Skip to main content
sharethis
งามศุกร์ “ความรู้สันติวิธีกำลังเบ่งบาน” จากงานพื้นที่สู่การพัฒนาหลักสูตร ป.โท/เอก โซรยา “จัดสานเสวนาเพื่อเรียนรู้เข้าใจกันในชุมชน” ที่ได้ไม่ใช่แค่เข้าใจกัน เมธัส “ความคิดต่างสุดขั้วก็อยู่ร่วมกันได้” และ แวอิสมาแอล์ “สันติภาพศึกษาสร้างชาติ”

เวทีหนึ่งในการประชุมนานาชาติ “ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน : สังคมมุสลิม ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี  เมื่อ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา คือเวทีอภิปรายสาธารณะ “ความรู้ทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง” โดยมีนายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ดำเนินรายการ มีเนื้อหาที่น่าสนใจตรงที่การแลกเปลี่ยนความรู้จากนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่พยายามสร้างสันติภาพในเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ดังนี้

งามศุกร์ รัตนเสถียร : ความรู้สันติวิธีกำลังเบ่งบาน

อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนละสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขออ้างคำพูดของ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่พูดเรื่อง “ความรู้สันติวิธี” ว่ามีอยู่ในสังคมไทยนานแล้วนับจากปี 2525 ที่เริ่มเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จน 15 ปีที่ผ่านมา เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหิดล สงขลานครินทร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพายัพ ล้วนมีสถาบันเกี่ยวกับสันติศึกษา รวมถึงนอกมหาวิทยาลัยก็มีศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันประปกเกล้า

มหาวิทยาลัยทั้งหมดมีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ จัดสัมมนา มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับสันติศึกษาในระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2548 ที่อนุมัติเรื่องนี้ขึ้นมา จึงเป็นผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ง่ายขึ้น

ก่อนจะเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มีการตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีขึ้นมาก่อนเมื่อพฤศจิกายน 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืน เพราะอยากมีส่วนร่วมการทำงานในพื้นที่

เราเริ่มต้นด้วยการมีเครือข่ายในพื้นที่คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ช่วงแรกเน้นการทำงานชุมชน เช่นที่เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เราพยายามนำเรื่องนี้เข้าสู่นโยบาย มุ่งเน้นปัญญาปฏิบัติ สร้างองค์ความรู้และสร้างกระบวนกรสันติวิธี พัฒนาเครื่องมือต่างๆ ในการทำงานชุมชน เช่น การสานเสวนา ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลายๆ องค์กร

จากงานพื้นที่สู่การพัฒนาหลักสูตร ป.โท/เอก

เราได้นำข้อมูลจากในพื้นที่เข้าไปสอนและพัฒนาเป็นหลักสูตรปริญญาโทและเอกในมหาวิทยาลัย จัดอบรมในพื้นที่ร่วมกับ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหงัดชายแดนภาคใต้) เรื่องสันติวิธี  เช่น โครงการโรงเรียนสันติวิธี เป็นต้น

วันนี้เราทำโครงการกับนักการเมืองมา 3 ปีแล้ว ที่น่าสนใจคือเป็นวงของคนในพื้นที่ที่เป็นนักการเมืองที่มีความหลากหลาย แม้จะต่างพรรคกันก็มานั่งคิดร่วมกัน คือเราพยายามทำงานข้ามกลุ่ม เช่น การเมือง ศาสนา ชาติพันธุ์ ให้คนมีพื้นที่ได้เข้าใจกัน

ทางเราเห็นว่านักการเมืองเป็นส่วนร่วมสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหา รวบรวมความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไข ซึ่งเมื่อทำไปแล้วก็มีเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบ เพราะนักการเมืองถูกมองว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ แต่เมื่อเข้าไปแล้วเราเห็นว่านักการเมืองเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับปัญหา

เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี (จ.ปัตตานี) ได้นำนักศึกษามาเข้าร่วมค่ายอบรมกับเรา และสนใจจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารจัดการความขัดแย้ง เราจึงได้ร่างหลักสูตรคร่าวๆ ไว้ จุดเน้นคือเราพยายามพัฒนาองค์ความรู้ เราได้แปลหนังสือเพื่อรองรับสำหรับนักศึกษาจากนักวิชาการ เช่น จอห์น พอล, อมาตยา เซน ฯลฯ  ซึ่งพัฒนามาจากหลักสูตรปริญญาโท แต่ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีสนใจคือในส่วนของศาสนาซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อนำมาใช้จัดการกับความขัดแย้งและสร้างคนให้มากขึ้น

10 ปีที่ผ่านมา สิ่งท้าทายในการทำงานในพื้นที่ที่เห็นคือ การมองความเป็นอัตลักษณ์เดี่ยวกับการทำงานข้ามกลุ่มให้มากขึ้น เพราะจุดประสงค์ของเราคือการสร้างความสัมพันธ์จากการที่แต่ละฝ่ายถอยห่างกันที่มีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย

โซรยา จามจุรี : จัดสานเสวนาเพื่อเรียนรู้เข้าใจกันในชุมชน

นางโซรยา จามจุรี นักวิชาการสำนักส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ในมิติการทำงานกับเครือข่ายผู้หญิงในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่สงบ ในการสานเสวนา เริ่มต้นจะเน้นความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสันติภาพ อีกกิจกรรมคือการสานเสวนา เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หวาดระแวงต่อกันได้มาคุยกัน คือการ Peace Dialogue

เรามีหลักคิดว่า ผู้ที่จัดสานเสวนาต้องเป็นคนในชุมชนนั้นๆ เราจึงนำคนที่อยู่ในชุมชนมาฝึกอบรมการเป็น “วิทยากรกระบวนการสานเสวนา”  เพื่อให้เกิดทักษะและจัดการสานเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบสูงจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่นที่ ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี  ที่มีเหตุรุนแรงมาก เป็นพื้นที่สีแดง มีความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านสูง

อีกที่คือ ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เราให้ชาวพุธและมุสลิมมาสานเสวนากัน เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม แต่ชาวบ้านเริ่มหวาดระแวงต่อกัน และที่ บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่เคยมีเหตุกรณีครูจูหลิง ซึ่งไม่มีใครกล้าเข้าไปที่นั่น แล้วคนที่นั่นก็ไม่ค่อยออกไปข้างนอก เราก็ได้เข้าไปจัดสานเสวนาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน

สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เข้าใจกันอย่างเดียว

จากทั้งหมดนี้ เราได้นำผู้หญิงจาก 3 ชุมชนนี้มาฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน จำนวน 5 รุ่น รวมแล้วประมาณ 200 กว่าคน แล้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงให้ในการทำกิจกรรม จากนั้นเมื่อปฏิบัติแล้วก็นำมาสรุปบทเรียนร่วมกันนำไปเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ เช่น วิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้สำหรับสื่อสารกับคนในพื้นที่ เรามีนักข่าวพลเมืองของช่องไทยพีบีเอส เรามีเฟซบุ๊ค อาศัยโซเชี่ยลมีเดียเพื่อให้คนนอกได้เข้าใจสิ่งที่เราทำ สิ่งสำคัญคือการทำไปพร้อมกันระหว่างการจัดกิจกรรมกับการใช้สื่อเผยแพร่กิจกรรม

สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง เราจัดงบประมาณจำนวนหนึ่งให้พวกเขาจัดซ้ำอีก ก็ได้พบว่าที่พ่อมิ่งเขาบอกปัญหาใหญ่ที่สุดคือยาเสพติด เป็นปัญหากับครอบครัวที่ทำให้สูญเสียหัวหน้าครอบครัวไป เขาก็จัดการสานเสวนากับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด

โดยปกติการจัดสานเสวนาก็เพื่อการเรียนรู้เข้าใจกัน แต่บางครั้งในความจริงไม่เพียงพอกับความจำเป็นของพวกเขา เขาคาดหวังสูงกว่านั้น เราจึงนำสิ่งที่เขาสะท้อนมาไปสู่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปแก้ไข

ในกรณีที่กูจิงลือปะ เราพบว่ามีผู้หญิงที่ถูกขังจากกรณีนี้พ้นโทษออกมา 4 คน และอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีและศาลยกฟ้อง ปรากฏว่าแม้ศาลยกฟ้อง เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว แต่ชื่อของพวกเขายังติดอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรอยู่อีกทั้งของทหารและตำรวจ เราจึงประสานไปยังทหารและตำรวจเพื่อให้ลบชื่อคนที่ถูกยกฟ้องออกจากแบล็กลิสต์ ในที่สุดจากวงสานเสวนานั้นเราก็ได้ช่วยให้พวกเขา 18 คนถูกลบชื่อออกจากทะเบียนอาชญากรได้ สามารถเดินทางประกอบพิธีฮัจญ์ เดินทางข้ามฝั่งไปมาเลเซียได้

นอกจากนี้เราเน้นการเพิ่มศักยภาพให้กับเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะรุมเร้าต่างๆ ให้เขาได้ลุกขึ้นมาและสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและครอบครัวได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของเราทีเดียว

เมธัส อนุวัตรอุดม : ความคิดต่างสุดขั้วก็อยู่ร่วมกันได้

นายเมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การจัดการความรู้ในพื้นที่ความรุนแรง เรามี 3 ภาพ คือ 1.คนที่ไม่มีที่ยืน ไม่มีพื้นที่แสดงออก เราต้องหาพื้นที่ให้ผู้ที่ขาดโอกาส 2.เหมือนคนตาบอดคลำช้าง แต่ละคนมีข้อมูลของตน จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลของแต่ละส่วนมาแลกเปลี่ยนกัน  และ 3.ทุกคนมีข้อมูลเดียวกันแต่คิดไม่เหมือนกัน ตีความไม่เหมือนกัน ทั้ง 3 กลุ่มนี้แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้มีพื้นที่มาพบกัน นี่เป็นวิธีคิดของสถาบันพระปกเกล้า

เราเชื่อว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเกิดจากความคิดต่างกันที่อยู่ห่างกันสุดขั้ว กับความคิดที่ยังอยู่กระจัดกระจายให้เข้าใกล้กันมากขึ้น จนกระทั่งมาอยู่จุดเดียวกัน นี่คือเป้าหมายของเรา

หลักสูตรของเรามี 2 หลังสูตร คือ หลักสูตร 4 ส.ใหญ่ ที่เราจำลองสังคมไทย และหลักสูตร 4 ส.ใต้ ก็จำลองจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี เราเชื่อว่าถ้านักศึกษาในหลักสูตรเข้าใจกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็สะท้อนได้ว่าสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปก็สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับเรื่องที่เราเรียนใน หลักสูตร 4 ส.ใหญ่ คือเราเริ่มจากธรรมชาติของความขัดแย้งว่าคืออะไร เราได้นำความขัดแย้งในพื้นที่นี้ชายแดนภาคใต้ไปเป็นหลักสูตรใหญ่ด้วย เพราะถือเป็นความขัดแย้งหลักความขัดแย้งหนึ่งของคนในชาติ คือในแง่ของชาติพันธุ์ สังคมพหุรัฐ กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางทรัพยากร รวมไปถึงการเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ ส่วนความยืดเยื้อของความขัดแย้งในพื้นที่ยังเป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องเรียนรู้

สิ่งที่ต่างกันคือหลักสูตร 4 ส.ใหญ่ จะมีพื้นที่กว้างกว่าคือ รวมทั้ง 5 ภูมิภาคในประเทศ ส่วน 4 ส.ใต้เน้นแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษา 30 คน หลักสูตร 4 ส.ใหญ่ มีพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ส่วน 4 ส.ใต้มีอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรคนแรก

หลักการหนึ่งของหลักสูตรคือเราจะให้มีการบรรยายแลกเปลี่ยน ให้แต่ละคนฟังความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับตัวเองทั้งสองหลักสูตร เช่น เอาทหารไปฟังความเห็นของคนที่เห็นต่าง เอาเจ้าหน้าที่กฟผ.(การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)ไปฟังเอ็นจีโอ(นักพัฒนาเอกชน)ที่ต่อต้าน เอาอาจารย์มหาวิทยาลัยไปฟังปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกันยิ่งกว่าเดิม แต่ส่วนใหญ่ก็เข้าใจกัน ซึ่งอย่างน้อยก็ได้ข้อสรุป คือได้ความเข้าใจว่าทำไมจึงไม่เข้าใจกันและก่อเกิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับทุกคนที่เข้าร่วมในหลักสูตร สิ่งสำคัญคือต้องทำให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ทุกความคิดมีที่ยืนและเป็นการยืนอย่างเสมอกัน

แวอิสมาแอล์ แนแซ : สันติภาพศึกษาสร้างชาติ

นายแวอิสมาแอล์ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน กล่าวว่า วิทยาลัยประชาชนพยายามเป็นองค์กรสร้างความรู้ จัดหลักสูตรที่มีอัตลักษณ์ของคนทำงานและกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เพราะเราทำงานในพื้นที่สงคราม มี 2 เหตุผลในการจัดการหลักสูตร คือ 1.เป็นทางเลือกในการศึกษาสันติภาพ เรานิยามสันติภาพให้กว้างและลึกขึ้น เรานิยามสันติภาพว่าไม่ใช่คนสองคนมากอดกันมาดีกัน หรือเอาพระเข้ามัสยิด เอาอิหม่ามเข้าวัด แต่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม ศาสนาและประวัติศาสตร์

เราไม่ได้เรียนแค่ว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร แต่เราจะจัดการพื้นที่นี้อย่างไร ให้ประชาชนที่นี่มีส่วนร่วมในการทำงานสันติภาพอย่างไร จึงมุ่งเน้นที่ประวัติศาสตร์และความรุนแรงสมัยใหม่ ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นี้กับโลกภายนอก

เรากำลังสร้างผู้นำที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ ให้เข้าใจถึงการแก้ปัญหาระยะยาว ในแนวทางการเมือง จึงขอเรียกว่าหลักสูตร”สันติภาพศึกษาฉบับสร้างชาติ”

เหตุผลที่ 2.เป้าหมายหลักคือสร้างแกนนำภาคประชาสังคม นักวิชาการและผู้นำที่นี่ เพราะเรามีวิกฤติเรื่องขาด “นักสร้างสันติภาพ” เราเห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนักสันติภาพที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน นำเข้ามาจากนอกพื้นที่ จากภูมิภาคอื่นหรือแม้แต่จากต่างประเทศ หรือแม้แต่ทฤษฎีการแก้ปัญหาก็นำมาจากต่างประเทศ

ในการแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องสร้างนักสันติภาพจากในพื้นที่เอง ทั้งหมดนี้เป็น 2 ส่วนหลักๆ ของเหตุผลที่เราทำ อีกประเด็นคือ เราต้องขยายพื้นที่การรับรู้วิธีการทางการเมืองให้กับทุกอณูบริเวณ เช่น โต๊ะอิหม่ามที่เข้ามาศึกษา ก็สามารถนำเรื่องสันติภาพไปพูดคุยก่อนการละหมาดได้ ให้การพูดคุยเรื่องสันติภาพได้กว้างออกไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net