Skip to main content
sharethis
ยูนิเซฟจัดงานเสวนา “สร้างเด็กยุคใหม่ ด้วยวินัยเชิงบวก” จับมือพันธมิตรสื่อออนไลน์และบล็อกเกอร์พ่อแม่สร้างเครือข่ายยุติความรุนแรงต่อเด็ก ชูแนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง”
 
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูนิเซฟ’ จับมือเครือข่ายพันธมิตรสื่อออนไลน์และ บล็อกเกอร์เพจบนโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่และเด็ก จัดงานเสวนาในหัวข้อ “สร้างเด็กยุคใหม่ ด้วยวินัยเชิงบวก” เชิญชวนสังคมไทยร่วมสานต่อโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยมีแพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลบีเอ็นเอชและโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมแขกรับเชิญตัวแทนพ่อแม่ยุคใหม่ ได้แก่ พอลล่า เทย์เลอร์ และเปิ้ล - นาคร ศิลาชัย มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก พร้อมทำปฏิญญายุติความรุนแรงต่อเด็ก ตลอดจนเผยแพร่แนวคิดและเทคนิค “การใช้วินัยเชิงบวก” เป็นทางเลือกสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลาน 
 
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  ยูนิเซฟได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กภายใต้แนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง”  ซึ่งมุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็กซึ่งผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึง และหันมาปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมโดยหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี  โครงการนี้ได้เผยแพร่สปอตรณรงค์ความยาว 30 และ15 วินาทีทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ www.endviolencethailand.org และทางโซเชียลมีเดียพร้อมแฮชแทก #ENDviolence บนอินสตาแกรมของดาราและเซเลบริตี้ที่ร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุน
 
และเมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟยังได้เผยแพร่ภาพยนตร์สำหรับเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ “คุณกำลังทำร้ายหัวใจลูกรักอย่างรุนแรงอยู่หรือไม่?” ความยาว 6 นาที โดยจำลองเหตุการณ์ของแม่คนหนึ่งกำลังดุด่าลูกอย่างรุนแรงในร้านอาหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ภาพยนตร์ชิ้นนี้ต้องการสื่อถึงความรุนแรงที่เด็กต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ซึ่งกระทำโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยอาจทำไปเพราะรักหรือไม่รู้ตัว แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางจิตใจของเด็กอย่างคาดไม่ถึง ตลอดจนยังให้ข้อคิดและคำแนะนำดีๆ ในการเลี้ยงลูกจากหนูดี วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมองอีกด้วย 
 
นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน “แต่ยังมีพ่อแม่หลายคนมองว่าการตีหรือการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นวิธีการฝึกวินัยที่ได้ผล แต่ในความจริงแล้ว ความรุนแรงสามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพ่อแม่สามารถใช้ทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการฝึกวินัยแก่เด็กโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเลย” 
 
การศึกษาหลายชิ้นซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟ สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงต่อเด็กในทุกช่วงวัยยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทย ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน รวมถึงสถานเลี้ยงดูเด็ก และทัณฑสถานเด็ก* โดยเด็กกว่าร้อยละ 50 ถูกลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากพ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแลใกล้ชิด ตั้งแต่การถูกตีหัว ถูกตีด้วยไม้ ถูกบิดหู บางรายถูกลงโทษรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเด็กๆ มักจะถูกลงโทษบ่อยขึ้นเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐจำนวน 631 แห่งในปี 2556 พบว่ามีเด็กถูกกระทำรุนแรงสูงกว่า 19,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 52 คน  
นอกจากนี้รายงานของยูนิเซฟ พบว่า เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต  ทั้งมีอาการวิตกกังวล เสียใจ เสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ้นหวัง จนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย  นอกจากนี้ ยังมักมีปัญหาในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนเสี่ยงต่อการเป็นผู้กระทำรุนแรงเสียเองในอนาคต**
  
แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลบีเอ็นเอชและโรงพยาบาลสมิติเวช 
ศรีนครินทร์ กล่าวว่า การเลี้ยงดูเด็กด้วยวินัยเชิงบวก คือ การสอนให้เด็กมีวินัยและพฤติกรรมที่เหมาะสม เป็นการฝึกฝนโน้มน้าวให้เด็กเข้าใจด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ หลักการง่ายๆ ของการใช้วินัยเชิงบวกคือ การใช้ ‘ด้านบวก’ ในการปลูกฝังลูกให้ดำเนินชีวิตไปภายใต้กรอบกติกาที่มีการตกลงกันภายในครอบครัว ซึ่งทั้งพ่อและแม่จะต้องหนักแน่นและจริงจังกับการปฏิบัติตามกติกานั้น พร้อมทั้งมีเหตุผลรองรับและมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องใช้เวลากับลูกและทำตัวเป็นตัวอย่าง หรือ ‘โมเดล’ ให้ลูกเห็น รวมถึงให้ความเข้าใจและคอยอยู่เคียงข้างลูกอยู่เสมอในการข้ามผ่านปัญหาต่างๆ 
 
“พ่อแม่รุ่นปัจจุบัน คือผลผลิตจากการถูกทำโทษด้วยการตี การดุด่าว่ากล่าวอย่างคนไทยในสมัยก่อน จึงมักมองว่าการใช้ความรุนแรงกับลูกถือเป็นเรื่องธรรมดา ในส่วนนี้หมอขอเน้นว่าการตีลูกหรือการใช้กำลังอาจจะทำให้ลูกกลัวแค่ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นเด็กจะเกิดการต่อต้านขัดขืน ซึ่งบางรายอาจแสดงออกทางกาย และบางรายอาจเก็บสะสมไว้จนเกิดปมในจิตใจ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่หาย การทำโทษลูกด้วยวิธีนี้จะมีส่วนทำลายสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจะเป็นสาเหตุให้เด็กเกิด
ความห่างเหินกับพ่อแม่ได้ในที่สุด” แพทย์หญิงเสาวภากล่าว
 
นอกจากการเสวนาครั้งนี้แล้ว ยูนิเซฟจะจัดกิจกรรมตอบคำถามแบบสด หรือ Live Chat บน Facebook ขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) หรือ facebook.com/unicefthailand ทุกวันเสาร์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตอบคำถาม    เพื่อไขข้อข้องใจของพ่อแม่และผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้วินัยเชิงบวกกับลูกอย่างถูกต้อง กิจกรรมนี้จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2558 เวลา 10.00 – 12.00 น. โดยแพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามตารางเวลาการตอบคำถามและรายนามผู้เชี่ยวชาญได้ที่ Facebook ของ UNICEF Thailand และสามารถชมภาพยนตร์ “คุณกำลังทำร้ายหัวใจลูกรักอย่างรุนแรงอยู่หรือไม่?” ได้ที่ http://www.youtube.com/unicefthailand หรือตามลิงค์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=CszdSPsV5h0
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net