รายงาน: ชาวบ้านโคกภูกระแต นครพนม นำร่องขึ้นศาล พิษเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จังหวัดนครพนมไล่ชาวบ้านออกจากที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต–ดำเนินคดี รับนิคมอุตสาหกรรม–เขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังชาวบ้านอาศัยอยู่มากว่า 70 ปี ล่าสุดศาลแจ้งชาวบ้านว่าทางจังหวัดปฏิเสธเจรจาระงับข้อพิพาท–หาที่ดินรองรับ สืบเนื่องเมื่อปีที่แล้วทหารใช้กฎอัยการศึกคุมตัวชาวบ้านแจ้งข้อกล่าวหาบุกรุก

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมจำเลย 33 ราย ที่ถูกฟ้องในข้อหาบุกรุกครอบครองที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ในวันเดียวกันนี้ ศาลได้นัดหมายให้ทางจังหวัดนครพนมมาศาล และเปิดโอกาสให้จำเลยที่สมัครใจ เข้าไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทกับทางจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นผู้ร้องให้ดำเนินคดี และขอให้ศาลสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่

ขณะที่จำเลยส่วนหนึ่งรอพบจังหวัดก็ได้รับแจ้งว่าจังหวัดนครพนมปฏิเสธที่จะไกล่เกลี่ยโดยให้คดีความเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้หนังสือจากจังหวัดนครพนมที่ศาลอ่านให้จำเลยฟัง ปฏิเสธข้อเสนอของชาวบ้านซึ่งเรียกร้องให้จัดหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ใหม่ รวมทั้งจ่ายค่าชดเชย โดยจังหวัดมีข้อเสนอว่า จะรับชาวบ้านในพื้นที่พิพาทที่ถูกอพยพออก ให้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน

จากนั้นศาลได้ชี้แจงแก่จำเลยว่าชาวบ้านทุกคนที่อาศัยในพื้นที่พิพาทต้องย้ายออก พร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คนที่เข้ามาอยู่อาศัยก่อนการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ สามารถรับสารภาพและย้ายออกจากพื้นที่ได้โดยไม่ต้องโทษ แต่คนที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายหลังการประกาศฯ จะต้องโทษคดีบุกรุกแผ้วถางที่สาธารณประโยชน์อย่างแน่นอน ซึ่งหากรับสารภาพก็จะได้รับการลดหย่อนโทษ

ทั้งนี้ศาลได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 2 พ.ย. 2558 และในวันที่ 28 ก.ย. 2558 ศาลนัดพิจารณาลับหลังจำเลย โดยมีคำสั่งให้อัยการโจทก์ จัดทำข้อมูลพื้นที่พิพาทเพื่อเป็นหลักฐานประกอบคดีในวันนัดดังกล่าว

จากคำชี้แจงของศาล ดูเหมือนชาวบ้านที่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ซึ่งนอกจากจำเลยทั้ง 33 นี้แล้ว ยังมีอีกกว่า 300 ครอบครัว ที่กำลังจะตกเป็นจำเลย จะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรับสารภาพ และย้ายออกจากพื้นที่ไป หรือบางคนอาจมีโทษต้องถูกจำคุกด้วย เช่นเดียวกับคดีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนคดีอื่นๆ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการที่ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ และสูญเสียที่อยู่ที่ทำกิน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะคดี

แต่หากพูดบนฐานเรื่องสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ชาวบ้านมีสิทธิที่จะอยู่ที่โคกภูกระแตต่อไป หรือเรียกร้องให้รัฐหาที่ดินรองรับ พร้อมเงินชดเชยที่จะใช้ในการลงทุนเพื่อทำการเกษตร หรือประกอบอาชีพใหม่หรือไม่ ลองย้อนกลับไปดูความเป็นมาของที่พิพาทที่จังหวัดนครพนมอ้างเป็นเจ้าของ และเหตุแห่งคดี

ที่สาธารณะโคกภูกระแต: ประชาชนมีสิทธิได้อยู่หรือไม่


หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินที่ถูกไล่ที่

จากคำบอกเล่าของคนรุ่นปู่ย่า ชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกกันว่า ภูกระแต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ต่อมา ในปี 2501 ชาวบ้านได้แจ้งการครอบครองที่ดินกับทางราชการ มีหลักฐานเป็นใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และ น.ส.2 โดยได้ปลูกสร้างบ้านเรือนและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

พ.ศ. 2514 ทางราชการได้ออก น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข. ให้แก่ชาวบ้าน แต่แล้วในปี 2517 นายปอ สีสัน ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้มาขอใบ น.ส.3 จากชาวบ้านทั้งหมด โดยบอกว่าจะเอาไปออกเป็นโฉนดให้ แต่ก็มีบางรายที่ออกไปอยู่ตามไร่ตามนา ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ตามออกไปเก็บ น.ส.3 เวลาผ่านไป โดยที่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับใบโฉนด ในปี 2521 ราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 4871 ให้ภูกระแตบ้านห้อม เนื้อที่ 2938-2-47 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน โดยมีแนวเขตทับที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมานานแล้ว

ปี 2538-2539 โดยการนำของประธานสภาตำบลอาจสามารถ และผู้ใหญ่บ้านบ้านห้อม ชาวบ้านได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ และ ส.ส.จ.นครพนม รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เรื่องการประกาศเขตที่สาธารณประโยชน์ทับที่ชาวบ้าน และให้พิจารณาดำเนินการให้ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินได้รับเอกสารสิทธิ์ แต่ทางราชการก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

ปัจจุบัน ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตตามที่ราชการออก นสล. เป็นที่ตั้งของ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้อม ม.1 บ้านไผ่ล้อม ม.4 บ้านอาจสามารถ ม.6 และบ้านห้อม ม.11 มีชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือน โดยที่บางคนมี น.ส.3 บางคนถือเพียงใบสำเนา ที่บ่งบอกว่าทางราชการเคยออก น.ส.3 ให้ และบางคนยังถือ น.ส.2 ไว้


พื้นที่ที่สาธารณประโยชน์ส่วนที่ทางจังหวัดนครพนมประกาศให้ที่เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ดำเนินคดี หลังชาวบ้านยังไม่ตกลงย้ายออก เหตุไม่พอใจมาตรการชดเชย

ต้นเดือนกรกฎาคม 2557 จังหวัดนครพนม และ กอ.รมน.จ.นครพนม ได้เข้ามาจัดประชุมชาวบ้านประมาณ 3-4 ครั้ง ชี้แจงข้อมูลว่า จังหวัดได้ประกาศให้ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จึงขอให้ชาวบ้าน 52 ราย ที่มีรายชื่อเป็นผู้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ออกจากพื้นที่นั้น โดยจังหวัดจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามขนาดที่ดินที่ถือครอง ชาวบ้านส่วนหนึ่งเกรงว่า เงินชดเชยดังกล่าวจะไม่พอในการไปหาที่อยู่และที่ทำกินแห่งใหม่ จึงเสนอให้รัฐจัดหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยเพื่อใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพต่อไป แต่ไม่มีหน่วยงานไหนรับข้อเสนอ ในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อ 11 ก.ค.57 เจ้าหน้าที่ได้ให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งมีชาวบ้านประมาณ 10 ราย เท่านั้นที่ลงชื่อไป

วันที่ 29 ก.ค.57 เวลาประมาณ 06.00 น. ทหารพร้อมอาวุธครบมือประมาณ 30 นาย พร้อมทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ปลัด อบต. ได้ลงมาในพื้นที่ กระจายกำลังไปตามบ้าน และเข้าไปนำตัวเจ้าบ้านจำนวน 14 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา บอกเพียงแค่ว่า เชิญไปคุยกับที่ดินจังหวัด บางคนได้รับการแจ้งว่าจะเชิญไปคุยกับผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ชาวบ้านจึงยินยอมไปด้วยดี แต่เจ้าหน้าที่กลับพาชาวบ้านไป สภ.เมืองนครพนม มีการเจรจาให้ชาวบ้านรื้อบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน แต่ชาวบ้านยังไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำบันทึกการจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหาว่า บุกรุก แผ้วถาง พื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยชาวบ้านถูกควบคุมตัวไว้ในห้องสอบสวนนานกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมา

ทหารและกฎอัยการศึก กับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ

การประชุมเจรจากับชาวบ้านเริ่มมีขึ้นหลังรัฐประหารไม่นาน โดยมี กอ.รมน.เข้าร่วม เมื่อไม่สามารถเร่งรัดให้ชาวบ้านยินยอมย้ายออกได้ ก็ใช้กำลังทหารเป็นหลักเข้าควบคุมตัวชาวบ้านส่วนหนึ่งออกมาจากพื้นที่ และนำไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ ในบันทึกการจับกุมระบุว่า ชุดจับกุมอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก

ชาวบ้าน 1 ใน 14 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว เล่าว่า ระหว่างที่ตนขอเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้า มีทหาร 4-5 นาย ยืนล้อมตนอยู่ และบางคนใช้ปืนสะกิดหลังเพื่อเร่งให้ตนเดินออกมาจากห้อง

การใช้ทหารและกฎอัยการศึกมาเป็นตัวช่วย ในการจัดการปัญหาพิพาทที่รัฐหรือทุนมีกับประชาชน เกิดขึ้นในพื้นที่และกรณีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองทอง จังหวัดเลย, กรณีปิโตรเลียมบ้านนามูล จังหวัดขอนแก่น, กรณียึดพื้นที่/ตัดยาง ทั่วประเทศ หรือกรณีพิพาทในที่ดินที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดอื่นๆ ทหารเข้ามาแสดงตัวเป็นตัวกลางช่วยจัดการปัญหา แต่ที่จริงแล้วก็คือการร่วมมือกับอีกฝ่าย กดดัน คุกคาม และบังคับให้ชาวบ้านต้องยอมตาม ภายใต้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทหาร ที่เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ

กรณีที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต สันนิษฐานได้ว่า จังหวัดนครพนมเล็งไว้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากอยู่ในบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) หลังการรัฐประหาร อำนาจทหารและราชการที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจึงจับมือกันฉวยใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยเร็ว แต่เมื่อชาวบ้านยังไม่ยินยอม การดำเนินคดีจึงเกิดขึ้น

วางแผน “พัฒนา” แต่ไร้มาตรการรองรับ

หลังการจับกุมชาวบ้าน 14 คนแรก เจ้าหน้าที่ทยอยเรียกตัวชาวบ้านอีกกว่า 20 คน เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา นอกจากนี้ ชาวบ้านทราบมาจากตำรวจว่าผู้ที่อาศัยในเขตพื้นที่โคกภูกระแตที่เหลืออีกประมาณ 300 กว่าคน เจ้าหน้าที่ก็จะทยอยเรียกตัวเรื่อยๆ

การใช้กฎหมายจัดการปัญหาพิพาทในที่ดินอย่างเด็ดขาด แม้เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาลและศาลเปิดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีความยุติ จังหวัดนครพนมก็เลือกที่จะปฏิเสธช่องทางในการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายรัฐวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นความรวดเร็ว เด็ดขาด ภายใต้อำนาจเผด็จการ ซึ่งนอกจากจะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการวางแผนแล้วยังไม่มีมาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากต่อสู้กันในทางกฎหมายแล้ว รัฐผู้ถือกฎหมายและมีแนวคิดว่าทรัพยากรทุกอย่างเป็นของรัฐ ก็ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่เสมอ แม้ออก น.ส.3 ให้ชาวบ้านแล้วก็ยังเก็บคืนแล้วออก นสล.ทับได้ แม้ชาวบ้านจะพิสูจน์ได้ว่า มีสิทธิครอบครองก่อนการประกาศ นสล. แต่สุดท้ายก็คงไม่พ้นถูกการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ทำให้พื้นที่ตกเป็นของราชพัสดุ เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องออกจากที่ดินที่ตั้งรกรากมา

(หมายเหตุ – ในประเด็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ออกประกาศที่ 2/2558 ลงวันที่ 28 เมษายน 2558 ให้ ต.อาจสามารถ และตำบลอื่นๆ รวม 13 ตำบล เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และวันที่ 8 มิ.ย.58 คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ กำหนดให้ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ต.อาจสามารถ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ จ.นครพนม จะนำมาใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2)

ถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ชาวบ้านยังมีทางเลือกที่จะต่อสู้ในเชิงนโยบาย ให้ชะลอการดำเนินคดี ให้ยกเลิกพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนไม่ได้ใช้ร่วมกัน หรือยกเลิกเขตเศรษฐกิจได้ แต่บรรยากาศการเมืองเผด็จการเช่นนี้ หนทางนั้นดูเหมือนจะยากลำบาก

ชาวบ้านธรรมดาอีกจำนวนมากก็จะต้องเดินทางขึ้นศาลและกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ที่ทำกินของประเทศนี้ไปโดยปริยาย
 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท