Skip to main content
sharethis

สัมมนาเรื่องพัฒนาการเมือง รองประธาน สนช. หวังเห็นพรรคการเมืองอาสาเพื่อส่วนรวม ไม่เน้นรวบอำนาจรัฐ - กล้านรงค์ ห่วงการเมืองไทยยังขาดกลไกรับประกันคนดี - สุดารัตน์ ระบุรัฐประหาร 19 ครั้งฉุดประเทศลงหลุมดำ รธน.ใหม่ไม่ควรตั้งโจทย์กำจัดนักการเมือง เสนอทุกพรรคใช้ช่วงเว้นวรรคหันมาปฏิรูปตัวเอง

จากซ้ายไปขวา สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน - สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย - สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. - กล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ.การเมือง สนช. (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

22 ก.ย. 58 - เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนา “การพัฒนาการเมือง เพื่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย” เพื่อรับฟังข้อมูล ความรู้ แนวคิด และข้อเสนอแนะจากบุคคลที่มีบทบาทและประสบการณ์โดยตรงซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้พิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อไปโดยมีอดีตนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ นายสุรินทร์  พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย บอกต้องพัฒนาให้พรรคการเมืองอาสาเพื่อส่วนรวม ไมใช่รวบอำนาจรัฐ

โดยสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยกล่าวว่า ระบบการเมืองและระบบพรรคการเมืองมีความสอดคล้องกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงต้องมีการพัฒนาและปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีอุดมการณ์ทำงานอาสาเพื่อส่วนรวมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ใช้แค่การรวบรวมผู้คนเพื่อครอบครองอำนาจรัฐ  ดังนั้นถ้าระบบพรรคการเมืองดีก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองที่ดีมีคุณภาพและได้คนดีมาปกครองประเทศต่อไป

กล้านรงค์ จันทิก ห่วงคนไทยซื้อสิทธิขายเสียง เสียงข้างมากยังขาดกลไกรับประกันคนดี

ขณะที่กล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาทางการเมืองมีความสำคัญ เพราะพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคือระบบพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปสู่ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน พร้อมยอมรับว่าประเทศไทยมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนอุปสรรคของการพัฒนาพรรคการเมืองคือการยึดระบบอุปถัมภ์มากกว่าคุณธรรมทำให้ไม่มีคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง รวมถึงมีจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก คือไม่มีกลไกใดที่จะรับประกันคนที่ได้รับการเลือกตั้งว่าเป็นคนดี  ขณะที่เมื่อพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากแล้ว ก็มักจะไม่รับฟังเสียงข้างน้อย พร้อมย้ำว่าการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่หัวใจอยู่ที่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น

สุรินทร์ พิศสุวรรณ เห็นว่าไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ เชื่อมั่นระบอบรัฐสภาเหมาะสุด

ด้านธรรมศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาระบบการเมืองไม่มีประสิทธิภาพ แต่มองว่าระบอบรัฐสภายังเป็นระบอบที่เหมาะสมที่สุด พร้อมกันนี้ย้ำว่าพรรคการเมืองต้องไม่ใช่พรรคข้ามคืน ไม่ใช้พรรคที่ไม่มีมาตรการในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา รวมถึงหาทางออกทางการเมืองตามวิถีในระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนและประเทศชาติ  ตลอดจนจะต้องไม่ใช่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการลงทุน  และดำรงอยู่มีอุดมการณ์อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และจะทำให้หลังเลือกตั้งไม่มีการควบรวม หรือ ยุบพรรคการเมือง ขณะที่การปฏิรูปจะต้องอยู่ที่จิตสำนึกและความตระหนักรู้ของประชาชน

สุดารัตน์ชี้รัฐประหาร 19 ครั้งยิ่งพาไทยตกหลุมดำ-เสนอพรรคการเมืองต้องหันมาปฏิรูปตัวเอง

ในรายงานเพิ่มเติมของ สำนักข่าวไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาของพรรคการเมืองและนักการเมืองในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้สังคมมองว่า ไม่ควรใช้ระบบตัวแทนโดยนักการเมือง ไม่ยอมรับเสียงข้างมาก มีปัญหาเลือกตั้งแล้วประท้วง จนทำให้เกิดการกำจัดนักการเมืองเพื่อหวังให้มีคนใหม่เข้ามา 83 ปี ของระบอบประชาธิปไตยนั้น ประเทศไทยใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการปฏิวัติ 19 ครั้ง เพื่อตัดวงจรตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็พบว่าการใช้อำนาจพิเศษนี้ ไม่ใช่ทางออกของประเทศอย่างแท้จริง กลับยิ่งทำให้เกิดกับดักหรือหลุมดำมากขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องการให้การเมืองมีความเข้มแข็งต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากปี 2540 การเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลดำรงอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี มีการใช้นโยบายมาแข่งขันกัน แต่ก็มีการกล่าวหากันในเรื่องเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงมีโจทย์ใหม่ของการปฏิวัติปี 2549 ว่า การเมืองต้องไม่เข้มแข็ง ไม่ผูกขาด เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด วิธีนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จนต้องเดินเข้าสู่เกมการเมืองมากขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมด ไม่ได้ถูกแก้ไขที่ตัวรากฐานของปัญหา ดังนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนต้องหันมาปฏิรูปตัวเอง ในโอกาสที่ คสช. ให้เว้นวรรคทางการเมือง สำหรับพรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกทุกคนร่วมเป็นเจ้าของพรรค เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการคัดเลือกสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตนเชื่อว่า ประชาชนเป็นหัวใจของพรรคการเมืองและนักการเมือง เพราะเป็นผู้ที่จะตัดสินว่านักการเมืองสอบได้หรือสอบตก รวมทั้งตัดสินว่า พรรคการเมืองดังกล่าวจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

“ยอมรับว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองในปัจจุบัน ยังมีปัญหาการทุจริต ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ แต่วิธีที่จะแก้ไขให้ยั่งยืน คือ การจัดระเบียบสังคมที่ให้ทุกคนได้ประโยชน์ดีที่สุด ไม่มีใครได้รับประโยชน์ไปมากกว่านี้ตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พรรคการเมืองควรพัฒนาไปเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ ปัญหาเรื่องการผูกขาดจะลดลง”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ส่วนนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรียก ประชารัฐ หรือประชานิยม แต่ปัญหาคือ เป็นนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต่อเนื่องและตอบโจทย์จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ควรตั้งโจทย์ว่า การเมืองไม่ดี ต้องกำจัดนักการเมืองไม่ดี 83 ปีมานี้ ปัญหาวนอยู่อย่างเดิม แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง สามารถยอมรับผลในสิ่งที่เคยดำเนินการได้ แต่ต้องร่างเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินเข้าสู่จุดสมดุลได้ ให้พรรคการเมืองเป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่แค่นำความคิดของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน แต่ต้องเปลี่ยนจากการกำจัด เป็นพัฒนาตนเองและพรรคการเมือง ตลอดจนฟังเสียงจากประชาชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net