คสช.จะยอมให้มีการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                       

เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้พบปะกับเลขาธิการสหประชาชาติคือนายปัน คีมูนและสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับไทยในปี 2017 บนรูปธรรมคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งก็อาจทำให้ใครหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอด้วยความดีใจให้ถึงวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเสียที ในขณะที่ใครหลายคนก็เกิดข้อกังขาว่าพลเอกประยุทธ์นั้นสัญญาจากใจจริงหรือไม่เพราะเขาสามารถคืนประชาธิปไตยให้กับคนไทยตั้งแต่ปี 2014 เสียด้วยซ้ำ  ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการให้คำตอบในระดับหนึ่งสำหรับคนทั้ง 2 กลุ่มโดยการวิเคราะห์ว่าประเทศที่มีการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป  โดยอาศัยพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของบทความในการวิเคราะห์ว่าเหตุใดประเทศเผด็จการดังเช่น จีน ซีเรีย เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ อิหร่าน (รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่อาจไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียด) จึงมีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศเผด็จการเหล่านั้นแล้วจึงโยงให้เห็นถึงกรณีของประเทศไทยที่ว่าคสช.จะยอมให้มีการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่และการเลือกตั้งนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

จีน

สำหรับจีนถือว่าตนเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อันเป็นคำที่สวยงามแทนคำว่าเผด็จการอำนาจนิยมโดยผู้ปกครองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีองค์กรสำคัญคือสภาประชาชนแห่งชาติที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งเป็นทอดๆ แต่ผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่มาจากการเลือกภายในพรรคเอง  การที่จีนมีระบบการเมืองแบบพรรคเดียวซึ่งมีอำนาจครอบงำประชาชนในทุกระดับย่อมไม่อาจทำให้จีนเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมได้ แต่รัฐบาลยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการปกครองตัวเองด้านท้องถิ่นโดยเฉพาะหมู่บ้านอันเป็นผลมาจากนโยบายการเปิดประเทศสู่ตลาดเสรีโดยเติ้ง เสี่ยวผิง  การเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านของจีนเริ่มต้นเมื่อปี 1978 และได้ถูกนำมาทดลองปฏิบัติกับหมู่บ้านในส่วนต่างๆ ของจีนเรื่อยมา  ในปี 1998 สภาประชาชนแห่งชาติภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ออกกฎหมายให้หมู่บ้านจำนวน  930,000 แห่งทั่วประเทศมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านโดยมีผู้ลงสมัครมาจากสมาชิกในหมู่บ้านเอง คณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้มาช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบและควบคุมประชาชนแทนพรรคได้อย่างเต็มที่และถูกต้องชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกของชาวบ้านอย่างแท้จริง    สิ่งนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ว่าการเลือกตั้งของหมู่บ้านเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยอย่างช้า ๆของจีนจากระดับรากหญ้าไปสู่ระดับเบื้องบน แต่ในความจริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์ยังเข้ามาแทรกแซงอย่างมากเพื่อไม่ให้ประชาธิปไตยระดับหมู่บ้านสามารถบั่นทอนอำนาจของตนได้เช่นพยายามชี้นำประชาชนในการเลือกผู้ลงสมัคร (แต่มีหลายครั้งที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครคนอื่น)  พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงควบคุมแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่สำคัญของท้องถิ่นในขณะคณะกรรมการหมู่บ้านเพียงแต่จัดวางนโยบายและดูแลทรัพยากรเหล่านั้น   ที่สำคัญพรรคคอมมิวนิสต์ยังได้โน้มน้าวให้คณะกรรมการหมู่บ้านสมัครเป็นสมาชิกของพรรคในภายหลัง ในปัจจุบันร้อยละ 66 ของคณะกรรมการหมู่บ้าน และร้อยละ 78 ของผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์  สิ่งนี้ทำให้เราคาดเดาได้ยากอย่างยิ่งว่าจีนจะเป็นประชาธิปไตยเมื่อไรเพราะเผด็จการมักจะอ้างการปฏิรูปไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงก็คือเพื่อลดแรงกดดันจากประชาชนจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลท้องถิ่นเช่นเดียวกับการหลอกประชาชนไปเรื่อยๆ ว่าสักวันหนึ่งประเทศจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตย กระนั้นตามสถิติที่ว่าชาวจีนมีการประท้วงรัฐบาลถึงแสนๆ ครั้งต่อปีก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งระดับหมู่บ้านอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก

ซีเรีย

นับตั้งแต่นายฮาเฟซ อัลอะซัดขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดของซีเรียผ่านการทำรัฐประหารในปี 1970 เขาได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามคำว่าการเลือกตั้งกับการลงประชามติเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกหากพิจารณาตามข้อมูลจะพบว่าการเลือกตั้งมีผู้ลงสมัครคือตัวเขาเพียงผู้เดียว  โดยผู้ลงคะแนนเสียงมีทางเลือกที่ว่าจะรับรองการเป็นผู้สมัครของฮาเฟซหรือไม่ ซึ่งผลของการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่ว่าปี 1971   1978   1985  1991  1999  ฮาเซฟล้วนแต่ได้คะแนนรับรองขาดลอยทั้งสิ้น แม้ไม่ลงทุนไปค้นหาประวัติศาสตร์ของซีเรียในยุคนี้ แต่ผู้เขียนก็พอเดาได้ว่าวิธีการของเขาในการบีบให้ประชาชนซีเรียมารับรองเขาก็ไม่แตกต่างอะไรกับเผด็จการประเทศอื่นนัก ไม่ว่าการเกลี่ยกล่อม โฆษณาชวนเชื่อจนไปถึงการข่มขู่ กลั่นแกล้งประชาชนหรือปล่อยข่าวว่าหากไม่ไปเลือกตั้งหรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้นำเผด็จการ ชีวิตของคนผู้นั้นพร้อมครอบครัวก็อาจตกอยู่ในอันตราย ฯลฯ  การเลือกตั้งของฮาเฟซก็คือต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลตนจนไปถึงการบังคับให้ประชาชนชาวซีเรียแสดงความจงรักภักดีต่อตัวเขาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในช่วงที่อำนาจของเขายังไม่มีความมั่นคงพอ เป็นที่น่าสนใจว่าในระดับสภาผู้แทนราษฎรนั้น พรรคบาธของนายฮาเฟซพร้อมพันธมิตรก็กุมเสียงส่วนใหญ่ไว้ในรัฐสภาอย่างเหนียวแน่นโดยวิธีซึ่งก็ไม่ต้องคาดเดาว่าคงเป็นไปอย่างที่ได้กล่าวมาข้างบน ดังนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ยังช่วยสร้างบารมีและอำนาจของนายฮาเฟซเหนือคู่แข่งซึ่งอาจเป็นผู้นำในพรรคบาธที่มีบารมีรองลงมา

ภายหลังนายฮาเฟซถึงแก่กรรมในปี 2000  นายบาชาร์ อัลอะซัดบุตรชายคนรองขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศแทนโดยผ่านวิธีการเลือกตั้งแบบเดียวกันและในปี 2007 เขาก็ได้รับชัยชนะอีกครั้งในการลงประชามติเพื่อรับรองการเป็นประธานาธิบดีต่ออีก 7 ปี  อย่างไรก็ตามการลุกฮือที่อาหรับ (Arab Spring) ในปี 2011 ก็ได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียซึ่งยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันอันเป็นผลให้ซีเรียกลายเป็นรัฐล้มเหลวที่อำนาจของรัฐบาลของนายอัลอะซัดสามารถครอบคลุมได้บางพื้นที่นอกเหนือจากฝ่ายขบถและกลุ่มไอเอส กระนั้นในเดือนมกราคม ปี 2014 นายอัลอะซัดก็ได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งโดยเขตของการเลือกตั้งก็มีเฉพาะที่รัฐบาลของตนสามารถควบคุมไว้ได้เท่านั้น และยังเป็นที่น่าสนใจว่ามีผู้ลงสมัครจากพรรคอื่นด้วยนับนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา และยังมีการเชิญกว่า 30 ประเทศซึ่งไม่ใช่ตะวันตกมาสังเกตการณ์ ซึ่งแน่นอนว่านายอัลอะซัดก็เป็นผู้มีชัยชนะอย่างขาดลอยได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีก 7 ปีเช่นเดิม

เหตุใดนายบาชาร์จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง ? ซึ่งคำตอบก็เป็นไปได้ว่าท่ามกลางความวุ่นวายของซีเรียในขณะนี้จนประเทศกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ และอาจจะเหมือนกับประเทศโซมาเลีย การเลือกตั้งจะช่วยให้เขาเป็นผู้มีความชอบธรรมมากที่สุด แม้จะมีการโจมตีถึงความไม่โปร่งใสแต่ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งย่อมทรงพลังและสามารถทำให้ผู้ที่ชื่นชอบศรัทธาต่อเขาไม่ว่าในซีเรียหรือต่างประเทศ (โดนเฉพาะประเทศที่เป็นเผด็จการเหมือนกันอย่างรัสเซียและอิหร่าน) ยอมรับความถูกต้องชอบธรรมของเขาเช่นเดียวกับการสร้างภาพลวงว่ารัฐบาลของนายอัลอะซัดยังมีขวัญและกำลังใจดีและพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเขายังปกติอยู่ ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกรวมไปถึงสหประชาชาติจะประณามการเลือกตั้งในครั้งนี้

กิจกรรมเช่นนี้ของนายอัลอะซัดไม่ใช่เรื่องประหลาด เผด็จการหลายคนในตะวันออกกลางยุคก่อนการลุกฮือที่อาหรับอย่างเช่นนายซายน์ เอล อาบิดีน เบน อาลีแห่งตูนีเซีย นายฮอสนี มูบารักแห่งอียิปต์  นายอับดุลเลาะห์ ซาเลห์แห่งเยเมนก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่หลายครั้งในช่วงที่พวกเขาดำรงตำแหน่ง สาเหตุที่เผด็จการ (ยกเว้นบางคนซึ่งผู้เขียนจะขอยกไปกล่าวถึงในข้างล่างนี้) มักไม่ประกาศตนให้เป็นผู้นำตลอดกาลก็เพราะต้องการสร้างภาพลวงว่าพวกเขาไม่ได้ยึดติดกับเก้าอี้ (เหมือนกับนายกรัฐมนตรีบางคนของประเทศสารขัณฑ์) เช่นเดียวกับการหลอกคนที่เบื่อหน่ายหรือต่อต้านตนว่าในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง   การประกาศตนว่าจะตายคาเก้าอี้ย่อมทำให้ผู้นำเผด็จการกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ซึ่งอาจหักโค่นหากปะทะกับลมแห่งประชาธิปไตยอันแรงกล้า แต่การเลือกตั้งจะทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นสามารถโอนเอียงไปตามพายุเหมือนต้นไผ่จนสามารถดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน นอกเหนือไปจากการสร้างภาพลวงว่าประเทศของตนมีภาวะนิติรัฐคือเคารพตามกฎหมายอย่างเข้มงวดโดยมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของประมุขรัฐบาลอย่างแน่นอนเหมือนประเทศประชาธิปไตยอันส่งผลต่อบทบาทประเทศของผู้นำเผด็จการในประชาคมโลกโดยเฉพาะการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเน้นความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลางเสียมากกว่าประชาธิปไตยเพราะสหรัฐ ฯ สามารถสร้างข้ออ้างร่วมกับผู้นำเผด็จการเหล่านั้นว่ากำลังมีโรดแมปหรือเส้นทางไปสู่การเป็นประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ กระนั้นปัจจัยอื่นไม่ว่าเรื่องการฉ้อราษฏรบังหลวง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ก็ทำให้การเลือกตั้งหมดประโยชน์ไปเพราะผู้นำเผด็จการดังกล่าวต้องลงจากตำแหน่งจากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนในการลุกฮือที่อาหรับเมื่อปี 2011

เกาหลีเหนือ           

เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจสำหรับชาวโลกที่ว่าเกาหลีเหนือซึ่งเป็นประเทศเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเพียงแห่งเดียวในโลกก็มีการเลือกตั้งแบบตะวันตก  แม้แต่ระบบพรรคการเมืองนั้นเกาหลีเหนือก็ดูเหมือนเป็นระบบหลายพรรคการเมืองเพราะไม่ได้มีเพียง  Worker’s Party of Korea  ที่มีคิม จองอึนเป็นเลขาธิการพรรคและครองอำนาจในรัฐบาลเพียงพรรคเดียว หากยังรวมถึงพรรค Korean Social Democratic Party และพรรค Chondoist Chongu Party ซึ่งก็เป็นพรรคพันธมิตรหรือลูกน้องของ Worker’s Party of Korea   พรรคทั้งหมดต่างเข้าร่วมการแข่งขันเลือกตั้งตามวาระที่รัฐธรรมนูญได้กำหนด ซึ่งแน่นอนว่าผลการเลือกตั้งซึ่งถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าก็ปรากฎออกมาอย่างน่าขบขันอย่างเช่นในเดือนมีนาคมปี 2014 คิม จองอึนได้เป็นผู้แทนราษฎรในเขตภูเขาเปกูจากคะแนนเสียง 100 เปอร์เซนต์ ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับพม่าในช่วงที่กีดกันพรรค National League for Democracy ของนางอองซาน ซูจีออกไปอย่างยิ่งเพราะพรรคการเมืองทั้งหลายถูกเชิดโดยกองทัพหรือเป็นพันธมิตรกับพรรคของรัฐบาล

ด้วยอำนาจและความยิ่งใหญ่ของผู้นำซึ่งเข่นฆ่าข้าราชการระดับสูงเป็นว่าเล่นเช่นนี้ เหตุใดเกาหลีเหนือจึงมีการเลือกตั้ง ? ผู้เขียนคิดว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเผด็จการแม้ว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่น่าขบขันในสายตาของตะวันตก แต่สำหรับรัฐฤาษีหรือรัฐโดดเดี่ยวอย่างเกาหลีเหนือก็คงใช้เป็นข้ออ้างกับประชาชนซึ่งไม่รู้ถึงความจริงรอบตัวมากนักนอกจากการโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศตนเป็นประชาธิปไตยและมีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ อย่างแท้จริง ประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนชนชั้นกลางก็ต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตที่มีเฉพาะในประเทศจึงไม่สามารถเอาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของตนไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริงได้ และที่สำคัญ การเลือกตั้งถูกรัฐเกาหลีเหนือสร้างขึ้นมาในฐานะเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการระดมหรือปลุกเร้าประชาชนให้แสดงความภักดีต่อรัฐและผู้นำที่เป็นรูปธรรมจริงๆ คือเป็นตัวเลขเห็นชัดเจนนอกเหนือไปจากการเข้าร่วมของมวลชนเพื่อแสดงความซาบซึ้งใจต่อพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นมาถี่ยิบในช่วงเวลาของปี ยังอาจเป็นไปได้อีกว่านายคิมนั้นกำลังพบกับปัญหาที่ขัดแย้งในตัวเองนั้นคือยิ่งเขาพยายามใช้อำนาจทั้งล้างสมองและกดขี่ประชาชนให้ภักดีแก่เขาเท่าไร เขาก็ยิ่งไม่ทราบเหมือนกับว่าภายในใจของประชาชนนั้นคิดอย่างไรกับเขาเพราะการแสดงท่าทางประจบเอาใจจนสุดชีวิตอาจจะเป็นเพียงละครตบตา ดังนั้นการเลือกตั้งจึงน่าจะช่วยได้อีกแรงหนึ่งเพื่อเค้นความภักดีอย่างแท้จริงจากประชาชน 

เป็นที่น่าสนใจว่าผู้นำเผด็จการคนอื่นๆ อย่างเช่น นายซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก นายนิโคไล เชาเชสกูแห่งโรมาเนีย นายซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียก็ล้วนประกาศตนว่าเป็นผู้นำตลอดกาลแต่ก็ได้ใช้การเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบของตนเช่นเดียวกับผู้นำตระกูลคิม มีเพียงนายมูฮัมมาร์ กัดดาฟีแห่งลิเบียที่ไม่มีการจัดการเลือกตั้งแต่ประการใด อย่างไรก็ตามเผด็จการทั้งหลายก็ต้องมีอันเป็นไปโดยมีสาเหตุไม่ว่าจากพลังประชาธิปไตยจากประชาชนหรือการแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกาและนาโต อันเป็นบทเรียนให้กับนายคิมและกลุ่มผู้นำเกาหลีเหนือต้องพยายามทำทุกวิถีทางในการควบคุมประชาชนเช่นเดียวกับการการสกัดไม่ให้มหาอำนาจเข้ามาโค่นล้มตน

สิงคโปร์

สำหรับสิงคโปร์นั้นถูกจัดว่าเป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง สิงคโปร์มักพยายามอ้างว่าตนมีระบบหลายพรรคการเมืองแต่สิงคโปร์กลับมีพรรคการเมืองเดียวที่ครองอำนาจในรัฐบาลอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1959 ก็คือพรรค People’s Action Party ส่วนพรรคการเมืองอื่นถึงแม้จะไม่ได้ถูกจัดตั้งหรือเป็นลูกน้องของพรรครัฐบาลเหมือนเกาหลีเหนือแต่ไม่มีโอกาสในหาเสียงมากนักเพราะช่องทางของพวกเขาคือสื่อมวลชนล้วนถูกควบคุมโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ซ้ำร้ายรัฐบาลยังกำหนดโทษถึงขั้นจำคุกสำหรับสื่อที่โจมตีหรือวิจารณ์รัฐบาลย่อมทำให้คนสิงคโปร์ไม่สามารถเห็นความบกพร่องของรัฐบาลได้นัก แม้การจัดโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็ถูกสั่งห้ามเพราะอาจเป็นการชี้นำมวลชนในด้านที่รัฐบาลไม่ปรารถนา ทั้งหมดนี้เป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตยที่เน้นการแข่งขันอย่างเสรีและยังเผด็จการยิ่งกว่าพม่าในปัจจุบันเสียอีกเพราะพรรคฝ่ายค้านของนางอองซานยังหาเสียงได้อย่างอิสระมากกว่า (ผู้เขียนเคยอ่านบทความของคนดังท่านหนึ่งในประชาไทที่บอกว่าสิงคโปร์ไม่ใช่เผด็จการโดยใช้เหตุผลที่ฟังไม่ค่อยขึ้นนัก ) 

ทว่าในการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พรรค People’s Action Party ได้คะแนนเสียงลดลงอันสืบเนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาลหลายอย่างเช่นปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพและจำนวนชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ซึ่งเป็นผลกระทบที่เห็นอย่างชัดเจน แต่การที่พรรค People’s Action Party เพิ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นครั้งล่าสุดจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายนของปี 2015 นี้ก็สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่าพรรคของรัฐบาลนั้นนอกจากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ระดับหนึ่งแล้วยังประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์อาศัยความยิ่งใหญ่ของผู้ก่อตั้งพรรคคือนายลี กวนยูผ้วายชนม์พร้อมมรดกของเขาคือวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประเทศสิงคโปร์เหมือนกับที่เกาหลีเหนือโฆษณาชวนเชื่อความวิเศษของ 3 ผู้นำตระกูลคิมเช่นเดียวกับการที่พรรค People’s Action Party   สามารถระดมความภักดีและความศรัทธาของประชาชนต่อรัฐสิงคโปร์ได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการแสดงความเศร้าโศกและการเข้าแถวอย่างยาวเหยียดเพื่อเคารพศพของนายลี

อย่างไรก็ตามสิงคโปร์เป็นเผด็จการน้อยกว่าเกาหลีเหนือจึงยังไม่สามารถล้างสมองประชาชนได้เท่ากับเกาหลีเหนือ พรรค People’s Action Party จึงได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งอีกแบบหนึ่งคือช่วยระบายความกดดันหรือความตึงเครียดของประชาชนจากความไม่พอใจรัฐบาลโดยการเข้าไปในคูหาเพื่อเลือกพรรคที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลในขณะที่กลยุทธ์การสกัดฝ่ายค้านดังที่ได้กล่าวมาย่อมทำให้พรรครัฐบาลไม่มีทางพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะมีประโยชน์อื่นๆ สำหรับรัฐบาลสิงคโปร์อย่างเช่นช่วยให้หัวหน้าพรรค People’s Action Party หรือนายกรัฐมนตรีคือนายลี เซียนลุงได้ใช้ผลการเลือกตั้งในการกระตุ้นให้ลูกพรรคของตนมีความกระตือรือร้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น หรือเพื่อควบคุมกับจำกัดอำนาจของลูกพรรคซึ่งอาจมีความขัดแย้งกับตนโดยการอ้างถึงการปรับปรุงมาตรฐานการทำงานเพราะถึงแม้รัฐบาลจะมีโอกาสแพ้ในการเลือกตั้งน้อยมากแต่การได้คะแนนเสียงลดลงอย่างเห็นได้ชัดก็จะทำให้พรรคมีปัญหาในด้านภาพพจน์

อิหร่าน

อิหร่านเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบสาธารณรัฐอิสลามในปี 1979 รัฐธรรมนูญของอิหร่านได้กำหนดโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่โดยให้ประมุขของรัฐคือประมุขสูงสุด (Supreme leader) อันมาจากผู้เชี่ยวชาญในศาสนาอิสลามและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มีอำนาจสูงมากเช่นสามารถควบคุมศาล กองทัพ ตุลาการ  นโยบายอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ  ส่วนประมุขของรัฐบาลคือประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งตามแบบตะวันตกแต่มีอำนาจไม่มากนักคือในด้านเศรษฐกิจและเป็นนักการทูตที่ไปเจรจาในเรื่องข้อตกลงหรือสนธิสัญญากับรัฐบาลต่างประเทศ การเลือกตั้งในอิหร่านจึงมีประโยชน์คล้ายกับเกาหลีเหนือและสิงคโปร์คือเป็นสร้างภาพแก่ประชาชนของประเทศตนว่าเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งแบบเสรี สำหรับอิหร่านนั้นได้รับคำชมว่าการเลือกตั้งหลายครั้งนั้นมีความบริสุทธิ์โปร่งใสมากกว่าประเทศประชาธิปไตยบ้างประเทศเสียอีกแม้ว่าพรรคการเมืองอิหร่านไม่มีบทบาทเอาเสียเลย (เหตุผลของรัฐเผด็จการก็คือพรรคการเมืองจะทำให้ระบบการกลั่นกรองผู้สมัครลงเลือกตั้งทางการเมืองมีความซับซ้อนและควบคุมผลทางการเมืองได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก) ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็เป็นการระบายความกดดันหรือความตึงเครียดของประชาชนอิหร่านเหมือนกับสิงคโปร์และเผด็จการอีกหลายประเทศดังที่ได้กล่าวมา เพราะคนอิหร่านยังรู้สึกว่าคะแนนเสียงของตนเปลี่ยนแปลงประเทศได้คือสามารถเลือกประธานาธิบดีจากนักการเมืองที่มาจาก  2 ค่ายคือค่ายอนุรักษ์นิยมและค่ายเสรีนิยม (ดังที่ว่าหัวปฏิรูป) ที่ขัดแย้งและแข่งขันกัน แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าประมุขสูงสุดนั้นจะคอยชักใยหรือควบคุมนักการเมืองไม่ว่ามาจากค่ายใด

ไทย

ด้วยเหตุผลของประเทศเผด็จการทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาย่อมเป็นตัวพยากรณ์ได้ว่าประเทศไทยแม้กำลังอยู่บนเส้นทางสู่การเป็นเผด็จการอำนาจนิยม (หรืออาจจะเลยไปถึงแบบเบ็ดเสร็จดังจะพิจารณาได้จากความพยายามของรัฐในการติดตั้งระบบ Single Gateway)  แต่ต้องมีการเลือกตั้งตามคำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ กระนั้นนายปัน คีมูนก็น่าจะเชื่อพลเอกประยุทธ์ได้เพียงระดับหนึ่งจากการที่เขาได้ติดตามและติดต่อกับประเทศที่มีรูปแบบการปกครองอันหลากหลายก็น่าจะรู้ดีว่าการเปิดให้มีการเลือกตั้งของคสช.ก็มีแรงจูงใจเหมือนกับประเทศที่เป็นเผด็จการดังที่บทความได้กล่าวมานั้นคือไม่ใช่เกิดจากความศรัทธาในประชาธิปไตยหรือเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศเสียเท่าไรนัก ในกรณีของพลเอกประยุทธ์ที่ไปเยือนสหประชาชาติสามารถสะท้อนได้ว่าคำสัญญาของเขาเกิดจากแรงกดดันของต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกอันนำไปสู่ความวิตกกังวลถึงจุดยืนของรัฐบาลเผด็จการในประชาคม ดังนั้นเวลาในการจัดการเลือกตั้งจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีการแปรผันกับแรงกดดันของต่างประเทศ  อย่างเช่นหากสหรัฐอเมริกาลดแรงกดดันทางการเมืองลงอาจด้วยเล็งเห็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของไทยเช่นเศรษฐกิจหรือการถ่วงดุลทางอำนาจกับจีน คสช.ก็อาจจะชะลอการเลือกตั้งไปเพื่อให้ระบบการเมืองแบบเผด็จการมีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลที่สามารถเสกขึ้นมาต่างๆ นาๆ  แต่อย่างไรแล้วไทยก็ต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนไม่เวลาใดเวลาหนึ่งเพราะเผด็จการมักอาศัยประโยชน์จากการเลือกตั้งดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

เป็นเรื่องแน่ชัดว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร จะเป็นส่วนผสมของฉบับ 40, 50 หรือฉบับที่แท้งไปของบวรศักดิ์ การเลือกตั้งในอนาคตจะต้องถูกลดคุณค่าและความสำคัญโดยองค์กรอื่นๆ ดังเช่นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (หรืออาจจะภายใต้ชื่ออื่น) ที่ถูกจัดตั้งโดยคสช.จนได้กลายเป็นซูเปอร์ครม.ที่มีอำนาจเหนือจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึง วุฒิสมาชิกที่เกินครึ่งมาจากการสรรหา ข้าราชการและองค์กรอื่นๆ อีกจิปาถะที่จะมาช่วยคานอำนาจ  อันจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหนแบบเยอรมันหรือแบบเดิม กลายเป็นเป็ดง่อยเหมือนกับรัฐบาลและประธานาธิบดีของอิหร่าน (ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ  ก็จะเปรียบได้ดังประมุขสูงสุดของอิหร่าน)  แต่โครงสร้างทางการเมืองใหม่เช่นนี้ก็สร้างประโยชน์ให้กับรัฐบาลเผด็จการเช่นช่วยพรางตาต่างชาติดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนแต่ก็จะมีความแนบเนียนกว่าการไม่จัดการเลือกตั้ง และที่สำคัญรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังกลายเป็นแพะรับบาปหากบริหารประเทศเช่นด้านเศรษฐกิจผิดพลาด ส่วนองค์กรฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ก็ลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรและอาจจะได้คำชมจากประชาชนบางกลุ่มอีกด้วยว่าช่วยคานอำนาจกับพวกนักการเมืองที่แสนชั่วช้า นอกจากนี้ผู้เขียนคิดว่าคสช.ยังอาศัยต้นแบบจากจีนในประเด็นประชาธิปไตยแบบท้องถิ่นคือจะเปิดให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างเสรีเพื่อเป็นการพรางว่าได้เน้นประชาธิปไตยแบบท้องถิ่นแต่กว่าจะถึงเวลานั้นรัฐบาลทหารก็สามารถใช้กลไกของรัฐในการคุมองค์กรเหล่านั้นได้เด็ดขาดเช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์มีต่อผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน   

ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งของไทยก็เป็นการระบายความกดดันหรือความตึงเครียดของประชาชนไทยเหมือนกับประชาชนอิหร่านและสิงคโปร์ (หรือสำหรับซีเรียในกรณีของการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร) เพราะคนไทยที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรยังรู้สึกว่าคะแนนเสียงของตนสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ในที่สุดแล้วโครงสร้างทางการเมืองเช่นนี้ก็จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องสูญสลายหรือไม่ก็แคระแกร็น เพราะนักการเมืองมืออาชีพเกิดความท้อแท้และฝ่อไปในที่สุดเพราะรู้ดีกว่ารณรงค์หาเสียงไปจนได้รับชัยชนะก็ไม่มีอำนาจรัฐอย่างแท้จริงเหมือนกับนักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม กระนั้นอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน   สมมติว่าเกิดได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งจนมีการปะทะกับกลุ่มข้าราชการก็จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติเพราะอาจนำไปสู่ภาวะการติดขัดกันทางอำนาจ (Power gridlock) ระหว่าง 2 กลุ่ม ทำให้นโยบายต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่า นักการเมืองเช่นนี้ของไทยไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคตก็คงจะหาได้ยากเต็มที    หรือตามฉากสมมติหนึ่งอีกฉากหนึ่ง โครงสร้างที่ไทยดัดแปลงมาจากอิหร่านอาจทำให้ระบบข้าราชการมีอำนาจมากจนเกินไปซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมเกิดความขัดแย้งกันเองในเรื่องบทบาทและผลประโยชน์ได้แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกเขียนมาอย่างดีก็ตาม ในอนาคตประเทศไทยอาจเกิดการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่หัวเผด็จการเหมือนกันและอาจจะอาศัยประชาชนกับการเมืองบนท้องถนนเป็นเครื่องมือ

ถ้าในอนาคตไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดสามารถท้ายทายฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมได้อีกต่อไป ไทยก็อาจจะหันกลับไปใช้ต้นแบบของเกาหลีเหนือ ซีเรียจนไปถึงสิงคโปร์โดยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากกว่ากลุ่มข้าราชการโดยพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ใครก็ได้ในเครือข่ายเดียวกันมาลงเลือกตั้งพร้อมกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเอง (สำหรับประเด็นพรรคการเมืองนั้นผู้เขียนจะขอยกเป็นอีกบทความหนึ่งในอนาคต)   รัฐไทยภายใต้คสช.ก็จะใช้วิธีการชี้นำผสมกับบังคับมวลชนให้มาเลือกบุคคลผู้นั้นแบบเดียวกับประเทศเผด็จการดังที่ได้กล่าวมาเพื่อสร้างความชอบธรรมและตอกย้ำความภักดีแก่ตนเอง  ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเท่าไรนักหากรัฐไทยประสบความสำเร็จจากการใช้คุณค่าเชิงอนุรักษ์นิยมในการล้างสมองคนไทยจนหมดสิ้น แน่นอนว่าคนไทยในฐานะ “พลเมืองไทย” ตามฝันของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณก็จะแห่มาเลือกผู้นำในกลุ่มขวาอำมาตย์นิยมจนอาจได้คะแนนเสียง 100 เปอร์เซนต์เหมือนนายคิม จองอึนหรือหวุดหวิดจะเต็มร้อยเหมือนนายฮาเฟซ อัลอะซัด  ละครฉากนี้ก็เป็นสิ่งที่พอจินตนาการได้อยู่ไม่น้อย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท