ห้องเรียนสาธารณะ : เขตเศรษฐกิจพิเศษ “ไม่งอก" สิทธิชุมชน-กระจายอำนาจและการพัฒนา

ชี้ กนพ. กลไกราชการครอง ไร้ภาคประชาสังคม ตั้งคำถามใช้ม.44 แย่งพื้นที่ชาวบ้านมาจัดสรรให้นายทุน? ตอบโจทย์การพัฒนาให้คนพื้นที่? “คำว่าพิเศษ พิเศษให้ใคร” ระบุเป็นวาระของลัทธิเสรีนิยมใหม่

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตร ร่วมกับ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement – NDM) จัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ หัวข้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ "ไม่งอก" สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ การพัฒนา” ณ ห้อง 5402 ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนาวิน โสภาภูมิ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะดำเนินรายการ ณัฐชลี สิงสาวแห สมาชิกกลุ่มกลุ่มเสรีนนทรี

ชี้ กนพ. หลักๆ เป็นกลไกราชการ ไร้ภาคประชาสังคม

นาวิน โสภาภูมิ  นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า โครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) 6 อนุกรรมการที่จะทำงานเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเขตพิเศษนี้ เดิมไม่มีอนุกรรมการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ แต่เกิดการทักท้วงว่าจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ไม่มีคนในพื้นที่เลยจะทำอย่างไร ก็เลยตั้งอนุกรรมการนี้ขึ้นมาแต่ก็น่าสนใจว่าในโครงสร้างประธานเป็นรัฐมนตรีในสำนักนายกฯ และรองลงมาเป็นหน่วยงานราชการเป็นหลัก และก็มีผู้ว่าราชการในจังหวัดนั้นๆ จะไม่มีประชาชนหรือประชาสังคมในคณะกรรมการชุดนี้ หลักๆ เป็นกลไกข้าราชการหมดเลย

พื้นที่ที่ตั้งระยะแรกมี 5 พื้นที่(แม่สอด จ.ตาก เมือง จ.มุกดาหาร สะเดา จ.สงขลา อรัฐประเทศ จ.สระแก้ว และคลองใหญ่ จ.ตราด) และสิ่งที่น่าสนใจว่าทำไมกำหนดพื้นที่จำนวนมากในระดับเป็นแสนไร่ เพราะว่าเมื่อกำหนด กนพ. จะกำหนดให้ครอบคลุมเขตการปกครอง และหลังๆมีประกาศเพิ่มที่หนองคายอีกด้วยจากเดิมจะเป็นระยะสอง แต่มาเป็นระยะหนึ่งด้วย ส่วนสิทธิพิเศษที่จะให้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องยกเว้นภาษี ค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้า หรือการนำเข้าเครื่องจักรมาลงทุนในพื้นที่ เป็นต้น

ฐานอุตสาหกรรมเดิม

นาวิน กล่าวด้วยว่า เขตพิเศษที่จะลงทุนส่วนใหญ่เป็นฐานอุตสาหกรรมเดิม พวกอุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเคมี พลาสติก ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสภาพัฒน์ฯ มองว่าแนวโน้มอนาคตจะไปไม่ค่อยได้มันฝืดแล้ว เนื่องจากมันมาอยู่เมืองไทยนานแล้วและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อาจจะสู้เพื่อนบ้านเราไม่ได้แล้ว โรงงานบางอย่างไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเราต้นทุนอาจจะถูกกว่า ซึ่งสภาพัฒน์ฯ มองว่าอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของไทยน่าจะเป็นกลุ่ม เช่น พวกพลังงานสะอาด เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฯลฯ แต่อันนี้ไม่ถูกเขียนได้ชัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เบื้องต้นเขตเหล่านี้ ไปคุยในพื้นที่จริงๆ ยังไม่มีใครบอกว่าจะมาลงทุน แต่งบประมาณวางแสนล้าน เพื่อไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรอ ปรับปรุงถนน สร้างแหล่งน้ำ ขยายด่านศุลกากร และสิ่งที่คู่ไปกับเศรษฐกิจพิเศษคือการสร้างนิคมอุตสาหกรรม เลยทำให้หลายพื้นที่กังวลว่านิคมมาแล้วจะยังไง โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมในการออกแบบนิคมจะเป้นอย่างไร เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร

ในแง่ของการพัฒนาเหมือนเป็น top down เหมือนกับคนไม่กี่กลุ่มคิดว่าจะพัฒนาประเทศไทยต้องเอาอุตสาหกรรมนำ มันถึงจะเร็ว มันก็ย้อนกลับไปความคิดเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 1 เราก็มองกันว่าถ้าเกิดจะให้ประเทศไทยมันพัฒนาเราก็ต้องเอาอุตสาหกรรมนำ และอุตสาหกรรมที่มันนำไปมันก็จะเหนี่ยวนำให้เศรษฐกิจด้านอื่นมันโตไปด้วย คนจะได้ค้าขาย หอพักจะได้สร้าง ถนนจะได้ตัด บ้านจัดสรรจะขึ้นเพราะคนมาอยู่ เมื่อเศรษฐกิจมันโตมันก็จะไหลริน trickle down effect จากคนรวยไปหาคนจน เหมือนตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เชียของ ตั้งแล้วพอคนมีรายได้เติบโตจากอุตสาหกรรมมันก็จะไหลไปสู่คนจน แนวคิดแบบอุตสาหกรรมนิยมเป็นอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ ซึ่งก็ได้วิพากษ์วิจารณ์กันว่าทฤษฏีแบบนี้เป็นการพัฒนาแบบไม่สมดุล คือให้ภาคการผลิตบางภาคมันโตแต่บางภาคไม่โต หรืออาจจะล้าหลังหรือถดถอย

นาวิน โสภาภูมิ 

แย่งพื้นที่ชาวบ้านมาจัดสรรให้นายทุน? ตอบโจทย์การพัฒนาให้คนพื้นที่?

นาวิน กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ที่เขาเอามาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นส่วนใหญ่เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งรัฐมองว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ในความเป็นจริงมีชาวบ้านจับจองใช้ประโยชน์ แม้จะจับจองใช้ประโยชน์มานานแต่การออกเอกสารสิทธินั้นก็ล่าช้า หลายพื้นที่อยู่กันมาเป็น 70-80 ปี แล้ว รัฐก็ไม่ออกโฉนดให้ จึงเป็นปัญหาว่า เมื่อรัฐจะเอาพื้นที่เหล่านั้นมาเพราะมองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ก็เข้าไปจัดการเลย เช่น ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44  เพิกถอนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่แม่สอด ประมาณ 2,000 กว่าไร่ ซึ่งรัฐมองว่าเป็นป่าเสริมโทรมแต่ชาวบ้านเข้าไปให้ประโยชน์อยู่แล้ว

“ชาวบ้านก็กังวลจะนำไปสู่ปัญหาดั้งเดิมของสังคมไทยไหม แย่งชิงที่ดินจากชาวบ้าน แล้วเอาไปจัดสรรให้ทางกลุ่มนักลงทุนเขามา แล้วถามว่าชาวบ้านไม่ใช่คนในพื้นที่หรือเปล่า ถ้าจะตอบโจทย์การพัฒนาของชาวบ้านในพื้นที่นี่ ก็ต้องคุยว่าแล้วชาวบ้านในพื้นที่ยังไง จะจัดการอย่างไรให้ได้ประโยชน์จริงๆ” นาวิน กล่าว

ประเด็นที่ขาดหายของการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคือเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของคนในพื้นที่ เรื่องของประชาชนอันนี้ก็ไม่ชัดเจน เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและสิทธิของชาวบ้านที่เขาใช้ประโยชน์ในที่ดินมาก่อนนั้นจะทำอย่างไร จะเอื้ออย่างไร ไม่คำนึงถึงทุนธรรมชาติ ทุนทางสังคมและทุนมนุษย์ในพื้นที่

ประกอบด้วยการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจชุมชนและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ความไม่เท่าเทียมด้านการกระจายรายได้และการเข้าถึงส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านแรงงานการเข้าถึงการจ้างงานและการถูกกีดกันออกจากอาชีพที่เคยทำมา การขุดรีดแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจากการทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงและก่อมลพิษ

ย้อนกลับไปหาเป้าหมาย และเขตเศรษฐกิจในฐานวาทกรรม

นาวิน กล่าวต่อว่า ต้องกลับไปถามโจทย์ว่าเราอยากพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออย่างไร ถ้าไปถามตรงนี้ก็อาจไม่เป็นโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมก็ได้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมันก็เป็นวาทกรรมการพัฒนาหนึ่ง มีเรื่องเล่าหลักๆ เพื่อโชว์ให้คนตื่นตาว่าการไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม และการค้าเสรีจะเป็นเรื่องดี และเรื่องเล่านี้กลายเป็นการผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง ที่ผูกขาดโยนักพัฒนาอุตสาหกรรม และข้าราชการ แต่ถ้าเรื่องเล่านี้มันดีมันก็ควรเป็นมากว่า 30 ปีแล้วที่จะทำให้คนอยู่ดีมีสุข

นาวิน กล่าวถึงทิศทางของโลกที่เติบโตเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนนั้นประกอบด้วย พัฒนาแต่ไม่สามารถสร้างงานให้คนส่วนใหญ่ได้ ไม่กระจายประโยชน์สู่คนส่วนล่าง การเติบโตไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ใช้ทรัพยากรให้หมดไปเลยนั้นก็ไม่ยั่งยืน การเติบโตที่ไมฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ ถ้าเขตเศรษฐกิจพิเศษพัฒนาไปแนวนี้ก็จะมีปัญหา

ถ้าจะยกระดับรายได้คนเชียงรายก็ต้องเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เช่น คนงานทั่วไป คนงานเกษตร ถ้าวิเคราะห์ตรงนั้นก็จะเห็นว่าคนกลุ่มไหนที่จะมุ่งเข้าไปกลุ่มนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะตอโจทย์ตรงนั้นได้ อย่างเป็นคนงานภาคเกษตรอาจไม่ได้มุ่งไปที่โรงงานแต่ปรับปรุงคุณภาพการผลิตของภาคเกษตร หรือกม.การค้า ที่สามารถขายกับต่างประเทศ การลงทุนเรื่องชลประทาน เรื่อเครื่องจักร มันจะกระจายรายได้ไปสู่คนส่วนใหญ่ด้วย

นาวิน กล่าวด้วยว่า อีกหลักที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมีหลักธรรมาภิบาล เช่น ความโปร่งใส พัฒนาที่ยั่งยืน นิติรัฐนิติธรรม ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วม คิดว่าจะสามารถบรรลุผลของการทำงานเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการต่อรอง

นาวิน กล่าวว่า การต่อรองกับการพัฒนาอย่างในสระแก้ว ที่ประชาคมสระแก้วพื้นที่กังวลเรื่องการทำงานร่วมกันกับผู้ว่าฯ มีการทำแผนการพัฒนาจังหวัด เมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาต้องเป็นเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อ้อย ที่มีคนในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก ที่พัฒนาไม่กระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ดังนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการต่อรองด้วย

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวัตน์ และ ม.44

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรืองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใดหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรืองของทุนนิยมโลกที่รุกเข้ามา เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยทักษิณ หมดจากทักษิณก็มีคนเดินหน้าต่อ

“มาถึงรัฐบาลชุดนี้ แย่เข้าไปใหญ่ตรงที่ว่ามันเอา ม.44 มาใช้เพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไชยณรงค์ กล่าว

ไชยณรงค์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันว่า เวลาพูดถึงเรื่องนี้แยกไม่ออกจากเรื่องของโลกาภิวัตน์ ที่มีการไหลทีของทุน สินค้า คน สื่อและเทคโนโลยี การไหลเทที่เปรียบเสมอมันกระจายไปทุกทิศทาง แต่ทั้ง 5 ส่วนนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกัน ซึ่ง เดวิด ฮาร์วี่ (David Harvey ผู้เขียน ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือ A Brief History of Neoliberalism) อธิบายว่าโลกาภิวัตน์คือผลของระบบทุนเพื่อที่จะสะสมทุนต่อไป โดยตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมาทุนมีข้อจำกัดในการสะสมทุน ดังนั้นทุนจึงต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการสะสมทุน เดวิด ฮาร์วี่ ยังบอกว่าความคิดของเสรีนิยมใหม่คือการลดบทบาทของรัฐให้เหลือน้อยที่สุด ฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำ มีการอ้างเสรีภาพที่เป็นข้ออ้างพร้อมๆ กับฉันทามติ โดยพวกที่มีแนวโน้มสนับสนุนลัทธิเสรีนิยมใหม่ ไม่ใช่มีเฉพาะทุนเท่านั้น แต่ปัญญาชนจำนวนมากในอเมริกาก็มีแนวโน้มสนับสนุนลัทธินี้ ในการลดบทบาทของรัฐให้มากที่สุด พวกบริโภคนิยมก็เป็นพวกหนึ่งที่สมาทานลัทธินี้ นี่เป็นโปรเจคของทุนที่แทรกไปตามสถาบันต่างๆ เพื่อให้ลัทธินี้ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตามลัทธินี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในอเมริกาหรือยุโรป แต่ในรัสเซียและจีน ก็สมาทานลัทธินี้

