Skip to main content
sharethis

จับทิศทางลงมติ สปช. 'เห็นชอบ' หรือ 'ไม่เห็นชอบ' ร่างรัฐธรรมนูญ - ฝ่ายหนุนเป็น สปช. กลุ่ม กมธ.ยกร่าง รธน. อาทิ ไพบูลย์ นิติตะวัน-วุฒิสาร ตันไชย-บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ฝ่ายโหวตล้มนำโดย สปช. ฝั่งกมธ.ปฏิรูปการเมือง-กฎหมาย โดยชี้ความไม่ชอบมาพลกล 4 จุดในตัวร่าง รวมทั้งเรื่อง “หน้าว่าง” ในส่วนคำปรารภ พร้อมถามถ้าถึงขั้นประชามติ จะเอาเสียงที่ไหนมารับรอง เพราะต้องใช้ 23.5 ล้านเสียง ด้าน 'ดิเรก ถึงฝั่ง' ให้ตัวเลข สปช. ช่วงโค้งสุดท้ายโหวตคว่ำเกินครึ่งสภา

(ซ้าย) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ซึ่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ สปช. ลงมติเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ (ขวา) ดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช.และรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง หนึ่งในฝ่ายที่จะลงมติไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยตอนหลังแสดงความมั่นใจว่าจะได้เสียง สปช. ข้างมากลงมติคว่ำร่างรัฐธรมนูญ (ที่มา: แฟ้มภาพ/เว็บไซต์รัฐสภา [1], [2])

 

6 ก.ย. 2558 - ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จะมีการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. จะพิจารณาอีก 2 เรื่องคือ เสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง และญัตติเรื่องการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้เสนอประเด็นในการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรคสี่และวรรคห้า (เว็บไซต์รัฐสภา, 4 ก.ย. 2558)

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ที่หาก (1) สปช. ข้างมากลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปคือการลงประชามติของประชาชนโดย กกต. กำหนดวันลงประชามติในวันที่ 10 ม.ค. 2559

โดยหลังการลงมติ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะสิ้นสุดลง จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งสมาชิก "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" จำนวน 200 คน ทำหน้าที่ดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้สมาชิก สปช. จำนวนมากจะลงมตเห็นชอบรัฐธรรมนูญ โดยที่คาดหมายว่าจะได้ไปดำรงตำแหน่งใน "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ต่อเนื่อง

(2) หาก สปช. ข้างมากลงมติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ชื่อว่า "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" จำนวน 21 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แล้วเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ

โดยการลงมติของ สปช. ในวันอาทิตย์นี้นั้น คาดหมายว่าเสียงจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ เนื่องจากความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันหลังจากเห็นร่างรัฐธรรมนูญ

 

สปช. กลุ่มหนุนร่างรัฐธรรมนูญ - นำโดย สปช. ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 19 คน ในจำนวนนี้มีทั้ง พล.อ.เอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช, วุฒิสาร ตันไชย, คำนูณ สิทธิสมาน, เอนก เหล่าธรรมทัศน์, จรัส สุวรรณมาลา, ไพบูลย์ นิติตะวัน, สุภัทรา นาคะผิว, บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, ชูชัย ศุภวงศ์ ฯลฯ ขณะที่ ทิชา ณ นคร อดีต สปช. และไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ลาออกไปแล้วก่อนหน้านี้

 

บัณฑูรย้ำมี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" เหมือนมีถังดับเพลิงไว้ใช้ยามวิกฤต

ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคน แสดงความเห็นสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผย เช่น บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ยกข้อดีของการมี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" ว่าเหมือนมี "ถังดับเพลิงเอาไว้ใช้ในยามวิกฤต ถ้าไม่เกิดเหตุก็เป็นเรื่องดี เพราะจะดีกว่าที่เราจะหยิบถังดับเพลิงมาใช้" (แนวหน้า, 30 ส.ค. 2558)

ส่วนไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และ กมธ.ยกร่างยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ยืนยันว่า กมธ.ยกร่าง ที่เป็น สปช. มีสิทธิลงมติต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากมีผู้ไปยื่นต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำเนินการวินิจฉัย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น สปช. ว่าสามารถลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. ได้หรือไม่ โดยไพบูลย์เชื่อว่า เป็นการดำเนินการของขบวนการเกี่ยวข้องกับการล้มร่างรัฐธรรมนูญ และขบวนการนี้ไม่ใช่บุคคลใน สปช. แต่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (ASTVผู้จัดการออนไลน์, 31 ส.ค. 2558)

ส่วน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และยังเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ระบุว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทำงานกันอย่างหนัก และพร้อมรับทุกการตัดสินใจของ สปช. เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย (เดลินิวส์, 4 ก.ย. 2558)

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รอชง "รัฐบาลปรองดอง" ไร้ฝ่ายค้าน-ลดขัดแย้ง

โดยในกลุ่ม สปช. ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอในที่ประชุม สปช. ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ สปช. ก็จะถามความเห็นประชาชนว่าต้องการให้ 5 ปีแรก หลังการเลือกตั้ง มีรัฐบาลผสมเพื่อการปฏิรูปและสร้างความปรองดองหรือไม่ หากประชาชนต้องการ รัฐบาลต้องได้รับเสียงสนับสนุนของสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียง 4 ใน 5 ซึ่งจะทำให้มีรัฐบาลที่ประกอบด้วย ฝ่ายค้าน 90 คน ฝ่ายรัฐบาล 360 คน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง และลดความขัดแย้งภายในรัฐบาล (เว็บไซต์รัฐสภา, 13 ส.ค. 2558)

 

อ้างมีเสียงท่วมท้น สปช. จะโหวตรับ 190-200 เสียง

ทั้งนี้ ยังไม่มีตัวเลขของ สปช. ที่จะลงมติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สิระ เจนจาคะ สปช. รายหนึ่ง อ้างว่าจากที่ได้พูดคุยกับ สปช. หลายท่านเชื่อว่าจะมี สปช.โหวตรับร่าง 190-200 คน หรือ 4 ใน 5 ของจำนวน สปช. 250 คน โดยสิระยังอ้างว่าคนที่คว่ำมีอยู่น้อยมาก เป็นกลุ่มคนเดิม ๆ ที่มีธงจะคว่ำตั้งแต่ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ โดยเขายังกล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนจดจำกลุ่ม สปช. และนักการเมืองที่ประกาศจะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากลงเลือกตั้ง ส.ส. ขอให้ประชาชนพิจารณาคนกลุ่มนี้ด้วย (เดลินิวส์, 2 ก.ย. 2558)

 

สปช.อีกกลุ่มจะไม่รับ 'วันชัย สอนศิริ' บอกร่าง รธน. มีตำหนิเหมือนกลัดกระดุมผิด

ขณะที่ สปช. อีกกลุ่มคือกลุ่มที่จะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นมาเมื่อเดือนมิถุนายน เมื่อ วันชัย สอนศิริ เลขานุการวิป สปช. ระบุว่าเขาเชื่อว่า สปช. จะไม่ยอมให้รัฐธรรมนูมีตำหนิ หลังจากที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ สปช. เสนอไปแก้ไขทั้งหมด เชื่อว่า สปช. จะลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญ โดยเขาอ้างว่าหลังจากแลกเปลี่ยนความเห็นกับ สปช. ทั้งส่วนกลางและกลุ่มจังหวัดต่างเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้กลัดกระดุมผิดตั้งแต่ต้นจึงมีรอยตำหนิให้เห็น หาความพอดีไม่ได้ กระบวนการควรเริ่มขึ้นใหม่คือการประสานกัน ดังนั้นการตัดเสื้อผ้าใหม่น่าจะดีกว่าการมาปะชุน จึงเชื่อว่าจะมีการคว่ำรัฐธรรมนูญ (ประชามติ, 16 มิ.ย. 2558)

โดยวันชัย แถลงข่าวอีกครั้งในวันที่ 23 ส.ค. ระบุว่า หลังจากได้พิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว พบว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ จึงยังคงจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิก สปช.อีกหลายคน ที่มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เนื่องจากบางคนยังต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน (สำนักข่าวไทย, 23 ส.ค. 2558)

และในวันที่ 1 ก.ย. วันชัย ยังแถลงด้วยว่าจากการปรึกษาหารือกับกลุ่ม สปช. ที่จะลงมติไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญ ที่กลุ่มรับไม่ได้คือมีพิษและเชื้อร้ายซ่อนอยู่ในตัวของร่างรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดวิกฤติกับประเทศ มีความขัดแย้งแตกแยกระหว่างองค์กร โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและผู้มีอำนาจที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองต่อไป

และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช. และนำไปทำประชามติ วันชัยระบุว่าจะเกิดความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และจะมีผู้สร้างกระแสโจมตีว่า คสช. จะสืบทอดอำนาจ “ทั้งนี้หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศต้องเสียเงินฟรี 3-4 พันล้านบาท และยังเกิดแรงกระเพื่อมจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย และมีแนวโน้มว่าอาจเป็นชนวนปลุกระดมประชาชนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาขับไล่ คสช. เพราะมีกลุ่มบุคคลที่หวังจะฉวยโอกาส ทำให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น โดยอ้างความไม่พอใจพร้อมกับเงื่อนไขที่ประชาชนปฏิเสธรัฐธรรมนูญ" วันชัย กล่าว (สำนักข่าวไทย, 1 ก.ย. 2558)

 

กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กฎหมาย ติงร่าง รธน. มีปัญหา 4 ประเด็น ซ้ำ 'คำปรารภ' มีแต่หน้าว่าง

อีกความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่รัฐสภาคือในวันที่ 24 ส.ค. กรรมาธิการ 2 ชุดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้แก่ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อุดม เฟื่องฟุ้ง และนิรันดร์ พันทรกิจ ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการประชุมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการ สปช. 2 ชุด ระบุว่าประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหามี 4 ประเด็น ได้แก่

"1. ความแล้วเสร็จของร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในหน้าของคำปรารภยังไม่มีข้อความใดๆ ปรากฏ ทั้งนี้จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์หรือไม่หลังจากนี้จะทำหนังสือถึง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้นำปัญหาในประเด็นนี้ส่งคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้สมบูรณ์แล้วหรือไม่

2. ประเด็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้อำนาจของการบริหารประเทศ และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในภายหน้า

3. ในเรื่องของที่มาสมาชิกวุฒิสภา ส่วนของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกนั้นห้ามมิให้สังกัดพรรคการเมือง เห็นว่าขัดแย้งกันเองกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลับสกัดไม่ให้คนดีมีความรู้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

4. ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังไม่มีกลไก ที่จะทำให้มีการเลือกตั้งที่ โปร่งใสได้ดีขึ้น ในส่วนของระบบการเลือกตั้งที่เป็นสัดส่วนผสม จะไม่มีพรรคใดที่ได้เสียงเกินครึ่ง และจะนำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไม่มีเอกภาพ" (เว็บไซต์รัฐสภา, 24 ส.ค. 2558)

 

'ดิเรก ถึงฝั่ง' ให้ตัวเลข สปช. โหวตคว่ำช่วงโค้งสุดท้ายเกินครึ่งสภา

ขณะเดียวกัน ดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช.และรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เริ่มแสดงความมั่นใจว่าจะได้เสียง สปช. ลงมติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ

โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.เขาระบุว่า กระแสไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ เพราะเริ่มมีสมาชิก สปช. เห็นคล้อยตามกับ กมธ.ปฏิรูปการเมืองและ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ลและมี สปช. สายนักวิชาการ นักกฎหมาย และข้าราชการ จำนวน 50 คน ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

และมีกลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย และข้าราชการบางส่วนเริ่มหันมาไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้กลุ่ม สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 90 เสียงแล้ว ถือว่าคะแนนเริ่มไล่ขึ้นมาสูสีกับ สปช.กลุ่มที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายดิเรกจะรอดูกลุ่มกลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย จะเทเสียงให้กับการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหมดทุกคนหรือไม่ รวมถึง สปช.กลุ่มที่ยังลังเล ไม่ตัดสินใจอีกจำนวนหนึ่งว่าจะลงมติอย่างไร ถ้ากลุ่มเหล่านี้หันมาเทคะแนนไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรมนูญ ก็เป็นไปได้ที่คะแนนไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญจะพลิกกลับมาเอาชนะได้ (ไทยรัฐ, 1 ก.ย. 2558)

โดยก่อนการลงมติ 1 วัน ดิเรก ยังให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ ระบุว่ากระแสโหวตไม่รับตอนนี้น่าจะมีสูงกว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโค้งสุดท้ายน่าจะจบแล้ว เรื่องการล็อบบี้เพื่อลงคะแนน ทราบว่ามีการเคลื่อนไหวลักษณะต่างคนต่างทำ แต่หากกรณีที่คะแนนเสียงโหวตของ สปช. พลิกกลับมาเป็นรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงการประชามติเขาจะไม่เคลื่อนไหวอะไร เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองมีปัญหา แต่จะพยายามอธิบายให้สังคมรับรู้ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าเมื่อไปถึงขั้นตอนการลงประชามติจะไม่ผ่านถ้า 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่เอาด้วย (มติชน, 5 ก.ย. 2558)

ขณะเดียวกัน "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ระบุว่า มีรายชื่อ สปช. ทั้งสิ้น 147 คน ที่มีแนวโน้มไม่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจของ คสช. (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 5 กันยายน 2558)

 

ด่านต่อไปคืออุปสรรคจาก รธน.ชั่วคราว “ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก” 23 ล้านเสียง

อย่างไรก็ตามแม้ผลการลงมติ สปช. จะเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ แต่ด่านต่อไปในขั้นตอนการลงประชามติ อุปสรรคกลับเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1)" มาตราที่ 37 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติว่า ต้องเป็น “ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก” เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ใช้ คำว่า “ผู้ออกเสียงประชามติ” ทำให้ต้องใช้เสียงถึง 23.5 ล้านเสียงเพื่อเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยตัวบทมาตรา 37 วรรค 7 ระบุว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ”

นิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ฝั่งกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดประเด็นเรื่องเสียงข้างมากของ “ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ” ซึ่งต้องใช้เสียงถึง 23.5 ล้านเสียง รับรองรัฐธรรมนูญ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา)

จากกรณีนี้ นิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ซึ่งเป็นกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การคำนวณในการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิ์” ไม่ใช่ “ผู้มาใช้สิทธิ์” ซึ่งขณะนี้ “ผู้มีสิทธิ์” มีจำนวน 47 ล้านคน หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านต้องได้เสียง 23.5 ล้านเสียง หากเทียบกับผลประชามติเดิมเมื่อปี 2550 พบว่า มีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพียง 14 ล้านเสียงเท่านั้น ดังนั้น ถ้าใช้ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้จะเป็นเรื่องยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ เนื่องจากสองพรรคการเมืองใหญ่ก็ออกมารณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามว่าจะเอา 23 ล้านเสียงมาจากไหน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ (เว็บไซต์รัฐสภา, 2 ก.ย. 2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net