แอมเนสตี้แถลงวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ยันไม่อ่อนข้อผู้ผิดแต่ขอปรับวิธี

แอมเนสตี้ฯ แถลงเนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ยันไม่อ่อนข้อผู้ผิด แต่ขอปรับวิธีลงโทษ ชี้ประเทศที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกำหนดโทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติดมีมากจนน่าตกใจ เดือน พ.ค.58 ไทยมี 437 คน

9 ต.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกใบแถลงวันยุติโทษประหารชีวิตสากลปี 2558 โดยระบุว่า เนื่องด้วยในวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความเข้าใจเรื่องโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิในการมีชีวิต ทั้งยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า โทษประหารชีวิตยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในปฏิบัติการที่เรียกว่า “สงครามปราบปรามยาเสพติด” โดยมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่กำหนดโทษประหารชีวิตกับความผิดในคดียาเสพติดเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ นับเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างน้อย 11 ประเทศทั่วโลก ทั้งจีน อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย และซาอุดิอาระเบีย ได้กำหนดโทษประหารชีวิตหรือได้ประหารชีวิตบุคคลในคดียาเสพติดในช่วงสองปีที่ผ่านมา และอีกหลายสิบประเทศยังคงกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับคดียาเสพติด

เชียร่า แซนจอร์จิโอ (Chiara Sangiorgio) ผู้เชี่ยวชาญด้านโทษประหารชีวิตชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากยังคงยึดมั่นกับแนวคิดที่บกพร่องที่มองว่าการสังหารบุคคลอื่นจะช่วยยุติปัญหาการเสพยาหรือลดอาชญากรรมได้ โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยต่อกรปัญหาอาชญากรรม หรือช่วยให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าถึงบริการรักษาการเสพยาได้

กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ใช้โทษประหารชีวิตเฉพาะกับ “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึงการสังหารบุคคลโดยเจตนา ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงความผิดด้านยาเสพติด กฎหมายระหว่างประเทศยังกำหนดเป้าหมายให้รัฐต่าง ๆ มุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

ถึงอย่างนั้น รัฐจำนวนมากยังคงสนับสนุนให้ใช้โทษประหารชีวิต เพื่อต่อกรปัญหาการค้ายาเสพติด หรือปัญหาการเสพยา โดยไม่คำนึงถึงหลักฐานว่าการแก้ปัญหาบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนและหลักสาธารณสุข ทั้งมาตรการป้องกันการใช้สารเสพติดและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการยุติการเสียชิวิตเนื่องจากยาเสพติด และช่วยป้องกันการแพร่เชื้อของโรคติดต่อ แม้กับกรณีอาชญากรรมที่รุนแรง ก็แทบไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่สนับสนุนว่าการประหารชีวิตจะส่งผลในเชิงป้องปรามได้ดีกว่าการลงโทษรูปแบบอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซีย รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประกาศเดินหน้าใช้โทษประหารชีวิตเพื่อต่อสู้กับ “ภัยฉุกเฉินแห่งชาติเนื่องจากยาเสพติด" โดยในปี 2558 มีการตัดสินประหารชีวิตบุคคล 14 คนในคดียาเสพติด และรัฐบาลประกาศจะไม่ให้อภัยโทษต่อผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดียาเสพติดในทุกกรณี

“ความกังวลเนื่องจากการใช้โทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กรณีของ Shahrul Izani Suparman ซึ่งมีอายุเพียง 19 ปีและพบว่ามีกัญชาไว้ในครอบครองมากกว่า 200 กรัม เป็นเหตุให้ศาลมองว่าเขากระทำผิดฐานค้ายาเสพติดโดยอัตโนมัติ และเป็นเหตุให้ต้องกำหนดบทลงโทษประหารชีวิตชีวิตตามข้อบทในกฎหมายของมาเลเซีย”  เชียร่า กล่าว

ในหลายประเทศที่กำหนดโทษประหารชีวิตกับความผิดด้านยาเสพติด ปัญหาความอยุติธรรมยังเลวร้ายมากขึ้นไปอีก อันเป็นผลจากการสั่งลงโทษประหารชีวิตภายหลังการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน จำเลยในคดีเหล่านี้มักไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนายความ หรือถูกบังคับให้ “รับสารภาพ” ทั้งจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และมีการนำคำรับสารภาพจากการทรมานมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย อิหร่าน หรือซาอุดิอาระเบีย

ในเดือนเมษายน 2559 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานลงมติขององค์การสหประชาชาติ จะประชุมสมัยวิสามัญว่าด้วยยาเสพติด เพื่อพิจารณาลำดับความสำคัญของมาตรการควบคุมปัญหายาเสพติด รวมทั้งการใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดด้านยาเสพติด ครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมวิสามัญในประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 

“การประชุมวิสามัญของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในปีหน้า นับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐต่าง ๆ ต้องประกันให้นโยบายด้านยาเสพติดทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐจะต้องยุติการใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดด้านยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง อันถือเป็นการดำเนินงานขั้นแรกเพื่อปูทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด” เชียร่ากล่าว

ตัวอย่างการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆ

·        จีนประหารชีวิตบุคคลในปีที่แล้วมากกว่าทุกประเทศในโลกที่เหลือรวมกัน แต่เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตถือเป็นความลับทางราชการ เป็นเหตุให้เราไม่สามารถระบุจำนวนการประหารชีวิตอย่างแท้จริงได้ แต่จากข้อมูลเท่าที่ยืนยันได้ จำนวนผู้ถูกลงโทษในความผิดด้านยาเสพติดถือว่าสูงมากในบรรดาผู้ที่ถูกประหารชีวิต จีนได้เคยกำหนดแนวทางลดการใช้โทษประหารชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการลดประเภทความผิดที่มีโทษประหารชีวิตลง แต่ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตสูงมาก

·        อินโดนีเซียประหารชีวิตบุคคล 14 คนเมื่อปีที่แล้ว ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด นับเป็นการก้าวถอยหลังของประเทศที่เคยประกาศมุ่งหน้าสู่การยุติการใช้การประหารชีวิตเมื่อไม่กี่ปีก่อน และเคยประสบความสำเร็จในการขอให้รัฐบาลประเทศอื่นเปลี่ยนโทษประหารชีวิตให้กับนักโทษที่เป็นพลเมืองของตนมาแล้วหลายครั้ง การใช้โทษประหารชีวิตในอินโดนีเซียเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เนื่องจากมักมีการทรมานเพื่อบังคับให้ผู้ต้องสงสัย "รับสารภาพ” หรือต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

·        อิหร่านประหารชีวิตบุคคลมากเป็นอันดับสองรองจากจีนและในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้ประหารชีวิตคนไปหลายพันคนในความผิดด้านยาเสพติด กฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดอย่างมากในอิหร่านเป็นเหตุให้บุคคลอาจต้องโทษประหารชีวิต เพียงเพราะครอบครองเฮโรอีนหรือโคเคนเพียง 30  กรัม เฉพาะในปี 2558 มีการประหารชีวิตบุคคลไปแล้วกว่า 700 ครั้ง หลายคนเป็นพลเมืองต่างชาติและคนที่ด้อยโอกาสในทางเศรษฐกิจและสังคม

·        การค้ายาเสพติดในมาเลเซียมีโทษประหารชีวิตชีวิตตามกฎหมาย ผู้ที่มีสารเสพติดในครอบครองตามจำนวนที่กำหนด จะถูกศาลพิจารณาว่ามีความผิดฐานค้ายาเสพติดโดยอัตโนมัติ มาเลเซียไม่เผยแพร่ข้อมูลการประหารชีวิต แต่จากการติดตามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า ครึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดทั้งสิ้น

·        การประหารชีวิตกับความผิดด้านยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสามปีที่ผ่านมาในซาอุดิอาระเบีย ในปี 2557 มีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตบุคคลกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ต้องโทษประหารชีวิตจำนวน 92 คนจากความผิดด้านยาเสพติด ระบบยุติธรรมในซาอุดิอาระเบียยังขาดหลักประกันขั้นพื้นฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม โทษประหารชีวิตในกรณีอื่น ๆ ล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและรวบรัดตัดตอน หลายคดีเป็นการพิจารณาแบบปิดลับด้วย

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ประจำเดือนพฤษภาคม 2558 มีนักโทษประหารชีวิตจำนวน 437 คน นักโทษชาย 387 คน นักโทษหญิง 50 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ดำเนินการให้การศึกษา สร้างความเข้าใจ และรณรงค์ให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีมาอย่างยาวนาน และพบว่าไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าโทษประหารชีวิตมีส่วนช่วยป้องกันอาชญากรรม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาพันธสัญญาและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน  จึงขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในการยกเลิกโทษประหารชีวิต ดังนี้

·        ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด

·        เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต

·        ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

ข้อมูลพื้นฐาน

ในปี 2557 และ 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตหรือมีการสั่งลงโทษประหารชีวิตเนื่องจากความผิดด้านยาเสพติดในประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงจีน อินโดนีเซีย อิหร่าน คูเวต มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม 

จนถึงทุกวันนี้ ความผิดด้านยาเสพติดซึ่งมีหลากหลายประเภทตั้งแต่การค้ายาเสพติดไปจนถึงการครอบครองสารเสพติด ต่างเป็นความผิดถึงขั้นประหารชีวิตในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท