Skip to main content
sharethis
อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตแกนนำที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เห็นตรงกันต้องเร่งปฎิรูปประเทศ โดยประชาชนควรมีส่วนร่วม และต้องไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยไทย ด้านนายจตุพร ไม่เห็นด้วยหากนักการเมืองจะเข้าร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
 
 
12 ก.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่างานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “พลเมืองร่วมปฎิรูปประเทศ” จัดขึ้นโดยหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น  หรือ กสต.รุ่นที่ 5 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติ (สปช.) นายเอกณัฎ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการ ร่วมเสวนาด้วย
 
นายบัณฑูร กล่าวว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปฎิรูปประเทศ ทั้งการแสดงความคิดเห็น การเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และร่วมตัดสินใจกับฝ่ายที่มีอำนาจ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาการออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพราะผู้รับผิดชอบในพื้นที่ไม่สามารถตัดสิน หรือแก้ปัญหาได้ จึงต้องเคลื่อนไหวมาที่ทำเนียบรัฐบาล เช่น กรณีโรงไฟฟ้าหินกรูด ดังนั้นปมปัญหาสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนร่วมปฎิรูปกับฝ่ายบริหารเพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จริง ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
 
ขณะที่นายเอกณัฐ กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาที่ผ่านมาคือการบิดเบือนอำนาจการบริหาร ผ่านระบบผู้แทน ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามา แต่ไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไทย ซึ่งมีรูปแบบการบิดเบือนที่หลากหลาย โดยใช้อำนาจที่ได้มา ทั้งอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เร่งออกกฎหมายต่าง ๆ อาศัยอำนาจบริหารเอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีผลประโยชน์กระจุกตัว จึงเห็นว่าควรทำอย่างไรให้การบริหารเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ในฐานะผู้ออกเสียงเลือกผู้แทนเข้ามา โดยต้องไม่ถูกบิดเบือน และให้กลไกเอื้ออำนวยความคิดเห็นของประชาชนด้วย
 
ด้านนายจตุพร ยอมรับว่า การออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนนั้น เพราะประชาชนไม่มีทางเลือก สุดท้ายจึงเดินขบวนเรียกร้อง ซึ่งมีทั้งสำเร็จ ไม่สำเร็จ บาดเจ็บและเสียชีวิต และหากมองเชิงอำนาจ ผู้มีอำนาจจะต้องการรับรู้รับฟังเพียงสิ่งที่ดีเท่านั้น โดยไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน ขอยืนยันว่าแกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีความขัดแย้งส่วนตัว แต่ที่ต้องแสดงออกถึงจุดยืนที่ต่างกัน เพราะบริบทการเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไป
 
นายจตุพร กล่าวอีกว่า การปฎิรูปจะเกิดขึ้นได้ จะต้องลงมือปฎิบัติ ไม่ใช่แค่วาทกรรมการพูด หรือแสดงความเห็น เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นเหมือนคำพูดที่ไม่สามารถทำได้จริง และเห็นว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนต้องพร้อมใจกันปฏิรูปและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง ไม่ใช่รัฐบาลใช้อำนาจในมาตรา 44 สั่งให้ปฏิรูปหรือคิดแทนประชาชน
 
“ขณะนี้ไม่ได้สนใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อยากอยู่ในอำนาจ ก็ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่หากคิดจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ก็ต้องคืนแบบร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฎิรูปและปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยหากจะให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน เพราะนักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และส่วนตัวก็ขอไม่เข้าร่วม และไม่เห็นด้วยหากนักการเมืองคนอื่น ๆ จะเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้” นายจตุพร กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net