Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

นโยบาย Single Internet Gateway ของรัฐบาลที่กำลังถูกกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน คือ การที่รัฐจะทำให้ประตูที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศออกไปสู่ต่างประเทศ หรือ International Internet Gateway (IIG) เหลือเพียงบานเดียว จากที่ ณ ปัจจุบันประเทศไทยมี IIG ซึ่งเป็นของผู้ให้บริการรายใหญ่ ๆ ในประเทศที่ลงทุนสร้างไว้แล้วกว่าสิบบาน ด้วยเหตุผลหลักตามที่ฝ่ายรัฐบาลให้ไว้ก็คือ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยเพราะสามารถตรวจสอบคัดกรองข้อมูลได้ง่ายจากทางเข้า-ออกเพียงจุดเดียว

แต่ภายหลังคำสั่งภายในคำสั่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะชี้ชัดว่ารัฐบาลกำลังผลักให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ๆ หลุดออกมา ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขนานใหญ่จากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์กรดูแลเรื่องสิทธิประชาชน ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงองค์กรผู้ประกอบการและภาคธุรกิจดิจิทัล มีการลงชื่อคัดค้านที่เว็บไซต์ Change.org ทะลุไปที่หนึ่งแสนสองหมื่นรายชื่อภายในเวลาไม่กี่วัน แม้รัฐบาลจะออกมาชี้แจงว่า นโยบายดังกล่าวอยู่ในชั้นของการ “ศึกษาความเป็นไปได้” เท่านั้น ยังไม่ได้ทำและอย่ารีบออกมาค้าน แต่ผู้คนในโลกไอทีก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตอบโต้แผนการและการชี้แจงดังกล่าวของรัฐบาลอย่างสาสม ด้วยการรวมตัวกันเข้าไปใช้งานอย่างรัว ๆ ในเว็บไซต์หลายแห่ง ทั้งเว็บกระทรวงไอซีทีเอง  กสท. (CAT) กอ.รมน ทำเนียบรัฐบาล TOT กระทั่งเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ จนไม่สามารถรองรับการใช้งานได้และล่มไปตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 30 กันยายน 2558 เสมือนหนึ่งเป็นการจำลองภาพสถานการณ์ให้รัฐบาลเห็น จะได้ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาความเป็นไปได้ และจะได้สำนึกด้วยว่า ถ้าประเทศไทยจะใช้ Single Internet Gateway ในขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตจากผู้ใช้ภายในประเทศจำนวนมหาศาล ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอะไรเลยของภาครัฐ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คืออะไร แสดงเป็นนัย ๆ ว่า ต่อให้นโยบายดังกล่าวจะอยู่ในขั้นของการ “ศึกษาความเป็นไปได้” จริง ๆ ก็นับได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณของชาติไปเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพาประเทศ “ถอยหลังลงคลอง” เสียมากกว่าที่จะก้าวไปข้างหน้า

เหตุใดจึงถอยหลัง ? ก็เพราะ ประเทศไทยเคยผ่านการเป็น Single Internet Gateway มาแล้ว ในยุคที่คนไทยมีแต่ กสท. เท่านั้นที่บริการ IIG  ในยุคที่จำนวนประชาชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยังมีไม่มาก และในยุคที่ปริมาณข้อมูลที่ไหลเข้าออกระหว่างประเทศยังไม่กระทบกับความเร็วของอินเทอร์เน็ต นโยบายที่แสดงถึงการ “โหยหา” อยากกลับไปใช้ Single Internet Gateway อีกครั้ง จึงไม่มีทางเป็นเรื่องของ “ความก้าวหน้า” ไปได้  หรือมิเช่นนั้นก็อาจต้องพูดให้ถูก ๆ ชัด ๆ ว่า ประเทศไทยกำลัง “ก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ทันประเทศจีน” ซึ่งแน่นอนว่า ไมใช่เพื่อทันกันในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อให้มาตรการในการควบคุมตรวจสอบกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นเนื้อหาจากการรับรู้ของประชาชนมีศักยภาพทัดเทียมประเทศสังคมนิยมอย่างประเทศจีนต่างหาก

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นโยบาย Single Internet Gateway ขัดแย้งอย่างยิ่งกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่รัฐบาลพึ่งประกาศไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพราะการจะขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริงนั้น สิ่งสำคัญประการแรก ๆ ก็คือ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพ ขยายขอบเขต และความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ แต่ Single Internet Gateway จะนำมาซึ่งปัญหามาในหลายระดับ นับตั้งแต่

1) ระดับของการประกอบธุรกิจภายในประเทศ เพราะจะทำให้ความคล่องตัวในการ “เชื่อมต่อ” อินเทอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันลดน้อยลง เนื่องจากต้องเชื่อมผ่าน “ประตูกลาง” ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว แทนที่จะสามารถเลือกใช้ประตูบานที่ใกล้ ที่เหมาะสม หรือตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจตนเองมากที่สุด  

2) ระดับของผู้ใช้งานทั่วไป (รวมทั้งผู้ประกอบการออนไลน์ด้วย) ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วในการไหลเวียนข้อมูลลดลง หรือเมื่ออินเทอร์เน็ตล่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เช่น ถูกโจมตีระบบ ไม่สามารถรองรับการเข้าออกของข้อมูลได้ ฯลฯ เมื่อระบบล่มก็จะพากันล่มทั้งประเทศ e-commerce หยุดชะงัก กิจกรรมออนไลน์ดำเนินต่อไม่ได้ เพราะไม่มีประตูอื่นที่คอยมาแชร์ทั้งประสิทธิภาพ และความเสี่ยง และ

3) ระดับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความลับ รวมทั้งปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะไม่ว่าใคร (ไม่เฉพาะรัฐ แต่รวมถึงมิจฉาชีพ และแฮกเกอร์ด้วย) สามารถสอดแนม ควบคุม จารกรรม และปิดกั้นข้อมูลได้ง่ายขึ้นที่จุดเดียว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของบรรดาบริษัทต่างประเทศในการเข้ามาลงทุน และเหล่านี้เองที่ล้วนแล้วแต่ตรงข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ใครเลยจะรู้ว่า การมองว่ารัฐบาลนี้กำลังทะเลาะและสับสนในตัวเอง หรือมองว่านโยบาย Single Internet Gateway ขัดกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลชุดนี้ อาจเป็นการ “มองโลกในแง่ดี” เกินไปก็ได้ เพราะเอาเข้าจริง ในสายตาของรัฐบาลทหารซึ่งมาจากการทำรัฐประหารแล้ว การดำเนินนโยบาย Single Internet Gateway นี้แหละ ที่สอดคล้องที่สุด หรือเป็น “โครงการชุดเดียวกัน” กับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเลยก็ว่าได้ เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ว่าเป็นเพียงเรื่องสวยหรูที่รัฐบาลยกขึ้นเพื่ออำพรางเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังว่ารัฐบาลต้องการควบคุมสื่อและกิจกรรมบนโลกออนไลน์ของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกระดับ หากสังเกตดู จะพบว่านโยบาย Single Internet Gateway สอดคล้องกับชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลหลายฉบับที่ถูกผลักดันออกมาเมื่อต้นปี 2558 ที่คนในแวดวงกฎหมายและไอทีจำนวนมากก็คัดค้านเช่นกัน เพราะร่างกฎหมายฉบับหลักๆ ที่ออกมาในครั้งนั้น (และตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณา) แทนที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเปิดเสรี  สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เชิญชวนให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุน กลับน่าจะทำลายความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและบรรยากาศของการลงทุนมากกว่า เนื่องจากเต็มไปด้วยบทบัญญัติที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมสอดแนมการติดต่อสื่อสาร จับตา ดักรับ กระทั่งยับยั้งข้อมูลทั้งหลายที่ไหลเวียนเข้าออกบนโลกอินเทอร์เน็ต รวมทั้งใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงเหมือนกัน  

ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... (ในตอนนั้น) ที่พยายามเขียนขยายอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม “กฎหมายฉบับอื่น” สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของประชาชน หรือร้องขอให้ “ปิดกั้นหรือระงับการเผยแพร่เนื้อหา”ได้ จากที่แต่เดิมจะทำได้เฉพาะในกรณีความผิดร้ายแรงอย่างการก่อการร้ายหรือขัดต่อความมั่นคงเท่านั้น นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และโทรคมนาคมเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ได้สูงสุดถึง ๒ ปีจากเดิม ๑ ปี ด้วย แต่ร่างกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.... เพราะเขียนให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าถึง ดักรับ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดิจิทัล ตามที่ปรากฏใน มาตรา ๓๕ (๓) ความว่า “เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด เพื่อประโยชน์ใน การปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดยไม่บัญญัติ “เงื่อนไขการใช้อำนาจ” กำกับไว้แต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นการต้องมี “เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด” หรือ “เหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำผิด” ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าการใช้อำนาจเหล่านี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องขอคำสั่งหรือคำอนุมัติจากรัฐมนตรีหรือศาล กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พยายามให้อำนาจ “เข้าถึง” ได้โดยไม่มีขอบเขต และไม่มีมาตรการหรือกลไกในการถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เลยไม่ว่า “ก่อนหรือภายหลัง” ปฏิบัติการ

ร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่มองข้ามไม่ได้ คือ ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ... ที่บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการ “เข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลข่าวสารใดๆ เช่น การตรวจสอบหรือการดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการติดต่อสื่อสาร หรือข้อมูลทางการเงินของบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นได้...”  ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งการสืบสวนคดีความมั่นคงของรัฐ องค์กรอาชญากรรม หรือคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ในขณะที่ไร้ซึ่งความพยายามที่จะให้ขอบเขตที่ชัดเจนว่า “คดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน” คือคดีในลักษณะใด  เหล่านี้ยังไม่รวมข้อกล่าวหาของประชาชนและองค์กรผู้คัดค้านที่ว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามดึงคลื่นความถี่ที่เคยเสรีกลับไปบริหารจัดการเสียเองโดยผลของร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... แถมท้ายด้วย คำสั่งคสช. ฉบับที่ 94/2557 ที่ให้ กสทช. ชะลอการประมูลระบบอินเทอร์เน็ต 4G ออกไปอีก 1 ปี โดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ เช่นนี้แล้วจึงอาจตีความไปได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว Single Internet Gateway ก็คือ “จิ๊กซอ” ตัวหนึ่งที่จะทำให้ภาพของ “การควบคุมเนื้อหาและกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต” เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

ทำไมต้องควบคุมสอดแนมกิจกรรมในอินเทอร์เน็ต หรือทำไมต้องควบคุมเนื้อหา ? เพื่อความมั่นคงปลอดภัย ? ป้องกันการก่อการร้าย ? ป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ?  คำตอบในที่นี้อาจมีทั้ง ใช่ และ ไม่ใช่ ที่ “ไม่ใช่” ก็เพราะเครื่องมือของรัฐในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายให้อำนาจควบคุมเนื้อหา เครื่องมือสอดแนม รวมทั้งนโยบาย Single Internet Gateway อาจถูกนำไปใช้ได้ทั้งเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ตรวจสอบเส้นทางข้อมูลหรือแผนการก่อการร้าย ตามหาตัวอาชญากรคอมพิวเตอร์ และเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ไม่มีใครรับประกันได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและไม่ไว้วางใจประชาชนของตัวเอง รวมทั้งมีประวัติการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันโชกโชน จะไม่ใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อการสอดแนมความคิดเห็นของคนที่เป็นปรปักษ์กับพวกตน สอดส่องเส้นทางการเงินของนายทุนนักธุรกิจฝ่ายตรงข้าม จับตาดูชีวิตส่วนตัว อีเมล line ฯลฯ ของสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม รวมทั้งใช้มันเพื่อสกัดกั้นหรือปิดบังข้อมูลบางประเภทที่ไม่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงหรือรับรู้ ฯลฯ เหมือนกับที่มีการปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ Google, Facebook และ Social Network อื่น ๆ ในประเทศจีน หรือเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี หากแม้คำตอบคือ “ใช่” คือ รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเนื้อหา ก็เพียงเพื่อเป้าหมายเรื่องประสิทธิภาพในด้านความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการก่อการร้าย และป้องกันอันตรายจากอาชญากรคอมพิวเตอร์เท่านั้นจริง ๆ คนไทยก็ควรระมัดระวังให้ดีและตั้งข้อสงสัยไว้หลายๆ ข้อ เช่น การสอดแนมข้อมูลอย่างเหมารวมนั้นป้องกันการก่อการร้ายได้จริงหรือ ? การปิดกั้นเซ็นเซอร์ข้อมูลจะทำให้เนื้อหาผิดกฎหมายลดลงได้จริงหรือเปล่า ? Gateway เดียวจะทำให้เจ้าหน้าที่ค้นหาอาชญากรคอมพิวเตอร์ได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าการมีหลาย Gateway ? คุ้มค่าหรือไม่หากเปรียบเทียบกับข้อเสียอื่น ๆ ที่จะเกิดจากการใช้  Single Internet Gateway ? กระทั่งคำถามที่ว่า ปัจจุบัน มีประเทศมหาอำนาจ (ยกเว้นประเทศจีน) ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคาม การก่อการร้าย หรือสงครามไซเบอร์ยิ่งกว่าประเทศไทย ที่ไหนในโลกอีกบ้าง ที่มีนโยบายย้อนกลับไปใช้ Single Internet Gateway ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ? และคำถามสุดท้าย ก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “ภัยความมั่นคงไซเบอร์” ในสายตาของรัฐบาลทหารชุดนี้ มันหมายถึง ภัยก่อการร้ายสากล สงครามไซเบอร์ หรือการโจมตีระบบสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ หรือไม่ ? หรือมันมีนิยามแคบ ๆ ว่าหมายถึง การเผยแพร่ข้อมูลหรือเนื้อหาเชิดชูประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และเนื้อหาที่ “อาจ” เข้าข่ายมาตรา 112 ?   


*เผยแพรครั้งแรกในเวอร์ชั่นสั้น ที่ ข่าวสดออนไลน์ (5 ต.ค.2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net