ยรรยง บุญ-หลง: ขนส่งทำมือยุคดิจิทัล จากวิน จยย.รับจ้าง-เรือเชื่อมราง ถึงเมืองสำเร็จรูป

ยรรยง บุญ-หลง ชวนคิดเรื่องนำระบบ big data มาใช้เพื่อทำให้ 'ระบบขนส่งทำมือ' ที่คนกรุงใช้ฝ่าการจราจรตรงเวลาและเชื่อมต่อระบบรางได้จริง เสนอให้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าและเชื่อมระบบรางกับการขนส่งทางน้ำ เพื่อทำให้คนทุกคนเข้าถึงการเดินทาง และชี้ว่าการทำ "big data" ภาคธุรกิจไม่เป็นทางการทั้ง 'แผงลอย-รถพุ่มพวง' จะช่วยส่งผลดีทางเศรษฐกิจ

28 ก.ย. 2558 ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ "สามัญดิจิทัล: พหุลักษณ์ของเทคโนโลยีสื่อและข้อมูลในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย" เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น

โดยในช่วงเช้ามีการปาฐกถาหัวข้อ "มนุษย-สังคมศาสตร์ กับ ภววิทยาปริวรรตของดิจิทัล" โดยยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

คลิปการนำเสนอ "เครือข่ายขนส่งทำมือในยุคดิจิทัล" โดย ยรรยง บุญ-หลง สถาปิกสมาคมสถาปนิกอเมริกา

ช่วงต่อมามีเวทีเสวนา #1 Big Data: ว่าด้วยสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ กับนโยบายเทคโนโลยี-การจัดการข้อมูล โดย ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกสมาคมสถาปนิกอเมริกา ได้นำเสนอหัวข้อ "เครือข่ายขนส่งทำมือในยุคดิจิทัล" กล่าวถึงการใช้ระบบ big data เพื่อทำให้มีระบบการขนส่งที่ตรงเวลา

 

วิจัยคนกรุงเทพฯ ที่คิดรูปแบบการขนส่งเพื่อให้ทันเวลา

ยรรยง เริ่มอภิปรายโดยถามว่า "ปกติแล้ว คนที่มาร่วมประชุม เดินทางไปทำงานกันคนละกี่ชั่วโมง มีถึง 4 ชั่วโมงไหม หรือว่าวันละ 2 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง นี่เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เอามาวิจัยกับธรรมศาสตร์เหมือนกัน ว่าทำอย่างไรให้คนไม่เสียเวลาเยอะขนาดนี้ ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้เวลาไปครึ่งวัน นั่นก็ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเราใช่ไหม ราคาเวลาของเราที่หายไป จริงๆ มันเยอะนะ แทนที่เราจะเอาเวลาไปนั่งทำทางเลียบแม่น้ำ เราเอาเงินตรงนี้ไปอุดหนุนให้ราคาบีทีเอสหรือการระบบขนส่งต่างๆ มันถูกลง คนจะได้เข้าถึงได้ไม่ดีกว่าหรือ"

ในงานวิจัยของยรรยงพบว่าคนในกรุงเทพฯ "มักต้องคิดการขนส่งรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาเองเพื่อจะให้ทำเวลาให้ทัน" โดยเขาพยายามวิจัยนวัตกรรมเหล่านี้ แล้วเปิดให้มันเป็น data คือตอนนี้มันไม่ใช่ open data ก็เป็นเรื่องที่รู้กันแบบไม่เป็นทางการ คือยังไม่มีใครไปจดบันทึกไว้ถึงระบบการขนส่งเหล่านี้

ยรรยง บุญ-หลง อธิบายแบบจำลองการขนส่งระหว่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับรถแท็กซี่ในสภาพการจราจรที่ติดขัด

จากนั้นยรรยงฉายภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งรถยนต์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัด มีเพียงรถจักรยานยนต์รับจ้างที่อาศัยช่องว่างระหว่างเลนเคลื่อนที่ไปบนท้องถนนเท่านั้น เขากล่าวว่า "มอเตอร์ไซค์นี่เหมือนมีเลนส่วนตัว" เหมือนรถเมล์ด่วน BRT หรือ BTS เลย คล้ายๆ เป็นระบบขนส่งทางรางชนิดหนึ่ง เพราะมันอยู่ตรงกลางเลน

ในการวิเคราะห์ของยรรยง สมมติมีแท็กซี่แข่งกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่บล็อกของไฟแดงมันสั้นเท่ารถคันเดียว พอไฟเขียวผ่านปุ๊บ 5 นาที ก็หยุดอีก พอไฟแดงแล้วไฟเขียวก็ 5 นาทีอีกสุดท้ายแล้ว แท็กซี่กับมอเตอร์ไซค์ถึงพร้อมกันแน่นอน เพราะว่ายังไงมันก็วิ่งมาเจอไฟแดง ซึ่งสั้นเท่ากับรถคันเดียว แต่อีกเงื่อนไขหนึ่ง เมื่อบล็อกของไฟแดงมันยาวขึ้นมานิดหนึ่งในกรุงเทพฯ มอเตอร์ไซค์เริ่มได้เปรียบแล้ว เพราะรถแท็กซี่จะติดอยู่ตรงนี้ แต่มอเตอร์ไซค์ไปได้ อีกเงื่อนไขหนึ่ง ถ้าบล็อกยิ่งยาวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ดินเป็นที่ดินส่วนตัวเยอะ มอเตอร์ไซค์ยิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาที่รถติด คือเวลาคูณความเร็วของมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์ก็ค่อยๆ วิ่งมา คือยิ่งบล็อกรถติดยาวระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เปรียบ ในแง่ของการเดินทาง ซึ่งน่าสนใจมาก คล้ายกับระบบ BRT ที่เรายังคิดไม่ถึง

ยรรยงกล่าวว่า ระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างนี้ก็น่าสนใจ อย่าง grabtaxi ก็เริ่มเอามาใช้ส่งของแล้ว เพราะมันส่งได้ตรงเวลา สมมติว่ารถติดแบบ infinite time (ไม่มีที่สิ้นสุด) เลย มอเตอร์ไซค์ก็จะวิ่งถึงก่อนรถยนต์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย จึงเลยกลายเป็นโอกาสสำหรับมอเตอร์ไซต์ในการส่งของ ไม่ใช่แค่การส่งคนอย่างเดียว โดยเฉพาะระบบส่งของ ของร้านค้าออนไลน์

 

แฮคเมืองด้วยแผงลอย

แผงลอยซึ่งเป็นรูปแบบการ "แฮคเมือง" ชนิดหนึ่ง

ยรรยงอธิบายถึงระบบแผงลอยที่เขาไปบันทึกนวตกรรมเอาไว้ด้วย โดยกล่าวว่า แผงลอยหรือตลาดเคลื่อนที่ สามารถหนีตำรวจได้ น่าสนใจมาก เป็นการ "แฮคเมือง" ชนิดหนึ่ง เช่นใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง (แสดงภาพรถเข็นที่สามารถประกอบเป็นแผงลอย) ก็เกิดเป็นตลาดขึ้นมาแล้ว ซึ่งในสหรัฐอเมริกากำลังนิยมเรื่อง "Instant City" (เมืองฉับพลัน หรือเมืองสำเร็จรูป) อย่างเช่นที่ Woodstock แต่เมืองไทยเกิดขึ้นทุกวัน เช่นที่ซอยพัฒน์พงศ์

โดยยรรยงศึกษารูปแบบการประกอบแผงลอยว่า มี dimension (มิติ) อย่างไร มีระบบอย่างไร โดยเขาพบว่าเป็นระบบที่ง่ายมาก "เป็นนวัตกรรมที่มี 3 ชิ้นเอง แต่ละชิ้นก็มีหลายอย่าง มีของบนสามชิ้น เสาสี่เสา ส่วนเสาก็เสียบไว้ตรงกลางได้สองชิ้น สามารถวางตะแกรง เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็เสียบของที่ขายรองเท้า ซีดี ก็จะได้เป็นตลาดแล้ว เวลาเคลื่อนย้ายหนีตำรวจก็กลับไปเป็นรูปแบบรถเข็นเหมือนเดิม" อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่มีใครบันทึกไว้ แต่ถ้าเราบันทึกไว้ ก็จะรู้เลยว่าแผงลอยตอนนี้อยู่ที่ไหน เราก็สามารถเดินไปซื้อได้ โดยไม่ต้องกลัวเทศกิจทั้งสิ้น"

 

big data เสริมศักยภาพภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ

แบบจำลองของรถพุ่มพวง หรือรถกระบะขายของชำ ทำหน้าที่เป็นตลาดเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนย่านต่างๆ แต่ละวันจะมีเวลาที่แน่นอนว่ามาลงย่านนี้ช่วงเวลาใด

ยรรยงกล่าวว่า big data มีผลต่อภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการมากพอสมควร โดยเสนอว่าน่าจะลองเขียนแอพลิเคชั่นเพื่อแสดงข้อมูลของแผงลอย เช่น เราอาจจะรู้ว่าเสื้อที่แผงลอยนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ เรตติ้งเป็นอย่างไร กินส้มตำจะท้องเสียหรือไม่ สามารถจัดอันดับแผงลอยได้ แทนที่แผงลอยจะขายได้แค่ในย่านนั้น พวกก๋วยเตี๋ยวเป็ด ส้มตำ จะสามารถขายได้ทั้งโลกเลย อาจจะมีคนบินมากินที่นี่ ซึ่งที่ Silicon Valley (ย่านอุตสาหกรรมไอทีของรัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา) ได้ทำแล้ว เขาเรียกว่า TruxMap เป็นพวกรถขายทาโก้แบบเม็กซิกัน สามารถเปิดแอพลิเคชั่นตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้ร้านอยู่จุดไหน เปิดขายหรือยัง เช่นเดียวกับในเมืองไทยคือพวก "รถพุ่มพวง" หรือ รถกระบะขายของชำ เป็นตลาดเคลื่อนที่ได้ ซึ่งโลตัสกำลังทำอยู่ในเวลานี้ โดยในกรณีของรถพุ่มพวงในแต่ละวันจะมีเวลาที่แน่นอนว่ารถจะจอดขายสินค้าย่านหนึ่งๆ ในเวลาใด

ในส่วนต่อมา ยรรยงกล่าวว่า Harvard Business Review เคยพูดถึงบริษัทวิจัยหนึ่ง ที่มีเครื่องทำกาแฟในบริษัท เวลาคนมาพูดคุยเขาจะต้มกาแฟอีก 10 นาที ก็จะมีคนบอกว่ากาแฟเสร็จแล้ว คนจากแผนกต่างๆ จะมากินกัน โดยจะมีเสิร์ฟกาแฟจากเหยือก มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างแผนกกัน ซึ่ง CEO ของบริษัทดีใจมากที่เครื่องทำกาแฟ ทำให้เกิดการพูดคุยในแต่ละแผนก คราวนี้ CEO เลยซื้อเครื่องทำกาแฟอย่างดีมาใช้ สามารถทำกาแฟชนิดต่างๆ ได้ทันที ปรากฏว่าการพูดคุยก็หยุด ไม่มีใครพุดคุยกันอีกเลย เพราะกดกาแฟได้ทีละแก้ว กดแล้วก็ไป เหมือนร้านสะดวกซื้อ ไม่มีการคุยกัน นวัตกรรมอะไรก็หายไป แต่กว่าจะรู้ก็อีกหลายเดือน จนนักวิจัยมาบอกว่าที่คนมาเจอกันเพราะใช้เวลารอนาน ไม่ใช่เพราะกาแฟ

"รถขายของชำนั้นก็มีนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมมาคุยกัน เดี๋ยวนี้เราอาจจะไม่ค่อยเห็นแล้ว แต่อาจจะมีวิธีที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้แบบทันสมัยหน่อย อย่าง big data อาจจะทำให้มีการติด GPS ข้อมูลต่างๆ ว่ามีปลาเหลือในรถกี่ตัวแล้ว" โดยยรรยงกล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องทำให้เป็น open source ไม่อย่างนั้นก็พัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่มีใครจดเอาไว้เป็น blueprint

 

แฮคระบบขนส่งสาธารณะด้วยมือทำ

ภาพประกอบการอธิบายของยรรยง บุญ-หลง อธิบายเรื่องระบบขนส่งแบบทางการที่ถูกแฮคด้วยวิธีทำมือ

ต่อมายรรยงบรรยายเรื่อง "Handmade Transit Hack" หรือการแฮคระบบขนส่งด้วยวิธีทำมือ โดยเขากล่าวว่า นอกจากการแฮคผ่านระบบอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแผงลอยแล้ว แต่ระบบที่เป็นทางการก็โดนแฮคเหมือนกัน โดยยรรยงเล่าติดตลกว่า ครั้งหนึ่งในซานฟรานซิสโก มีคนไร้บ้าน ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเป็นโปรเฟสเซอร์หรือไม่ เข้ามาขอตั๋วรถไฟฟ้า เขาบอกว่าขอตั๋วหน่อย คุณ ใช้ตั๋วนี้ก็ออกได้เหมือนกัน เรามาคิดว่าตั๋วที่ออกได้ เขาอาจจะซื้อไว้แค่สถานีเดียว เพราะฉะนั้น เครื่องตรวจก็จะเห็นแค่สถานีเดียว ก็ออกสถานีนี้ได้ แต่เขาเอาตั๋วที่มีค่ามากกว่า 6 สถานีไปใช้ จึงสามารถเขามาถึงอีก 6 สถานีได้เลย เพราะเครื่องนี้มันเห็นแล้วว่าคนนี้เดินทาง เป็นการ hack ระบบที่เยี่ยมยอด คือเครื่องนี้มันจะเห็นว่ามาจากสถานีนี้

ซึ่งในอนาคตอาจจะมีคนทำแอพลิเคชั่นขึ้นมา ซึ่งผมไม่แนะนำนะครับ ในแอพลิเคชั่นอาจจะบอกว่าในเส้นทางที่คุณกำลังไป มันมีคนที่สวนทางกันมาทางไหนบ้าง แล้วคุณควรจะไปแลกตั๋วตรงไหน มันก็มีวิธีแบบนี้ได้ ทั้งนี้แม้แต่ระบบที่เป็นทางการก็โดนแฮคได้ โดย big data ทำให้คนมองในมุมแปลกๆ

 

คุยกับผู้บริหารระบบขนส่งทางเรือในเมืองกรุง "ผมขายเวลา ไม่ได้ขายเรือ"

ระบบ hydraulic-pump ของเรือด่วนในคลองแสนแสบ ที่สามารถดึงหลังคาไปข้างหลังเพื่อหลบระยะของสะพาน

ต่อมา ยรรยง เล่าเรื่องการทำวิจัยระบบขนส่งสาธารณะทางเรือที่คนในกรุงเทพฯ วิจัยขึ้นมาเอง มีการไปสัมภาษณ์คนทำเรือในคลองแสนแสบ คือชวลิต เมธยะประภาส (นายกสมาคมเรือไทย เจ้าของบริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด) โดยชวลิตกล่าวว่า "คนชอบหาว่าเรือผมไม่ดี ผมขายเวลา ผมไม่ได้ขายเรือ" ยรรยงอธิบายว่า คำอธิบายของเขาน่าสนใจ จริงๆ เรือแสนแสบก็เหมือนรถไฟฟ้า BTS นี่แหละ รักษาเวลาได้ ราคาถูกกว่า BTS ด้วย ถ้าผมไม่มีเงินผมก็จะใช้ระบบนี่แหละ แต่เรามัวแต่เอาเงินไปใช้กับอะไรก็ไม่รู้ โครงสร้างอย่าง BTS น่าจะได้รับการอุดหนุนเพื่อทำให้ราคาถูกลง และทำให้พ่วงกับเรือได้ด้วย ไม่อย่างนั้นคนนั่งเรือมาจะต่อ BTS ก็คิดแล้วคิดอีกว่า แพงขนาดนี้ ใครจะต่อ

นอกจากนี้นั้นระบบเรือด่วนในคลองแสนแสบ ก็มีระบบที่น่าสนใจ คือมี hydraulic-pump สามารถดึงหลังคาไปข้างหลังได้ เพราะบางทีสะพานใน กทม. จะเตี้ยมาก ระบบของเรือจะสามารถดึงเชือกไปข้างหน้าเพื่อหลบสะพาน ส่วนคนเก็บตั๋วเรือซึ่งยืนอยู่ข้างนอก ก็จะใส่หมวกกันน็อกเผื่อชนกับสะพาน

เรื่องนวัตกรรมเหล่านี้ถ้าเขียน blueprint ฝรั่งอาจจะบอกว่า ยอดนะ ถ้าเปลี่ยนเครื่องยนต์เขาอาจจะไปใช้ที่อัมสเตอร์ดัมก็ได้ แต่มันไม่มีใครบันทึกเป็นเอกสารไว้เป็น blueprint จริงๆ โดยยรรยงเสนอว่าของพวกนี้เป็นนวัตกรรม แต่ต้องทำให้ทันสมัยขึ้น

 

เสนอเสริมศักยภาพเครือข่ายลำน้ำใน กทม. เรือเชื่อมราง-เอื้อคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ

ในประเด็นนอกจากนี้ ยรรยงยังกล่าวถึง ระบบคลองในกรุงเทพฯ ที่ลองทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าถ้าเอาการขนส่งระบบคลองไปเชื่อมกับระบบที่ตรงต่อเวลา เช่น วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถไฟฟ้า BTS น่าจะทำให้คนในเมืองวางแผนชีวิตได้ ปกตินั่งรถ 2 กิโลเมตร อาจจะติด 2 ชั่วโมงก็ได้ แต่นั่งเรือ หรือนั่ง BTS ก็สามารถวางแผนเวลาได้ แต่ราคาก็ต่างกัน

ยรรยงชี้ด้วยว่า ปัจจุบันมีจุดระหว่างระบบขนส่งทางราง กับระบบคลองเยอะ โดยแสดงภาพให้เห็นพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ที่มีจุดตัดระหว่างระบบขนส่งทางราง กับการขนส่งในระบบคลองและระบบแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ยรรยงเสนอว่า แต่ถ้าราคารถไฟฟ้ายังสูงอยู่ คนจะต่อเรือมาขึ้นรถไฟฟ้าต้องคิดเรื่องราคา โดยเขาเสนอให้ใช้ระบบโปรโมชั่นตั๋ว เพื่อจูงใจให้คนเดินทางด้วยระบบเรือเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า

แบบจำลอง Network Graph Simulation จากการประมวลผลข้อมูลของยรรยง บุญ-หลง ร่วมกับจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เมื่อเชื่อมระบบขนส่งด้วยเรือกับระบบรถไฟฟ้า พื้นที่สีแดงซึ่งเป็นตัวแทนพื้นที่ซึ่งเข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชนจะลดลง ขณะที่มีพื้นที่สีขาวเพิ่มขึ้น ทั้งในย่านสุขุมวิท รวมทั้งย่านเมืองเก่าที่ติดต่อกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 

นอกจากนี้ ยรรยงได้แสดงแผนที่ ซึ่งเขาทำงานวิจัยร่วมกับ จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล (ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มาช่วยวิจัยเรื่องการเดินทางด้วยระบบรางด้วยวิธี Network Graph Simulation โดยสร้างเส้นเวกเตอร์ 3,000 เส้น แล้วลองใส่ระบบเครือข่ายรางเข้าไป เหมือนเป็นสนามแม่เหล็ก

ยรรยงอธิบายว่าเส้นสีแดงที่หนาแน่น คือพื้นที่ซึ่งเข้าไม่ถึงระบบราง โดยส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ยังเข้าไม่ถึงระบบรถไฟฟ้า ส่วนที่เข้าถึงพื้นที่จะกลายเป็นสีขาว จากการทำวิจัยมีการลองตั้งค่าอัลกอริทึมว่าตรงไหนที่เข้าถึงระบบรถไฟฟ้า ให้สีแดงหายไปจากภาพ ก็จะเห็นว่าส่วนสุขุมวิทหายไปจากภาพ สีลมหายไป

และเมื่อเพิ่มพื้นที่ขนส่งทางน้ำเข้าไป จะเห็นว่าพื้นที่สีขาวเริ่มเพิ่มขึ้น ในย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมืองเก่า ยรรยงเสนอว่าถ้าเปิดแค่ระบบคลองตรงนี้ก็สามารถทำให้คนเข้าถึงระบบขนส่งได้ รวมทั้งพื้นที่ด้านสยามพารากอน ตอนแรกยังเป็นสีแดง แต่พอเปิดทั้งระบบราง และระบบคลองก็กลายเป็นพื้นที่สีขาว

ยรรยงกล่าวด้วยว่า แรงบันดาลใจในการทำวิจัยมาจากกรณีศึกษากบฎฟาร์กในโคลัมเบีย ที่ใช้ระบบลำคลองและแม่น้ำในแถบป่าแอมะซอน ขนส่งยาเสพย์ติดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวิศวกรรัสเซียช่วยออกแบบเรือดำน้ำทำจากไฟเบอร์กลาสใช้ในคลอง ข้างในติด GPS โดยค่าใช้จ่ายของระบบอยู่ที่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ขณะที่ตัวเรือก็ไม่แพง

 

เชื่อมต่อมากขึ้น โอกาสมากขึ้น

นอกจากนี้ ยรรยงกล่าวถึงโครงการทดลอง พัฒนาระบบขนส่งภายในชุมชนคลองลาดพร้าว โดยเป็นการพูดคุยชุมชนเพื่อทำท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า เพื่อทดลองดูว่าจะแข่งกับห้างค้าปลีกที่ใช้ระบบขนส่งสินค้าทางถนนได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะคนที่อยู่ริมคลองก็เป็นผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว ถ้าใช้การขนส่งระบบคลองเชื่อมกับรถไฟฟ้า ก็อาจจะทำให้ขนสินค้าได้เร็วกว่า และขนส่งได้ทั้งวัน โดยยรรยงเปรียบเทียบจุดสำหรับทำท่าเรือ ว่าเหมือนกับการโทรศัพท์ เดิมมีโทรศัพท์สองเครื่อง A กับ B ยังไงก็โทรศัพท์ได้แค่สองคน แต่เมื่อเพิ่มอีกแค่ 3 จุด ไม่ได้แปลว่าเพิ่มการติดต่อแค่ 3 แต่เพิ่มอีกเป็น 10 เท่า เหมือนเป็น "permutation function" ดังนั้นในการทดลองจึงมีการเพิ่มเครือข่ายของท่าเรือขึ้นมาอีก 3-5 ท่า เหมือนกับระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น เพื่อดูว่าเมื่อมีการเชื่อมต่อแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดธุรกิจอะไรขึ้นมา

ในตอนท้าย ยรรยงยังเสนอรูปแบบการแชร์ที่อยู่อาศัยในอนาคต เช่น อาคารชุดแบบที่สามารถแชร์บริเวณที่สามารถใช้ร่วมกันได้เช่น ห้องนั่งเล่น ผ่านการจัดการด้วยแอพพลิเคชันด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท