บทความแปล: นอร์เวย์…ไม่มีจริง (The Non-Existence of Norway)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

คลื่นฝูงชนผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลจากแอฟริกาและตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรปตะวันตกกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาห้าขั้นที่ไม่ต่างอะไรกับเมื่อตอนที่เราต้องรับรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับโรคร้ายขั้นสุดท้าย ดังที่ Elisabeth Kübler-Ross ได้ไล่เรียงเอาไว้ในหนังสือของเธอ On Death and Dying

อันดับแรกคืออาการปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา (denial): “คงไม่มีอะไรซีเรียสหรอก อย่าไปใส่ใจมันเลย” (ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาเช่นนี้หลงเหลืออยู่แล้ว) ลำดับต่อมาคือ อาการคับข้องขุ่นเคือง (anger)ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับฉันได้อย่างไร ซึ่งจะปะทุขึ้นเมื่อไม่สามารถปฏิเสธปัญหาได้อีกต่อไป: “ผู้ลี้ภัยคือภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตวิถีปฏิบัติของเรา รับรองว่าต้องมีพวกคลั่งศาสนาสุดโต่งแอบซ่อนเข้ามาแน่ๆ หยุดพวกเขาเดี๋ยวนี้!” จากนั้นก็ถึงขั้นของการต่อรอง (bargaining): “โอเค มากำหนดจำนวนโควต้ากัน ปล่อยให้พวกเขามีค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศของพวกเขาเอง” ในไม่ช้าเราก็จมลงสู่ภาวะหดหู่ (depression): “เราพ่ายแพ้แล้ว ยุโรปกลายเป็น ยูโรปาสถานไปเสียแล้ว!” แต่สิ่งที่เรายังไม่เห็นก็คืออาการขั้นสุดท้าย การสำเหนียกยอมรับปัญหา (acceptance) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวาดวางแผนการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยใหม่ในยุโรปทั้งหมด 

อะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ? มติสาธารณะในขณะนี้แตกแยกยากที่จะผสานกัน ด้านหนึ่ง ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมก็ประณามการที่ยุโรปปล่อยให้คนนับพันจมทะเลเมดิเตอเรเนียนตาย พวกเขาเรียกร้องให้ยุโรปผนึกกำลังกันและเปิดประเทศสลายพรมแดน อีกด้านหนึ่ง ฝ่าย [ขวา] ประชานิยมต่อต้านผู้อพยพก็ยืนกรานว่าเราต้องปกป้องรักษาขนบประเพณีดั้งเดิม และปล่อยให้คนต่างเชื้อชาติเขาจัดการปัญหากันเอง ข้อเสนอทั้งสองฟังดูแย่ทั้งคู่ แต่ข้อเสนอไหนที่แย่มากกว่า? ถ้าจะให้พูดจาภาษาสตาลินก็คือ ข้อเสนอทั้งคู่ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ( they are both worse.)

พวกที่เรียกร้องให้เปิดพรมแดนคือนักปากว่าตาขยิบชั้นเลิศ พวกเขาทราบดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ การเปิดพรมแดนจะจุดชนวนให้พวกฝั่ง[ขวา]ประชานิยมในยุโรปลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบ พวกโลกไร้พรมแดนนี่แหละที่ทำตัวโลกสวยและสูงส่งเหนือโลกอันฉ้อฉล แต่ในขณะเดียวกันก็ดำเนินชีวิตในโลกที่ฉ้อฉลนี้ไปเรื่อยๆ  ส่วนฝั่ง[ขวา]ประชานิยมต่อต้านผู้อพยพก็สำเหนียกเช่นเดียวกันว่า คนแอฟริกันและตะวันออกกลางไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตัวพวกเขาเองได้ ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะพวกเราชาวยุโรปตะวันตกนี่แหละที่ไม่ยอมให้พวกเขาทำเช่นนั้น ความวุ่นวายหายนะของลิเบียเป็นผลมาจากการแทรกแซงของยุโรปเอง เช่นเดียวกับเงื่อนไขของการเกิดขึ้นของรัฐอิสลาม (Islamic State) ก็เป็นผลจากที่สหรัฐโจมตีอิรัค สงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มคริสเตียนทางใต้และมุสลิมทางเหนือในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลางไม่ได้มีรากฐานมาจากความเกลียดชังทางศาสนา หากแต่ปะทุขึ้นหลังจากมีการค้นพบน้ำมันในตอนเหนือของประเทศ อันส่งผลให้ ฝรั่งเศสและจีนทำสงครามตัวแทนเพื่อแย่งชิงทรัพยากรดังกล่าว ความกระหายของนานาชาติที่จะครอบครองแร่เช่น โคลแทน โคบอล์ต เพชร และทองแดงนี่เองที่หล่อเลี้ยงเหล่า “ขุนศึก”ในประเทศคองโกในช่วงทศวรรษที่90และครึ่งทศวรรษต่อมา 

ถ้าเราอยากจะรู้ต้นสายปลายเหตุของคลื่นกระแสผู้ลี้ภัย เราจำเป็นต้องตระหนักว่าพวกเขาส่วนใหญ่ล้วนมาจาก “รัฐล้มเหลว (failed states)” ที่ที่อำนาจรัฐไร้ศักยภาพในการบริหารปกครอง เช่น ซีเรีย อิรัค ลิเบีย โซมาเลีย คองโก เป็นต้น และสาเหตุที่ทำให้อำนาจรัฐล่มสลายก็ไม่ได้มีต้นตอภายในประเทศ แต่เป็นผลมาจากการเมืองระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจโลก หรือไม่ก็เป็นผลโดยตรงจากการแทรกแซงของโลกตะวันตก เช่น ลิเบีย และอิรัค  (เราควรรับรู้ด้วยว่า ภาวะล้มเหลวของรัฐในตะวันออกกลางได้ถูกชี้ชะตาให้ล้มเหลวด้วยการวาดเส้นเขตแดนโดยอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

น่าสังเกตว่า ประเทศมั่งคั่งในตะวันออกกลาง (ซาอุดิอาระเบีย คูเวต อามิเรตส์ กาตาร์) ต่างจำกัดการเปิดรับผู้ลี้ภัยเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่ร่ำรวยน้อยกว่าอย่าง ตุรกี อิยิปต์ และอิหร่าน ประเทศซาอุฯถึงกับส่งตัวผู้ลี้ภัย “มุสลิม”กลับโซมาเลีย นี่เป็นเพราะซาอุฯปกครองโดยระบอบเทวาธิปไตยสุดโต่งที่ไม่ต้อนรับและไม่อยากสุงสิงกับผู้บุกรุกต่างด้าวงั้นหรือ? อาจจะใช่ แต่ก็อย่าลืมว่า การที่รายได้ส่วนใหญ่ของซาอุฯมาจากน้ำมันก็สะท้อนการผนึกรวมเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจกับต่างชาติตะวันตกเช่นกัน  นานาชาติจำเป็นต้องกดดันซาอุฯ (และคูเวต กาตาร์ อามิเรตส์) อย่างจริงจังให้ประเทศเหล่านี้รับผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซาอุฯต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ปัจจุบันของซีเรีย เพราะซาอุฯมีบทบาทสำคัญสนับสนุนกองกำลังต่อต้านอาซาด 

