“ฟังเสียงนักเรียนบ้าง” กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทส่งถึงรัฐมนตรี ปมลดคาบเรียน

เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ชี้จำนวนเวลาไม่ใช่ต้นเหตุ หากแต่เป็นหลักสูตร หนุนปรับแต่ต้องฟังเสียงนักเรียนด้วย ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ความสนใจและความสมัครใจของนักเรียน

3 ก.ย.2558 เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มดังกล่าว เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและความเห็นต่อนโยบายลดชั่วโมงเรียน ถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มารับจดหมายดังกล่าวพร้อม ข้อเสนอแนะนโยบายปฏิรูปการศึกษา 11 ข้อ ของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทด้วย

โดยจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ระบุว่า จากกรณีที่มีนโยบายให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)พิจารณาลดชั่วโมงเรียนวิชาการให้สิ้นสุดภายในเวลา 14.00 น. โดยให้มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมทักษะให้กับนักเรียนนั้น กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทขอแสดงความชื่นชม และถือว่านโยบายที่มีแนวโน้มที่ดีต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย เนื่องจากอาจช่วยลดความเครียดจากการเรียนและเพิ่มเวลาสำหรับนักเรียนได้ทำกิจกรรมหรือพัฒนาตนเองตามความสนใจของตน อย่างไรก็ดี กลุ่มฯ ในฐานะนักเรียน ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

ประการแรก ปัญหานักเรียนไทยเรียนมากเกินไปนั้น มิได้หมายถึงเวลาเรียนของนักเรียนในห้องเรียนมากเกินไปแต่ลำพัง หากแต่รวมถึงปัญหาหลักสูตรมีเนื้อหายาว ไม่กระชับและมีรายวิชาเรียนมากเกินไป จนส่งผลให้เวลาที่ใช้เรียนนั้นมากตามไปด้วย ดังนั้น การลดเวลาเรียนควรกระทำควบคู่กับการแก้ไขหลักสูตร ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนรวมถึงครูผู้สอนและนักเรียนด้วย นอกจากนี้ ยังควรปรับลดจำนวนรายวิชาบังคับลงและเพิ่มจำนวนวิชาเลือกเสรี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตรงตามความสนใจของตนได้มากขึ้น

ประการที่สอง ดังที่มีนโยบายให้มีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่เน้นการลงมือปฏิบัติของนักเรียนนั้น การจัดกิจกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ความสนใจและความสมัครใจของนักเรียนเป็นหลัก กิจกรรมควรมีความหลากหลายเพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตรงตามความสนใจของตนและไม่ควรมีการบังคับนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังควรมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา ศูนย์สารสนเทศ ให้มีคุณภาพและทั่วถึง เพื่อให้นักเรียนมีแหล่งค้นคว้าเรียนรู้และแหล่งทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่มีคุณภาพ

“การปฏิรูปการศึกษานั้นจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกปิดกั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงจะมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน” กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ระบุไว้ตอนท้ายของจดหมาย

เลขาฯ ชี้จำนวนเวลาไม่ใช่ต้นเหตุ หากแต่เป็นหลักสูตร เสนอปรับโดยฟังเสียงนักเรียนด้วย

พริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวด้วยว่า ถ้าจะลดคาบเรียนก็ต้องเปลี่ยนหลักสูตร และการจะเปลี่ยนหลักสูตรนั้นจะต้องฟังนักเรียนและครูด้วย และประการที่ 2 ที่บอกจะมีการจัดกิจกรรมให้เด็กทำนั้น ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วม ความสนใจของนักเรียนและความสมัครใจของนักเรียน

สำหรับนโยบายการลดคาบเรียนนั้น พริษฐ์ มองว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ตัวเวลาเรียนมากเกินไปมันก็ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา มันมีสาเหตุมาจากเนื้อหามันเรียนมาก เวลาก็เลยต้องมากไปตาม เราควรจะให้มีการลดรายวิชาบังคับลง เพิ่มรายวิชาเลือกเสรีมากขึ้น เพื่อให้หลักสูตรมันกระชับจะได้เลิกเรียนเร็วได้ และจะได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนจริงๆ ไม่ใช่เรียนไปทำไมก็ไม่รู้

“กระทรวงศึกษาธิการจะทำอะไรก็ตาม นักเรียนไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอครูมาสั่งให้ทำตามนั้น แต่นักเรียนดูข่าว เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนไปไว มันมีโซเชียล มันมีข่าว มันมีสื่อ นักเรียนฟังข่าว นักเรียนกำลังรู้ว่าคุณกำลังพูดอะไร กำลังจะทำอะไร นักเรียนมีความคิด มีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะบอกว่าตัวเองคิดอะไร” พริษฐ์ กล่าว

สำหรับท่าทีของปลัดกระทรวงที่มารับจดหมายข้อเรียกร้องนั้น เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวว่า ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชัดเรียกร้อง เพียงแต่ระบุว่ารับทราบไว้  โดย พริษฐ์ คาดว่า เร็วๆนี้กระทรวงศึกษาธิการจะออกมา แถลงถึงรูปธรรมถึงนโยบายลดคาบเรียนนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทางกลุ่มก็จะกำหนดท่าทีอีกครั้งหลังจากทราบความชัดเจนดังกล่าว

“ต่อไปนักเรียนทุกภาคส่วนที่จะมีความกล้าหาญที่จะออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด เพื่อที่จะได้รู้ว่านักเรียนก็มีศักดิ์ศรีของตัวเอง และก็มีความเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ มีความคิดเหมือนกัน” พริษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย 

11 นโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย (ฉบับปรับปรุง) กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

1. แก้ไขหลักสูตรการศึกษา

            ในระดับมัธยมปลาย ใช้วิธีลงทะเบียนเรียนตามความสนใจของนักเรียน กล่าวคือ ลดจำนวนวิชาในหลักสูตรแกนกลางลงให้เหลือเพียง 5 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา โดยเป็นความรู้พื้นฐานของสายวิชานั้น ๆ และเน้นการประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน ส่วนวิชาอื่น ๆ นั้นปรับเป็นวิชาเลือกให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจของนักเรียน โดยแบ่งเป็นหมวด ๆ เช่น หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ หมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาศิลปะ หมวดวิชาสุขพลานามัย เป็นต้น เพื่อให้การศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนได้มากขึ้น

            เนื้อหาวิชาโดยทั่วไปควรเน้นถึงปรัชญาของวิชานั้น ๆ เน้นที่ทักษะกระบวนการเรียนรู้และวิธีการคิด สามารถเชื่อมโยงความรู้จากวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงความรู้เข้าสู่ชีวิตประจำวันได้ และมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานศึกษาแต่ละแห่งได้

2. ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ

            2.1 เน้นทักษะการสื่อสารจริง ควบคู่กับทักษะด้านไวยากรณ์และคลังคำศัพท์ และเพิ่มโอกาสฝึกใช้ภาษาจริงในห้องเรียนมากขึ้น เช่น การเขียนความเรียงภาษาต่างประเทศ การนำเสนอหน้าชั้นเรียน การสนทนาจริงในชั้นเรียน เป็นต้น

            2.2 ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมของต่างประเทศควบคู่กับการเรียนภาษาของประเทศนั้นๆ

            2.3 มีการทดสอบทักษะภาษาในโรงเรียนครบทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน

            2.4 เพิ่มโอกาสให้มีครูชาวต่างชาติดำเนินการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างทั่วถึงมากขึ้น

3. ส่งเสริมความรู้เพื่อรับการเข้าสู่ ASEAN

            3.1 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลอันมีประโยชน์ต่อการดำรงตนใน ASEAN ได้อย่างแท้จริง เช่น วัฒนธรรมและมารยาทของแต่ละประเทศ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในประชาคมอาเซียน หรือสอนภาษาของประเทศสมาชิกประชาคม ASEAN อย่างลึกซึ้ง ไม่ควรเน้นเฉพาะการเรียนรู้เพียงผิวเผินที่ไม่ส่งผลต่อการดำรงตนใน ASEAN เช่น จำธงชาติหรือแต่งชุดประจำชาติของแต่ละประเทศใน ASEAN

            3.2 ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยกระตือรือร้นในติดตามข่าวสาร สถานการณ์ ทั้งในประเทศ ในอาเซียน และข่าวโลก ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งนักเรียนต้องสามารถวิเคราะห์ข่าวสาร และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพื่อให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาของนักเรียนในอนาคต

            3.3 จัดกิจกรรมหรือจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับ ASEAN ให้แก่เยาวชนในแต่ละพื้นที่

4. เพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการศึกษา

            4.1 ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษามากขึ้น โดยการส่งเสริมให้ตัวแทนสมาชิกชุมชนและผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นกรรมการสถานศึกษา

            4.2 เปิดโอกาสให้แต่ละสถานศึกษาสามารถตีความหลักสูตรและแนวทางการสอนได้ตามแนวทางของแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้แต่ละสถานศึกษามีเอกลักษณ์อย่างแท้จริง สร้างความหลากหลายทางการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง

5. ปรับปรุงระบบข้อสอบกลางและการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

            5.1 ลดการสอบกลางให้เหลือแต่น้อยเท่าที่จำเป็น และแก้ไขการทดสอบความรู้ระดับประเทศเป็นการทดสอบเฉพาะความรู้วิชาพื้นฐาน ความรู้เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ควรให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นผู้กำหนดหรือทดสอบเอง ไม่ควรกำหนดให้เป็นการสอบกลางในระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้การทดสอบความรู้เฉพาะทางมีความละเอียดมากขึ้น

            5.2 สร้างระบบการทดสอบที่มีเสถียรภาพ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในระยะเวลาอันสั้น และมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่นักเรียนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม

6. ปรับปรุงระบบการวัดผลการศึกษา

            6.1 การเก็บคะแนนวัดผล ควรเน้นการเก็บคะแนนด้วยวิธีการที่พัฒนานักเรียนพร้อมกับการเก็บคะแนน เช่นการทำโครงงาน ชิ้นงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเอง มากกว่าเน้นการสอบเก็บคะแนน และการสอบเก็บคะแนนนั้นควรเน้นการตอบแบบอัตนับมากกว่าปรนัย เพื่อให้นักเรียนสามารถแสดงความรู้ ความคิดเห็นและฝึกฝนทักษะการเขียนได้มากขึ้น

            6.2 การตัดเกรดนักเรียน จากการรวมคะแนนเก็บและคะแนนสอบ ควรเปลี่ยนจากการตัดเกรดแบบ เกรด 1 ถึง 4 หรือ A ถึง D มาเป็น การคิดคะแนนแบบร้อยละ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและสะท้อนประสิทธิผลทางการเรียนของนักเรียนได้ละเอียดและแม่นยำขึ้น

7. สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค

            7.1 ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้ที่มีความไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจจะต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ และควรมีการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ทุกท้องที่อย่างเท่าเทียม

            7.2 ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้สถานศึกษามีทรัพยากรสำหรับการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น เงิน เทคโนโลยี อุปกรณ์การสอน และลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างภูมิภาค

            7.3 ส่งเสริมการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุดประชาชน ศุนย์เยาวชน ศูนย์เด็กเล่น และสถานที่อื่นๆ เพื่อการพัฒนามนุษย์อย่างทั่วถึง

8. การประเมินสถานศึกษาและครู

            8.1 การประเมินสถานศึกษาจากหน่วยงานภายนอก ควรทำการประเมินอย่างลับ หรือไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด

            8.2 การประเมินควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อการลงโทษสถานศึกษา

            8.3 ควรมีการสำรวจความคิดเห็นครู บุคลากรและนักเรียนเพื่อประกอบการประเมินสถานศึกษาด้วย

            8.4 การประเมินครูควรจัดทำเทอมละครั้งเป็นอย่างต่ำ ดำเนินการโดยลับ และเป็นไปอย่างเข้มงวดทั้งในด้านวิชาการ จริยธรรมและจิตวิทยา ทั้งโดยบุคลากรคนอื่นและโดยนักเรียนด้วย อนึ่ง นักเรียนควรมีสิทธิร้องเรียนหรือเสนอให้ประเมินครูก่อนกำหนดได้เป็นรายบุคคล

            8.5 เพิ่มน้ำหนักของสัมฤทธิผลของนักเรียนต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของครูให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะ

9. บุคลากรทางการศึกษา

            9.1 สร้างมาตรฐานในการคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาให้เข้มงวดและมีคุณภาพ ยกระดับหลักสูตรครุศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น

            9.2 เปิดโอกาสให้สถานศึกษามีสิทธิ์คัดกรองบุคลากรเอง

            9.3 ส่งเสริมขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู เช่น ส่งเสริมให้ครูได้สอนในท้องถิ่นของตนเอง สร้างมาตรฐานในการเลื่อนขั้นครูอย่างเป็นระบบ ให้สิทธิพิเศษครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์พิเศษ   มากขึ้น

            9.4 จัดจ้างบุคลากรสนับสนุนการศึกษาสำหรับแต่ละโรงเรียน เพื่อทำงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนเช่น งานธุรการ แทนครู เป็นการแบ่งเบาภาระให้ครูสามารถทุ่มเทกับการสอนได้อย่างเต็มที่

10. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

            10.1 กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกระตือรือร้นในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนอย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา และเปิดช่องทางร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            10.2 ทรงผมนักเรียนและเครื่องแบบ

            เครื่องแบบและทรงผมไม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการปลูกฝังระบบความคิดอำนาจนิยมให้นักเรียน จึงควรยกเลิกหรือลดความเข้มข้นในการบังคับแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนลง เป็นการเปิดกว้างทางความคิดและเคารพสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน

            10.3 ระเบียบวินัย

            ควรส่งเสริมเรื่องระเบียบ จิตสาธารณะ และมารยาทสังคม เช่น ส่งเสริมให้เกิดการเข้าแถว การทิ้งขยะให้ลงถัง มากกว่าที่จะใส่ใจกับกฎระเบียบที่บีบบังคับความคิดและการแสดงออก เช่น การเดินแถว การแต่งกาย อันไม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยได้อย่างยั่งยืน

            10.4 การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน

            แม้ว่าจะได้มีการยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีไปแล้ว แต่การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียนก็ยังปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาไทย การใช้ความรุนแรงไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงโทษประเภทอื่นๆเช่น การบังคับวิ่งรอบสนาม การพูดประจาน ดูถูกความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดความอับอาย สิ่งเหล่านี้ได้บั่นทอนจิตใจของนักเรียนมาอย่างยาวนาน จึงควรถูกยกเลิกอย่างแข็งขัน

            10.5 เพศทางเลือก

            ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์แล้วว่าเพศทางเลือกนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตและไม่ใช่จิตเภท จึงไม่จำเป็นต้องบำบัด ดัดนิสัยหรือรักษาใดๆ ทั้งสิ้น จึงควรกระตือรือร้นในการยกเลิกกฎระเบียบที่มีลักษณะกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนเพศทางเลือก

            10.6 การตั้งครรภ์ในวัยเรียน

            แม้ว่าการตั้งครรภ์ในวัยเรียนจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนอยู่บ้าง แต่โรงเรียนจะต้องไม่ปิดโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนเหล่านั้นด้วยการกดดันหรือลงโทษทางวินัยเพียงเพราะขัดกับมาตรฐานทางมโนธรรมของครูหรือโรงเรียนเท่านั้น ในทางกลับกัน นักเรียนที่ตั้งครรภ์ควรได้รับความช่วยเหลือทางการเรียนเพื่อให้สามารถเรียนได้ทันนักเรียนคนอื่นในสภาวะที่ตนก็ต้องดูแลครรภ์และเลี้ยงดูบุตรด้วย

11. หลักปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นไท

            สนับสนุนเคารพความหลากหลายและความสามารถที่แตกต่างกัน โรงเรียนยังควรเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ดำเนินการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ เน้นนักเรียนเป็นหลักสำคัญกว่าสถาบัน และเป็นการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนมาสร้างสรรค์โลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท