สภาวะอุปสรรคประชาธิปไตยของ ‘พุทธศาสนาแบบไทย’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ตอนอายุ 14 ผมหนีออกจากบ้าน เพราะมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้คิดตามประสาวัยรุ่นในเวลานั้นว่า จะไป “ตายเอาดาบหน้า” เริ่มจากไปบ้านญาติ กะว่าจะไปทำงานที่กรุงเทพฯกับเขา (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นงานอะไร ?) แต่บังเอิญยายตามมาแล้วจับบวชเณร ผมเลยมีโอกาสได้เรียนหนังสือ สึกออกมามีงานทำ ได้เลื่อนสถานะเป็นคนชั้นกลางแบบที่เป็นอยู่นี้

เมื่อนึกย้อนหลังทบทวนดู จากช่วงยุคของผมถึงปัจจุบันน่าจะมีผู้หญิงชนบทจำนวนไม่น้อยที่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเดียวกัน หรือคล้ายกันกับผม แต่พวกเธอโชคไม่ดีเหมือนผมที่มี “พื้นที่นักบวช” ให้โอกาสทางการศึกษา สมมติว่าถ้าพื้นที่นักบวชมีภิกษุณีและสามเณรี ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐและสังคมเท่าเทียมกับพระภิกษุและสามเณร ผู้หญิงชนบทจำนวนหนึ่งที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ก็จะได้รับโอกาสที่ดีแบบผม สำหรับคนที่มีฐานะพอจะเข้าถึงการศึกษาของรัฐ เขาก็ไม่มาบวชเรียนอยู่แล้ว ที่พูดถึงผมหมายเฉพาะคนยากจนจำนวนหนึ่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หากมีพื้นที่นักบวชเปิดโอกาสนั้นให้ พวกเขาก็ควรได้รับโอกาสนั้นเท่าเทียมกัน

อันที่จริงพื้นที่นักบวชในพุทธศาสนาแบบไทย เป็นพื้นที่ “เหลื่อมซ้อนกัน” ระหว่างโอกาสอย่างน้อย 2 ด้าน คือ โอกาสในการใช้วิถีชีวิตแบบนักบวชในการเรียนรู้ขัดเกลาทางจิตวิญญาณ และโอกาสทางการศึกษาที่เป็นไปได้จนถึงปริญญาเอกทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเมื่อได้โอกาสบวช โอกาสอื่นๆ เช่นการได้ทุนการศึกษาจากรัฐ คณะสงฆ์ หรือญาติโยมใจบุญ ฯลฯ ก็พ่วงมากับโอกาสการบวชนั้นด้วย จึงทำให้บางคนมีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาเอกทั้งในไทยและต่างประเทศ

บางคนอาจบอกว่า โอกาสดังกล่าวไม่ได้ผูกขาดไว้เฉพาะสำหรับเพศชายเท่านั้น เพราะ “แม่ชี” ก็สามารถจะเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นต้นได้ แต่ความเป็นจริงคือ แม้การบวชชีจะเป็นโอกาสที่ผู้หญิงเข้าถึงได้ แต่เมื่อบวชชีแล้วโอกาสที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมอย่างเท่าเทียมกับพระภิกษุสามเณรนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อสถานะไม่เท่าเทียมกัน ผลประโยชน์และโอกาสด้านอื่นๆ ที่พ่วงมาจากการบวชก็ย่อมห่างชั้นกันเป็นธรรมดา ก็ในเมื่อแม่ชีเป็นเพียง “แจ๋ว” รับใช้พระ จึงยากที่จะได้รับศรัทธาสนับสนุนเงินบริจาคทำบุญและอื่นๆ เพื่อเป็นต้นทุนให้มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับพระอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า พื้นที่นักบวชที่ให้โอกาสด้านจิตวิญญาณและโอกาสทางการศึกษาเป็นพื้นที่ของคนส่วนน้อยในสังคม หรือพื้นที่ของคนเฉพาะกลุ่มที่ต้องการโอกาสนั้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ใช้ “พื้นที่ของทุกคน” และควรละเว้นไม่ถามถึงปัญหาความเท่าเทียมหรือ “ความยุติธรรม” ทางโอกาส

เหตุผลเพราะ พื้นที่และโอกาสดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “รัฐ” จัดสรรให้ กล่าวคือ พื้นที่นักบวชและโอกาสทางจิตวิญญาณและการศึกษาในพุทธศาสนาแบบไทยนั้น เป็นพื้นที่และโอกาสซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครอง แปลว่ารัฐได้ใช้ทั้งกฎหมาย, งบประมาณ, หน่วยงานราชการ และทรัพยากรของรัฐในการสนับสนุนระบบการปกครองและการศึกษาของสงฆ์ ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า รัฐมีความชอบธรรมอะไรในการจัดสรรพื้นที่และโอกาสดังกล่าวสงวนไว้เฉพาะสำหรับนักบวชที่เป็นเพศชายเท่านั้น นี่เป็นการขัดหลัก “ความเสมอภาคทางโอกาส” ของประชาชนหรือไม่?

บางคนอาจคิดว่า ก็เป็นธรรมอยู่แล้วนี้ บางอาชีพก็มีผู้ชายเกือบทั้งนั้น เช่นทหาร ตำรวจ ฯลฯ ถ้านักบวชจะมีแต่ผู้ชายก็ไม่เห็นแปลกอะไร ข้อโต้แย้งแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลเลยครับ เพราะเมื่อว่าโดยหลักการพุทธศาสนาได้ให้โอกาสการเป็นนักบวชแก่ผู้หญิงอยู่แล้ว เมื่อมองในแง่บริบทก็มีภิกษุณี สามเณรีในนิกายอื่นๆ หรือนิกายเถรวาทเหมือนกันในประเทศอื่นๆ และที่กำลังเพิ่มขึ้นในไทย โดยเฉพาะเมื่อมองในแง่ว่าพื้นที่นักบวชและโอกาสที่ตามมาเป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ยิ่งต้องถามว่าการสงวนพื้นที่และโอกาสสำหรับนักบวชเพศชายเท่านั้นขัดหลักความเสมอภาคหรือไม่?

คำถามดังกล่าวนำมาสู่ “ปัญหาพื้นฐาน” ว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบที่เป็นอยู่คืออุปสรรคของการเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ใช่หรือไม่?

เพราะภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ รัฐได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองสงฆ์ (ตามกฎหมายคณะสงฆ์) เป็นเครื่องมือลดทอน ปิดกั้นเสรีภาพทางศาสนา และผูกขาดพื้นที่นักบวชที่เป็นโอกาสทางจิตวิญญาณและโอกาสทางการศึกษาไว้สำหรับเพศชายเป็นหลัก

เช่น องค์กรปกครองสงฆ์สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายคณะสงฆ์ห้ามพระไทยทำการบวชภิกษุณี ซ้ำยังประสานให้กระทรวงการต่างประเทศงดออกวีซ่าแก่พระชาวศรีลังกาที่ถูกนิมนต์มาทำการบวชภิกษุณีในไทยอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นองค์กรปกครองสงฆ์ยังมีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่ง “ไม่นับ” ภิกษุณี (และกลุ่มสันติอโศก) เป็นนักบวชหรือกลุ่มชาวพุทธที่ต้องได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองจากรัฐไทยอีกด้วย และรัฐก็แทรกแซงเสรีภาพทางศาสนาได้โดยตรงในหลายๆ กรณี เช่นใช้อำนาจรัฐบาลทำการปฏิรูปพุทธศาสนา (องค์กรสงฆ์) ได้โดยตรงเป็นต้น ซึ่งหมายความว่ารัฐมีอำนาจควบคุมและใช้องค์กรปกครองสงฆ์เป็นกลไกอำนาจรัฐได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างที่ยกมา (เป็นต้น) ก็คือตัวอย่างความเป็นจริงของปัญหาที่ว่า สถานะ อำนาจขององค์กรปกครองสงฆ์ และอำนาจรัฐไทยขัดแย้งกับ “หลักเสรีภาพทางศาสนา” ตามมาตรฐานของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ (เสรีนิยมประชาธิปไตย) สภาพปัญหานี้ทำให้รัฐไทยเป็นรัฐที่บัญญัติ “กฎหมายสองประเภทที่ขัดแย้งกัน” ให้ประชาชนปฏิบัติ นั่นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รับรอง “เสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา” และกฎหมายคณะสงฆ์หรือกฎหมายทางศาสนาที่ “ขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา”

การบัญญัติกฎหมายสองประเภทที่ขัดแย้งกันให้ประชาชนปฏิบัติ (พระสงฆ์และคนที่ต้องการโอกาสเข้าถึงพื้นที่นักบวชก็คือ “ประชาชน”) ผลก็คือทำให้ “ประชาชนมีความขัดแย้งในตัวเอง” ทั้งทางวิธีคิดและการปฏิบัติ เช่น ฝ่ายหนึ่งอ้างรัฐธรรมนูญเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาในการเข้าถึงพื้นที่นักบวชและโอกาสทางจิตวิญญาณ/ทางการศึกษา อีกฝ่ายอ้างกฎหมายสงฆ์ อ้างสถานะอำนาจของสงฆ์ตามธรรมวินัยและกฎหมายมาปิดกั้น ลดทอน กระทั่งละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของคนอื่นๆ ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ และจะเป็นเช่นนี้ไม่สิ้นสุด หากปัญหาระดับรากฐานไม่ถูกแก้ไข

การดำรงอยู่ของสภาวะปัญหารากฐานดังกล่าว ย่อมหมายความว่า “รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” ได้ หากยังคงระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่เป็นรากฐานให้รัฐออกกฎหมายสองประเภทที่ขัดแย้งกันให้ประชาชนปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้ “ประชาชนขัดแย้งในตัวเอง” ทั้งวิธีคิดและการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท