Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : เนื่องจากการสัมภาษณ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดมาก ผู้เรียบเรียงจึงแบ่งออกเป็นตอนๆ เพื่อสะดวกแก่การติดตามอ่าน ตอนแรก เป็นการตัดตอนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ตอนที่สองย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นรายมาตรา ตั้งแต่หมวดสิทธิเสรีภาพถึงระบบเลือกตั้ง ตอนที่สามว่าด้วยวุฒิสภา ศาล องค์กรตรวจสอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสรุปภาพรวม การตัดตอนเช่นนี้อาจมีปัญหาบ้างในแง่ความต่อเนื่องเชื่อมโยง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียบเรียง

 


“...สังคมไทยอยู่ในภาวะของการลอกคราบ
ในช่วงนี้เราจะเห็นความวิปริตผิดเพี้ยนเต็มไปหมด
ยิ่งเป็นนักกฎหมาย ยิ่งเห็นเยอะมากๆ
ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรมันคือความสุดยอดของความวิปลาสมาก
แต่เวลาเป็นแบบนี้ ผมจะรู้สึกว่ามันเป็นสภาวะที่สังคมต้องเปลี่ยน
มันต้องออกมาเพราะมันฝังแบบนี้มานาน
เพื่อจะลอกคราบออกสลัดความเลวร้ายทั้งปวงไว้เบื้องหลัง
คิดอย่างนี้แล้วเราก็จะมีกำลังใจเราต้องมีความหวังเสมอ”

 

 

วุฒิสภา: ระบบอุปถัมภ์ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา 118 ที่มาของวุฒิสภา ฉบับนี้ใจดี แก้ไขพวกมาจากสรรหาให้อดีตปลัดกระทรวงกับอดีต ผบ.เหล่าทัพ จากฝ่ายละสิบลดเหลือฝ่ายละห้า เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็น68 คนรวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน แต่มาตรา 120(4) กำหนดคุณสมบัติปราชญ์ชาวบ้านต้องจบปริญญาตรีด้วยนะ (หัวเราะทั้งวง) นี่มีตั้งแต่ร่างแรกแล้ว ครั้งที่แล้วเราไม่ได้วิจารณ์ มาตรา 120 ยกเว้นให้เฉพาะผู้แทนองค์กรเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการและการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น ไม่ต้องจบปริญญาตรี

ปราชญ์ชาวบ้านอยู่ต่อจากผู้พิการผู้ด้อยโอกาส ในมาตรา 118(4) เขาลืมหรือเปล่า ปราชญ์ชาวบ้านต้องจบปริญญาตรี แต่ผู้แทนองค์กรด้านวิชาการไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้เขียนยังไงกันนี่เขานึกถึงอะไร เขานึกถึงหน้าคน หรือนึกถึงอะไรหรือเขารู้สึกว่าปราชญ์ชาวบ้านจบปริญญาตรีหมดแล้ว

แต่พวกนี้ช่วงแรก ในบทเฉพาะกาลให้คณะรัฐมนตรีตั้งกรรมการสรรหา 123 คน เมื่อกรรมการสรรหาเป็นคนของคณะรัฐมนตรี แนวโน้มคนที่ถูกเลือกมาก็จะเชื่อมกับรัฐบาลสูงมาก

ปัญหาเรื่องวุฒิสภา วุฒิสภาหนึ่งในสามมาจากเลือกตั้ง สองในสามไม่ได้มาจากเลือกตั้ง มันจึงเป็นสภาที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว เดิมผมคิดว่าเขาไม่น่าจะยอมเรื่องเลือกตั้ง ตอนแรกยังต้องมีกรรมการกลั่นกรองคนไปลงเลือกตั้ง แต่ต่อมาตัดกรรมการกลั่นกรองออก เข้าใจว่าประเด็นนี้ถูกวิจารณ์เยอะเลยต้องถอยแต่ขณะเดียวกันเขาก็กำหนดส่วนที่มาจากแต่งตั้งไว้สูงมาก คือเกือบสองในสาม เรื่องนี้จะมีผลต่อไปถึงเรื่องการถอดถอน ต้องดูองค์ประกอบพวกนี้ไว้ดีๆ พวกเลือกตั้งหนึ่งส่วน พวกแต่งตั้งหรือสรรหาสองส่วน แล้วเดี๋ยวเราไปดูเรื่องคะแนนเสียงที่ใช้ในการถอดถอน แล้วเราก็จะเห็นว่าระบบถอดถอนนี้จะใช้กับพวกชนชั้นนำที่ไม่ได้มีที่มาจากทางการเมืองไม่ได้

การกำหนดที่มาจากผู้พิการผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกร แรงงาน ฯลฯมันสร้างความหวังให้พวกประชาสังคม เอ็นจีโอ ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งและระบอบรัฐสภา

แต่เขาจะสร้างความหวังให้เอ็นจีโอมีเส้นเท่านั้นนะครับ ระบบสรรหา มันเป็นปัญหาโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว คือคุณจะได้แต่คนที่มีเส้นสาย คุณจะได้แต่คนที่เป็นพวกตัวเองเข้าไป ตั้งแต่ตอนกำหนดให้เลือกสภาวิชาชีพ ถ้าผมถามอย่างคุณเป็นสื่อ คิดว่าจะได้รับเลือกเป็น ส.ว.มั้ยล่ะ ถามว่าคนที่เป็น ส.ว.อยู่ตรงไหน ก็คือคนที่ตอนนี้คุณเข้าไปอยู่ในระบบของเขาแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ได้คนแบบนี้เข้าไปไง มันก็ไม่ทั่วถึงอยู่ดี ได้เฉพาะเอ็นจีโอที่มีเส้นสาย

กรรมการสรรหา ส.ว.123 คนเขายังไม่ได้บอกนะครับว่าเป็นใคร มีแต่แรกสุด บทเฉพาะกาล 3 ปี ให้ ครม.ชุดนี้แต่งตั้งกรรมการสรรหา แต่ตัวกรรมการสรรหาจริงๆที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้function ต้องไปดูใน พ.ร.บ.ประกอบ ถูกไหม ที่ว่าหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขในการเลือกตั้ง รวมทั้งองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบ

นี่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งยังบอกว่าใครเป็นกรรมการสรรหา

เพราะฉะนั้นหลายเรื่องมันยังหมก คือการหมกไม่ได้มีอยู่แค่ในรัฐธรรมนูญ มันยังหมกต่อไปในระดับ พ.ร.บ.ประกอบอีกชั้น ถูกไหมครับ อันนี้มันอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบ เพียงแต่ว่าครั้งแรก แน่ๆ เพื่อประกันว่าอำนาจยังไม่หลุดไปจากไหนก็ให้ ครม.ชุดนี้ตั้งกรรมการสรรหา แต่ผมว่ายังไงก็ตามสุดท้ายกรรมการสรรหาก็จะมาจากฝ่ายพวกนี้ล่ะ พวกฝ่ายประจำทั้งปวง นึกอะไรไม่ออกก็เอาอธิการบดี ที่ประชุม ทปอ.(หัวเราะ) ไปศาลบ้างอะไรบ้าง แบบนี้ แต่ถึงที่สุดก็จะได้พวกที่มีเส้นสายเข้าไป คนไม่มีเส้นสาย คุณก็จะอด

เพราะฉะนั้นผมวิจารณ์แรงๆ ตรงๆ ว่าระบบการสรรหานี้ตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ให้มันหนักแน่นลงไปอีก กลายเป็นระบบอุปถัมภ์ในรัฐธรรมนูญ คือเราหนีห่างจากระบบอุปถัมภ์มา แต่เราจะเจอระบบอุปถัมภ์ในรัฐธรรมนูญ ระบบอุปถัมภ์ ระบบผลัดกันเกาหลัง มันจะวนเป็นแบบนี้ มันจะเกิดขึ้นจากสภาวะแบบนี้

เพียงแต่มันไปขายความหวังให้พวกภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ที่คิดว่าจะได้ที่นั่งมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2550

ถูกต้อง แต่ในด้านหนึ่ง พวกนั้นก็ถือเป็นกลุ่มผลประโยชน์ด้วย คือจะหาช่องทางเข้าไปสู่อำนาจรัฐ จะไปทางไหนล่ะ ไปทางเลือกตั้งคุณสู้นักการเมืองไม่ได้ ถูกไหม คุณไม่มีความสามารถในการจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่มีความสามารถที่จะแข่งจะจูงใจประชาชนได้ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่คุณจะทำได้ คือเล่นการเมืองผ่านระบบวิธีนี้ ระบบอุปถัมภ์ในรัฐธรรมนูญที่มันก่อรูปขึ้น แล้วก็ขยายเครือข่ายในพวกของตัวเองให้มากขึ้นไปอีก หลายคนที่เป็นคนดีๆ พอไปก็จะเสีย ก็จะติดใจ

คือของพรรค์นี้ แหมคุณก็อาจจะเหมือนเป็นพรหมแล้วลงมากินง้วนดิน กลิ่นดินมันหอม กินแล้วก็เกิดปรากฏเป็นรูปลักษณ์ขึ้นมาตัวหนักกลับขึ้นไปไม่ได้ คนดีหลายคนติดกับตรงนี้ พอได้เสพแล้ว ลองเข้าไป สมมติเป็นสื่อเข้าไปมีอำนาจมีตำแหน่งเงินเดือนแสนกว่าจะไม่ชอบหรือ อันนี้พูดกันธรรมดา เพราะฉะนั้นการออกแบบมันเอื้อระบบอุปถัมภ์ในรัฐธรรมนูญที่เราพยายามจะหนี

แล้วก็อำนาจเยอะครับ อย่างที่เคยบอก นี่คือปัญหาของระบบวุฒิสภาไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2492 เรื่อยมา แต่ถ้าดูเฉพาะส่วนวุฒิสภาจะไม่เห็น มันจะไปอยู่ในบทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง ฉบับนี้เขียนเพิ่มอำนาจวุฒิสภาอย่างที่ผมวิจารณ์ไว้คราวที่แล้ว ว่าเที่ยวนี้เขียนอำนาจหลายอันเพิ่มให้กับวุฒิสภา เดิมอำนาจนี้เขาเขียนเพื่อจะตอบตอนที่ไม่มีสภาผู้แทน คือโดยหลักวุฒิสภาจะประชุมได้ ต้องมีสภาผู้แทน เว้นแต่ว่าสภาผู้แทนถูกยุบ เขาจะให้วุฒิสภาประชุมได้บางเรื่อง

ฉบับนี้มีอำนาจอันใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญไทยฉบับเดิมๆ อยู่ในมาตรา 137 (3) เป็นอำนาจที่เพิ่มเข้ามา ที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ครั้งที่แล้ว เป็นอำนาจสำคัญมากๆเลยของวุฒิสภา ที่บอกว่าในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบจะมีการประชุมสภามิได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ คือกรณีที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมิอาจหลักเลี่ยงได้ เพื่อให้งานของวุฒิสภาหรืองานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 137 ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้

(3) กรณีอื่นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้งานของวุฒิสภาหรืองานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมวุฒิสภาตามมาตรานี้ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในกรณีที่มีปัญหาตาม (3) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้

มันคืออะไร?กรณีที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลักเลี่ยงได้แล้วเขียนละไว้ว่าถ้ามีปัญหาตาม(3)ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อันนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าวุฒิสภาสามารถออกกฎหมายเองได้ใช่ไหม แม้ไม่มีสภาผู้แทน หรือตั้งรัฐบาลเองได้ใช่ไหม พวกนี้จะถือว่าเป็นงานในความหมายทางด้านนิติบัญญัติรึเปล่า อันนี้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญชี้นะครับ

ตั้งนายกฯคนนอกสองในสาม

ใช่ครับอันนี้ผมเคยบอกก่อนจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ อำนาจมันสูงมาก ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ อำนาจมันอยู่ที่วุฒิสภากับศาลรัฐธรรมนูญสูงมาก เป็นอำนาจที่เข้ามาใหม่แล้วผิดระบบ ระบบที่ผมเคยบอกคือสภาผู้แทนราษฎรไม่ควรจะหมดอายุลง ในแง่ที่ขาดตอนลง อันนี้เขาเอามาคุยด้วยนะ บางท่านบอกว่า เราเขียนเพื่อแก้ปัญหาไง ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร คราวที่แล้วเกิดปัญหากัน วุฒิทำอะไรได้ไม่ได้ ก็คือเรื่องนายกฯคนนอก แต่เขาไม่ได้พูดเรื่องนายกฯคนนอกหรอกนะ เขาว่ามีไว้เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ

อยากจะบอกว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ควรเอามาคุยโม้โอ้อวด เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจากหลัก หลักคืออะไร หลักคือไม่ควรมีระบบให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นไปโดยที่ทำงานไม่ได้ ถ้าเราเปิดระบบที่ว่า ส.ส.ซึ่งสภาที่ถูกยุบแล้ว หรือสภาที่ครบวาระแล้ว เขายังเป็นสภาต่อไป จนกว่าสภาชุดใหม่จะมา มันก็จะไม่ต้องมาคิดพวกนี้ ถูกไหมครับ พูดง่ายๆคือการคิด เราสามารถคิดบนหลักคิดที่เป็นฐานของประชาธิปไตยได้ แต่วิธีคิดของคนหลายคนไม่ได้คิดบนฐานประชาธิปไตย พยายามคิดว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงนั้น แล้วพยายามเอาทางแก้ที่serve อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แล้วบอกว่าผมแก้ปัญหาให้คุณแล้ว รัฐธรรมนูญเราดีขึ้น มันไม่ถูก มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาคุย หลายเรื่องเอามาคุยทั้งที่ไม่ควรเอามาคุย หลายเรื่องถ้าแก้ปัญหาให้ถูกระบบมันไม่ต้องมี

ที่เขาคุยยังมีอีก ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายรัฐบาล รองประธานเป็นฝ่ายค้าน ต้องเป็นกลาง เข้าประชุมพรรคไม่ได้ ในต่างประเทศทั่วไปเขาไม่เขียนใช่ไหม

ไม่มีเขียน เป็นธรรมเนียม ทางปฏิบัติ คือกฎหมายไม่ได้มีแต่ตัวกฎหมาย มันมีธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่าง แต่การเขียนแบบนี้ เขียนไปเพื่อจะใช้บังคับและเป็นเหตุในการถอดถอนอะไรต่อไป อย่างฝ่ายค้านก็ตาม คุณให้เขาเป็นรองประธานสภาราษฎรคนที่หนึ่ง ซึ่งถ้าคะแนนเสียงพรรคเขาได้น้อย เกิดพรรคใหญ่ๆสามพรรครวมกันตั้งรัฐบาล คุณให้พรรคที่สี่ซึ่งมีคะแนนเสียงในสภาน้อยมากมาเป็นรองประธานคนที่หนึ่งแล้วคุมกิจการของสภาทั้งหมด มันไม่น่าจะถูกหลักโดยสภาพ

ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ มาจากพรรคที่สี่ที่ห้า (หัวเราะ)

ลืมคิดเรื่องรัฐบาลปรองดอง คือกลับไปคิดว่ามีพรรคใหญ่พรรคแรกเป็นรัฐบาลและอีกพรรคเป็นฝ่ายค้านอยากให้ฝ่ายค้านมีที่นั่งเป็นรองประธานสภา ก็เลยไปเขียนแบบนี้ ไม่ให้เป็นของรัฐบาลหมด ก็เลยลืมสภาพรัฐบาลปรองดองไป

 

ประธานสภาบุรุษไปรษณีย์
(นี่นิติศาสตร์แท้ๆ)

มาตรา 157 เรื่องการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีข้อที่ขอวิจารณ์นิดหนึ่ง อันนี้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ เขาผ่านกฎหมายปฏิรูปราชการเสร็จแล้วประชาธิปัตย์จะยื่นเรื่อง แต่ยื่นไม่ได้เพราะปรากฏว่าสภาส่งเรื่องไปที่เลขา ครม.แล้วบอกว่าทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นการเอาเปรียบฝ่ายค้าน เรื่องนี้ความจริงมันต้องแก้ทางกฎหมายให้ถูก ผมเคยเสนอเรื่องนี้นานมาแล้วแต่การยื่นให้ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.เขาก็เขียนเหมือนเดิม

คือตอนนี้การควบคุมการตรากฎหมายก่อนประกาศใช้ในบ้านเรามีอยู่สองระบบ ระบบบังคับ ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อันนี้รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องเข้าชื่อกัน แต่ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.ธรรมดา ผ่านสภาแล้วในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ มันต้องการการเข้าชื่อของ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ในมาตรา 158 เขากำหนดวิธีการยื่น ถ้าจะยื่น สมมติกฎหมายผ่านรัฐสภาแล้ว เขาต้องเข้าชื่อกันตามจำนวนที่กำหนด แล้วส่งเรื่องไปที่ประธานสภาผผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี ถ้าเกิดเป็น ส.ส.พวกเดียวเข้าชื่อก็ส่งประธานสภาผู้แทน ถ้าเป็น ส.ว.ก็ส่งประธานวุฒิสภาถ้าเป็น ส.ว.กับ ส.ส. ร่วมกันให้ส่งประธานรัฐสภา แล้วให้ประธานที่ได้รับความเห็นส่งศาลรัฐธรรมนูญและแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบ และระหว่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯระงับการทูลเกล้า อันนี้ไม่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยคุณทักษิณด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นแบบนี้

การเขียนแบบนี้เขียนไม่ถูก ทำไมจะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญต้องให้ ส.ส. หรือ ส.ว.เข้าชื่อกันแล้วส่งประธานสภา ทำไมส.ส.เดินไปหาศาลรัฐธรรมนูญเลยไม่ได้ แต่ประชาชน โดยมาตรา 34 ไปหาศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ส.ส.ก็อยู่ในสภา เขาเห็นว่ากฎหมายที่ผ่านขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ไปหาศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้เข้าชื่อกันส่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแทน ให้ประธานรับเรื่องแล้วจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ปัญหาคือตอนประธานรับเรื่องจะมาเถียงกันอีกว่าประธานสภาเป็นบุรุษไปรษณีย์หรือเปล่า หรือมีดุลพินิจที่จะส่งหรือไม่ส่งก็ได้ ก็เถียงกันเหมือนสิบกว่าปีก่อน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ดี ประธานบอกว่าต้องเช็คก่อนว่ารายชื่อที่ส่งมาเป็นของจริงของปลอม ผ่านไป 3 หรือ 4 วัน กฎหมายทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ประธานจะส่งก็ไม่ได้แล้ว หรือถ้าส่งไป ศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกว่าเรื่องอยู่ในพระราชวินิจฉัยแล้ว ผมว่าวิธีที่ถูกถ้าหากระบบกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติคือ พอกฎหมายผ่านรัฐสภา รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้สิทธิ ส.ส.ไปยื่นคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย พอศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ให้เลขาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไปที่เลขา ครม.ให้ระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

แต่ประชาชนร้องศาลได้ (หัวเราะ)

Logic มันตลกไง ประชาชนร้องศาลได้ แต่ ส.ส.ไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะลอกของเดิมกันมา ลอกว่าต้องไปผ่านประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนฯ หรือประธานวุฒิสภา ในทางกฎหมาย คำถามคือไปขั้นตอนผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯfunction เขาคืออะไร ในทางคดีต้องดูว่าใครเป็นผู้ฟ้องหรือผู้ร้อง กรณีนี้ใครเป็นผู้ร้อง ส.ส.เป็นผู้ร้องเอง หรือประธานสภาเป็นผู้ร้อง ถ้าประธานสภาเป็นผู้ร้อง ประธานก็ถอนเรื่องเองได้ใช่ไหม ถ้าประธานสภาเป็นผู้ร้องเวลาไปแถลง ประธานสภาต้องแถลงเองหรือผูกพันตามความเห็น ส.ส.ที่ยื่นมา

อันนี้คือการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ลอกกันมา ไม่คิดจะแก้ ผมเสนอไว้ตั้งนานแล้วก็ยังไม่แก้ ยังเอาเหมือนเดิม แล้วไม่มีเหตุผลนะ ผมเคยถามเหตุผล ถามมานานแล้วให้ช่วยอธิบายหน่อยเถอะว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ผมไปค้นมา ระบบนี้เป็นระบบของฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ทำแบบนี้ ให้ ส.ส.ไปหาตรง ของเราต้องไปผ่านประธานสภาเยอรมันก็ยื่นตรง แต่เยอรมันไม่มีระบบควบคุมก่อน โดยหลักเขาควบคุมหลังกฎหมายประกาศใช้แล้วแต่ไม่มีไม่มีหรอกให้ยื่นผ่านประธานสภา

หลักคิดให้ประธานสภายื่นมันต้องเป็นมติองค์กร ประธานสภายื่นในนามองค์กร แต่รัฐธรรมนูญไทย function ประธานสภามันมั่วมากเลย คือไม่รู้ว่ายื่นในฐานะอะไร ในฐานะตำแหน่งของตน หรือในฐานะผู้แทนองค์กร คือระบบกฎหมายมหาชนของเราตามรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มันไม่เคลียร์ โดยหลักทั่วไปแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ มันควรจะเป็นการยื่นในฐานะผู้แทนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าว่าต้องเป็นมติขององค์กรแล้วนะ ถึงให้ประธานสภาไปยื่นในนามสภาผู้แทนราษฎร

ถ้ามันเป็นมติเกินครึ่งของสภา ประธานสภาต้องยื่น แต่ถ้า ส.ส.ส่วนหนึ่ง เช่น หนึ่งในสิบหนึ่งในห้า ส.ส.ก็ควรจะยื่นเอง จะไปให้ประธานยื่นทำไม แล้วต้องมานั่งตีความกันอีกว่าประธานมีอำนาจแค่ไหน ตรวจสอบรายชื่อได้ไหม ถ้าคำร้องไม่ถูกต้อง ประธานสั่งให้กลับไปแก้ได้รึเปล่า หรือประธานแค่ต้องรับต้องส่ง ถ้าประธานเป็นบุรุษไปรษณีย์ จะมายื่นทำซากอะไร ถูกไหมครับ การออกแบบมันตลก

อันนี้กฎหมายเพียวๆเลยนะ นิติศาสตร์แท้ ๆ เลยว่าเวลาเราคิดออกแบบ เราต้องตอบคำถามของแต่ละขั้นตอนของกระบวนการได้ เพราะเวลาออกแบบไม่ดี มันจะถูกเอาไปเล่นการเมืองกัน โดยที่ไม่จำเป็น แบบรัฐบาลคุณทักษิณ เพราะรัฐธรรมนูญมันเขียนไว้อย่างนั้น มันก็เปิดช่องทางไง บอกให้แก้ซะ ก็ไม่แก้
 

 

เลือกนายกฯ ไม่ได้เลือกตั้งใหม่

การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 160 สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 คือการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ต้องฟ้องคดีต่อศาลวินัยการคลัง"ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินอันเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินแผ่นดิน จะเสนอโดยไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณตามมาตรา 229ก่อนมิได้ และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 239หรือมีการฟ้องคดีตามมาตรา 229 แล้วแต่กรณีแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้"

อันนี้ตลกนะ เป็นการไปบังคับฝ่ายค้านว่าเขาต้องฟ้องศาลด้วยหรือตามมาตรา 239 คือยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.เขาเอาการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปผูกกับการยื่น ป.ป.ช.และการฟ้องศาลปกครองเขาคงพยายามบอกว่า นี่ไงเพื่อไม่ทำให้การยื่นญัตติยื่นได้ง่ายๆ

แสดงว่าศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณจะกลายเป็นอาวุธใหม่

นี่ไง จะสั่งปรับนักการเมืองกันมโหฬารเลยทีนี้ไม่มีใครเขาทำกันแบบนี้ และจะกลายเป็นเครื่องมือของการเล่นการเมืองกันอย่างมาก อาจจะปรับได้เยอะเลย ไม่รู้ว่ากฎหมายจะระบุให้ปรับได้เท่าไหร่ อาจจะปรับเป็นพันๆ ล้าน ต่อไปเป็นรัฐมนตรีคงต้องมีสตางค์เยอะหน่อย ไปทำนโยบาย ออกนโยบายอะไรก็เจ๊งเลย

หมวดคณะรัฐมนตรีมีการแก้ไขจากร่างแรก ร่างแรกบอกว่าเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ นี่บอกว่านายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้

ก็คือ เป็น 7 ปี 11 เดือน เว้นไป 3 วัน แล้วมาเป็นต่อได้อีก 7 ปี 11 เดือน (หัวเราะ)

มาตรา 165 มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แต่ที่เพิ่มมาคือมีวรรคสอง ถ้ายังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ นี่เป็นของใหม่ ร่างเดิมไม่มีนะ

ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันตามวรรคหนึ่งแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามวรรคหนึ่งใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดสามสิบวันดังกล่าว ในกรณีนี้ หากปรากฏว่ายังไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นอันสิ้นอายุและให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปโดยไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 114ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรนั้นสิ้นอายุ และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

คือถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ คนในไม่มีใครกล้าเป็น เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกใช้เสียง 2 ใน 3 ก็ไม่ได้สักที ยังให้โอกาสเลือกอีกทีหนึ่งภายใน 15วัน ก็คือมีเวลาประมาณ 45วันหลังประชุมรัฐสภาครั้งแรก ถ้าเลือกไม่ได้ก็สิ้นอายุ เป็นการยุบสภาโดยผลของรัฐธรรมนูญเมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้

ร่างแรกยอมให้มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยได้ ใช้คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็น แต่ฉบับนี้ไม่เอาเลย

อันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมเจตจำนงคือถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ให้ประชาชนตัดสิน คนร่างคงคิดแบบนั้น เพราะเมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็มี 2ทาง อันหนึ่งคือเป็นรัฐบาลข้างน้อยบริหารไปช่วงหนึ่ง อีกอันคือกลับไปให้ประชาชนเลือกใหม่

 

ยุบสภา 2 ทางเลือก

ประเด็นที่วิจารณ์กันในร่างแรกที่นายกฯ ขอความไว้วางใจตัวเองได้แล้วห้ามฝ่ายค้านยืนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก รวมทั้งการเสนอกฎหมายพร้อมลงมติไม่ไว้วางใจ เขาตัดไปแล้ว แต่เรื่องขอไว้วางใจตัวเองมาตรา 172 ยังอยู่

อันนี้เป็นแบบเยอรมัน ก่อนนี้เป็นแบบที่คิดกันขึ้นมาเองส่วนหนึ่ง อันนี้คือระบบที่นายกรัฐมนตรีขอความไว้วางใจเอง ถ้านายกรัฐมนตรีขอความไว้วางใจเองแล้วคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีอาจขอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร

อันนี้มันก็ประหลาด เพราะการยุบสภาแบบเดิมตามมาตรา 115 ก็ยังอยู่ แต่แยกไปอยู่ในหมวดรัฐสภา การยุบสภาแบบเดิมเขียนเพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายเอาไว้ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีถ้าเห็นว่าเหมาะสมก็กราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยยุบสภา

เมื่อมาตรา 115 ยังอยู่แล้วมีมาตรานี้ด้วย มันก็ตลก จะตีความอย่างไร คือของเก่าคงไว้แล้วเอาของใหม่แบบเยอรมันเข้ามาด้วยโดยปกติตามธรรมเนียมทางรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทย การยุบสภาไม่ต้องมีเหตุ ถ้านายกรัฐมนตรีเห็นสมควรก็ทูลเกล้าร่างพระราชกฤษฎีกาให้ทรงลงพระปรมาภิไธยก็ยุบสภาได้อยู่แล้ว แล้วจะเอามาตรา 172 มาปนทำไม

ประเทศที่เป็นต้นแบบคือเยอรมันมีมาตรา 172 แบบเดียว นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทั่วไปแบบเราของเราเป็นแบบอังกฤษ คือเป็นเรื่องการเมือง

วิธีการยุบสภามีหลายอย่าง เยอรมันผูกไว้กับกฎหมาย บางประเทศไม่ผูกเลยแบบอังกฤษ ในอังกฤษเท่าที่ผมทราบสภาแทบไม่เคยอยู่ครบวาระ ส่วนใหญ่ถูกยุบก่อน บางทีถูกยุบตอนคะแนนเสียงฝ่ายรัฐบาลกำลังดีด้วย

