อุกกาบาตขนาด 'ลูกไฟ' พุ่งใส่โลก 5 แสนครั้งต่อปี - เพียงแต่เราไม่ทันเห็น

สมาคมดาราศาสตร์ไทยเผย "ลูกไฟ" ในช่วงเช้าวันนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเป็นดาวตกแบบสะเก็ดดาวพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่สมาคมอุกกาบาตอเมริกันระบุว่าในปี 2557 มีผู้พบเห็นอุกกาบาตขนาด "ลูกไฟ" 3,751 ครั้ง และเป็นไปได้ว่าปีหนึ่งๆ เกิดอุกกาบาต "ลูกไฟ" นับ 5 แสนครั้ง แต่ที่ไม่ถูกบันทึกเนื่องจากเกิดในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัย

ปรากฏการณ์อุกกาบาตขนาด "ลูกไฟ" ที่มองเห็นในกรุงเทพมหานคร และหลายพื้นที่ของประเทศวันนี้ ในคลิปเริ่มต้นที่วินาทีที่ 00:28 (ที่มา: คลิปของคุณ Porjai Jaturongkhakun/YouTube)

7 ก.ย. 2558 - จากปรากฏการณ์ที่มีผู้พบเห็นลูกไฟสว่างบนท้องฟ้า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เวลา 08.40 น. โดยมีรายงานว่ามองเห็นได้จากหลายพื้นที่ทั้ง กรุงเทพมหานคร อุทัยธานี และกาญจนบุรีนั้น

ต่อมาในเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย "วรเชษฐ์ บุญปลอด" กรรมการวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้เผยแพร่บทคความ "ปรากฏการณ์ลูกไฟสว่างบนท้องฟ้า" ระบุว่า จากปรากฏการณ์ลูกไฟสว่างบนท้องฟ้าดังกล่าวนั้น "จากข้อมูลที่รวบรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคลิปวิดีโอ ลักษณะที่ปรากฏโดยเห็นพุ่งเป็นทางยาวและมีความเร็วสูง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่เกิดจากสะเก็ดดาวหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กพุ่งเข้าสู่บรรยากาศ ลักษณะคล้ายปรากฏการณ์เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558 แต่ครั้งนี้น่าจะเกิดจากสะเก็ดดาวที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากสว่างจนเห็นได้ในเวลากลางวัน"

"ดาวตกเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนใหญ่ดาวตกที่เราเห็นในเวลากลางคืนเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดเล็ก นาน ๆ จึงจะมีสะเก็ดดาวขนาดใหญ่เข้ามา ซึ่งยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งสว่าง ประกอบกับการที่พื้นโลกเป็นพื้นน้ำถึง 3 ใน 4 และคนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่กระจายทั่วทั้งโลก ทำให้ดาวตกที่สว่างมากส่วนใหญ่เกิดในบริเวณห่างไกลจากผู้คน หากบังเอิญมาตกในเขตเมืองใหญ่ ก็ทำให้มีโอกาสที่คนจำนวนมากสามารถมองเห็นได้ ส่วนสาเหตุที่เห็นได้เป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากดาวตกอยู่สูงจากพื้นโลกราว 50-100 กิโลเมตร"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า อนึ่ง ในวิกิพีเดีย คำว่า อุกกาบาต (Meteor) หรือที่เรียกกันว่า "ดาวตก" (Shooting Star) หมายถึง การพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกของ สะเก็ดดาว (Meteoroid) ละอองดาว (micrometeoroid) ดาวหาง (comet) หรือ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) โดยเกิดการเผาไหม้จากการเสียดสีกับอนุภาคของอากาศในชั้นบรรยากาศที่อยู่ระดับสูง และทำให้วัตถุที่เป็นองค์ประกอบของอุกกาบาตเกิดเปล่งแสง และเพียงพอที่จะทำให้เกิดแสงที่มองเห็นได้ โดยอุกกาบาตมักลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศช่วงมีโซสเฟียร์ ตั้งแต่ความสูง 76 ถึง 100 กม.

โดยในแต่ละวันมีอุกกาบาตเป็นล้านชิ้นที่พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก แต่สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดอุกกาบาตมีขนาดประมาณเม็ดทรายเท่านั้น บางทีก็เกิดขึ้นในรูปแบบฝนดาวตก เมื่อโลกโคจรผ่านเศษละอองของดาวหาง

ทั้งนี้อุกกาบาตจะเริ่มมองเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 75 ถึง 220 กม. จากพื้นผิวโลก และจะเริ่มแตกกระจายเมื่อตกลงมาถึงระยะ 50 ถึง 95 กม. โดยอุกกาบาตตกทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ที่มองเห็นในตอนกลางคืนมากกว่าเป็นเพราะช่วงกลางคืน ความมืดทำให้วัตถุที่มีแสงสว่างน้อยปรากฏเห็นชัด โดยที่แสงที่เกิดจากการลุกไหม้เสียดสีกับอากาศของอุกกาบาตเกิดขึ้นกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" (fireball) ซึ่งใช้เรียกอุกกาบาตที่มีความสว่างมากกว่าอุกกาบาตทั่วไป โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) นิยามว่า "ลูกไฟ" หมายถึงอุกกาบาตที่มีแสงสว่างบนท้องฟ้ากว่าดาวเคราะห์

อุกกาบาตขนาด "โบไลด์" ที่ตกในบริเวณแถบเทือกเขาอูราลของรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 (ที่มา: วิกิพีเดีย/RT)

ขณะที่หากอุกกาบาตแบบลูกไฟ มีความสว่างระดับเดียวกับพระจันทร์เต็มดวง ก็จะเรียกว่า "โบไลด์" (bolide) อย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2556 มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร มีมวลราว 12,000 เมตตริกตัน เคลื่อนผ่านท้องฟ้าเหนือเมืองเยกาเตรินเบิร์กและเทือกเขาอูราลในแคว้นเชลยาบินสก์ของรัสเซีย ก่อนเกิดการปะทุขึ้นและมีชิ้นส่วนตกลงในทะเลสาบเมืองเชบากูล สร้างเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนทำให้กระจกอาคารแตก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,491 คน และมีอาคารได้รับความเสียหายราว 7,200 แห่ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) (ข้อมูลในวิกิพีเดีย)

ทั้งนี้ในปี 2557 สมาคมอุกกาบาตอเมริกัน (American Meteor Society) บันทึกว่ามีผู้เห็นอุกกาบาตแบบ "ลูกไฟ" เกิดขึ้นกว่า 3,751 ครั้ง ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าปีหนึ่งๆ เกิดปรากฏการณ์ "ลูกไฟ" นับ 500,000 ครั้งในแต่ละปี แต่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการบันทึกเนื่องจากไปเกิดในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัย รวมทั้งมหาสมุทร และอีกครึ่งหนึ่งก็ไปเกิดในช่วงกลางวัน

สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า ลูกอุกกาบาตมักมีลักษณะแปลกแยกไปจากก้อนหินก้อนอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน โดยทั่วไปมักมีสีคล้ำไหม้เกรียม เนื่องมาจากความร้อนจากการเสียดสีขณะที่พุ่งฝ่าบรรยากาศของโลกเข้ามา และอาจพบรอยริ้วเล็กๆ บนผิวหน้าด้วย

ทั้งนี้เมื่อเจอก้อนหินเหล่านี้ ให้ลองยกก้อนหินนั้นดู หากมีน้ำหนักมากผิดปกติก็เป็นสิ่งบ่งบอกว่าหินก้อนนั้นเป็นลูกอุกกาบาตได้เหมือนกัน เพราะว่าลูกอุกกาบาตส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของเหล็ก เราอาจทดสอบหาเหล็กในก้อนหินโดยใช้แม่เหล็กก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท