Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จัดเวทีสาธารณะ ถกปัญหา พื้นที่ชุมชนคลองไทรฯ หลังศาลฎีกาตัดสิน ให้บริษัทและบริวาร ออกจากพื้นที่ แต่ สปก. กลับสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ด้วย ขณะที่ดินของรัฐยังตกอยู่ในมือ 10 ตระกูลใหญ่

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2558 ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้จัดพิธีเปิดอนุสรณ์สถานนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของเกษตรที่ร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พร้อมทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันถกปัญหาและหาทางออกต่อทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชนของประชาชนในพื้นที่

สุรพล สงฆ์รัก กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าวถึงความหมายของอนุสรณ์สถานที่ได้จัดสร้างขึ้นว่า อนุสรณ์สถานที่เราจัดทำขึ้นนี้ก็เพื่อรำลึกถึงเกษตรกรที่เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารจำนวน 4 คน ได้แก่ สมพร พัฒภูมิ เสียชีวิตเมื่อปี 2553 จากการถูกลอบยิงภายในหมู่บ้าน ปราณี บุญรักษ์ และมณฑา ชูแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555  โดยการถูกลอบยิงที่บริเวณสวนปาล์มในพื้นที่พิพาท และใช่ บุญทองเล็ก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 ด้วยการถูกลอบยิงในพื้นที่หมู่บ้านเช่นเดียว

นอกจากการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนแล้ว รูปแบบของอนุสรณ์สถานยังมีความหมายถึงการต่อสู้ของเกษตรกรที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย โดยลักษณะของขดลวดสปริงนั้น ได้ออกแบบมาเป็นวงกลม เพื่อให้เห็นถึงการยกระดับเป็นที่ละขั้นของเกษตรกร โดยประวัติศาสตร์การต่อสู้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก โดยรวมตัวกันเป็นเครือข่าย และในระหว่างการต่อสู้ได้ถูกข่มขู่คุกคามมีผู้เสียชีวิตหลายคนอนุสรณ์สถานครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน อนุสรณ์สถานมีชีวิต ที่รำลึกถึงถึงจิตวิญญานการต่อสู้ที่จะยังคงอยู่กับทุกคนที่ยังคงร่วมต่อสู้ในทุกวันนี้ นอกจากนี้บนขดลวดสปริงยังประกอบไปด้วยดวงดาว 3 ดวง โดยดาวสีแดงหมายถึงเลือดเนื้อชีวิตที่ต้องสูญเสียไปจากการต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน ดาวสีเหลืองหมายถึงคุณธรรมที่ทุกการต่อสู้เรียกร้องจะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรม และดาวสีเขียวหมายถึงภาคเกษตรกรและความอุดมสมบูรณ์

ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแล้ว ได้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมถกปัญหาและหาทางออกต่อทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง เครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง  เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันดามัน  กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดตำบลดงมะไฟ  ตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดการสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ประทีป ระฆังทอง ตัวแทนชาวบ้านชุมชนคลองไทร กล่าวว่า ได้เริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมื่อปี 2551 โดยปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 69 ครัวเรือน และได้จัดสรรพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนโดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงเกษตรกรรม แปลงปลูกธัญพืชและพืชหมุนเวียนตามแบบแนวทางเกษตรอินทรีย์ พื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่ทำปศุสัตว์ พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย นอกจากนี้เรายังได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ให้ทำกินในที่ดินดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวนี้ด้วย โดยบริษัทเอกชนได้บุกรุกพื้นที่ในเขตป่าไม้โดยไม่ได้ขอสัมปทานจำนวน 1,952 ไร่ ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมาในปี 2537 ได้มีการประกาศให้พื้นที่บุกรุกดังกล่าวเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  และในปีพ.ศ. 2546 ได้มีการชุมนุมโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ทำให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน ให้ออกนอกพื้นที่ ที่ได้บุกรุกจนปัจจุบันชนะคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว  แต่สปก.ก็ยังไม่มีการบังคับให้เอกชนออกนอกพื้นที่ รวมทั้งยังไม่มีการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร แต่กลับมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2558 ให้บริษัทเอกชน บริวาร และชาวบ้านคลองไทรพัฒนาออกนอกพื้นที่โดยให้เหตุผลว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกที่ดินของ สปก.

ประทีบกล่าวต่อว่า คำสั่งศาล คำว่า บริวารไม่ได้หมายถึง ชุมชนคลองไทร เพราะพวกเราอยู่ที่นี่ในฐานะเกษตรกร ที่ต้องการที่ดินทำกินเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ใช่ถือครองที่ดินเพื่อนำไปเป็นสินค้า ชุมชนมีการจัดสรรที่ดินทำกินที่เป็นระบบที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบโฉนดชุมชนไม่ใช่การเป็นเจ้าของแบบปัจเจก และเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบในการจัดการที่ดินให้หลายพื้นที่ได้ จึงต้องการให้ สปก. ยกเลิกคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่และเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการจัดสรรในที่ดินทำกินและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

ด้านบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง กล่าวว่า ได้ติดตามการต่อสู้ของชาวบ้านคลองไทรพัฒนามาโดยตลอด เมื่อมี่คำสั่งศาลออกมา รู้สึกดีใจแทนชาวบ้านที่จะได้รับรองสิทธิในที่ดินทำกิน  ซึ่งมีการรับรองในมติคณะรัฐมนตรี และการประกาศใช้ออกมาชัดเจน ว่าชาวบ้านสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ สปก. กลับนิ่งเฉย หนำซ้ำยังมีคำสั่งขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของ สปก. ต่อการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน นอกจากนี้จากการลงพื้นที่เก็บมูลพบว่า ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี มีนายทุนถือครองที่ดิน อยู่ 10 บริษัท ใน 10 ตำบล โดยมีการครอบครองที่ดินเป็นแสนไร่ และในจำนวนนี้มีที่ดิน ที่เป็นของ สปก. อยู่ด้วย

บุญ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านต้องใช้เลือดเนื้อในการต่อสู้เพื่อที่ดินเพียงไม่กี่สิบไร่ กลับต้องต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาตัวเองในการปฏิบัติหน้าที่ และควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนซึ่งในมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ให้อำนาจ สปก.สามารถจัดสรรที่ดินให้กับสถาบันเกษตรกรได้ซึ่งมีนัยยะเหมือนกันกับเรื่องโฉนดชุมชนที่มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้

ขณะที่ สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า กรณีที่ สปก. มีการออกประกาศให้ชาวบ้านชุมชนคลองไทรออกจากพื้นที่ ถือเป็นมุมมองที่ไม่มีการเข้าใจในระบบ การบริหารทรัพยากรที่ดิน ที่เมื่อที่ดินเป็นของรัฐ ต้องรู้จักการแบ่งปัน ให้กับผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่การมองภาพไปในลักษณะของการเก็งกำไร เสมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุน มาแสวงหาผลประโยชน์ ที่มีการทำกันอย่างแพร่หลายเหมือนเช่นที่ผ่านมา

“สปก. ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากเดิมทีมองในเรื่องที่ดินเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ต้องมามองเป็นการแบ่งปันโดยมองประชาชนที่ด้อยโอกาสเป็นพวกของตัวเอง ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนทราบมาว่ามีการจัดการที่ดีโดยอยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันแบ่งสรรอย่างเท่าเทียม ซึ่งในส่วนของ สปก. เองก็มีหน้าที่เพียงควบคุมดูแลหรือคัดเลือกคุณสมบัติแก่ผู้ที่เหมาะสมที่จะมาถือครองที่ดิน การคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่มีการยืดหยุ่นเหมือนเช่นที่ผ่านมาก็จะเป็นการปิดโอกาสแก่คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” สถิตพงษ์กล่าว

ด้าน สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาครัฐในทุกยุคทุกสมัยมีความล้มเหลวเรื่องการจัดการที่ดิน โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกร นั้นยังไม่สามารถจัดการปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกที่ดินของภาคเอกชนและไม่ได้บุกรุกที่รัฐ  เจตนารมณ์หลักในการทำงานของ สปก. คือการจัดหาที่ดินทำกินให้กับคนที่ด้อยโอกาส ดังนั้น สปก. ควรส่งเสริมสิทธิของชาวบ้านไม่ใช่ไปไล่ที่ให้ชาวบ้านออกไปเหมือนที่กำลังทำอยู่

สุนี กล่าวต่อว่า ในกรณีของชุมชนคลองไทรพัฒนา สปก. สามารถใช้อำนาจของตนเองในการแก้ปัญหาได้ เพราะชุมชนมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งภายในชุมชน การบริหารจัดการที่ดินในชุมชน การกำหนดกฏระเบียบในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยไม่มีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้ใคร ซึ่งจะเป็นการดีต่อการทำงานของ สปก. ที่จะไม่กระทบต่อการทำงานของหน่วยงานอื่น สปก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ มักจะใช่คำกล่าวอ้างที่ว่า ที่ดินไม่เพียงพอต่อการจัดสรรให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริง สปก. มีที่ดินอยู่ในมือจำนวนมาก แต่ที่ดินเหล่านั้นไม่ได้รับการจัดสรรลงมาสู่ชาวบ้าน กลับถูกให้นายทุนเช่า ซึ่งชาวบ้านต้องเรียกร้องและต่อสู้ด้วยตนเอง จนเสียเลือดเสียเนื้อกว่าจะได้ที่ดินมาทำกิน ดังนั้นหน่วยงานรัฐควรที่จะมีแนวคิดในการปฏิรูปที่ดิน ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้กับชาวบ้านที่ไม่เป็นประโยชน์กับนายทุนเหมือนเช่นปัจจุบัน

ด้านอภิชัย เชียรศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฏร์ธานี ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การบริหารจัดการที่ดินของชาวบ้านชุมชนคลองไทร เข้าข่ายแนวนโยบายการจัดสรรที่ดินของ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี (คทช.) ซึ่งมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องมีการจัดที่ดินให้กับชาวบ้านที่ยากไร้ และไม่มีที่ดินทำกิน  2.ต้องทำให้ที่ดินที่จัดสรรเป็นกรรมสิทธิ์รวม และ 3.พัฒนาระบบสาธารณูประโภคในที่ดิน ถ้าเข้าข่ายเราก็จะจัดสรรให้ได้ จึงอยากให้ชุมชนไปยื่นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการจัดสรรที่ดิน แล้วผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณายื่นเรื่องให้ สปก. กลางพิจารณา เพื่อประกาศให้ชาวบ้านมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไป

ข้อมูลชุมชนคลองไทรพัฒนา

ชุมชนคลองไทรพัฒนาตั้งอยู่ในพื้นที่ ของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ 69 ครัวเรือน แต่เดิมพื้นที่นี้มีบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เข้าใช้ประโยชน์ โดยการยึดครองพื้นที่ป่าสงวน ป่าปากหมาก ป่าปากพัง ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมาได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2537 แต่ สปก. ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งมีการฟ้องคดีความโดย สปก. เป็นโจทย์ฟ้องบริษัท ให้ออกจากพื้นที่ และชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลสั่งให้บริษัทออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ โดยขณะนี้คดีสิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศาลให้บริษัทออกนอกพื้นที่ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่การบังคับคดีให้บริษัทออกไป

ขณะ เดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ส.ป.ก.ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุให้เร่งดำเนินการบังคับคดีกับบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา และบริวาร พร้อมด้วยสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา เนื่องจากเป็นผู้บุกรุก โดยระบุความจำเป็นว่า ต้องการจัดการพื้นที่อย่างเป็นธรรมเพื่อเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย 

ความชอบธรรมการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่

1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 52 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ เครือข่าย ปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ

 2. มติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) วันที่ 11 มีนาคม 2553 ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่า กระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ

3. มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มี โฉนดชุมชน (ปจช.) ให้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นพื้นที่ นำรองโฉนดชุมชน วันที่ 6 ตุลาคม 2553 (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธาน ปจช.)

4. บันทึกขัอตกลง (MOU) ข้อ 1,3 ระหว่าง พีมูฟ กับ ตัวแทนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net