Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 6 กันยานที่ผ่านมา ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี จบปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปแก้ทุจริตคอร์รัปชัน" แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถาม แต่พอนักเรียนระดับมัธยมศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ชูป้ายและพยายามถามนายกฯ กลับถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าคุมตัวเชิญออกไปจากห้อง

ต่อมานักเรียนคนดังกล่าว ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า

หลายคนอยากรู้นะครับว่าป้ายเต็มๆ เขียนว่าอะไร ไม่มีอะไรมากครับ "สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม ดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง" วันนี้ผมใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่า การศึกษาวิชาปรัชญาและจริยธรรมสำคัญยังไง เรียนหน้าที่พลเมืองมันไม่พอหรืออย่างไร ความสำคัญของวิชาปรัชญาที่ว่าก็คือเด็กจะคิดเป็นครับ หน้าที่พลเมืองคุณกำหนดว่าอะไรดีไม่ดี แต่ในชีวิตจริงถ้ามีเหตุการณ์อื่นนอกตำราจะทำยังไง แต่ถ้าคุณเรียนจริยศาสตร์ เรียนปรัชญา คุณจะคิดได้เองว่าเหตุการณ์นั้นๆ ควรทำตัวอย่างไร นี่คือเนื้อหาหลักๆ ของตัวจดหมายครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบทความและให้สัมภาษณ์สื่อเสนอให้ “ยกเลิกหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เรียนวิชาจริยศาสตร์แทน” ผมจึงขอสนับสนุนข้อเสนอของนักเรียนคนดังกล่าวอย่างเต็มที่ แม้จะรู้ว่ามันอาจไม่เป็นจริงในวันนี้ แต่ถ้าเรายืนยันความเป็นมนุษย์ที่เคารพตัวเอง เราก็ต้องช่วยกันคิดและเรียกร้องกันต่อไปจนกว่าสังคมจะเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง

ผมชอบวลี “ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม” เพราะตรงกับความคิดหลักในการเรียนวิชาจริยศาสตร์ (ethics) หรือ ปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) ซึ่งไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำหัวข้อศีลธรรมเป็นข้อๆ เป็นชุดๆแบบที่เรียนในวิชาศาสนา หรือหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่เรียนสิ่งที่ถูกอำนาจรัฐกำหนดให้จดจำและนำไปปฏิบัติ

แต่เรียนในรูปแบบที่ชวนกันอภิปราย ถกเถียงในประเด็นพื้นฐานต่างๆเช่น ถ้าเราบอกว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดีหรือถูกต้อง ทำไมมันถึงดีหรือถูกต้อง มีเหตุผลสนับสนุน (justification) และข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) อย่างไร

เช่นถ้ามีบางแนวคิดบอกว่า การกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง ก็ต้องถามต่อว่ามีเหตุผลอย่างไรถึงดีหรือถูกต้อง แล้วเราก็จะเข้าใจเหตุผลของแนวคิดนั้นว่าคืออะไร จากนั้นก็จะดูว่า ถ้ามีข้อโต้แย้งว่าการอ้างเรื่องประโยชน์ส่วนรวมเพื่อละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง จะสามารถอ้างได้หรือไม่ แนวคิดนั้นจะมีคำตอบอย่างไร คำตอบก็อาจจะเป็นว่า ไม่สามารถอ้างประโยชน์ส่วนรวมเพื่อละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองได้ เนื่องจากการมีเสรีภาพดังกล่าวเป็นหลักประกันพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของการสร้างประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น จากนั้นผู้เรียนกับครูก็จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกันว่าตัวเองคิดอย่างไรต่อแนวคิดดังกล่าว 

หรือถ้ามีบางแนวคิดเสนอว่า มนุษย์มีธรรมชาติสากลบางอย่าง และธรรมชาติสากลนั้นคือตัวกำหนดหลักจริยธรรมสากล หรือคุณค่าของชีวิต ศักดิ์ศรี และการเคารพตัวเองของมนุษย์ แต่แนวคิดอื่นอาจแย้งว่า มนุษย์ไม่มีธรรมชาติอะไรเลย ไม่มีหลักศีลธรรมสากล ศีลธรรมเป็นเพียงสิ่งที่แต่ละคนสร้างขึ้นจากการใช้เสรีภาพในการเลือกอย่างซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง ก็ต้องไล่เรียงดูว่ามีเหตุผล และข้อโต้แย้งต่างๆ อย่างไร หรืออาจจะมีการยกสถานการณ์สมมติ กระทั่งสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อถกกันว่า หากเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราควรทำอย่างไร การกระทำของเราอิงแนวคิด หลักการ เหตุผลอะไรสนับสนุนว่าเราควรทำแบบนั้น แบบนี้ หรือเราใช้ความคิดและเหตุผลของเราเองอย่างไร เป็นต้น

วิธีการเรียนจริยศาสตร์หรือปรัชญาศีลธรรมดังกล่าวมา จึงไม่ใช่การยัดเยียดความคิดทางจริยธรรมให้ผู้เรียนจำ หรือเชื่อ แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักตั้งคำถาม รู้จักใช้เหตุผลโต้แย้งในประเด็นปัญหาพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับความถูก ผิดทางจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ คุณค่า และเป้าหมายของชีวิต จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เคารพตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองที่จะคิดเองได้ ตัดสินเรื่องถูกผิด และรับผิดชอบตัวเองได้เมื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง หรือเมื่อต้องวิเคราะห์เรื่องถูก ผิดในทางสังคม รวมทั้งมีจิตใจเปิดกว้างต่อความคิด เหตุผลที่แตกต่าง

นี่จึงเป็นการศึกษาที่สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องมี “ความเป็นมนุษย์” ให้ได้ก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อฟัง และเกรงกลัวผู้มีอำนาจเท่านั้น

จริยศาสตร์หรือปรัชญาศีลธรรมสมัยใหม่ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า จริยธรรมหรือศีลธรรมคือการเคารพและปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองและคนอื่นๆ นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง

เมื่อการศึกษาสร้างพลเมืองสยามไทยให้เข้าใจ เคารพและปกป้องความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนอื่นๆในความหมายดังกล่าว การอ้าง “ศีลธรรมเผด็จการ” ในความหมายเชิงครอบงำ กดขี่ความเป็นมนุษย์ เช่นอ้างเรื่องความดี ความเป็นคนดี ความเสียสละเพื่อชาติในทางละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองก็จะกลายเป็นเรื่องที่ “ผิด” อย่างรุนแรง ไม่เป็นที่ยอมรับของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยอีกต่อไป

ที่ผ่านมา การศึกษาไทยไม่ได้เน้นให้คนคิดเป็นในเรื่องจริยธรรมในความหมายของการเคารพปกป้องความเป็นมนุษย์ คนจึงขาดความเข้าใจ ความเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ดังเราได้ยินคนพูดบ่อยๆว่า “อย่าเรียกร้องแต่สิทธิ ต้องรู้หน้าที่ด้วย” (แต่ที่จริง concept “สิทธิ” ไม่ได้แยกจากหน้าที่ เราจะอ้างสิทธิของตัวเองได้ก็ต่อเมื่อตระหนักว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นเสมอกันเท่านั้น และสิทธิพื้นฐานของพลเมืองก็เป็นหน้าที่ของประชาชนและรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้อง)

หรือบางทีก็บอกว่า “อย่าอ้างเสรีภาพๆ คุณจะใช้เสรีภาพทำอะไรเลวๆตามอำเภอใจก็ได้หรือไง” (แต่ที่จริงการใช้เสรีภาพไม่ใช่ใครจะทำอะไรตามอำเภอใจยังไงก็ได้ แต่มี “ขอบเขต” ในตัวมันเองชัดเจนว่าต้องเป็นการใช้เสรีภาพอย่างไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน ศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น และไม่ก่ออันตรายแก่สังคม เช่นไม่ปาระเบิดก่อวินาศกรรมฯลฯ)

หรือว่า “คนเราจะเสมอภาคเท่าเทียมกันหมดไม่ได้ นิ้วทั้ง 5 ยังไม่เท่ากันเลย” (แต่ที่จริงความเสมอภาคไม่ได้หมายความว่าไม่มีความแตกต่างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน เพศ ผิว เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ ความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งที่มีได้ แต่ทุกคนต้องมีสิทธิ เสรีภาพ โอกาสในด้านต่างๆเสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน)

นี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว บ้านเราเสมือนยังอยู่ในยุคกลาง ก็เพราะการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีจริยธรรมที่เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างจริงจัง คนไทยเชื่อในเรื่องความความเป็นไปของชีวิตตามระดับบุญบารมี สวรรค์ นรก มากกว่าความเป็นไปได้ของการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเสียอีก ถ้ารับข้อเสนอของเด็กๆการศึกษาจะดีขึ้นมาก

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (12-18 กันยายน 2558)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net