ไชยณรงค์ อ้างถึง เดวิด ฮาร์วี่ ที่อธิบายถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่นำมาใช้ประกอบด้วย หนึ่ง การทำให้เป็นเอกชน ซึ่งการแปรูปบ้านเรามีตั้งแต่ กม.11 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าใครขึ้นมาก็ตกอยู่ภายใต้ลัทธินี้ ไม่ว่า ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์และทหาร สอง ระบบธนานุวัตร การเก็งกำไรระยะสั้น การปั่นหุ้น การควบกิจการ การแสวงหาประโยชน์ จากวิกฤติ ที่ประเทศกำลังพัฒนามักเจออับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และประเทศที่มีอำนาจมากกว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วย แต่จะทำให้ตกอยู่ในวงจรของหนี้สิน การจัดสรรความมั่งคั่งของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับทุนมากกว่าคนจน เช่น การเก็บภาษีอัตราถอยหลัง คนจนที่มีรายได้น้อยจะจ่ายภาษีในอัตราสูงหว้าคนรวย

จากแผน GMS ตั้งแต่สมัยชาติชาย

ไชยณรงค์ ยังยกแนววิเคราะห์ที่สำคัญจากเดวิท ฮาร์วี คือ การแก้ซ่อมเชิงพื้นที่และเวลา (Spatio-temporal fix) ประกอบด้วยการแก้ซ่อมเชิงพื้นที่(Spatial fix) คือการสร้างตลาดใหม่ และการแก้ซ่อมเชิงเวลา(Temporal fix) การร่นระยะเวลา เช่นการสร้างช่องทางขนส่งสินค้า อยู่ๆ เศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ลงมา แต่มันมีแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังโดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าช่วงหลังเป็นต้นมามีการทำให้อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ทำให้เกิดแผนพัฒนาอนุภูมิภาคกลุ่มน้ำโขงขึ้นมา โดยการสนับสนุนโดย ADB เป็นทุนญี่ปุ่นสนับสนุนใหญ่ เป็นแผน GMS (Greater Mekong Sub-regional) เป็นที่มาของเขตเศรษฐกิจพิเศษของชายแดน ตั้งแต่สมัยชาติชาย ไม่ใช่พึ่งเกิด

“มันคือการที่ทุนไปสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อดักแรงงานข้ามชาติแล้วก็ขูดรีดอยู่ตรงนั้นเลย” ไชยณรงค์ กล่าว

ไชยณรงค์ ยกอีก 2 แนวคิดจากเดวิท ฮาวี่ คือการสะสมทุนโดยการเบียดขับ (Accumulation by dispossessino) เช่นการใช้ ม.44 ในการไล่ และอีกแนวคิดหนึ่งคือการสะสมทุนแบบบุพกาล (primitive accumulation) 2 แนวคิดนี้เป็นการสะสมทุนแบบปล้นสะดม ผลกระทบจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย ทรัพยากรของโลกตกอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม สิ่งแวดล้อมถูกทำลายครั้งมโหราฬ คนจนยิ่งจนมากขึ้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่มักอ้างว่ากฎหมายสำคัญต้องเคารพ แต่กลับละเมิดกฎหมายที่สุด ลัทธินี้สามารถผสมกับลัทธิอื่นๆ ได้ ทั้งทุนนิยมเสรีอย่างอเมริกาและอังกฤษ ลัทธิทุนนิยมเผด็จการโดนรัฐ อย่างกรณีจีน รวมไปถึงพวกอนุรักษ์นิยมก็เช่นกัน

ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย ที่มาของมันคือการที่รัฐไทยตกอยู่ภายใต้ลัทธิทุนนิยม มาชงให้ใช้ ม.44 เพื่อเร่งให้เกิดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง มีการเบียดขับ แย่งชิงทรัพยากรจากคนจน  การทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญที่สุดพอมาถึงไทย โดยเฉพาะในเรื่องชายแดนสิ่งที่รัฐและทุนต้องการจะได้คือการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ

“ลองไปดูเลยทุกจุดนะครับ มุ่งเป้าไปที่การใช้แรงงานข้ามชาติ การใช้แรงงานข้ามชาติมันจะเกิดความเลวร้ายอย่างหนึ่งในสังคมไทยนั่นก็คือการเกิดลัทธิชาตินิยมเชิงเศรษฐกิจ แปลว่าอะไร แปลว่าเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรามีความชอบธรรมที่จะขูดรีดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา พม่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่า หรือเวียดนามก็ตาม .. ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดค้าแรงงานข้ามชาติและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนมันก็ไปตั้งเพื่อดักรอแล้วก็ขูดรีดแรงงานข้ามชาติ” ไชยณรงค์ กล่าว

ดูหลากหลายแต่กลายเป็นอุตสาหกรรม และส่งเสริม FDI มากกว่าทุนท้องถิ่น

ไชณรงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า เรื่องชนิดของอุตสาหกรรม ที่ดูหลากหลาย มองว่าเป็นแค่ยาหอมของคนในท้องถิ่น เพราะบทเรียนให้ดูนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่เดิมส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น แต่กลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน และเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ที่ตั้งตามชายแดนอ้างเรื่องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันนั้น แต่คิดว่าทุนในท้องถิ่นนั้นก็ไม่สามารถแข่งได้ เพราะเป้าของรัฐคือ FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเขตเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ผ่านมาก็เป็น FDI หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นทุนจากจีน ยุโรป อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็ตาม

ในทุกพื้นที่มีคนอยู่ และบางพื้นที่มีความขัดแย้งคนในพื้นที่กับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิที่ทำกินอยู่แล้ว ดังนั้นต้องให้คนเหล่านี้มีอำนาจในการต่อรองด้วย แต่ตอนนี้กลับพูดไม่ได้ เพราะใช้คำสั่งนายกฯและ ม.44 สิ่งเหล่านั้นมันจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนามากขึ้น

“ทำไมทุนจีนถึงลงมาที่นี้ มุ่งมาทางใต้ หนึ่งมันเป็นตลาดระบายสินค้าอย่างหนึ่ง สงตอนนี้จีนมีปัญหาคือมันมี oversupply เรื่องของซีเมนต์กับเหล็ก”  ไชณรงค์ กล่าว

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว 

คำว่าพิเศษ พิเศษให้ใคร

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนในท้องถิ่นและสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นมันจะไปตกอยู่กับคนเล็กคนน้อย พร้อมกล่าวด้วยว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นคำยากที่จะเข้าใจ ชาวบ้านไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ลึกมาก คนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือท้องถิ่น ที่ไม่ยึดโยงท้องถิ่นและประชาชน เป็นเรื่องที่อันตรายมากสำหรับประเทศนี้ เพราะเมื่อเริ่มประกาศชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะคนประกาศไม่ได้เห็นพื้นที่จริงๆ ไม่ได้เข้าใจศักยภาพจริงๆ เพราะถ้ามีส่วนร่วมจริงๆ อย่างพื้นที่เชียงของ เขาคงไม่ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะมันเป็นพื้นที่ชุมน้ำ เพราะมันมีลักษณะพิเศษของมันในพื้นที่ ดังนั้นการจะประกาศใช้มันต้องละเอียดอ่อน โครงสร้างของ กนพ. ก็ไม่มีคนในพื้นที่ มันไม่ยึดโยงกับพื้นที่

“สมัยยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ก็ยังได้คุยกันนะ เชียงของก็คุยอยู่ คุยเรื่องพวกนี้ เรื่องระเบียบเรื่องกฎหมายเรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะมีผลกระทบ แต่มันจังหวะปุ๊บมีการรัฐประหารเกิดขึ้นมันตูมทันที มันมาเลยแบบคลื่นลูกใหญ่โคมเลย ไอ้การจังหวะการตั้งตัวของพี่น้องชาวบ้านหมดทุกอย่างเลยประกาศทันที อันนี้คือเรื่องที่ผมว่าเป็นอันตรายมากที่สุด มันมีผลกระทบหมดเลย ทั้งโครงสร้างที่ไม่มีการยึดโยงกับชาวบ้าน ประชาชนก็ไม่มี พื้นที่ก็ไม่มี อำนาจหน้าที่ก็จะไปลิดรอนเข้าอีก” นิวัฒน์ กล่าวพร้อมเรียกร้องรัฐบาลควรยับยั้งชั่งใจเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ดีอย่ารีบ