ระบบแรงงานทาสรูปแบบใหม่คือหัวใจสำคัญของความมั่งคั่งในประเทศเหล่านี้  แรงงานอพยพย้ายถิ่นล้านชีวิตในคาบสมุทรอาระเบียต่างถูกพรากสิทธิพลเมืองและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน ในทวีปเอเชีย คนงานจำนวนมากกินนอนอยู่ในโรงงานนรกไม่ต่างอะไรกับค่ายกักกัน ตัวอย่างใกล้บ้านอันแสนสงบสุขของยุโรปก็มีให้เห็น วันที่1ธันวาคม2013 ไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าของคนจีนในเมือง Prato ใกล้ Florence คร่าชีวิตคนงานเจ็ดคนที่ติดอยู่ในห้องหอกล่องกระดาษอันคับแคบ หัวหน้าสหภาพแรงงานท้องถิ่น Roberto Pistonina กล่าวว่า “ไม่มีใครกล้าบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องคาดไม่ถึง” “เพราะทุกคนต่างทราบดีว่า หลายปีที่ผ่านมา มีผู้คนนับร้อยนับพันใช้ชีวิตและทำงานเยี่ยงทาสในพื้นที่ระหว่าง Florence และ Prato” อนึ่ง Prato มีคนจีนมาลงทุนมากถึงสี่พันธุรกิจ ผู้อพยพชาวจีนจำนวนพันกว่าๆอาศัยอยู่ในเมืองอย่างผิดกฏหมาย พวกเขาทำงานให้กับเครือข่ายโรงงานและธุรกิจการค้าส่งสิบหกชั่วโมงต่อวัน

ระบบทาสแบบใหม่นี้ไม่ได้มีแต่ในชานเมืองของเซี่ยงไฮ้ ดูไบ หรือ กาตาร์ มันอยู่ใกล้ตัวเรา แต่ถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน จนทำให้เรามองไม่เห็น หรือแสร้งทำเป็นไม่เห็นมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานทาสคือความจำเป็นเชิงโครงสร้างของทุนนิยมโลกในปัจจุบัน บรรดาผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแรงงานที่สุ่มเสี่ยงนี้ ในหลายกรณี พวกเขาเข้าไปแทนที่แรงงานในประเทศที่ปากกัดตีนถีบทำงานลักษณะนี้มาก่อน อันส่งผลให้ฝ่ายหลังมองว่าฝ่ายแรกเป็นภัยคุกคามและหันหาฝ่าย[ขวา]ประชานิยมต่อต้านผู้อพยพ

ผู้ลี้ภัยละทิ้งแผ่นดินแม่ที่แตกเป็นเสี่ยงๆเพราะสงคราม และออกเดินทางตามความฝัน  เมื่อเดินทางถึงตอนใต้ของอิตาลี พวกเขาไม่ต้องการจะหยุดอยู่ที่นั่น แต่กลับพยายามเดินทางต่อไปยังสแกนดิเนเวีย ผู้อพยพใน Calais ไม่พอใจแค่ฝรั่งเศส พวกเขาพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตดั้นด้นไปให้ถึงอังกฤษ ผู้ลี้ภัยนับแสนในประเทศบอลข่านยื้อแย่งจะมุ่งหน้าสู่เยอรมนี พวกเขาถือว่าความฝันของพวกเขาคือสิทธิที่ต่อรองไม่ได้ พวกเขาเรียกร้องให้ทางการยุโรปไม่เพียงแต่จัดหาอาหารที่เหมาะสมและการช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ยังรวมไปถึงช่องทางการคมนาคมที่จะนำพวกเขาไปสู่จุดหมายปลายทางตามปราถนา ข้อเรียกร้องนี้สะท้อนความเป็นอุดมคติที่น่าฉงนสนเท่ห์บางอย่าง เสมือนหนึ่งว่ายุโรปมีหน้าที่ต้องทำความฝันของพวกเขาให้กลายเป็นจริง ความฝันที่อันที่จริงเป็นความฝันลมๆแล้งๆของชาวยุโรปส่วนใหญ่ (ชาวยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกจำนวนมากต่างก็ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในนอร์เวย์เช่นกัน?) เมื่อยามที่มนุษย์ตกอยู่ในภาวะยากจน สิ้นหวัง และภยันตราย เมื่อเราคาดหวังเพียงให้พวกเขาพออยู่พอกินเอาชีวิตรอด เมื่อนั้นแหละที่พวกเขาเผยให้เราเห็นถึงอุดมคติที่ดูจะดื้อรั้นไม่ผ่อนปรน ทว่า ความจริงที่โหดร้ายกำลังรอผู้ลี้ภัยอยู่ ความจริงที่ว่า “นอร์เวย์...ไม่มีจริง” แม้กระทั่งในนอร์เวย์เอง

เราควรเลิกพูดเสียทีว่า การที่เหล่าประชากรในประเทศที่รับผู้ลี้ภัยดาหน้าออกมาป่าวร้องให้ปกปักษ์รักษา “วิถีปฏิบัติ วิถีชีวิต” ของตัวเองไม่ได้มีอะไรที่สะท้อนหรือกรุยทางสู่ลัทธิเหยียดชาติพันธุ์ มิฉะนั้น การเดินประท้วงต่อต้านผู้อพยพในยุโรปที่กำลังขึ้นเป็นกระแสสูงในปัจจุบันอาจจะทำให้เรากระจ่างชัดกับสถานการณ์ได้มากขึ้น ล่าสุดมีการเดินขบวนเช่นนี้เกิดขึ้นในสวีเดน และโพลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่าพรรคชาตินิยมต่อต้านผู้อพยพ Sweden Democrats กำลังมีคะแนนความนิยมสูงที่สุด อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมได้ใช้มาตรฐานทางศีลธรรมที่ยะโสประณามประเด็นดังกล่าว พวกเขาคิดว่า ทันทีที่เราทำให้ความคิดเรื่อง “ปกปักษ์รักษาวิถีชีวิต”ฟังดูน่าเชื่อถือขึ้นมาแม้เพียงน้อยนิด นั่นเท่ากับเรายอมผ่อนปรนจุดยืนของเรา แต่กระนั้น ข้อเสนอของพวกเราก็ไม่ต่างอะไรกับที่พวกฝ่ายประชานิยมต้านผู้อพยพเรียกร้อง เพียงแค่มีลักษณะที่แรงน้อยกว่าเท่านั้นเอง นี่คือท่าทีโดยทั่วไปของพรรคกลางๆในปัจจุบัน  พวกเขาปฏิเสธนโยบายต้านผู้อพยพที่เหยียดชาติพันธุ์แบบไร้ยางอาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า พวกเขาเข้าอกเข้าใจข้อกังวลของคนธรรมดาและเสนอนโยบายต้านผู้อพยพที่ดู “สมเหตุสมผลมากกว่า”

เราควรปฏิเสธท่าทีของฝ่ายซ้ายเสรีนิยมเช่นกัน เสียงพร่ำบ่นทางศีลธรรมเช่น “ยุโรปเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของคนอื่น” เป็นเพียงอีกด้านหนึ่งของเหรียญความโหดร้ายป่าเถื่อนต่อผู้อพยพ ฐานคิดของท่าทีทั้งสองอันที่จริงแล้วไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือ ฐานคิดที่ว่า การพิทักษ์รักษาวิถีปฏิบัติของตัวเองเข้ากันไม่ได้กับความเป็นสากลทางจริยธรรม(ethical universalism) เราไม่ควรติดกับดักการตั้งคำถามเสรีนิยมต่อตนเองทำนองว่า “เราจะอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างจนถึงระดับไหน?” เราควรปล่อยให้ผู้อพยพห้ามไม่ให้ลูกหลานของพวกเขาเข้าโรงเรียนรัฐหรือไม่? เราจะจัดการยังไงกับพวกที่บังคับให้สตรีแต่งตัวหรือประพฤติตนในกรอบ คลุมถุงชน และเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน  สุดท้ายแล้ว เราไม่มีวันที่จะอดทนอดกลั้น (tolerant) ได้อย่างเพียงพอหรือไม่เราก็อดทนอดกลั้นมากเกินไป มีหนทางเดียวที่เราจะสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องการอดทนอดกลั้นและฝ่าทางตันได้ นั่นคือ สิ่งที่เราควรมอบให้ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ความเคารพ (respect) แต่คือโอกาสในการเข้าร่วมต่อสู้เพื่อเป้าหมายร่วมกัน เนื่องจากปัญหาที่เรากำลังเผชิญทุกวันนี้คือปัญหาที่เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ปัญหาผู้ลี้ภัยคือต้นทุนที่เราจ่ายเพื่อแลกกับระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งอนุญาตให้สินค้าไหลเวียนได้อย่างเสรี หาใช่ผู้คน ความคิดเรื่องเส้นเขตแดนที่บางลงและการท่วมทะลักของคนต่างชาติคือวิกฤตที่รอการปะทุของทุนนิยมโลก ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในยุโรปที่เดียว ในแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนเมษายน เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยจากรัฐใกล้เคียงโดนทำร้ายโดยคนจนในพื้นที่เพราะฝ่ายแรกมาแย่งงานฝ่ายหลัง ปํญหาในลักษณะนี้มีแนวโน้มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เพราะสาเหตุไม่ได้มีแค่การปะทะทางอาวุธแต่ยังรวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก  เป็นต้น  หลังจากที่ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตนิวเคลียร์ฟุกุชิม่าไม่นาน ทางรัฐบาลญี่ปุ่นถึงกับเตรียมพร้อมอพยพผู้อยู่อาศัยในเมืองโตเกียวซึ่งมีจำนวนถึงยี่สิบล้านคน ถ้าหากการอพยพเกิดขึ้นจริง ผู้อพยพเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน? พวกเขาควรจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ในญี่ปุ่นเพื่อใช้ทำมาหากินหรือควรกระจัดกระจายไปทั่วโลก? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงทำให้ตอนเหนือของไซบีเรียเหมาะแก่การใช้ชีวิตและทำเกษตร ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของซับซาฮารานแอฟริกายิ่งแห้งแล้งจนไม่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตประชากรที่นั่น? การจัดการแบ่งสรรปันส่วนประชาชนจะเป็นไปในรูปแบบใด? ในอดีต เหตุการณ์เช่นนี้มักลงเอยด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ฉับพลัน ไร้ระเบียบ บ่อยครั้งก็เต็มไปด้วยความรุนแรงและการทำลายล้าง

มนุษยชาติควรเตรียมตัวใช้ชีวิตในลักษณะ “ลื่นไหล” และไร้รกรากมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆก็คืออำนาจอธิปไตยของรัฐชาติจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน การตัดสินใจและการร่วมมือระหว่างประเทศจะเข้ามาแทนที่ อันดับแรก ในชั่วขณะนี้ ยุโรปจำเป็นต้องผูกมัดตัวเองเข้ากับการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยอย่างมีเกียรติ ไม่มีข้ออ้างใดจะหักล้างข้อผูกมัดนี้ได้ การอพยพครั้งใหญ่กำลังรอเราอยู่ในอนาคต ทางเลือกอื่นหากเราไม่ยอมรับข้อผูกมัดนี้คือการหวนคืนสู่สภาวะป่าเถื่อน (หรือที่บางคนเรียกว่า “การปะทะทางอารยธรรม”)

สิ่งที่จำเป็นต่อมาหลังจากยุโรปร่วมตกลงกันข้างต้นคือ การวางกฏเกณฑ์และระเบียบที่ชัดเจน ต้องมีเครือข่ายการดูแลจัดการการควบคุมกระแสธารผู้ลี้ภัยซึ่งประสานกันระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด (เพื่อป้องกันความป่าเถื่อนในบางพื้นที่ดังที่เกิดใน ฮังการีและสโลวาเกีย) ความปลอดภัยในชีวิตของผู้ลี้ภัยต้องได้รับประกัน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการทำความเข้าใจกับพวกเขาว่า พวกเขาต้องยอมรับจุดหมายปลายทางที่ทางการยุโรปกำหนดให้ และพวกเขาต้องเคารพกฏหมายและบรรทัดฐานทางสังคมของรัฐยุโรป ไม่มีการอดทนอดกลั้นต่อความรุนแรงทางศาสนา เพศ และชาติพันธุ์ ไม่มีสิทธิในการยัดเยียดศาสนาและวิถีปฏิบัติต่อผู้อื่น เคารพอิสรภาพของปัจเจกชนที่จะละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิมของเขา เป็นต้น หากสตรีต้องการที่จะคลุมใบหน้าของพวกหล่อน เราต้องเคารพทางเลือกของหล่อน ถ้าหากหล่อนไม่ประสงค์จะคลุมใบหน้า อิสรภาพที่จะไม่กระทำของหล่อนก็ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน จริงอยู่กฏเกณฑ์ข้างต้นให้อภิสิทธิ์ต่อวิถีปฏิบัติแบบยุโรป แต่นั่นคือต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับไมตรีจิตที่ยุโรปมอบให้  ต้องมีการประกาศและบังคับใช้กฏเกณฑ์เหล่านี้อย่างเคร่งครัด พร้อมมาตรการที่ใช้ความรุนแรงถ้าจำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งกระแสคลั่งศาสนาสุดโต่งจากภายนอกและการเหยียดชาติพันธุ์จากภายในยุโรปเอง

ประการที่สาม จำเป็นต้องมีการแทรกแซงทางการทหารและเศรษฐกิจโดยนานาชาติรูปแบบใหม่ขึ้น การแทรกแซงที่สามารถหลีกเลี่ยงกับดักจักรวรรดินิยมใหม่ดังที่ได้เกิดขึ้นไม่นานมานี้ วิกฤตทางตันในอิรัค ซีเรีย และลิเบียเป็นผลมาจากรูปแบบผิดๆของการแทรกแซง (ในอิรัคและลิเบีย) และไม่แทรกแซง (ในซีเรีย กระนั้น ภายใต้ฉากหน้าของการไม่แทรกแซง มีอำนาจภายนอกของรัสเซียและจีนซ่อนอยู่)  

ประการสุดท้าย สิ่งที่สำคัญและยากจะบรรลุมากที่สุด  มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคนเพื่อล้มล้างเงื่อนไขอันนำไปสู่การเกิดผู้ลี้ภัย หากทุนนิยมโลกยังทำงานอย่างที่เป็นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง จะมีผู้อพยพจากกรีซและหลายประเทศในสหภาพยุโรปไปเข้าร่วมกระแสธารผู้ลี้ภัยต่างชาติ เมื่อตอนที่ผมยังเด็ก การร่วมกันผูกมัดตัวเองเพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบถูกเรียกว่า คอมมิวนิสม์ บางทีเราอาจจะต้องสร้างสรรค์มันขึ้นมาใหม่ ในระยะยาวมันอาจจะเป็นทางออกทางเดียวของเรา 

 

หมายเหตุผู้แปล: สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) คือนักวิพากษ์ทุนนิยมโลก ประชาธิปไตยเสรีนิยม มนุษยธรรมนิยม และพหุวัฒนธรรมนิยม ในขณะเดียวกัน เขาก็นำเสนอข้อวิเคราะห์ที่แหลมคมในประเด็นปัญหากลุ่มคลั่งศาสนาสุดโต่งและการเกิดขึ้นของฝ่ายขวาจัดอนุรักษ์นิยม บทความชิ้นนี้แปลมาจากบทความภาษาอังกฤษของชิเชคซึ่งเผยแพร่ในเว็ปไซด์ของ London Review of Books: http://www.lrb.co.uk/v37/n18/slavoj-zizek/the-non-existence-of-norway  ชิเชคไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองใหม่ๆที่มีต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่บทความที่อ่านง่ายและเป็นรูปธรรมชิ้นนี้ยังสะท้อนมโนทัศน์โดยรวมที่ชิเชคมีต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในปัจจุบัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท