เสียงจากซีเรีย: เรื่องเล่าจากผู้ลี้ภัยเนื่องจากความขัดแย้งในซีเรีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หากกล่าวถึงประเทศซีเรีย(Syria) ภาพแทนที่พอจะนึกถึงได้เป็นอันดับต้นๆ คือ ความโหดร้ายสยดสยองของกลุ่มก่อการร้ายไอซิส(ISIS) และผู้อพยพ(refugees) จำนวนมหาศาลที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัวและความกังวลร่วมกันต่อคนทั้งโลก รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย แต่เหตุใดโลกจึงเพิ่งมารู้จักซีเรีย ทำไมซีเรียจึงกลายเป็นพื้นที่สงคราม กลุ่มก่อการร้ายไอซิสมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดของชาวชีเรียพร้อมๆกันจำนวนมหาศาล แล้วอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆในซีเรีย

งานเสวนาชื่อ Voices from Syria - An asylum seekers take on the Syrian conflict ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Friends of Medicins Sans Frontieres(FoMSF) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ (The University of Manchester) ได้เสนอความเข้าใจใหม่ต่อประเทศซีเรียเพื่อตอบคำถามข้างต้น โดยผู้นำเสนอได้แก่ Dr. Haytham Alhamwi และ Yasser Al-Jassem ผู้อพยพชาวซีเรียที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษในปัจจุบัน

Dr. Haytham (director of Rethimk Rebuild Society) เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย(Darayya,Seria) ที่ได้เข้ารับการศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยเเมนเชสเตอร์ เขาเสนอว่าความขัดแย้งในซีเรียไม่ใช่สงครามของพลเมือง (Syria, It’s not a civil war) เพราะความขัดแย้งดังกล่าวไม่เคยถูกจุดติด ความขัดแย้งรุนแรงในซีเรียเกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่เป็นความขัดแย้งที่เงียบเชียบ (slient violence) ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครอง ตั้งแต่การปกครองของ Hafez al-Assad ผู้พ่อที่ปกครองซีเรียยาวนานถึงเกือบ 30 ปี(ค.ศ.1971-2000) ต่อมาเมื่อ Assad ผู้พ่อเสียชีวิต Bashar al-Assad จึงได้ขึ้นรับตำแหน่งแทนโดยการทำประชามติ (referenda)โดยปราศจากคู่แข่งทางการเมือง Dr. Haytham เสริมว่าในซีเรียนั้นมีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่หมายถึงมีตัวเลือกให้แก่ประชาชนเพียงแค่ หนึ่ง YES สอง VERY YES!

ชีวิตของ Dr.Haytham เป็นคำบอกเล่าสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอของเขาหนักแน่นขึ้น เขาเล่าว่าอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ น้องชาย และพ่อบุญธรรมที่เป็นผู้นำศาสนาอิสลามของชุมชน เขายอมรับว่าครอบครัวของเขาจัดอยู่ในประเภทพวกอยากเปลี่ยนแปลงสังคม ครอบครัวของเขาเปิดห้องสมุดชุมชน ทำให้บ้านกลายเป็นที่พบปะสังสรค์และเป็นที่ชุมนุมของผู้คนละแวกบ้าน อย่างไรก็ตาม เปิดได้ไม่นานนักตำรวจมาบุกที่บ้านและถามเชิงข่มขู่ว่า เปิดห้องสมุดทำไม มีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งในอาทิตย์นั้นเองตำรวจได้แวะเวียนมาถามคำถามเดิมๆแก่เขาและพ่อบุญธรรมทุกวัน ต่อมาตำรวจได้มาที่บ้านของเขาอีกครั้งเพื่อจับกุมตัวเขา พ่อบุญธรรม และพ่อเขาไปอยู่ในคุกแบบไม่มีการสอบสวนหรือไต่สวนใดๆทั้งนั้น(ตรงนี้เขาบอกว่า ศาลซื้อได้ไม่ต่างอะไรกับการจ่ายค่าผ่านทางตำรวจจราจร หรือจ่ายเงินให้พ่อค้าเพื่อแซงคิว!)

ชีวิตในคุกสามวันแรกตำรวจคอยแต่จะถามว่าเขาคิดแผนการอะไร จะต่อต้านรัฐใช่หรือไม่ จนล่วงเลยเข้าวันที่สี่ เขาเป็นคนเซนซิทีฟเรื่องความหนาวเลยล้มป่วยลง ในวันนี้เองที่ตำรวจเข้ามาถาม "Do you want some medicine?" เขาตอบว่า "I want justice!" ตำรวจจึงลากตัวเขาไปขังเดี่ยวหรือที่เรียกกันแบบชาวบ้านคือคุกขี้ไก่ ลักษณะเป็นห้องขังที่แคบและมืด แสงไฟที่ลอดเข้ามาคือแสงไฟจากหลอดไฟกลมๆเท่านั้น เขาต้องเอามือคลำๆ ควานๆ จึงเจอผ้าห่มสองผืน ถุงพลาสติก(ถุงก๊อบแก๊บ)ที่น่าจะเอาไว้ใส่ข้าว และก็ส้วมหลุม ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ หลอดไฟขาด เขาขอร้องให้ผู้คุมให้มาเปลี่ยน จนเวลาล่วงไปเกือบสองอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม แสงไฟกลับทำให้ยิ่งเศร้ากว่าเดิมเนื่องจากเขาตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง เขาจึงขอร้องให้ผู้คุมปิดไฟเสีย ต่อมาอีกอาทิตย์หนึ่งเขาถูกย้ายไปขังรวมกับพ่อ ผ่านไปสามเดือนถึงได้รับการปล่อยตัวแต่มีเงื่อนไขคือห้ามออกนอกบ้าน

เขา พ่อของเขา และพ่อบุญธรรมถูกปล่อยออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันแต่ไม่เคยได้เจอหน้ากันเพราะเมื่อได้รับการปล่อยตัว สักพักก็จะถูกจับไปขังอีกทั้งๆที่ไม่ได้พวกเขาไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเป็นอย่างนี้เรื่อยมา จากคำบอกเล่าของแม่ของเขา เมื่อพ่อของเขาถูกปล่อยตัว พ่อของเขาถูกทรมานสารพัดวิธีร่องรอยได้แก่รอยไหม้ตามร่างกาย และร่องรอยความบอบช้ำตามที่ต่างๆ พ่อของเขาเล่าว่ามีเด็กหนุ่มจำนวนหนึ่งถูกทรมานจนตายในคุกแห่งนั้น

Dr.Haytham ถูกจับอีกครั้งหนึ่งกินเวลา 3 ปีกับอีก 6 เดือนโดยที่ไม่ได้เจอหน้าลูกและภรรยา เมื่อเขาถูกปล่อยตัว พ่อของเขายังอยู่ในคุก ส่วนพ่อบุญธรรมเขาไม่ได้เจออีกเลยซึ่งเขาเองได้ข่าวล่าสุดเมื่อปี 2012 ว่ายังมีคนเห็นพ่อบุญธรรมเดินอยู่ในคุก

ภายหลังการปล่อยตัวครั้งนั้น เขาตัดสินใจอพยพมาสู่ประเทศอังกฤษ โดยที่ไม่อาจทราบถึงความเป็นไปของพ่อ แม่ พ่อบุญธรรม และน้องชายได้เลย

Dr.Haytham ย้ำว่าไม่มีใครรู้จักซีเรียจริงๆ ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าความเจ็บปวดของชาวซีเรียถูกปกครองด้วยผู้ปกครองที่ชั่วร้ายเกือบชั่วอายุคนมีลักษณะอย่างไร อะไรคือข้อเท็จจริงที่ชาวซีเรียต้องเผชิญ มีชาวซีเรียจำนวนมากที่ถูกฆ่า ทรมานวินาทีต่อวินาทีโดยรัฐบาล Assad แต่เมื่อผู้คนดูเหมือนจะให้ความสนใจซีเรียขึ้นมา กลับกลายเป็นการประโคมข่าวเรื่องกลุ่มก่อการร้าย ISIS ทั้งๆที่ผู้นำกลุ่ม ISIS ไม่ใช่คนซีเรีย(Syrian) เขามองเห็นความโหดร้ายทารุณของกลุ่ม ISIS ที่ฆ่าทรมานผู้คนอย่างเลือดเย็นเช่น การฆ่านักข่าวของยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม คนซีเรียที่ถูกฆ่า และทรมานมากกว่า 250,000 คนในช่วงปี 2011 เป็นต้นมากลับถูกละเลยและไม่ถูกพูดถึง

เขากล่าวเสริมว่าชีวิตผู้คนในซีเรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขต fly zone ชาวซีเรียต้องไหว้วานต่อทหารว่า หากจะฆ่าแกงกันจะใช้อาวุธอะไรก็ได้ แต่ขอร้องอย่าใช้อาวุธชีวภาพหรืออาวุธเคมีกับพวกเขา ซึ่งสะท้อนความสิ้นหวังในชีวิตอย่างมาก