ถ้าทำแบบนี้มันก็จะสร้างความรู้สึกว่ายุบสภาตามมาตรา 115 อย่างเดิมไม่ชอบธรรม อยู่ๆ ยุบสภาก็ได้

ถ้าอย่างนั้นเขาไม่ต้องเขียนมาตรา 115แยกไปสิ ก็เขียน 172 นี่แหละ ให้กราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อยุบสภาผู้แทนราษฎร เอา 115มาเขียนต่อไป เพราะแต่เดิมการยุบสภาไม่ต้องมีเหตุเขียนแบบนี้ชวนให้ตีความ เอาของใหม่เข้ามา ประเด็นสำคัญทางรัฐธรรมนูญคือ การขอความไว้วางใจแล้วยุบสภา มันมีนัยสำคัญกับอำนาจการยุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร

เอาอะไหล่รถอังกฤษกับเยอรมันมาประกอบในที่เดียวกัน

ตอนแรกผมอ่านนึกว่า 115 ไม่มีแล้ว เพราะโดยความคุ้นชิน ถ้ามี 172 อันเดิมก็ต้องเลิก บีบว่าการยุบสภาต้องทำแบบนี้เท่านั้น เว้นแต่เขาจะตีความแบบอื่น ซึ่งก็ตลก ถ้าเขาจะตีความแบบอื่น

ไม่งั้นจะเขียนแยกสองมาตราทำไมคล้ายๆ เป็นoption ให้เลือก นายกรัฐมนตรีอยากหน้าแตก ก็ขอความไว้วางใจหรือนายกรัฐมนตรีไม่ชัวร์ว่ามีเสียงในสภาสนับสนุนเท่าไหร่ เลยใช้ทดสอบว่าถ้าไม่ไว้วางใจกูยุบสภานะ

ในเยอรมันใช้มาตรานี้เพื่อยุบสภา เพราะไม่มีอำนาจยุบสภาทั่วไปแบบอังกฤษ ถ้านายกรัฐมนตรีเยอรมันอยากยุบสภามันยากมากต้องใช้อำนาจนี้อย่างเดียว ต้องขอความไว้วางใจและต้องภาวนาให้สภาไม่ไว้วางใจ แล้วส่งsign กันในรัฐบาลมันเคยเกิดเรื่องสมัยเฮลมุทโคห์ลอยากยุบสภา แต่ติดเงื่อนไขแบบนี้ ต้องขอความไว้วางใจแล้วต้องไม่ได้ความไว้วางใจถึงจะยุบได้ก็ขอความไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็ต้องไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลงดออกเสียง พองดออกเสียง คะแนนไม่ไว้วางใจเยอะกว่าคะแนนไว้วางใจ เฮลมุทโคห์ลก็ยิ้มหวานชอบใจ จะได้ยุบสภา ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าพรรครัฐบาล tricky เพราะนายกรัฐมนตรีอยากยุบสภา และส่งซิกให้ ส.ส.รัฐบาลงดออกเสียง ซึ่งมิชอบ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคดีเอาไว้ แต่ไม่ได้วินิจฉัยให้ฝ่ายค้านชนะคดี วินิจฉัยแต่เพียงว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง เพราะฉะนั้นประธานาธิบดีจึงสามารถยุบสภาฯตามการเสนอของนายกรัฐมนตรีได้ เพราะนายกฯไม่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด จริงๆ แล้ว คดีนี้มันมีข้อเท็จจริงว่าฝ่ายรัฐบาลอยากยุบสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อยากไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการยุบสภาโดยธรรมชาติแล้วเป็นเรื่องทางการเมืองแท้ๆ

เรื่องนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับระบบเยอรมันนะ คือผมรู้สึกว่าถ้ามันอยากยุบ มันต้องไปเล่นละครกัน นายกรัฐมนตรีต้องไปยื่นขอความไว้วางใจ ในพรรครัฐบาลก็รู้กันว่านายกรัฐมนตรีอยากเลือกตั้งก็ต้องให้ ส.ส. รัฐบาลงดออกเสียง มันจะกลายเป็นรูปลักษณะนั้นไปการยุบสภาเป็นเรื่องการเมือง เพราะยุบสภาอำนาจก็คืนกลับไปหาประชาชน จะกลัวอะไรล่ะ มันเป็นเรื่องทางการเมืองนะ

 

แยก ส.ส. รมต.
เปิดช่องไล่รักษาการ

คุณสมบัติรัฐมนตรีมาตรา 166วรรค 3 เอาตามรัฐธรรมนูญปี 2511 และ 2540ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ก็คือแยกขาดกลับไปใช้ระบบแยกเหมือนเดิม

ทีนี้ก็เป็นปัญหาอีกไงถ้ารัฐมนตรีเป็นส.ส. แบบเขตแล้วถูกตั้งเป็นรัฐมนตรีจะทำอย่างไรก็ต้องเลือกตั้งซ่อมก็เป็นปัญหาแบบเดิมอีกเดี๋ยวก็มีคนอธิบายว่าต้องการให้เฉพาะส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นเป็นรัฐมนตรี

สมัยทักษิณมีวิจารณ์กันว่าเป็นเครื่องมือกุมอำนาจใครที่เป็นหัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้าพรรคเล็กพอไปเป็นรัฐมนตรีก็ต้องกลัวถูกปลดเพราะถูกปลดก็กลับมาเป็น ส.ส.ไม่ได้ รัฐมนตรีก็ต้องเอาใจนายกฯ ในยุคทักษิณเขาวิจารณ์กันแบบนี้แต่เอากลับมาเขียนใหม่

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนะผมเห็นว่าไม่ถูกโดยระบบเพราะเวลาประชาชนเลือกส.ส. มาวาระของเขาก็เท่ากับรัฐสภาเขาไปเป็นรัฐมนตรีก็ไปทำงานบริหารเมื่อพ้นจากรัฐมนตรีก็ควรเป็นส.ส.เหมือนเดิมเพราะประชาชนเลือกมาไม่ว่าจะมาจากแบ่งเขตหรือบัญชีรายชื่อเพราะวาระของสภายังไม่หมดแต่นี่คุณหลุดจากรัฐมนตรีก็หลุดตลอดสมัยรัฐสภาไม่ควรเป็นแบบนั้น

เราชอบกลับไปกลับมาแบบนี้แหละรัฐธรรมนูญ 2511 แยกขาดแล้วไม่แยกมาตลอดจน 2540 พอ 2550ก็ไม่แยกมันก็พายเรือวนเวียนในอ่างหมุนกลับไปกลับมาเรื่อยๆ ตลกดี

มาตรา 174 ร่างเดิมบอกว่าในกรณีที่ต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะให้ปลัดกระทรวงรักษาราชการแทน ของใหม่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต่อไป แต่ถ้ารัฐมนตรีเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง รัฐมนตรีที่เหลืออยู่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ให้ปลัดกระทรวงรักษาการ สรุปคือไล่ออกหมดเลย สมมติ ครม. 36 คน เหลือไม่ถึงครึ่ง มีอะไรเกิดขึ้นแล้วเหลือไม่ถึงครึ่ง ไม่ว่าจะลาออก ตายก็แล้วแต่ โดนไล่ออกทั้งคณะให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน

นี่คือเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรม ให้การกระทำครั้งที่ผ่านมาเหมือนกันตอนนั้นก็เถียงกันว่า ครม.ลาออกไม่ได้ไง ถูกไหม เพราะรัฐธรรมนูญบอกต้องอยู่ปฏิบัติราชการต่อไป คราวนี้บอกลาออกได้แล้วนะ คือเอาสิ่งพวกนี้มาเขียน

วิธีแก้ปัญหาไม่น่าจะเป็นแบบนี้ในทางปฏิบัติ ถ้าเราถือหลักแบบเดียวกันที่ผมพูดว่ารัฐสภาต้องอยู่ต่อ คณะรัฐมนตรีก็อยู่ต่อไป เราต้องเปลี่ยนระบบคิดใหม่ ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมา ว่าทำไมต้องให้เขาพ้นไปเป็น ครม.รักษาการ ทำไมไม่ให้เขาเป็น ครม.ธรรมดา อันนี้ก็เหมือนหลักคิดที่ให้วุฒิสภามีอำนาจ ในช่วงสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ กรณีปลัดกระทรวงจะขึ้นมาทำหน้าที่ได้ สำหรับผมน่าจะมีได้เฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีเสียชีวิตพร้อมกันทั้งคณะเท่านั้นแหละ

ถ้ามีมาตรานี้ ม็อบครั้งที่แล้วก็คงบุกบ้านรัฐมนตรี บังคับให้ลาออก ลาออกจนเหลือ 17คน

เขียนส่งเสริมให้เกิดม็อบขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการขึ้นเอาสิ่งที่มันไม่ถูกต้องมาเขียน ให้เหมือนเป็นสิ่งที่ถูกต้องในรัฐธรรมนูญ

 

แผ่ศาลคุมบังคับคดี

เรื่องศาลสรุปแล้ว กรรมาธิการยอมแพ้หมด ที่ผู้พิพากษาไปคัดค้าน ทั้งเรื่อง กต.คนนอก 1 ใน 3 เรื่องการอุทธรณ์โทษวินัย อายุเกษียณ 65 ก็หายไปด้วย

แต่ประธานศาลกำหนดวาระ เป็นครั้งแรก กำหนด 4 ปี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด

ที่เปลี่ยนอีกเรื่องคือ “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” มาตรา 210 เขาแก้องค์ประกอบใหม่ เดิมทีร่างแรกให้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน ตอนนี้กลับไปเหมือนเดิมประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ที่น่าสังเกตคือฝ่ายเลขานุการ “ให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการ และให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลอื่นเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

ตรงนี้ร่างแรกบอกว่า “ให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละหนึ่งปี” แต่นี่ให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการเลย อันนี้เอาตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถามว่าทำไมให้เลขานุการศาลฎีกาคู่กับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งฟังตลกๆก็เพราะเขาเอาตามปัจจุบันคือปัจจุบันเลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการคณะกรรมการแล้วเขาต้องการให้ฝ่ายศาลปกครองเข้าไปด้วย แต่ศาลปกครองไม่มีเลขานุการศาลปกครองสูงสุดก็ไปเอาเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

คือหน่วยธุรการให้กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไม่ได้เป็นหน่วยธุรการบริหารบุคคลมันเป็นหน่วยที่ต้องทำความเห็นทางกฎหมายเสนอ จึงใช้เลขานุการศาลฎีกาซึ่งมาจากผู้พิพากษาในแง่มุมนี้ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองกับหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลอื่นมันไม่ค่อยตรงกับภารกิจในฐานะหน่วยที่สนับสนุนงานทางวิชาการหรือเตรียมความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเท่าไหร่ พอเอาตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกามาคู่กันกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลอื่นมันก็แปลก

แต่ประเด็นสำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการปฏิรูประบบศาลเลย ไม่แตะเลยทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่การอภิปรายในประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ

ให้อำนาจมากขึ้นด้วย เช่นออกใบแดง

ใช่ เช่นเอาหน่วยงานบังคับคดีไว้กับศาล ในขณะที่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของศาลน้อยอยู่แล้ว อย่างที่ผมเคยบอกว่าระบบศาลบ้านเรา ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยระบบคิดรับแนวคิดมาก่อนเปลี่ยนระบอบ และมีแนวคิดความชอบธรรมด้านประชาธิปไตยน้อยอยู่แล้ว คุณจะเอาระบบธุรการมาไว้กับศาล แล้วเอาการบังคับคดีมาไว้กับศาลอีก ตอนนี้ศาลเลยคุมหมดนะ คุมทั้งระบบเลยครับคราวนี้

มาตรา 213 วรรคท้ายนั้น ร่างแรกไม่มี “ให้มีหน่วยงานบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพอยู่ในสังกัดของศาลเพื่อบังคับการให้เป็นตามคำวินิจฉัย คำพิพากษา และคำสั่งของศาล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ผมกำลังนึกราชทัณฑ์ด้วยซ้ำไปว่าจะไปด้วยไหมแต่ดูแล้วคงไม่ครอบคลุมถึง คำว่าบังคับคดีอาจตีความว่าหมายถึงบังคับคดีแพ่งซึ่งก็คือกรมบังคับคดี แต่ราชทัณฑ์จะเป็นเรื่องบังคับโทษ ไม่รู้ว่ามีความมุ่งหมายแค่ไหนอันนี้จะทำให้กระทรวงยุติธรรมเล็กลงไปหน่อย

แต่เดิมหน่วยธุรการศาลอยู่กับกระทรวงยุติธรรม จ่าศาล เจ้าหน้าที่ศาลอยู่กับกระทรวงยุติธรรม แล้วตอนทศวรรษที่ 2540 มีการเรียกร้องให้โอนหน่วยงานพวกนี้ไปที่ศาลด้วย เลยมีการโอนไปตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมแล้วตอนนี้จะมาอีกขั้นตอนหนึ่ง คือเอาบังคับคดีไปในแง่นี้อำนาจศาลก็เยอะขึ้น ยาวไปถึงเรื่องบังคับคดีด้วย ก็จะเป็นปัญหาเรื่องระบบถ่วงดุลในวันข้างหน้า

ศาลรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขใหม่ในมาตรา 216 คณะกรรมการสรรหา ร่างแรกมี 11 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา 2 คน ศาลปกครอง 2 คน จากรัฐบาลฝ่ายค้าน 2 คน จากคณบดีคณะนิติศาสตร์สถาบันอุดมศึกษา 2คน จากคณบดีคณะรัฐศาสตร์สถาบันอุดมศึกษา 2 คน สมัชชาคุณธรรม 1 คน พอบอกว่าไม่เอาสมัชชาคุณธรรม ก็เลยรื้อใหม่ เหลือคณะกรรมการสรรหา 7 คน มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานองค์กรตรวจสอบภาครัฐที่ให้เลือกกันเอง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ 1คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ 1คน อันนี้มาใหม่ เปลี่ยนจากสถาบันอุดมศึกษาเป็น ทปอ.

เบื้องต้นผมเข้าใจว่าต้องการกันราชภัฏราชมงคล เพราะสถาบันอุดมศึกษาคือราชภัฏราชมงคลด้วย ซึ่งพวกนี้ถ้าเขาแพ็กกัน เสียงน่าจะท่วมมหาวิทยาลัยเดิมๆ ผมเดาเอานะ

ปัญหาคือก็แยกชั้นของมหาวิทยาลัยในรัฐธรรมนูญ เอาแต่ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ไม่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ เทคโนโลยีราชมงคล เพราะฉะนั้นราชภัฏราชมงคลทั้งหลายไม่ควรรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช่ไหม(หัวเราะ) อันนี้น่าสนใจว่าจะตีความอย่างไร เอาที่ประชุมอธิการบดี ซึ่งกันราชภัฏออก

ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เท่าไหร่ เพราะคณบดีนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ของราชภัฏอาจมีไม่ครบ แต่พอไปถึงตอนเลือก กกต.ปปช.นี่สิ มันกว่าอีก เพราะของเดิมผู้ทรงคุณวุฒิ 2คน ซึ่งเลือกจาก“อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา” เปลี่ยนเป็น “อธิการบดีซึ่งเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย”นอกจากนี้ยังมีกรรมการสรรหาจากกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบัน ก็คือหอการค้า สมาคมธนาคาร และสภาอุตสาหกรรมมาแทนสมัชชาคุณธรรม

แล้วมันมีความสำคัญอย่างไรที่จะต้องเข้ามาใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญแล้วภาคเกษตรกรรมละ เกษตรกรอยู่ตรงไหน เออแปลกนะ คงไม่รู้จะคิดอะไรมั้ง ก็พยายามแสวงหาแนวร่วม ดูท่าทางว่าโอเค อย่างน้อยเราก็ไปร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประมาณนั้น

กรรมการสรรหาคนที่ 7 เขาเปลี่ยนตามองค์กร คือ กกต.ใช้ประธานสภาองค์กรชุมชน ป.ป.ช. ก็ไปดึงศาลฎีกากลับมาสรรหา คตง.เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพการบัญชีและการตรวจสอบภายในผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไปเอาปลัดกระทรวง แล้วกรรมการสิทธิฯ นี่บอกว่าเดี๋ยวจะเขียนกฎหมายใหม่หมด

ผมสงสารคุณมากเลย คือพยายามไปไล่เพื่อจะหาว่ามันมีเหตุผลอะไรของมัน มันไม่มีหรอก (หัวเราะกันทั้งวง)

ถอดถอน 2 มาตรฐาน
ความไม่ยุติธรรมในรัฐธรรมนูญ

"มาตรา238ให้รัฐสภามีอำนาจพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกจากตำแหน่งได้

ให้วุฒิสภามีอำนาจพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาประธานศาลรัฐธรรมนูญประธานศาลปกครองสูงสุดหรืออัยการสูงสุดซึ่งมีพฤติการณ์ตามวรรคหนึ่งออกจากตำแหน่งได้แต่สำหรับการถอดถอนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

บทบัญญัติในวรรคสองให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(1)ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน

(2)ผู้พิพากษา ตุลาการ ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือเทียบเท่า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

มาตรา 240 วรรคสอง

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติรัฐสภาที่ให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา238วรรคหนึ่งออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาและมติวุฒิสภาที่ให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา238วรรคสองและวรรคสามออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา"

เรื่องถอดถอน ประเด็นสาระมันอยู่ตรงที่ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าสะท้อนให้เห็นความเข้าใจสภาพความยุติธรรมหรือความไม่มีมาตรฐานเดียวกัน เห็นได้จากเรื่องถอดถอน

มาตรา 238 มันใช้เกณฑ์องค์กรถอดถอนคนละอันกัน ถ้าเป็นถอดถอนนายกฯ ถอดถอนรัฐมนตรี ถอดถอน ส.ส. ส.ว. คนที่มีอำนาจถอดถอนคือรัฐสภา แต่ถ้าเป็นการถอดถอนพวกประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง อัยการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง พวกผู้พิพากษา พวกนี้ให้วุฒิสภา ไม่เหมือนกัน

ให้รัฐสภาถอดถอนนักการเมือง วุฒิสภาถอดถอนประธานศาล องค์กรอิสระ แต่เวลารัฐสภาถอดถอนนายกฯ ถอดถอนรัฐมนตรี วุฒิสมาชิกเข้ามาร่วมถอดถอนด้วย แล้วคะแนนเสียงที่ใช้ก็ใช้แค่กึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นพวกตำแหน่งทางการเมือง แต่ถ้าเป็นศาล องค์กรอิสระ ใช้ 3 ใน 5

ซึ่งยากมาก และมันยิ่งยากขึ้นไปอีกเพราะวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งเกือบ 2 ใน 3 มาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา แล้วจะไปถอดถอนพวกที่เป็นตำแหน่งประจำใช้เสียง 3 ใน 5 ไม่มีทางถอดถอนได้ ผมปรามาสเลย แต่นักการเมืองถูกถอดถอนง่ายกว่า เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจมีมากกว่าฝ่ายค้านจริง แต่วุฒิสมาชิกสรรหามากกว่าเลือกตั้งสองเท่า ลองบวกรัฐบาลเสียงข้างมากกับ ส.ว.เลือกตั้งอยู่ฝั่งหนึ่ง ฝ่ายค้านกับส.ว.สรรหาอยู่ฝั่งหนึ่ง รวมแล้วฝ่ายหลังอาจจะเยอะกว่าก็ได้ เพราะฝ่ายค้านอย่างน้อยก็ต้องมีส.ว.ในพื้นที่ตัวเอง

ฉะนั้น โอกาสที่นักการเมืองจะโดนถอดถอนง่ายมากเลย และอันตรายมากด้วย

นี่เป็นสิ่งที่เขียนใหม่ ร่างแรกนั้นไม่เห็นการเขียนแบบนี้ ร่างแรกอยู่ในมาตรา 253 ใช้รัฐสภาการถอดถอนรวมกันหมด แต่ฉบับนี้ผมอ่านแล้วสะดุดทันทีเป็นระบบที่ไม่ยุติธรรมมากๆ ทำไมกล้าเขียนอย่างนี้ได้ อันนี้คือการตอกย้ำระบบสองมาตรฐานมากๆ ในระบบรัฐธรรมนูญไทย ไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมฝ่ายการเมืองถึงใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาพอ แล้วถ้าเป็นประธานศาลหรืออะไรเหล่านั้นทำไมใช้คะแนนเสียงตั้ง 3ใน 5และใช้เฉพาะเสียงวุฒิสภา อะไรคือเหตุผล ทั้งๆ ที่เหตุในการถอดถอนเป็นเหตุเดียวกัน

ปัญหาที่หนักยิ่งไปกว่านั้นอีกคือ การถอดถอนที่ผมเคยอธิบายไป มันเป็นการโหวตในทางการเมือง เพราะมันไม่ได้เขียนในองค์ประกอบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มันใช้ความชอบใจหรือไม่ชอบใจยกถือโหวตในทางการเมืองได้ แต่เมื่อคุณยกมือถอดถอนเขาแล้วคุณกลับให้เขาได้รับผลร้ายทางกฎหมายเป็น ‘การตัดสิทธิทางการเมือง’ และการตัดสิทธิก็ร้ายแรงมากๆ ด้วย เช่นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตในบางกรณี ในขณะที่คุณไปประกาศเรื่องการตรากฎหมายว่าต้องเคารพหลักสัดส่วน ความพอสมควรแก่เหตุ แต่พอรัฐธรรมนูญคุณไม่เคารพหลักพวกนี้เลย หลักนิติรัฐ หลักความพอสมควรแก่เหตุมันไม่ถูกนำมาใช้เลย

ในแง่หนึ่งจะเห็นความไม่แฟร์ด้วย พอเป็นฝ่ายการเมืองคุณเล่นเต็มแม็ก ใช้คะแนนเสียงแค่ครึ่งเดียวเอง จริงๆ แล้วตรงนี้เป็นคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเท่านั้นเอง การกำหนดระบบการถอดถอนไว้แบบนี้ในอีกด้านหนึ่งแทบจะแยกแยะ function การอภิปรายไม่ไว้วางใจกับการถอดถอนยากมากด้วย และยังเท่ากับให้วุฒิสมาชิกสรรหาเข้ามามีส่วนร่วมในการถอดถอนอีกซึ่งโดยโครงสร้างเป็นปรปักษ์กันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรื่องนี้แย่มาก สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมอย่างมากในรัฐธรรมนูญ หรือถ้ามองอีกทางหนึ่งถ้าเกิดสมมติฝ่ายรัฐบาลชนะการเลือกตั้งมีคะแนนเสียงท่วมท้น เขาก็อาจถอดถอน ส.ส. ฝ่ายค้านได้ง่ายๆ คุณอาจจะบอกว่าอันนี้เอาไว้กำราบนักการเมือง คำถามก็คือ แล้วทำไมไม่ใช้เกณฑ์เดียวกันกับพวกดำรงตำแหน่งที่เป็นพวกองค์กรอิสระหรือศาลด้วย แล้วทำไมกรรมการยุทธศาสตร์ถึงถอดถอนเขาไม่ได้ด้วย เพราะเขาใช้อำนาจยิ่งกว่า เหนือกว่านักการเมืองหรือรัฐบาลอีก แต่เขาไม่ถูกตรวจสอบ ถอดถอนก็ไม่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกถอดถอนแล้วยังต้องรับผลร้ายทางกฎหมาย

อีกด้านหนึ่งผมรู้สึกว่าพวกฝ่ายประจำพวกตำแหน่งผู้พิพากษา อัยการ เขาก็มีระบบวินัยอยู่แล้วแล้วจะใช้ระบบถอดถอนอีกก็ตลกดี สมมติเขาถูกถอดถอน วุฒิสภาโหวตให้เขาออก ถามว่ายังได้บำเหน็จบำนาญไหมมันไม่มีคำตอบ ทำงานมาตั้งนาน แล้วถูกถอดถอนเพียงเพราะข้อกล่าวหาว่า“ส่อ” ไปในทางนั้นทางนี้แล้วถูกเอาออกด้วยการโหวตทางการเมือง สมมติเคยตัดสินคดีหรืออะไรไปอีกทาง แล้วเจอถอด ไม่มีพรรคพวก เจอเขาแพ็คกันมาถอด

เพราะในทางกลับกัน ส.ว.สรรหา 123 คนก็ถอดผู้พิพากษาได้เลย ถ้ามีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ทำอะไรไม่ถูกใจเขา

ใช่ มันถึง 3 ใน 5 ก็ถอดได้เลย ไหมล่ะ มันเท่าไหร่ 3 ใน 5 ก็ 120 คน แล้วส.ว.สรรหาเท่าไหร่ 123 คน

ส่วนนักการเมืองมันส่งผลย้อนไปถึงมาตรา 108(15) ลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุข้างหลังสี่เหตุตามมาตรา 238 ซึ่งก็ยิ่งตลก เพราะแค่ “ส่อ”ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตเลย

 

บังคับสายน้ำไหลทวนขึ้นฟ้า
แล้วห้ามแก้

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเดิม กรรมาธิการไม่แก้ไขอะไรเลย คือห้ามแก้กับแก้ยากมาก

ปัญหาก็คือ ถ้ามีคนบอกว่าถึงรัฐธรรมนูญนี้มันไม่ดีไม่เป็นประชาธิปไตย แต่รับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลังแล้วกัน เราก็จะไปติดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ยังเหมือนกับร่างแรก สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากสุดเท่าที่เคยมีรัฐธรรมนูญมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มันจะมีทั้งส่วนที่แก้ไม่ได้ มีทั้งส่วนที่แก้แล้วแต่ต้องไปขอประชามติ และส่วนที่แก้โดยใช้คะแนนเสียง 2ใน 3ส่วนที่เขียนให้แก้ไขยากล็อกเอาไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ด้วยว่าอะไรแก้ได้ แก้ไม่ได้

ประเด็นสำคัญคือตรงนี้ องค์กรที่ควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนออกใบอนุญาต พูดอีกทางหนึ่งคือ ต้องมาขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญก่อน ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนบอกว่าตรงไหนที่แก้ได้ ตรงไหนที่แก้ไม่ได้ ตรงไหนที่แก้ได้แต่ต้องเอาไปทำประชามตินะ หรือตรงไหนแก้ได้แบบไม่ต้องทำประชามติ ทั้งหมดนี้อยู่ในอำนาจการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าจะแก้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเองจะทำอย่างไร อาจจะถูกตีความว่าเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองหรือไม่

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการมาเขียนให้เป็นรัฐธรรมนูญ มันคือการเขียนแบบบังคับให้สายน้ำไหลทวนขึ้นฟ้า เขียนผิดหลักการ ใช้กฎหมายบังคับ แล้วทุกอย่างเราจะเห็นว่ามันจะมีคำว่า “ให้ถือว่า” เต็มไปหมด มันผิดธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ มันจะอยู่ได้นานแค่ไหน มันจะบังคับได้นานแค่ไหน ถ้ามันผ่านมาเป็นรัฐธรรมนูญได้

ทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึงบทบาทกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในบทเฉพาะกาล เฉพาะตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวคุมศาลจะมีอำนาจสูงขึ้นมาก องค์กรศาลไม่ถูกปฏิรูปเลย แต่กลับมีอำนาจสูงมาก ควบคุมทั้งหมด

ต่อให้ไม่มีบทเฉพาะกาล ก็มีการล็อกไว้แน่นหนามากๆ ตอนที่เป็นร่างแรก ผมก็เคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า วุฒิสภากับศาลรัฐธรรมนูญอำนาจสูงมาก ตอนที่ไม่มีบทเฉพาะกาลอำนาจก็มากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจินตนาการว่าไม่มีบทเฉพาะกาล โดยระบบปกติธรรมดามันก็มีสภาพของความเป็นรัฐธรรมนูญของพวกอภิชนอยู่แล้ว อำนาจจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และองค์กรอิสระเป็นหลัก ถึงขนาดที่เรียกว่าคุณเป็นคนที่ทรงอำนาจอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ คุณก็เป็น super organ แล้ว

อาจารย์พูดไว้แต่แรกว่าจะมีอำนาจ 3 ระดับ จะมีองค์กรอำนาจพิเศษ ตอนร่างแรกออกมา ผมยังคิดว่าอาจารย์คิดผิด ที่ไหนได้ถูกตอนท้ายจนได้

ผมไม่รู้ว่าเขาคิดมาแล้วตั้งแต่แรกแล้วไม่ยอมปล่อยออกมาหรือว่าผู้มีอำนาจต้องการอย่างนี้แล้วไปบอกตอนหลัง แต่ผมก็มองตั้งแต่แรกว่ามันต้องออกมาแบบนี้แหละ

มันต้องออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ในสภาวะนี้ออกแบบเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โทนในทางการเมืองมันมาทางนี้ตลอดเวลา มันต้องออกแบบให้มีองค์กรแบบนี้จนได้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นองค์กรแก้วิกฤต เพียงแต่ตอนนั้นผมดูไม่ออกว่าจะทำในรูปแบบไหนเท่านั้น แต่ตอนนั้นคิดว่ายังไงมันก็ต้องมี ต้องเป็นโครงสร้างอำนาจ 3 ระดับแน่ๆ คือกดการเมืองไว้ด้านล่างสุด แล้วเอาพวกองค์กรอิสระ ศาล คุมฝ่ายการเมือง แล้วในภาวะวิกฤตมันต้องมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาอยู่สูงสุด เพราะความ panic ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านในหมู่ชนชั้นนำสูงมาก ผมถึงประเมินแบบนั้น

เราเปลี่ยนผ่านตามรัฐธรรมนูญแบบธรรมดาไม่ได้หรือ

ทำไมจะไม่ได้ ผมนึกไม่ออกเลยทำไมจะไม่ได้ มันต้องเป็นแบบนี้ด้วยหรือ มันเป็นแบบที่คนอื่นเขาเป็นโดยกลไกธรรมดาไม่ได้หรือ แม้แต่อำนาจยามวิกฤต ผมไม่ได้บอกว่าอำนาจยามวิกฤตมีไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ ทุกประเทศเราเปรียบรัฐเหมือนกับร่างกาย เหมือนกับชีวิต ชีวิตเราก็มีชีวิตยามปกติธรรมดา กับชีวิตในยามฉุกเฉิน ทุกคนต้องเผชิญกับชีวิตในยามฉุกเฉิน เราก็อาจจะใช้ชีวิตในยามฉุกเฉินต่างไปจากชีวิตในยามปกติธรรมดาอยู่บ้าง แต่เวลาเราใช้ชีวิตไม่ว่าธรรมดาหรือฉุกเฉินมันมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เราต้องทำเหมือนกัน

ยามวิกฤต” ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญคืออะไร

ก็อาจจะเป็นสถานการณ์ที่ต้องป้องกันตนจากการถูกคุกคาม สถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติอย่างรุนแรง อะไรทำนองนี้จริงๆ ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วในทางประชาธิปไตย เขากังวลเรื่องอำนาจในยามวิกฤตและยามฉุกเฉิน คือในทางตำรา ในทางนิติศาสตร์ เขาบอกว่าชั่วโมงวิกฤตหรือชั่วโมงฉุกเฉิน คือชั่วโมงของฝ่ายบริหาร คล้ายๆ ว่าในยามวิกฤต อำนาจในทางบริหารจะต้องโดดเด่นขึ้นมาเหนืออำนาจส่วนอื่นทันที และมันจะลดทอนอำนาจส่วนอื่นลงไป เพราะฉะนั้นเขาต้องคุม

อย่างในเยอรมนี มันมีปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญไวมาร์ ซึ่งให้อำนาจฉุกเฉินกับประธานาธิบดีมาก จนในที่สุดเป็นช่องทางทำให้เยอรมันไปสู่ความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ อำนาจฉุกเฉินที่อยู่ในรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นตัวที่ทำลายรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งที่จริงมันมีระบบประกันสิทธิเสรีภาพเอาไว้ดีพอสมควร กลไกมันก็ดีทีเดียวรัฐธรรมนูญไวมาร์แต่ที่มันกลายเป็นแบบนั้นเพราะว่า คนใช้อำนาจมัน abuse อำนาจ

รัฐบาลยุคนี้อำนาจต้องเยอะ เพราะมีทั้งภัยพิบัติ เหตุร้าย ฉะนั้นการบริหารต้องใช้ความรวดเร็วอำนาจตัดสินใจทันที เมื่ออำนาจพวกนี้เยอะแล้วเราจะทำไงให้มันถ่วงกัน

การถ่วงกันก็มีกลไก แต่เราต้องนึกก่อนว่า กรณีที่ปกติธรรมดา เวลามีเรื่องเกิดขึ้น รัฐต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการแก้ปัญหา บางทีกฎหมายไม่พอรัฐสภาก็ต้องออกกฎหมาย ทีนี้ยามวิกฤตหรือยามฉุกเฉินบางทีการไปรอกฎหมายจากสภาไม่ทัน มันก็คิดกลไกที่ว่าทำอย่างไรให้ใช้อำนาจยามฉุกเฉินได้อย่างเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่ถ่วงดุลอยู่หรือมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่ ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาก็มีระบบ เช่น มีตัวแทนของสภามาร่วมใช้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีในยามฉุกเฉิน บางประเทศให้อำนาจยามฉุกเฉินแก่ประธานาธิบดีแต่ต้องขอคำแนะนำจากองค์กรอื่นที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยก่อนใช้อำนาจ เช่น หารือนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ อย่างน้อยมันถูกถ่วงดุลโดยองค์กรอื่น

เครื่องมือของเรา เราก็มีพระราชกำหนดอยู่ ไม่ใช่ไม่มี จริงๆ อันนี้ไม่ใช่เรื่องวิกฤตหรือฉุกเฉินแต่เป็นเรื่องการเมือง เอาจริงๆ วิกฤตหรือฉุกเฉินนี่ถามว่าใครล่ะที่เป็นคนทำให้วิกฤตหรือฉุกเฉินบานปลาย คำถามก็คือว่าโดยเหตุที่เราไม่มีหลักที่เรียกว่า The Supremacy of the Civilian Government ใช่ไหม จึงทำให้กลไกของรัฐไม่ดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย และทำให้ภาวะฉุกเฉินมันบานปลายออกไป ถูกไหม เราไม่พูดกันตรงนี้

คำถามคือ ใครที่เป็นคนทำให้กลไกที่บังคับใช้ที่ควรมีประสิทธิภาพไม่มีประสิทธิภาพ ใครเป็นคนทำแบบนั้น แล้วคนกระทำแบบนั้นกลับได้ประโยชน์จากการทำแบบนั้นหรือเปล่าในที่สุด นี่เป็นคำถามที่เราควรจะต้องตั้ง ไม่ใช่โยนว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองจัดการไม่ได้ แต่คำถามก็คือว่าถ้าคุณเป็นนักการเมืองแล้วคุณคุมกลไกในการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ไม่ฟัง แล้วมันจะแก้ยังไง เทวดาจะแก้ได้เหรอ

Point จึงไม่ใช่ว่าคุมไม่ได้ แต่มันเกิดการกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจ นั่นต่างหาก มันเป็นเพราะอำนาจในทางการเมืองของเรา-ในทางกลับกันเลย มันไม่แข็งพอต่างหาก

นี่เรากลับทิศเลยนะ คนกลับไปคิดว่าอำนาจทางการเมืองเราแข็งมากเกินไป ผมคิดกลับทางเลย อำนาจในทางการเมืองของเราซึ่งหมายถึงอำนาจประชาชน มันไม่แข็งเลย มันจึงคุมกลไกอะไรไม่ได้ และสุดท้ายก็เลยกลายมาเป็นภาพว่าเราจัดการอะไรไม่ได้

ทุกอย่างในประเทศนี้ ระบบตรรกะมันกลับหัวกลับหางหมดเลย

อย่างที่เราเห็นในตัวบท เอาสิ่งซึ่งไม่ถูกในหลักการมาเขียน สิ่งที่มันเคยผิดในอดีตเพื่อบอกว่าสิ่งที่เคยทำผิดมันถูกนะเอามาเขียนในรัฐธรรมนูญ บางอย่างเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรเอามาคุยเลย ผมเห็นคนมาคุยเรื่องระบบการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล ว่าเมื่อก่อนศาลฎีกาตัดสินแล้วอุทธรณ์อะไรไม่ได้ นี่ให้ไปศาลอุทธรณ์ก่อนแล้วค่อยไปศาลฎีกา  หรือระบบของการเปิดให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ฯลฯ

มันไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องมาคุย เพราะเหตุว่ามันเป็นมาตรฐานธรรมดาที่ควรจะต้องมี ไม่ใช่ว่าของในอดีตมันเป็นของเลวแล้วพอมาเขียนอะไรบางอย่างที่ได้มาตรฐานธรรมดา กลับมองว่าเป็นของดี อันนี้คือสภาพของสังคมปกติที่เราเห็น รถล้มคนไปช่วยถ้ามีชื่อเสียงหน่อย ก็แห่แหนปรบมือว่าเป็นคนดี ทั้งที่เป็นน้ำใจมนุษย์ปกติธรรมดาเลยที่ควรจะต้องมี ไม่ใช่เรื่องพิเศษพิสดารอะไรเลย นี่สะท้อนว่าสังคมเรามันไม่ปกติถึงขนาดนั้น

สภาพสังคมแบบนี้มันลงมาถึงตัวกฎหมาย ตัวระบบคิดทั้งหมด แล้วแก้ยากมากเลย ในวงการกฎหมาย ไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะแก้ได้ เพราะมันเพี้ยนมากเลยในเชิงระบบคิด

ก่อนรัฐประหารถ้ามีการใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง ถ้าม็อบไม่ถือว่าตัวเองมีคนหนุนหลัง มันก็ไม่เกิดสภาพแบบนี้

ถูกต้อง ผมถามว่ามันเป็นไปได้ยังไง คนไปเลือกตั้งไปบีบคอเขา ไปขวางเขาไม่ให้เข้าหน่วยเลือกตั้งมันผิดเห็นๆ เอากรวยมาตั้งทำร้ายคน อันนี้รวมทั้งความรุนแรงบางส่วนที่อาจเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน ก็ต้องพูดให้เสมอกัน แต่ถ้าบังคับใช้กฎหมายจริง มันจะมาถึงตรงนี้หรือ เราเริ่มจากอะไรที่มันไม่ถูกทั้งที่เราก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ว่าคนที่ไม่รู้คือคนที่หรี่ตาข้างหนึ่งเพื่อเอามา support เหตุผลในการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อสุดท้ายจะมาสู่บทเฉพาะกาลนี้เท่านั้น มันไม่แฟร์สำหรับคนส่วนใหญ่

สุดท้ายก็บอกให้เอาทหารไปอยู่เหนือรัฐบาลเสียเพื่อจะได้ไม่เกิดวิกฤต

ภาพมันเป็นแบบนั้น เพราะเขามองว่าเป็นการต่อสู้ คือรัฐธรรมนูญมันไม่ได้เขียนบนพื้นฐานของการวางหลักวางฐานให้กับประเทศ แต่เขียนบนฐานของการมองประชาชนอีกข้างหรืออีกฝ่ายที่ความคิดเห็นทางการเมืองไม่เหมือนตัวเองเป็นปรปักษ์ มันเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนจากหลักคิดแบบนี้ รัฐธรรมนูญที่เขียนจากหลักคิดแบบนี้มันจึงไม่เป็น รัฐธรรมนูญมันเรียกรัฐธรรมนูญไม่ได้ด้วยถ้าจะว่าจริงๆ

นี่ผมก็นึกเล่นๆ ว่าถ้าวันหนึ่งผมมีโอกาสร่างหรือทำรัฐธรรมนูญ มันต้องใช้คำอื่นแทนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” คือกฎหมายที่มันเป็นคุณค่าพื้นฐานร่วมกันของคนในสังคม มันควรจะเรียกใหม่ ไม่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” อีกแล้ว คำมันถูกทำลายไปหมด คือความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย คำมันถูกบิดผันไปหมดแล้วเราทำความเข้าใจกันโดยผ่านคำ นิติรัฐ นิติธรรม ประชาธิปไตย แต่คำเหล่านี้มันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว เราคงไปเปลี่ยนคำทุกคำไม่ได้แต่บางคำอาจจะจำเป็นจริงๆที่จะสร้างขึ้นใหม่ หรือถ้าใช้คำเดิม ก็ต้องทำความหมายที่ถูกต้องแท้จริงให้เป็นความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจให้ได้ ไม่ใช่ผิดเพี้ยนไปเหมือนที่เป็นอยู่

 

ครั้งแรกที่ให้ ‘เจตนารมณ์’ ไว้ตีความ

มาตรา 276 วรรค 2

“ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดส่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ด้วย และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และศาล ใช้เจตนารมณ์ดังกล่าวในการจัดทำและในการวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินั้น”

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเขียนแบบนี้ "ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดส่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ" คือรัฐธรรมนูญนี้มันไม่จบนะ

คือพอรัฐธรรมนูญผ่าน เขาต้องไปทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วก็ต้องทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญส่งไป ซึ่งจะไปบังคับ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และศาล ใช้เจตนารมณ์ดังกล่าวในการจัดทำและในการวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินั้น"

คือคล้ายๆ กับว่า สมมติมีปัญหาว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องมาดูเจตนารมณ์ของคนร่างฯ

จริงๆ เวลาปกติในการตีความกฎหมายเราก็ดู ถูกไหม แต่เราดูหลายอย่างประกอบกัน ไม่ได้ใช้เจตนารมณ์ของคนร่างฯ อันเดียวเป็นตัวกำหนดหรือกำกับ อันนี้ ยังดีที่เขียนไว้เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดทำและในการวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

แล้วมาเขียนเจตนารมณ์ทีหลัง

ยังไม่ได้เขียน เพราะผมยังไม่เห็นเลย ผมก็อยากเห็นอยู่เหมือนกัน ว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนมานี่เจตนารมณ์คืออะไร อันนี้เป็นครั้งแรกที่มี 

 

สังคมลอกคราบ

อาจารย์มองภาพรวมของการเขียนอำนาจผูกมัดไว้ทั้งหมดนี้อย่างไร

การเขียนล็อคอย่างนี้ทำให้ไม่มีทางออกอื่นต้องครองอำนาจไว้ให้ได้ตลอดกาล ถ้าอำนาจเปลี่ยนเมื่อไหร่ ที่เขียนเอาไว้พวกนี้ก็อาจจะต้องถูกลบหมด รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้มาแบบนี้สุ่มเสี่ยงมากๆ ในวันหน้า เพราะมันปิดทางข้างหน้า มันไปในทางที่ต้องลบล้างอย่างเดียว

แต่เขาก็เชื่อว่าสามารถคุมได้

ผมจึงค่อนข้างเชื่อไงว่าถ้าคุมอะไรไปข้างหน้าได้ เขาก็มีโอกาสขยายบทปฏิรูปและการสร้างความปรองดองออกไปเกิน 5 ปี เชื่อหรือว่าเขาจะคืนอำนาจกลับมา มันเคยมีหรือ มันไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ และครั้งนี้ยิ่งชัดเจนมากๆ นี่เอาไว้ทุกเม็ด สะท้อนให้เห็นว่ากลัวมากกับการคืนอำนาจ โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจะคืนอำนาจ หรือถ้าคืนก็คงจะนานมาก ผมตายไปแล้ว เราก็อยู่กันไปอย่างนี้ อยู่กับ คปป.

แต่อันนี้มันคือการเดิมพัน เดิมพันอันแรกคือจะผ่าน สปช.ไหม จากนั้นก็คือประชามติคว่ำไม่คว่ำ ถ้าผ่านได้หมดต่อไปก็คือเดิมพันตัวระบอบด้วย มันแข็งมากๆ ตึงมากๆ เขาไม่รู้หรือว่าทำไม่ได้ หรือรู้แล้วแต่กลัวในการจะลง นอกจากนี้มันยังสะท้อนความกลัวของพวกเนติบริกรด้วย ที่เขียนออกมาขนาดนี้เพราะใช้เทคนิคคำว่า “ให้ถือว่า” เยอะมากในรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่เต็มไปหมด

ผมว่ามันสะท้อนความอับจนและหน้าด้านของคนชั้นกลางไทย ไม่เคยมียุคไหนที่ยอมรับกันหน้าตาเฉยว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็เอาที่ผ่านมาแค่ยอมรับรัฐประหารชั่วคราวแล้วจะกลับสู่ประชาธิปไตย

หลายปีมานี้มันเปลือยความทุเรศของคนได้เยอะมากเลย มองในแง่ดี สังคมที่จะไปสู่สิ่งใหม่มันต้องลอกคราบออก สังคมไทยอยู่ในภาวะของการลอกคราบ ในช่วงนี้เราจะเห็นความวิปริตผิดเพี้ยนเต็มไปหมด ยิ่งเป็นนักกฎหมายยิ่งเห็นเยอะมากๆ เพราะผมเรียนมาด้วย บางทีคนอื่นไม่เห็น ผมเห็น เวลาผมอ่านกฎหมายผมรู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร มันคือความสุดยอดของความวิปลาสมาก แต่เวลาเป็นแบบนี้ผมจะรู้สึกว่ามันเป็นสภาวะที่สังคมต้องเปลี่ยน มันต้องออกมาเพราะมันฝังแบบนี้มานาน เพื่อจะลอกคราบออก สลัดความเลวร้ายทั้งปวงไว้เบื้องหลัง คิดอย่างนี้แล้วเราก็จะมีกำลังใจ เราต้องมีความหวังเสมอ ความเลวร้ายมันต้องผุดออกมาเพื่อไปสู่คุณภาพใหม่

ช่วงนี้เลยเยอะหน่อย อะไรที่เราไม่เคยเห็น เราก็จะได้เห็น บางคนที่เราไม่เคยเชื่อว่าจะเป็นอย่างนี้มันก็ได้เห็นว่าเป็น แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่านานแค่ไหน รู้เพียงว่ามันกำลังเปลี่ยน แต่นี่ก็ 10ปีแล้ว ถ้าเอา 2548เป็นหมุดหมายของจุดเริ่ม ถ้าเอาการเคลื่อนของพันธมิตรฯ เป็นจุดเริ่ม แม้แต่ตัวเราก็รู้อะไรลึกขึ้น ผมถึงบอกว่ามันมีความหวังอยู่ข้างหน้า เพียงแต่สังคมเราถูกกดทับด้วยอำนาจ มันหลงในอะไรบางอย่างนานมาก พอจะเปลี่ยนจึงยากและใช้เวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net