Skip to main content
sharethis

หลังสงวนท่าทีในการประชุมกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อปลายเดือนก่อน ล่าสุด พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน ยืนยันจะร่วมลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า 15 ต.ค. นี้ พร้อมกลุ่มชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ซึ่งมีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และ DKBA กลุ่มนะคามวย ขณะที่กองทัพคะฉิ่น พรรครัฐมอญใหม่ กองทัพคะเรนนี พรรครัฐฉานก้าวหน้า กองทัพสหรัฐว้ายังไม่ลงนาม

พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน ภาพถ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

8 ต.ค. 2558 - ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) พล.ท.เจ้ายอดศึก แถลงยืนยันในวันนี้ (8 ต.ค.) ว่าจะร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA กับรัฐบาลพม่า ที่จะมีการลงนามที่เนปิดอว์ในวันที่ 15 ต.ค. นี้

ผู้นำกองทัพรัฐฉานจะร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า

ผู้ประสานงานของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เปิดเผยว่า พล.ท.เจ้ายอดศึก จะเดินทางไปเนปิดอว์ในวันที่ 15 ต.ค. นี้ เพื่อร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ ร่วมกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธอื่นอีก 7 กลุ่ม

โดย "คณะกรรมการบริหารสูงสุด" ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน (SSA) ได้ออกแถลงการณ์หัวข้อ "เส้นทางการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและจุดยืนของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS)" ลงวันที่ 8 ตุลาคม ตอนหนึ่งระบุว่า

"ข้อตกลงหยุดยิงทั่วภาคพื้นสหภาพ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) เป็นข้อตกลงที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และรัฐบาลสหภาพพม่าร่วมกันร่างขึ้น เพื่อหยุดยิงและนำไปสู่การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่อกัน สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS)/กองทัพรัฐฉาน (SSA) เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและสนับสนุนในการลงนามเพื่อยึดถือปฏิบัติร่วมกัน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และกองทัพรัฐบาลสหภาพพม่า ยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย"

ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ หวังแก้ไขปัญหาด้วยวิถีการเมือง รับรองสิทธิ-ความเท่าเทียม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า "ปัญหาการเมืองและงานชาติพันธุ์นั้น ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพนั้น ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่รองรับสิทธิความเท่าเทียม สิทธิการตัดสินใจด้วยตัวเอง รวมถึงสหภาพอันเป็นประชาธิปไตย ตามมติข้อตกลงในสนธิสัญญาปางโหลง ที่นำมาสู่การก่อตั้ง 'สหภาพพม่า' "

"ดังนั้นสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS)/ กองทัพรัฐฉาน (SSA) จึงได้มีมติร่วมลงนามใน "ข้อตกลงหยุดยิงทั่วภาคพื้นสหภาพ" (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) จึงได้ออกแถลงการณ์เรื่อง เส้นทางการเสริมสร้างความสงบร่มเย็นและจุดยืนของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน"

ระบุเคยลงนามหยุดยิงมาตั้งแต่ ธ.ค. 54 แต่ยังเกิดการปะทะ จึงเสนอตั้ง สนง.ประสานงาน

อนึ่งในเนื้อหาของแถลงการณ์ยังกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง โดยระบุว่าเริ่มหยุดยิงและเจรจามาตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2554 อย่างไรก็ตามยังคงมีการปะทะกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมาระหว่างกองทัพรัฐฉาน และทหารพม่า

"แต่ในห้วงระยะเวลาที่หยุดยิงกัน เพื่อพยายามแก้ไขด้วยวิธีทางการเมืองอยู่นั้น กองทัพรัฐบาลสหภาพพม่ากลับอ้างเหตุผลต่างๆ นานา และส่งกำลังทหารบุกเข้าโจมตีกองกำลังกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ที่ปักหลักตั้งฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่เมืองปั่น เมืองนาย ลางเคอ หมอกใหม่ น้ำจ๋าง ป๋างโหลง หลอยแหลม เมืองเป็ง ลอกจ็อก ลายค่า เมืองกึ๋ง จ็อกเม หมู่เจ้-น้ำคำ เมืองโก เกซี กุ๋นเหง เชียงลม เชียงตอง เมืองปูโหลง เมืองปู่อ่อน เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก เมืองโต๋น เหล่านี้มาโดยตลอดนั้น ในอนาคตหากว่าเกิดเหตุเข้าใจผิดหรือมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ให้มีการติดต่อประสานงานกับสำนักงานส่วนประสานงาน สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) เพื่อปรึกษาหารือ หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น"

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่าสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) จะเสนอตั้ง "สำนักงานประสานงานการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพ" เพื่อแก้ไขปัญหาการปะทะกันของกองกำลังในพื้นที่ "เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพรัฐบาลสหภาพพม่าและกองกำลังกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีนั้น สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงรัฐบาลสหภาพพม่า ในการจัดตั้ง "สำนักงานส่วนประสานงานการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพ (RCSS/SSA)" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

7 กลุ่มรวมทั้ง KNU-DKBA นะคามวย-กองทัพนักศึกษาพม่า แจ้งร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ

อนึ่งรัฐบาลพม่าได้เสนอให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ จ.เชียงใหม่ หรือ Ethnic Armed Organiszation Conference (EAOs) ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนที่่ผ่านมา มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่แจ้งว่าจะลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students’ Democratic Front  - ABSDF) 2. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party -ALP) 3. กองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front -CNF)

4. กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army -DKBA) หรือกลุ่มของซอ ละเพว หรือ นะคามวย 5. สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC) 6. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และ 7. องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ Pa-O National Liberation Organization (PNLO)

ส่วนกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เดิมหลังการประชุม 28-30 กันยายน แจ้งว่าขอรอดูท่าที ก่อนที่ต่อมาจะแจ้งว่าจะร่วมลงนามในวันนี้ (8 ต.ค.)

กลุ่มเมืองลารอดูท่าที - กองทัพสหรัฐว้าไม่ได้ร่วมประชุม

ส่วนกลุ่มที่รอดูท่าทีขณะนี้คือ กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army - NDAA) ขณะที่กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ซึ่งเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังพลมากที่สุดไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่เชียงใหม่ แต่ก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะไม่ลงนามในสัญญาหยุดยิงเพิ่มเติม ขณะที่ทั้งกลุ่มหยุดยิงเมืองลา และกองทัพสหรัฐว้า ภายหลังจากแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และทั้ง 2 กลุ่มมีการลงนามในสัญญาสันติภาพเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2554

กองกำลังคะฉิ่น - พรรครัฐมอญใหม่ - กองทัพรัฐฉานเหนือ - พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี ยังไม่ลงนาม

ขณะเดียวกันกลุ่มที่จะไม่ลงนามหยุดยิงได้แก่ องค์กรแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO/KIA) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยังคงปะทะกับกองทัพรัฐบาลพม่า โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีการปะทะกับกองทัพพม่าที่เมืองผาคาน ในรัฐคะฉิ่น ตามรายงานของสำนักข่าวอิระวดี

กลุ่มที่ยังไม่ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศอื่นๆ เช่น พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐมอญ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Progressive Party - SSPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐฉาน พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party – KNPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐคะเรนนี ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน  นอกจากนี้ยังมี แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปะหล่อง (Palaung State Liberation Front - PSLF) และองค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organiztion - WNO) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเป็นกองกำลังขนาดเล็กในพื้นที่รัฐฉาน และสภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์-คะปลัง (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang - NSCN-K) ที่อยู่บริเวณชายแดนพม่า-อินเดีย

รัฐบาลพม่ายังไม่รับรอง กองกำลังโกก้าง-ดาระอั้ง-อาระกัน ให้เข้าร่วมเจรจา

ขณะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่รัฐบาลพม่าไม่รับรองสถานะการเจรจาและกำลังสู้รบอยู่ด้วย ได้แก่ กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมาร์ (Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) หรือกลุ่มโกก้าง โดยกองทัพพม่ากล่าวหาว่าทั้งกองทัพอาระกัน AA ซึ่งมีฐานฝึกอยู่ในรัฐคะฉิ่น และกองทัพตะอาง TNLA ช่วยเหลือกองทัพคะฉิ่น ขณะที่กลุ่มโกก้าง หลังถูกปราบในปี 2552 ต่อมาในต้นปี 2558 ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารขนานใหญ่เพื่อชิงพื้นที่คืนจากรัฐบาลพม่าทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เมืองปางซาง เขตปกครองตนเองว้า ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2558 ผู้นำว้า เปา โหยวเฉียง เรียกร้องให้ผู้นำพม่ารับรองกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ให้เข้าร่วมการเจรจา

"ประเทศจะมีสันติภาพ ถ้ารัฐบาลสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคนในประเทศ รัฐบาลไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนแต่เรื่องการทำงานด้านการพัฒนาเท่านั้น" เปา โหยวเฉียง กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในกองบัญชาการของกองทัพสหรัฐว้า ในเขตปกครองพิเศษว้า ชายแดนจีน-พม่า

"หัวใจหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นรวมทั้งพวกเราชาวว้า ก็จะลงนาม" เปา โหยวเฉียงกล่าว (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net