ในขณะที่โลกกำลังมุ่งกำจัด ISIS คนซีเรียทั้งที่ตายไปแล้วและที่ยังอยู่กลับถูกทอดทิ้งและถูกตราหน้าว่าเป็นแค่คนอพยพที่สกปรกเท่านั้น เขาย้ำว่าไม่มีใครอยากเป็นผู้อพยพ ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย(refugee) คือ คนที่ไม่มี "บ้าน" ผู้เดินทาง(migrant) คือคนที่มี "บ้าน" แต่เขาไม่อยากอยู่ และพวกเขาเลือกได้ สิ่งที่ผู้อพยพชาวซีเรียต้องการคือ ที่ที่พวกเขาจะมี dignity, freedom and still alive

การที่ประเทศมหาอำนาจต่างๆร่วมมือกันเพื่อมุ่งกำจัด กลุ่มก่อการร้าย ISIS พวกเขาได้ละทิ้งคนซีเรียที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไปแล้ว fly zone ฆ่าและคร่าชีวิตผู้คนใน Darayya จนตอนนี้เขาบอกว่ามัน "empty" แล้ว ไม่มีอะไรเหลือให้ฆ่าแล้ว

คนที่สองคือ Yasser Al-Jassem โดยขึ้นเรือมากับพวกลักลอบขนผู้อพยพผ่านตุรกี ผ่านกรีซ ผ่านเยอรมัน ทั้งทางน้ำ ทางรถไฟ และเดินเท้า จนมาจบที่อังกฤษเมื่อสามเดือนก่อน

Yasser Al-Jassem เขากับน้องชายเเละเพื่อนเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล Assad และต่อต้านแนวคิดของกลุ่ม ISIS ซึ่งในเวลานั้นกำลังเผยแพร่อุมดมการณ์อย่างกว้างขวางในซีเรียทำให้กลุ่มคนที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองดูแลจากเผ็จการชั่วร้ายเข้าฝักใฝ่เป็นสมาชิกกลุ่ม ISIS จำนวนมาก เขาและน้องชายรวมทั้งเพื่อนของเขาได้ออกไปตักเตือนผู้คนในชุมชนที่กำลังจะไปเข้าร่วม ISIS แต่ผลสุดท้ายน้องชายและเพื่อนของเขาถูกฆ่าตายโดยกลุ่มนิยม ISIS เขาเองก็ถูกตามฆ่า ภรรยาและลูกสาวขอให้เขาหนีไป เขาตัดสินใจลักลอบมากับเรือจนมาอยู่ที่อังกฤษได้สามเดือนแล้ว ที่น่าเศร้าคือเขาไม่มีลู่ทางติดต่อภรรยาหรือลูกสาวได้เลย มาถึงตรงนี้เขากล่าวทั้งนำ้ตาว่า ลูกสาวเขากับภรรยาอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ได้

สิ่งที่พอจะสรุปได้จากการเสวนามีสามประเด็น คือ

หนึ่ง ความขัดแย้งรุนแรงในซีเรียไม่อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการต่อสู้ระหว่างพลเรือนกลับรัฐบาล เพราะประชาชนไม่เคยมีโอกาสได้ลุกขึ้นมาต่อรองหรือตอบโต้ ความสูญเสียทั้งหลายที่เกิดขึ้น เกิดจากการกระทำของรัฐบาลฝ่ายเดียว รัฐบาลไม่ได้กำลังต่อสู้กับประชาชน เพราะประชาชนอยู่เฉยๆอย่างไร้ทางสู้ กล่าวได้เพียงว่าเป็นการรังแกข่มเหงประชาชนผู้มีอาวุธคือความคิดเท่านั้น

สอง ชาวซีเรียมีความต้องการละทิ้งบ้านเกิดเนื่องจากพวกเขาไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทรราชย์ ความโหดร้ายของกลุ่มก่อการร้ายไอซิสเป็นเพียงเหตุผลประกอบซึ่งนอกจากเงื่อนไขของความโหดร้ายของกลุ่มแล้วคือการที่ISIS เป็นต้นเหตุของการทำให้ซีเรียเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศจากประเทศมหาอำนาจต่างๆทั่วโลกด้วย

สาม ทั้งผู้นำเสนอและผู้ฟังเราต่างมีคำถามต่อกันและกันว่า เหตุใดโลกของเรานี้คนส่วนใหญ่จึงถูกปกครองด้วยคนส่วนน้อย และน่าประหลาดที่คนบางจำพวกสยบยอมแก่อำนาจนั้น เราต่างคิดไม่ตกว่าอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนจำนวนหยิบมือหนึ่งมีอำนาจล้นพ้น

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ เป็นนักศึกษาปริญญาโทศึกษาอยู่ที่ Peace and Conflict Studies, The University of Manchester,UK

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท