในพื้นที่ส่วนบุคคลเสียแทน พื้นที่ส่วนบุคคลในที่นี้คือโซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะ Facebook ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียคือการตั้งกลุ่มเฉพาะ หรือการจับกลุ่มเป็นเพื่อนกันเฉพาะ “คนที่คิดเห็นเหมือนกัน” ขณะเดียวกันในกลุ่มคนที่คิดเห็นแบบเดียวกันนี้ก็ยังมีการเข้าไปสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใดที่อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นต่อความเป็นไปของบ้านเมือง ฝ่ายของตนก็จะตั้งกระทู้ทั้งใน Facebook ส่วนตัว หรือในกลุ่มเฉพาะเพื่อทำการโจมตีความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง หลายครั้งที่มีการแชร์ข้อความของอีกฝ่ายเพื่อประจานและให้บรรดาเพื่อนสมาชิกคนแบบเดียวกันเข้ามาวิพากษ์หรือด่าทอ

กล่าวได้ว่า Facebook คือพื้นที่การแสดงออกรูปแบบใหม่ของสังคมไทย (และสังคมโลก) ทำให้พวกเราแต่ละคนถูกเปิดเผยตัวตน (expose) ต่อสังคมของเราเอง หรือต่อโลกมากขึ้น ก่อนหน้านี้สองสามปีก็มีประเด็นใน Facebook เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้กับความเป็นสาธารณะของโซเชียลมีเดียนี้

การแสดงความเห็นใน Facebook กับความเป็นส่วนตัวก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องของการแสดงความเห็นทางการเมืองใน Facebook คือหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่บ่งบอกว่า “ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ได้หายไปไหน”

การจัดแบ่งกลุ่มคนที่แตกต่างจากเราด้วยคำต่างๆ คือตัวอย่างอันดี คำอย่าง “ควายแดง” “ลิเบอร์ร่าน” “ลัทธิตาสว่าง” “สลิ่ม” “คนคลั่งเจ้า” “พวกเป่านกหวีด” หรือแม้กระทั่ง “คนดี” คือคำที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกมาโจมตี ล้อเลียน อ้างถึงอีกฝ่ายไม่หยุดหย่อน

ความสงบของพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นจากการควบคุมด้วยกำลังอำนาจของ คสช. กับรัฐบาล แต่ความขัดแย้งในพื้นที่สาธารณะออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสกัดยับยั้งได้

เรื่องนี้นับว่ามีลักษณะที่ย้อนแย้ง (เข้าทำนอง irony) ด้วยว่าผู้คนในสังคมจำนวนมากเรียกร้องหาความสงบ เรียกร้องหาความปรองดอง ความยุติธรรม และการหวนกลับไปเป็นประเทศไทยที่สงบสุขเหมือนเมื่อก่อนสมัยที่จะเกิดชุมนุมทางการเมืองเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่คนที่เรียกร้องหาสิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีฝ่ายตรงข้ามผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ แม้กระทั่งจะเข้าไปพูดคุยด้วยเหตุผลก็อาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ ทั้งที่พื้นที่สาธารณะออนไลน์อย่าง Facebook หรือ pantip.com ก็สามารถที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันได้เหมือนดั่งคำว่า “ปรองดอง” ที่สังคมไทยกำลังถวิลหา

แต่เอาจริงแล้วพวกเขาส่วนใหญ่กลับทำไม่ได้ พวกเขาไม่สามารถกระทั่งจะเปิดปากพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามอย่างดีๆ ได้ด้วยซ้ำ เรื่องนี้สามารถพบเห็นได้ใน Facebook ของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยน Facebook ของสำนักข่าวต่างๆ และ Facebook ของนักวิชาการหรือผู้นำทางความคิดและทางการเมือง การถกเถียงกันในพื้นที่เหล่านี้หลายครั้งแปรสภาพเป็นการใช้คำหยาบคายด้วยการด่าทอกันอย่างรุนแรง และสุดท้ายก็เกิดสภาวะการแบ่งแยกกลุ่ม เช่น ในเว็บของสำนักข่าวหลายแห่งก็จะเป็นที่รู้กันว่าสำนักข่าวนี้จะมีแต่คนสีแดง อีกเว็บหนึ่งจะมีแต่คนสีเหลืองหรือคนเป่านกหวีดเข้าไปแสดงความเห็นเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ความปรองดอง” หรือความสงบสันติที่คนในสังคมไทยแสวงหาคงจะเป็นเพียงแค่ความฝันเฟื่องเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่า Facebook คือพื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือติดตามดูได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมแต่ละเพจจึงมีคนเข้าไปติดตามมากขึ้น เพราะคนคิดเหมือนกันย่อมดึงดูดพวกเดียวกัน ยิ่งดูดมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นขึ้นในทางความคิด การจะเปลี่ยนไปคิดเป็นอีกฝ่ายหนึ่งย่อมทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ผู้คนแสดงความเห็นผ่าน Facebook จะถ่ายทอดต่อเนื่องไปยังลูกหลานของสังคม เพราะพวกเขาก็เล่น Facebook และความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งซึ่งกรุ่นถึงขั้นร้อนแรงในโซเชียลมีเดียย่อมส่งผลต่อความคิดของพวกเขาไม่มากก็น้อย นั่นหมายความว่า “รากของความขัดแย้ง” ได้ฝังตัวเองลงในสังคมไทยและจะถ่ายทอดเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งนี้ไปสู่คนรุ่นต่อไปหากว่าสังคมไม่พยายามแสวงหาความปรองดองกันอย่างแท้จริง

แต่ความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อกระแสในโซเชียลมีเดียยังคงดำเนินไปในลักษณะนี้

สังคมไทยจึงยังไม่อาจก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปได้ แม้จะมีคณะปกครองที่มีกำลังอำนาจจนสามารถสยบการเคลื่อนไหว “ทางกายภาพ” ทางการเมืองลงได้ก็ตาม ทางออกของสังคมในวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เชื่อกันว่าจะยับยั้งความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของประเทศก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยมีฉบับใดประสบความสำเร็จ และก็ไม่ได้อยู่ที่การกำจัดหรือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้หมดสิ้นไปเพราะประวัติศาสตร์ของประเทศก็ผ่านพ้นการปะทะทางกายภาพมาแล้วหลายครั้งแต่สุดท้ายสังคมไทยก็ยังดำเนินมาจนถึงจุดนี้ จุดที่ความขัดแย้งบานปลายจนหาทางถอยไม่ได้แล้ว

แต่ทางออกคือการเดินไปข้างหน้าสู่การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายได้แสดงจุดยืนของตน ให้สังคมมวลรวมมีโอกาสออกมาพูดแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เรื่องเช่นนี้คนไทยผู้เล่น Facebook ทุกคนสามารถทำได้หากว่าทุกคนยอมเปิดใจรับฟัง และมีสติตรึกตรองความคิดเห็นของอีกฝ่าย เรื่องนี้ไม่จำเป็นว่าต้องหันหน้ามาจับมือและเป็นเพื่อนกันทุกคน แต่แค่ในพื้นที่ของการอภิปรายหรือดีเบทก็ควรจะเลิกด่าทอ เสียดสีเหน็บแนม หรือกดหัวความเป็นคนของอีกฝ่าย

อย่างน้อยที่สุดหากว่าแต่ละฝ่ายสามารถโต้เถียงกันด้วยเหตุผลในพื้นที่สาธารณะอย่าง Facebook ได้ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นอันดีของการทำความเข้าใจระหว่างกัน และความเข้าใจระหว่างกันก็สามารถนำไปสู่การปรองดองที่สังคมต้องการได้

เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากความคิดในใจของมนุษย์ หากว่าความคิดต่างๆ ไม่อาจลงรอยกันได้ ความขัดแย้งของสังคมก็ไม่อาจจะสิ้นสุด คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดถ้าความขัดแย้งทางกายภาพคือการชุมนุมประท้วงหรือการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธในเมืองหลวงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต เพราะฉนวนเหตุได้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยวันนี้เรียบร้อยและอาจนานมากแล้วด้วยซ้ำไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net