“ไม่ใครหรอกครับที่ไม่อยากพัฒนา คนชนบทก็อยากพัฒนาเหมือนกัน แต่พัฒนาแล้วมันไม่ได้อะไรก็จะให้เราทำอย่างไร เพราะฉะนั้นผมว่าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษผลกระทบที่สุดก็คือคนท้องถิ่นชุมชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องยึดโยงกับคนท้องถิ่นในเรื่องผลประโยชน์ ในเรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบ” นิวัฒน์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า “คำว่าพิเศษ พิเศษให้ใคร”

นิวัฒน์ กล่าวว่า เชียงของเป็นหุบเขา ถ้าเป็นนิคมอุตสาหกรรม ก็จะแย่กว่ามาบตาพุดอีก แต่ควรจะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คนที่จะตอบเรื่องนี้ได้คือคนท้องถิ่น

“คนเชียงของไม่ได้ต้านเขตเศรษฐกิจพิเศษนะ ถ้าพิเศษให้เขาด้วยสิ เอา ไม่ทำลายบ้านเมืองเชียงของเรา ไม่ทำลายบ้านเมืองเรา พี่น้องประชาชนเราอยู่ได้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน เอาสิใครไม่เอาล่ะ คนมันก็อยู่ก็กิน แต่ถ้ามาอย่างนี้มันพากันตายหมดใครมันจะเอา” นิวัฒน์ กล่าว

ถ้าบ้านทหารโดนรื้อก็เจ็บเหมือนกัน เพราะเป็นคนเหมือนกัน

นิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า รัฐต้องเคารพสิทธิชุมชน เพราะถ้าไม่เคารพก็จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องที่เกิดทุกที่หัวระแหง เรื่องสิทธิชุมชนนี้คนชนบทเขาเข้าใจ อย่าไปมองว่าเขาเป็นลูกน้องคนนั้นคนนี้

“เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนและให้โอกาสกับพี่น้องประชาชนได้ลุกขึ้นมาพูดในเรื่องของเขาเดือดร้อนกันว่ามันเป็นอย่างไรกันจริงจัง แล้วขอเถอะครับอย่าเอาทหารไปเลย ผมสงสารชาวบ้าน คนจะคุยกันนะครับ เขาเดือดร้อนยังเอาทหารไปอยู่ บ้านนี้เมืองนี้ตายแล้ว จะอยู่กันอย่างไร นะครับ พี่น้องเขาแลกเปลี่ยนกันไม่สงสารเขาหรอเอาทหารไปคุม อันนี้ให้พูดอันนี้ไม่ให้พูด ผมว่าถ้าบ้านทหารโดนรื้อล่ะ จะทำอย่างไร ผมว่ามันเหมือนกันนะ คนเหมือนกันมันหยิกก็เจ็บนะ ทำอะไรก็เจ็บก็ปวดเหมือนกัน” นิวัฒน์ กล่าว

เชียงของ 1 เมือง 2 แบบ พัฒนาภายใต้ทุนทางประวัติศาสตร์ นิเวศและวัฒนธรรม

นิวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรณีเชียงของ ไม่ได้บอกให้รัฐหยุด เพราะคนเชียงของคุยเรื่องนี้มากว่า 4 ปี ที่บ้านเราจะพัฒนากันไปทางไหน โดยตกผลึกว่าจะพัฒนาภายใต้ทุนที่ชุมชนของเรามีอยู่ทั้งทุนทางประวัติศาสตร์ นิเวศและวัฒนธรรม เพราะการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้มองทุนเดิม ต้องดึงทุนเหล่านั้นออกมา สามารถขยับต่อไปเพื่อการพัฒนาให้ยั่งยืนได้ พูดถึง 1 เมือง 2 แบบ เมืองเก่าทำอย่างไร เมืองใหม่ทำอย่างไร การพัฒนาจะสอดรับกับพื้นที่อย่างไร เมืองเชียงของก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 1 เมือง 2 แบบ ขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งที่กังวลตอนนี้คือมันเป็นอำนาจของข้างบนมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นขอร้องให้ฟังชาวบ้านฟังพี่น้องประชาชนด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษคือการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ ตั้งแต่ร่วมคิดจัดการ อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่มาฟัง

“เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเครื่องมือที่จะนำพาการกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคน ซึ่งเครื่องมือตัวนี้ต้องปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เวลาพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเป็นอุตสาหกรรมทุกครั้งนั้นไม่ได้” นิวัฒน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท