Skip to main content
sharethis

“มันมีอีกระดับหนึ่งไม่ว่าคนฝรั่งหรือคนไทยไม่เคยรู้ ผมรู้ตัวตั้งใจแต่ผมคงล้มเหลว เพราะคนไม่พูดถึง ... เคยคิดไหมว่าสยามแม็พทั้งเล่มเป็น allegory ผมไม่ได้พูดเรื่องแผนที่ ภูมิศาสตร์ ผมพูดเรื่องอื่น แต่พูดมันด้วยแผนที่และประวัติศาสตร์”

คลิปช่วง "ธงชัย วินิจจะกูล" เกริ่นนำการสนทนา "กว่าจะมาเป็น Siam Mapped"

3 ต.ค.2558 ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการสนทนาระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน "สนทนากับ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล ในวาระ 20 ปี Siam Mapped" จัดโดย ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบการพิมพ์หนังสือ "Siam Mapped: A history of the geo-body of a nation" หรือฉบับแปลภาษาไทยในปี 2556 ใช้ชื่อว่า "กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ" ในเวทีเริ่มต้นด้วย ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังสือของเขาสั้นๆ ราว 25 นาที ก่อนจะเปิดให้แลกเปลี่ยน

ธงชัยกล่าวว่า จุดหลักที่ต้องการ คือ ตั้งใจมาคุยกับคนอ่านหนังสือ ซักถาม ถกเถียง โต้แย้งกัน โดยจะไม่สรุปหนังสืออีก เพราะคิดว่าคนที่ฟังอ่านมาแล้ว

สิ่งที่อยากคุยในท่อนแรกคือ สาแหรกความเป็นมาของหนังสือ Siam Mapped หลายประเด็นในที่นี้อยู่ในใจมานานแต่ไม่เคยนั่งคิดจริงจัง เพิ่งได้มาประมวลจริงจังเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ตอนไปพูดที่ญี่ปุ่น

“ถ้าใครเคยอ่านบันทึกหกตุลา เขียนเมื่อ พ.ศ. 2539 (หมายถึงบทความชื่อ "บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลา เช้าวันพุธ" เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539 - ประชาไท) บรรทัดก่อนสุดท้ายผมเขียนว่า "ประวัติศาสตร์ช่างโหดร้ายเหลือเกิน" ประโยคนั้นผมไม่ได้เขียนเล่น ผมคิดมาสามสิบกว่าปีแล้ว เพราะประวัติศาสตร์ช่างโหดร้าย การใช้ mapped อาจจะเป็น Catharsis ของผม”

ธงชัยอธิบายว่า Catharsis นั้นแปลไทยให้ตรงลำบาก (โสธนะ หรือ การระบายอารมณ์ทางวรรณกรรม - ประชาไท) แต่โดยสรุปมันคือการสู้กลับตอบโต้ เขาใช้หนังสือเล่มนี้ในการต่อสู้ โต้กลับกับสาเหตุทั้งหลายที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาในแบบของเขา ในการสู้มีหลายอย่าง ไม่ว่าฟ้องร้อง ด่า เปิดโปง แต่เขาใช้วิธีนี้

“ผมไม่ค่อยรู้ตัวหรอก แต่ผมมองย้อนหลังและประมวลความคิดย้อนหลัง ตอนสามสิบปีก่อนยังไม่เป็นระบบขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนยี่สิบปีก่อน ปีนี้ปีที่ 21 ผมเขียนขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของความคิดเยอะแยะไปหมดระหว่างที่ผมเรียนหนังสือ อิทธิพลความคิดเหล่านี้มามีผล shape หนังสือเล่มนี้ไม่ว่าโดยตรงโดยอ้อม” ธงชัยกล่าวและว่า ความรู้ต่างๆ ปนเปในหัวตอนเรียนหนังสือจนแม้ผลิตหนังสือออกมาเขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจหนังสือเล่มนี้ ดังเช่นที่อาจารย์ในแวดวงวิชาการมักบอกกันว่า บ่อยครั้งคนเขียนวิทยานิพนธ์ไม่ค่อยตระหนักว่าวิทยานิพนธ์ตัวเองมีคุณค่าตรงไหน อาจารย์จะเป็นผู้เห็นก่อน

“ด้วยเหตุนี้อิทธิลทางความคิดร้อยแปดสุมกันอยู่ และในฐานะที่เป็นปฏิกิริยากับเหตุการณ์ 6 ตุลา ให้ผมเขียนงานนี้ตอนนี้ผมทำไม่ได้แล้ว ในแง่หนึ่งงานนี้เป็นของผม และอีกแง่หนึ่งมันไม่ใช่ของผม” ธงชัยกล่าว

ธงชัยกล่าวว่า สิ่งที่ปนกันอยู่ในตอนเขียนหนังสือนี้คือ 1.ความปรารถนาที่ต้องการทำอะไรประหลาด 2. ต้องการให้มันไม่มีประโยชน์ ในแง่ประโยชน์ใช้สอย ดังที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศเมื่อต้นปีว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์ แต่นักมนุษยศาสตร์หลายคนก็พยายามบอกว่าวิชาเหล่านี้ยังมีประโยชน์

“ผมยินดี งานเขียนชิ้นนี้ตั้งใจให้มันไม่มีประโยชน์ในความหมายนั้น ผมเรียนในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เริ่มมีปัญหา ฝ่ายซ้ายเริ่มล่มสลาย กลับมานำเสนองานนี้ก็โดนวิจารณ์โดยอาจารย์แอคติวิสต์คนหนึ่ง แกวิจารณ์ว่า "ธงมึงเขียนอะไรวะ" คือ ผมถูก stigma ของการเป็นแอคติวิสต์ ทำให้คนคิดว่าคงช่วยคิดเรื่องยุทธศาสตร์ การเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ผมไปเขียนเรื่องแผน ผมต้องการให้ไม่มีประโยชน์ รวมถึงไม่มีประโยชน์ต่อการปฏิวัติด้วย” ธงชัยกล่าว

เขากล่าวอีกว่า "นักประวัติศาสตร์มีความฝันอยากจะเล่าจะเรื่องดีๆ" ซึ่งเรื่องดีๆ สำหรับธงชัยมีลักษณะดังต่อไปนี้

ในทางวิชาการ 1.มันควรเป็นงานที่น่าสนใจในความหมายไม่คุ้นหูไม่คุ้นตา น่าเชื่อแต่เชื่อไม่ค่อยลง ขัดแย้งกับความรู้ที่มีมาเสียจนกินไม่ลง คือจะกลืนลงไปก็ขอคิดดูก่อน น่าเชื่อ แต่ยังไม่อยากกลืน ให้มันค้างๆ เติ่งๆ อยู่ตรงนั้น 2.ไม่ตรงกับขนบ ในกรณีนี้คือประวัติศาสตร์ไทย ปะทะต่อสู้กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ราชาชาตินิยม โต้แย้งแก้ไขอย่างหนักทั้งหัวข้อ การเมือง อุดมการณ์ของกระแสหลัก แต่ขณะเดียวกันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย ประวัติศาสตร์มาร์กซิสม์ 3.หากมันขัดๆ ฝืนๆ กับฝ่ายซ้าย มาร์กซิสม์ด้วยยิ่งดีใหญ่ 4.เป็นทฤษฎีแต่ไม่แสดงออกทางทฤษฎี ประยุกต์ใช้ให้เต็มที่ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง แต่ไม่ต้องบอกคนอ่าน เขาหาได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องผิด 5.มีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจนไม่ได้เต็มไปด้วย jargon ทางทฤษฎี เล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ปกติ อาจจะอ่านยากหน่อยแต่ก็เป็นเรื่องเล่าธรรมดา

ในแง่อุดมการณ์ ทางความคิด 1.อย่าหลบเลี่ยงการเป็นการเมือง แต่ไม่ต้องประกาศสัจจะทางการเมือง เพราะมันหมดเสน่ห์ ให้คนอ่านหาเอาเอง หากไม่ตรงกับเราก็สิทธิของเขา 2.พยายามทำให้มันซับซ้อนเท่าที่ทำได้แต่ก็ต้องอ่านได้ด้วย 3. ต่อต้านชาตินิยม

“ผมไม่เอาชาตินิยม ใครจะบอกว่า extreme ก็ตามใจ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะกำจัดได้หมดหรือ อาจจะไม่หมดก็ได้ แต่ตอนนั้นสุมอยู่ในหัวแบบนั้น มัน against Thainess ต่อต้านความเป็นไทย ชาตินิยม ส่วนว่าตัวผมจะขนาดนั้นได้ไหมก็แล้วแต่ชีวิตคน แน่นอนต่อต้านราชาชาตินิยม แต่นั่นแหละ ไม่ต้องโจ่งแจ้งเปิดเผย”

ในแง่วิธีศึกษา เขาได้รับอิทธิพลจาก linguistic turn critical theory และแนวคิด Modernism, Post-Modernism, Post structural ที่รากมาจากฝรั่งเศสแล้วเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในภาษาอังกฤษ ในแง่วิธีการ หรือ method จะเห็นในบทสอง ส่วนสุดท้าย ว่ามันดูการปะทะทางสัญญะและการแปลในฐานะเป็นมูลฐานของการเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ของสยาม สุดท้าย เขาตั้งใจจะเขียน history on the margin แปลว่า ชายขอบภูมิศาสตร์ มองย้อนกลับมาเราจะเห็นประวัติศาสตร์อีก perspective เป็นการมองจากชายขอบเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงทางศูนย์กลาง

“ในแง่วิธีการเขียน good story ในความเห็นของผม คือ เล่าเรื่องที่อ่านได้หลายระนาบ หนังสือ Siam Mapped ผมอยากและตั้งใจแต่จะสำเร็จหรือไม่แล้วแต่ คือ เขียนให้อ่านได้หลายแบบ” ธงชัยกล่าว

เขาขยายความว่า ระดับแรก คนจะสรุปว่าหนังสือบอกว่าเส้นเขตแดนนั้นเพิ่งเกิด ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องที่ค้นพบนานแล้วเพียงแต่เขานำเรื่องนี้มาเป็นจุดตั้งต้น ส่วนระดับอื่นๆ คือ มันมีเรื่องอาณานิคม อาณานิคมภายใน ราชาชาตินิยม วิทยาศาสตร์กับรัฐ การแปลความรู้ตะวันตกให้เป็นแบบไทย ฯลฯ รวมทั้งส่วนที่เขาไม่ตระหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขาด้วยคือ การปะทะทางสัญญะและการแปลซึ่งเป็นมูลฐานการเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสยาม

“มันมีอีกระดับหนึ่งไม่ว่าคนฝรั่งหรือคนไทยไม่เคยรู้ ผมรู้ตัวตั้งใจแต่ผมคงล้มเหลว เพราะคนไม่พูดถึง คือ allegory (อุปมานิทัศน์) คือ เคยคิดไหมว่าสยามแม็พทั้งเล่มเป็น allegory ผมไม่ได้พูดเรื่องแผนที่ ภูมิศาสตร์ ผมพูดเรื่องอื่น แต่พูดมันด้วยแผนที่และประวัติศาสตร์” ธงชัยกล่าว

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้นี้มีคนชอบหาว่าเพราะงานนี้ทำให้เขาได้งานทำที่สหรัฐอเมริกา โดยธงชัยกล่าวต่อว่า "และอะไรต่อมิอะไร ซึ่งก็ดี แต่ผมไม่เข้าใจว่าอะไรนักหนา มีคนหนึ่งตอบผมอย่างนี้ เอาเข้าจริงงานชิ้นนี้พูดในสิ่งที่ basic มากๆ basic เสียจนพวกเขาที่อ่านสามารถต่อยอดได้เองไปได้หลายทาง เหมือนจู่ๆ ก็มาชี้ให้คุณเห็นว่า คุณเคยเห็นจมูกคุณไหม งานนี้เหมือนเล่าว่าจมูกคุณอยู่ตรงนั้น ซึ่งเรามักจะมองไม่เห็น ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่เราจะรู้ เป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้ได้ เข้าใจได้” ธงชัยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net