บทเรียนไตรสันติภาพ (6) อับดุล ราซัก อะห์หมัด : อาเซียนควรมีบทบาทในพื้นที่ขัดแย้ง

รศ.ดร.อับดุล ราซัก อะห์หมัด อาจารย์ประจำภาควิชายุทธศาสตร์ศึกษา, คณะการป้องกันประเทศศึกษาและการจัดการ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย (National Defence University of Malaysia) อภิปรายสะท้อนความคิดจากปาฐกถาจาก 3 พื้นที่ขัดแย้ง คือ อาเจะห์, มินดาเนา และปาตานีหรือชายแดนใต้ของไทย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ TriPEACE via ASEAN Muslim Societies (ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน) เรื่อง Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะนักวิชาการจากนอกพื้นที่ขัดแย้ง

รศ.ดร.อับดุล ราซัก อะห์หมัด อาจารย์ประจำภาควิชายุทธศาสตร์ศึกษา, คณะการป้องกันประเทศศึกษาและการจัดการ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย

ปัญหาว่าด้วยความรู้ของมุสลิมกับโลกสมัยใหม่

รศ.ดร.อับดุล ราซัก อะห์หมัด กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักคือ ประเด็นแรก ปัญหาหลักที่ประชาชาติมุสลิมกำลังประสบในปัจจุบันก็คือ วิกฤตของความรู้ แต่สิ่งที่เขาเพิ่มเติมก็คือ ปัญหาของความรู้ของมุสลิมกับโลกสมัยใหม่ ที่จะหาแนวทางอย่างไรให้สามารถเดินไปด้วยกันได้

ประเด็นนี้นับว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยที่เขาเป็นคนหนึ่งที่ศึกษาในด้านการก่อการร้ายและการเผชิญหน้า แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับมุสลิมหลายคนที่เลือกใช้ความรุนแรงและแนวทางสุดโต่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่มาจากการไม่สามารถประยุกต์ตัวเองให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ในกระบวนการคิดของอิสลามได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการศึกษาจึงสำคัญ ความสำคัญของความเป็นสมัยใหม่ที่จะทำให้เห็นชัดได้นั้น ก็จะสามารถทำได้ผ่านการลงทุนในด้านการศึกษา

ประเด็นที่สอง คือ เขามีโอกาสได้ร่วมงานกับทั้งในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียพยายามแสดงบทบาทในการสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในฟิลิปปินส์ สิ่งที่มาเลเซียบอกต่อฟิลิปปินส์ไม่ใช่เริ่มด้วยการเจรจาเลย เพราะการเจรจาไม่ใช่จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นคือการที่มาเลเซียเสนอการฝึกผู้เจรจาและผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการสร้างสันติภาพในอนาคตให้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งตัวเขาเองได้มีส่วนร่วมกับการฝึกอบรมครั้งนี้ แม้ว่าจะมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาหรือระดับความรู้

แต่การอบรมครั้งนี้ไม่ได้ไปเน้นในการพูดคุยทางความคิด แต่เป็นการพาไปให้เห็นการพัฒนาในด้านต่างๆ และการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในมาเลเซีย เพื่อที่จะบอกว่านี่คือแนวทางหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ ที่คุณพยายามต้องการหรือเปล่า ถ้าใช่ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าคุณจะหยุดและนั่งคุยกันเกี่ยวกับสันติภาพและมองไปข้างหน้าในประเด็นการพัฒนา ซึ่งความพยายามในการทำเช่นเดียวกันนี้ในภาคใต้ของไทยก็ยังไม่ก้าวหน้าไปไกลนัก

อาเซียนควรมีบทบาทในพื้นที่ขัดแย้ง

สิ่งหนึ่งที่น่าฉงนคือความพยายามที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกทำจากประเทศใดประเทศหนึ่ง มากกว่าจะมาจากอาเซียนทั้งหมด กำลังเกิดอะไรขึ้นกับอาเซียนกระนั้นหรือ? เขามองว่าอาเซียนควรเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ขัดแย้ง แต่ปัจจุบันอาเซียนกลับเงียบเฉย ทั้งๆ ที่ความประสงค์แรกของอาเซียนในช่วงก่อตั้ง คือการป้องกันความมั่นคงและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ในอนาคตอาเซียนจำเป็นต้องแสดงออกต่อกรณีความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น และการสร้างพื้นที่ทางวิชาการเช่นเวทีนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นการแสดงจุดยืนและให้ความรู้แก่อาเซียนถึงความจำเป็นนี้

ในส่วนของมาเลเซียก็มีความพยายามในการให้ความช่วยเหลือต่อการยุติความรุนแรงในทั้งสามพื้นที่ กระบวนการที่จะให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น แน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้กระบวนการทางการเมืองเข้ามา

มาเลเซียเองก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของขบวนการสุดโต่งและเครือข่ายการก่อการร้ายในภูมิภาค ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาเลเซียตระหนักว่า ถ้าไม่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งในภูมิภาคแล้วก็จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในอนาคตของมาเลเซียเอง ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาร่วมข้ามชาติของคนทั้งโลกในปัจจุบันนี้

เมื่อเห็นถึงหลักฐานของการมีเบอร์ญิฮาดในภาคใต้ของไทยซึ่งก็จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับขบวนการเจไอที่เกิดขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่ใช้แนวทางนี้ก็มีการพูดคุยกัน การก่อการร้ายปรากฏทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น หากไม่สามารถจัดการได้แล้วนั้น อาจมีอีกหลายกลุ่มในพื้นที่ขัดแย้งนี้ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์เช่นนี้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท