ถนอม-สงัด-สุนทร-สนธิ ถอยไป เมื่อประยุทธ์ ขอเวลา 16+20 เดือน

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 16 เดือน ของการรัฐประหาร คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที 22 พ.ค. 2557 และหลังจากที่ สปช. โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีการเสนอขยายเวลาโรดแมปของ คสช. โดยเพิ่มไปอีก '6+4+6+4' หรือ 20 เดือนจากนี้ วิษณุ เครืองาม ระบุว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 6 เดือน ลงประชามติภายใน 4 เดือน และออก กม.ลูกอีก 6 เดือน จากนั้นอีก 4 เดือนหาเสียงเลือกตั้ง

รวมทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับเลขาธิการสหประชาชาติ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 ส่งผลให้เป็นไปได้ที่อายุของการรัฐประหาร คสช. จะอยู่ไม่ต่ำกว่า 36 (16+20) เดือน ขณะก่อนหน้านั้นคณะรัฐประหารที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้ขอยอมยกเลิกการรัฐหารทั้งที่ผ่านได้เพียงสัปดาห์เดียว (อ่านรายละเอียด)

จากตัวเลขเวลา 36 เดือนดังกล่าวส่งผลให้คณะรัฐประหารของ คสช. นี้ ขอเวลาอยู่นำอำนาจยาวนานที่สุด และหากจะย้อนไปที่ใช้เวลาครองอำนาจยาวนานกว่านั้นต้องย้อนไปเกือบ 60 ปีที่แล้ว คือการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 นั้นเอง

 

(ดูภาพขนาดใหญ่)

การขอเวลาของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา 6 คณะหลังปี 2500

เกือบ 11 ปี : รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2512  เกิดขึ้นหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารในปี 2500 ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ต่อมา วันที่ 1 มกราคม 2501 พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายหลัง พล.อ. ถนอม กิตติขจร ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมา ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พล.อ.ถนอม จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นในเวลา 21.00 น.จอมพลสฤษดิ์ และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านั้นได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  2502 โดยมี นายทวี บุณยเกตุ เป็นประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ 22 กุมภาพันธ์  2511 ในยุคที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขึ้นมาแทน จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506

จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2512 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 โดยจอมพลถนอม พรรคสหประชาไทย ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ

23 เดือน : รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2516  การรัฐประหารครั้งนี้อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 23 เดือน นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง จนเกิดเหตุการณ์ ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  2516 จนมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก จนกระทั่งในเวลาหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม ได้มีประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชน ต่างพากันช่วยทำความสะอาด พื้นถนนและสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย

12 เดือนกว่า : รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 อยู่ได้ถึงแค่ 20 ตุลา 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

18 เดือน : รัฐประหาร 20 ตุลาคม  2520 ถึง 22 เมษายน  2522  รัฐประหารครั้งนี้ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจ และได้แต่งตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ  2521 แล้ว รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน  2522 หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก

เกือบ 15 เดือน : รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 อยู่ได้ถึง 17 พฤษภา 2535  การรัฐประหารครั้งนี้อยู่ในอำนาจเกือบ 15 เดือน นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวเปรียบเทียบกับรัฐประหาร คสช. ด้วยว่า ก็ยังไม่ครบเหมือนตอนนี้ ที่สำคัญ รสช เองไม่สามารถเข้าบริหารได้เอง ต้องเชิญอานันท์มาเป็น ดังนั้น ระยะเกือบ 15 เดือนนั้น ก็ไม่ใช่ รสช เต็มที่ และสะท้อนว่า ในขณะนั้น ทหารไม่สามารถจะขึ้นมาบริหารได้เอง (เพราะไม่มีฐานมวลชน ไม่มีฐานการเมืองแบบตอนนี้) และในที่สุด ที่ล้มไป ก็เพราะชนชั้นกลางในเมืองไม่เอา และสถาบันกษัตริย์เอง ก็ไม่ถึงกับเป็นเอกภาพกับทหารเต็มที่

15 เดือน : รัฐประหาร 19 กันยายน  2549 ถึง 23 ธันวาคม  2550  ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี 50 รวมอยู่ 15 เดือน โดยรัฐประหารครั้งนี้นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง คมช. ก็ได้เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มาเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ไม่รวมผลพวงของระบอบรัฐประหาร ผ่านสถาบันทางการเมืองจาก รธน. ที่มีผลบังคับใช้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่างๆ ทาการเมืองด้วย

 

ที่มาข้อมูล : Somsak Jeamteerasakul 22 ส.ค. 58 และ รัฐประหาร ในเว็บไซต์วิกิพีเดีย

หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขข้อมูลในภาพ เมื่อ 29 ก.ย. 2558 เวลา 21.30น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท