แรงงานข้ามชาติชนะคดีศาลปกครองสูงสุด ถอนหนังสือสปส.เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรณีกำหนดแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

9 ก.ย.2558 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เผยแพร่ใบแจ้งข่าวระบุ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีระหว่างนายโจ (ไม่มีนามสกุล) ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 3 คน กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และพวกรวม 3 คน กรณีการออกหนังสือที่ รส.0711/ว 751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่อง การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนหนังสือของ สปส. โดยมี

สาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

1. ศาลปกครองสูงสุด ยืนยันในหลักกฎหมายที่ว่า กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองลูกจ้างทุกคนที่ประสบอันตราย ทุพพลภาพ สูญหาย หรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือเจ็บป่วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง จึงได้มีการจัดตั้ง “กองทุนเงินทดแทน” เพื่อเป็นทุนและหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างที่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้างทุกคน ซึ่งเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยหาได้แบ่งแยกหรือจัดจำพวกลูกจ้างแต่ประการใดไม่

2. ศาลปกครอง เห็นว่า แม้จะปรากฏว่ามี คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายลักษณะ โดยจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

(1) แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย แบ่งเป็น (1.1) แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ โดยเป็นแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลพม่า ลาว และกัมพูชา โดยจะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคล และมีใบอนุญาตทำงาน (1.2) แรงงานต่างด้าวที่ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ และ (1.3) แรงงานต่างด้าวตามความในม. 9, ม. 12 และม. 14 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2551

(2) แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แบ่งเป็น (2.1) แรงงานต่างด้าวตาม ม.13 วรรคหนึ่ง (2) พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว 2551 ได้แก่ แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศและอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี และ (2.2) แรงงานต่างด้าวตาม ม.13 วรรคหนึ่ง (1) (3) (4) และ (5) พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าวฯ

(3) แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและหลบซ่อนโดยไม่แสดงตัว เพื่อขอรับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ และไม่ขอรับอนุญาตทำงานชั่วคราว

3. แรงงานต่างด้าวที่รัฐได้จัดทำฐานข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดที่ต้องการอื่นๆ เพื่อความมั่นคงของประเทศไว้แล้ว ย่อมเป็นข้อมูลที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะสามารถนำมาใช้เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน จึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537

4. ศาลเห็นว่า การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้าง ตาม ม.44 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ หากนายจ้างไม่ดำเนินการ ต้องรับโทษตาม ม.46ฯ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม มีหน้าที่ตาม ม.47ฯ ที่จะต้องดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น หากนำพฤติการณ์ของนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมาปฏิเสธสิทธิของลูกจ้าง จึงย่อมเป็นการไม่สมเหตุสมผล กรณีจึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5. ศาลเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดให้การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงื่อนไขของการกำหนดสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

6. ศาลเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กำหนดว่า แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนจะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย จึงเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7. ศาลปกครองจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้เพิกถอนหนังสือ รส.0711/ว 751ฯ “เฉพาะในส่วนที่กำหนดว่า แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันมีคำพิพากษานี้....”

ต่อกรณีดังกล่าว นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันถึงสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยพิจารณาในสาระสำคัญว่า แรงงานข้ามชาติก็คือ “ลูกจ้าง” ภายใต้กฎหมายภายในของไทย และยังได้ช่วยตีความการปฏิบัติหน้าที่ของ สปส.ได้ชัดเจนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ศาลปกครองก็ชี้ว่า สปส.มีการกระทำการที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในหลายประเด็น ซึ่งหมายถึงบรรทัดฐานของการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่เฉพาะเพียงผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้เท่านั้น

รายละเอียดคดี

28 มกราคม 2553 นายโจ (ไม่มีนามสกุล) ผู้ฟ้องคดีที่ 1, นายอาวซออู (ไม่มีนามสกุล) ที่ 2 และนายเอา (ไม่มีนามสกุล) ที่ 3 โดยผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อศาลปกครองกลาง

12 พฤษภาคม 2553 ศาลปกครองมีคำสั่งรับฟัง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 167/2553

1 กันยายน 2553 ผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2543 เพื่อให้มีการดำเนินการตาม พรบ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาด (ขอให้ศาลปกครองจำหน่ายคดี เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงาน)

19 ตุลาคม 2553 ศาลปกครองกลางเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

27 กรกฎาคม 2554 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเรียกให้ทำคำคัดค้านคำให้การ
พร้อมกับแจ้งว่า

“คดีนี้ ศาลแรงงานกลาง ได้มีความเห็นที่ 5/2554 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 เห็นพ้องกับศาลปกครองกลางว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง และโดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำคำให้การแก้คำฟ้อง และคำฟ้องเพิ่มเติมแล้ว จึงมีคำสั่งให้รับคำให้การไว้ รวมในสำนวนคดี มีข้อความตามสำเนาคำให้การ และสำเนาพยานหลักฐาน ซึ่งได้ส่งมาให้ทราบพร้อมกับคำสั่งนี้แล้ว”

17 มกราคม 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 167/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 46/2556

16 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้รับมอบอำนาจยื่นอุทธรณ์

17 กรกฎาคม 2557 ศาลกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

9 กันยายน 2558 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา

ทีมทนายความและนักกฎหมาย: สุมิตรชัย หัตถสาร และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (ผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดี), กรกนก วัฒนภูมิ, ญาดา หัตถธรรมนูญ, ปรียาภรณ์ ขันกำเนิด (ทีมนักกฎหมายที่สนับสนุนงานวิชาการในการฟ้องคดี)

ตุลาการเจ้าของสำนวน (ศาลปกครองกลาง) นายเสถียร ทิวทอง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง

ตุลาการผู้แถลงคดี (ศาลปกครองสูงสุด) พันเอก วรศักดิ์ อารีเปี่ยม

ตุลาการเจ้าของสำนวน (ศาลปกครองสูงสุด) นายมนูญ ปุญญกริยากร

องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท