Skip to main content
sharethis

บีบีซีเสนอรายงานเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนงานไร่ชารัฐอัสสัมประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับบริษัทผลิตและจำหน่ายชาชั้นนำในอังกฤษหลายบริษัท โดยมีทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ค่าแรงต่ำมาก ทุพโภชนาการ และมีการใช้แรงงานเด็กในบางกรณี

คนงานในไร่ชา ที่รัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย (ที่มาของภาพประกอบ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

บีบีซีระบุว่าคนงานในไร่ชาเหล่านี้มีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ มีค่าแรงต่ำ ทำให้สภาพชีวิตของพวกเขาและครอบครัวย่ำแย่ไปด้วย พวกเชาล้วนขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อการป่วยไข้ ครอบครัวคนงานเหล่านี้อาศัยอยู่ในบ้านที่ผุพัง มีสุขอนามัยที่ไม่ดี หลายบ้านไม่มีห้องน้ำ คนงานบอกว่าพวกเขาไม่ทางเลือกอื่นนอกจากต้องขับถ่ายตามพุ่มไม้ของต้นชา นอกจากนี้สภาพการจ้างงานยังทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงจากสารเคมี เช่นการให้ฉีดพ่นสารเคมีโดยไม่มีเครื่องป้องกัน ในไร่บางแห่งยังมีการใช้แรงงานเด็กด้วย

ในอินเดียมีกฎหมายบังคับให้เจ้าของกิจการไร่ชาต้องคอยดูแลที่พักอาศัยที่ "เหมาะสม" และดูแลห้องน้ำให้ถูกสุขอนามัยสำหรับคนงาน แต่ที่อยู่ของคนงานไร่ชาก็มีสภาพซอมซ่อไม่ได้รับการซ่อมแซม เช่นมีกำแพงผุ มีลักษณะอับชื้น และมีหลังคารั่ว ห้องน้ำจำนวนมากก็ถูกปิดไม่ให้เข้าหรือไม่ก็พัง ซึ่งคนงานเปิดเผยต่อบีบีซีว่าพวกเขาขอร้องกับฝ่ายบริหารให้มาช่วยดูแลซ่อมแซมบ้านให้พวกเขาหลายครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่มีการซ่อมแซมให้หลังจากผ่านมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้บ้านอีกหลายหลังยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีบางคนต้องดื่มน้ำฝนที่รองจากท่อ

มัคเลาด์ รัสเซล ผู้จัดการไร่ชายอมรับว่ามีงานซ่อมบำรุงที่คั่งค้างอยู่จำนวนมาก โดยไร่ชาของรัสเซลมีเจ้าของเป็นบริษัทผลิตชาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดับให้กับบริษัทชาใหญ่ๆ อย่าง พีจีทีปส์, ลิปตัน, เทตลีย์ และ ทไวนิงส์

ผู้จัดการไร่ชายังกล่าวอีกว่าสภาพการทำงานสำหรับคนงานบางคนเป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้ และจำนวนห้องน้ำก็มีไม่มากพอจะรองรับตามจำนวนบ้านของคนงาน

สันทีป โกช ผู้นำสมาคมชาอินเดียสาขาอัสสัม ซึ่งเป็นสมาคมที่เป็นตัวแทนผู้ผลิตชาในอินเดียกล่าวยอมรับเช่นกันว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนงานอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และสมาคมของพวกเขารับไม่ได้ที่จะให้คนงานต้องทนอยู่กับสิ่งปฏิกูลจากห้องส้วมที่พังและการต้องขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง

ในกรณีค่าแรงของคนงานบีบีซีระบุว่าคนงานไร่ชาได้รับเงินค่าจ้าง 115 รูปี (ราว 60 บาท) ต่อวันเท่านั้นซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับรัฐอัสสัม คือ 177 รูปี (ราว 90 บาท)

จากสภาพความเป็นอยู่และค่าแรงเช่นนี้ทำให้คนงานไร่ชาในอัสสัมมีระดับภาวะขาดสารอาหารสูงมาก โดยวิทยาลัยแพทย์อัสสัมเคยศึกษา พบว่ามีผู้ป่วยจากไร่ชา 9 ใน 10 มีภาวะขาดสารอาหาร ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อโรค เช่นโรคท้องร่วง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ รอยโรคที่ผิวหนัง หรือโรคติดเชื้อรุนแรงอย่างวัณโรคหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีเด็กบางคนต้องเข้าโรคพยาบาลซ้ำซากเพราะป่วยเป็นโรคเหล่านี้ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของวิทยาลัยยังกล่าวอีกว่าคนงานชาเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าคนไข้รายอื่นๆ ในโรงพยาบาล

บีบีซียังรายงานถึงกรณีการใช้แรงงานเด็ก โดยยกตัวอย่างกรณีเด็กหญิงอายุ 14 ปี รายหนึ่งต้องทำงานเต็มเวลาเป็นเวลา 2 เดือน ในไร่ของบริษัทอัสสัมคอมพานี ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบชาให้กับ ทไวนิงส์, ยอร์กเชียร์ที, แฮร์รอดส์ และฟอร์ตนัมแอนด์เมสัน นอกจากนี้ยังมีกรณีใช้แรงงานเด็กอีกสองคนที่อายุอยู่ในช่วงต้นวัยรุ่นซึ่งขัดต่อหลักการว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กของสหประชาชาติที่ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ควรถูกใช้ทำงานเต็มเวลา

ในกรณีเรื่องการพ่นสารเคมีโดยไม่มีเครื่องป้องกัน สำนักข่าวบีบีซีระบุว่าถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน โดยที่คนงานในไร่ชาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาได้รับเครื่องมือป้องกันเพียง 1 ครั้งต่อปี แต่ก็ใช้หมดภายในราว 2 เดือน โดยไม่มีการให้เพิ่ม การเผชิญกับสารเคมีทำให้พวกเขาเกิดอาการต่างๆ อย่างอาการหายใจลำบาก มือชา หน้าชา รู้สึกแสบผิวหนัง และความอยากอาหารลดลงอย่างมาก ไร่ของรัสเซลมีการสวมชุดเสื้อคลุมกันเปื้อนแต่ก็ไม่มีเครื่องป้องกันอื่นๆ

อย่างไรก็ตามบริษัทอัสสัมคอมพานีบอกว่าข้อกล่าวหาของบีบีซี "ไม่มีมูลความจริง"  รัสเซล กล่าวว่าบริษัทของเขาให้ความสำคัญกับสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของคนงานมาเป็นอันดับหนึ่ง พวกเขาให้เครื่องป้องกันแก่คนงานฟรี มีการฝึกสวมใส่และมีการตรวจตราให้คนงานสวมชุดอยู่เป็นประจำ

บีบีซีระบุอีกว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนงานไร่ชาถูกกดขี่ได้ง่ายเนื่องจากไร่ชามีการควบคุมชีวิตของคนงานในหลายแง่อีกทั้งยังมีการควบคุมการเข้าถึงไร่ชาอย่างเข้มงวดไม่ให้ใครเข้าไปตรวจสอบสวัสดิภาพของคนงานได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าตามกฎหมายระบุให้ควรมีการเข้าถึงไร่ชาได้ แต่นักข่าวบีบีซีถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของคนงานในไร่แห่งหนึ่งของรัสเซลและมีการกักบริเวณพวกเขาไว้ช่วงเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตามบีบีซีรายงานว่าประเด็นสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของแรงงานไร่ชาในอัสสัมเป็นที่รับรู้มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วจาการสำรวจโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนของวิทยาลัยกฎหมายโคลัมเบียเมื่อเดือน ม.ค. 2557 ในไร่ที่มีเจ้าของส่วนหนึ่งคือบริษัทชายักษ์ใหญ่ของอินเดียอย่างบริษัททาทาและเจ้าของอีกส่วนหนึ่งคือเทตลีย์ ซึ่งทาทาให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าพวกเขากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และสภาพการจ้างของแรงงานให้ดีขึ้น

ทาทากล่าวอีกว่าพวกเขามีพันธะในหลักการปฏิบัติต่อคนงานในสายพานการผลิตทั้งหมดอย่าง "เป็นธรรมและมีจริยธรรม" ในฐานะสมาชิกของกลุ่มธุรกิจผลิตชาอย่างมีจริยธรรม (Ethical Tea Partnership หรือ ETP)

ETP เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทชาในอังกฤษเพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานผู้ผลิตชา ซาราห์ โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรนี้กล่าวในฐานะตัวแทนของทไวนิงส์ว่าสมาชิกขององค์กร "มีความตระหนักอย่างยิ่งถึงปัญหา" ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีการปลูกชา และบอกอีกว่า ETP กำลังพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานผลิตชาทั้งในอินเดียและที่อื่นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากที่มีรายงานการสืบสวนสอบสวนของบีบีซีห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดก็แสดงออกในเชิงประท้วงด้วยการหยุดขายผลิตภัณฑ์ชาบางชนิด และสหพันธ์เรนฟอเรสต์ (Rainforest Alliance) ซึ่งเป็นองค์กรให้การรับรองเชิงจริยธรรมยอมรับว่ารายงานของบีบีซีแสดงให้เห็นความผิดพลาดในกระบวนการตรวจสอบของพวกเขา

ทางด้านบริษัทชาแบรนด์ดังๆ ในอังกฤษเช่น พีจีทิปส์, เทตลีย์ และทไวนิงส์ ก็บอกว่าพวกเขาจะช่วยเหลือให้มีการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนงานในไร่ชาที่พวกเขาซื้อวัตถุดิบมา

บริษัทอย่างฟอร์ตนัมแอนด์เมสัน และยูนิลิเวอร์ที่เป็นเจ้าของแบรนด์พีจีทิปส์และลิปตันบอกว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญในเรื่องการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้พวกเขาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีบริษัทเจ้าของแบรนด์ยอร์กเชียร์เปิดเผยว่าพวกเขามีความเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องนี้และจะมีการสอบสวนเรื่องการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเร่งด่วน

ในแง่ขององค์กรสหพันธ์เรนฟอเรสต์ซึ่งเป็นเอ็นจีโอผู้มอบ "ตรารูปกบ" บนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพื่อเป็นการรับประกันว่าว่าแบรนด์นั้นๆ ให้การคุ้มครองแรงงานและชุมชนท้องถิ่นยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาในระบบการประเมินเพราะมีการตรวจสอบแค่เป็นรายปี

สเตเฟน เอกกา นักกิจกรรมอินเดียในองค์กรที่ชื่อ PAJHRA กำลังรณรงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนงานไร่ชากล่าวว่า "ตรารูปกบ" ของสหพันธ์เป็นเรื่องของ "การขาย" มากกว่าเรื่องของการ "ส่งเสริมคนงาน"

 

เรียบเรียงจาก The bitter story behind the UK's national drink, BBC, 08-09-2015 http://www.bbc.com/news/world-asia-india-34173532

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net