Skip to main content
sharethis

13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ระบุว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง กรณี พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา (ยศปัจจุบันคือ พล.ต.อ. และเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน(ผบ.ตร.) และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ)เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายซูดีรือมัน มาเละ จำเลย ต่อศาลอาญาเมื่อปี พ.ศ. 2552 ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษอาญา จากการที่จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  คดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2557 ซึ่งศาลอาญาได้อ่านเมื่อวันที่  29 กันยายน 2558 โดยศาลฎีกายกฟ้อง คดีพล.ต.ต.จักรทิพย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายซูดีรือมัน ฐานแจ้งความเท็จ

สืบเนื่องจากกรณีปล้นอาวุธปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง  จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2547  ต่อมาผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนดังกล่าวกว่า 10 คน กล่าวหาว่าตำรวจชุดสอบสวนทำร้ายร่างกายด้วยการกระทำทรมานให้รับสารภาพ  ทางดีเอสไอ ทำการสอบสวนและสรุปสำนวนคดีว่ามีมูล แล้วส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีต่อไป 

และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552  ระหว่าง ป.ป.ช. ดำเนินกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่นั้น พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา หนึ่งในจำนวนตำรวจชุดสอบสวนผู้ต้องหา ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายซูดีรือมัน มาเละ ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งได้เป็นพยานให้การต่อดีเอสไอ และ ป.ป.ช. กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจชุดสอบสวนทรมานขณะสอบสวนอยู่ที่ สภ.ตันหยง   โดยโจทก์ยื่นฟ้องนายซูดีรือมัน ต่อศาลอาญา(ศาลชั้นต้น) คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2161/2552 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษอาญา  ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย   ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.3140/2554    ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 ประกอบ 174 วรรคสอง และ 181 (2)   ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี    จำเลยอุทธรณ์   ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือยกฟ้อง จำเลยไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โดยศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556    โจทก์ฎีกา  เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558  ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวคือ ยกฟ้องโจทก์ จำเลยไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั่นเอง

สำหรับ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา โจทก์ในคดีนี้  ขณะร่วมสอบสวนผู้ต้องหาเมื่อปี พ.ศ. 2547 มียศเป็นพันตำรวจเอก  ต่อมาแม้จะถูกดีเอสไอ และ ป.ป.ช.  ตั้งข้อกล่าวหาและสอบสวนในคดีเจ้าพนักงานตำรวจชุดสอบสวนซ้อมทรมานผู้ต้องหาดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ในการรับราชการ ทั้งยังได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้นโดยลำดับ  จนกระทั่งเป็นพลตำรวจเอก และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

รายงานสรุปคำพิพากษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2557 โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ที่โจทก์ขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11(1) (2) (3) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15, 27  เนื่องจากนายสุนัย มโนมัยอุดม เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคณะกรรมการคดีพิเศษและเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษโดยตำแหน่ง คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้รับคดีกรณีการทำร้ายร่างกายนายมะกะตา ฮารง กับพวก (รวมจำเลย) ผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เป็นคดีพิเศษ และมอบหมายให้พันเอกปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ และพันตรีวิรัช กุลละวณิชย์ พยานคดีนี้ เป็นพนักงานสอบสวน ร่วมรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวและร่วมสอบปากคำจำเลยนี้ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นว่าน่าเชื่อตามคำกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายจำเลยเพื่อให้การรับสารภาพ นายสุนัยได้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีอาญาโจทก์กับพวก นายสุนัยเป็นผู้รู้เห็นพยานหลักฐานทั้งหมดในคดี จึงมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคดี โจทก์ขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์และขอให้ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ เป็นการคัดค้านผู้พิพากษาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11  (1)ถ้าผู้พิพากษานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น  (2)ถ้าเป็นญาติเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง... (3)ถ้าเป็นผู้ที่ได้ถูกอ้างเป็นพยานโดยที่ได้รู้ได้เห็นเหตุการณ์ หรือโดยเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้พิเศษเกี่ยวข้องกับคดีนั้น   เห็นได้ว่า คดีนี้มิได้เกี่ยวข้องกับนายสุนัย ทั้งนายสุนัยไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย ไม่ได้เป็นญาติกับคู่ความและไม่ได้ถูกอ้างเป็นพยานในคดี ซึ่งไม่เข้าเหตุตามกฎหมายที่จะคัดค้านผู้พิพากษา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

ปัญหาต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ได้ความตามทางพิจารณาว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยกับพวกถูกนำตัวออกจากห้องขังมาสอบสวนที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรตันหยง มีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่หลายคน เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำร้ายร่างกายจำเลยให้รับสารภาพ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยกับพวกไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครร่วมด้วย หลังจากนั้นจำเลยกับพวกถูกนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความ มาพบและสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น นายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้แก่จำเลยกับพวกที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพ ต่อมามีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมาสอบปากคำจำเลยและนำภาพที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ เอกสารหมาย จ.8 มาให้จำเลยดู และให้ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดเป็นคนร้าย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547 เวลากลางวัน โจทก์ไม่ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยบริเวณห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรตันหยง เพราะในวันดังกล่าวโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่จังหวัดอุดรธานี นครพนม และสกลนคร เพื่อดูแลความปลอดภัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ตามคำสั่งกองปราบปรามที่ 165/2546 เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งโจทก์เดินทางโดยสายการบินไทยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ตามเอกสารหมาย จ.3  และเดินทางกลับกรุงเทพมหานครวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547  มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์อยู่ในห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรตันหยงหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับคำสั่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการจังหวัดอุดรธานี นครพนม และสกลนคร เพื่อดูแลความปลอดภัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรตามคำสั่งกองปราบปรามที่ 165/2546 ตามเอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้รองผู้บังคับการกองปราบปรามปฏิบัติราชการ มิใช่คำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่ประการใด  ส่วนตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.3 ก็ได้ความเพียงว่าโจทก์เดินทางไปในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เวลา 18.35 นาฬิกา ไม่ปรากฏหลักฐานการเดินทางกลับเมื่อใด แต่ปรากฏภาพโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 โดยโจทก์เองก็เบิกความรับว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2547 ได้รับคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปปฏิบัติราชการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับเรื่องที่มีการปล้นอาวุธปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง  และตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พยานร่วมสอบสวนผู้ต้องหาในคดีปล้นอาวุธปืนหลายครั้ง บางครั้งก็เคยออกไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยมีภาพข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ต้องหา จากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์อยู่ในห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรตันหยงในวันเกิดเหตุ  ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นความผิดหรือไม่  เห็นว่า จำเลยเป็นราษฎรอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ การสื่อสารต้องผ่านล่าม ไม่เคยรู้จักกับโจทก์มาก่อน พยานโจทก์ก็รับว่าจำเลยไม่เคยกล่าวหาว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายจำเลย ในการชี้ภาพถ่ายผู้ร่วมทำร้าย จำเลยไม่ได้ชี้ว่าโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8  ทั้งพันตำรวจตรีธัชนพ ผดุงกาญจน์  พยานโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า จำเลยเคยให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่มาจากกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลย นอกจากนั้นยังได้ความจากพันเอกปิยวัฒก์และพันตรีวิรัช พยานจำเลย เบิกความว่า จำเลยไม่เคยให้ถ้อยคำว่าโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลย การที่โจทก์ถูกกล่าวหาก็เนื่องจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงที่จะลงโทษจำเลยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน”

มีข้อน่าสังเกตว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่นายซูดีรือมันได้เป็นพยานให้ถ้อยคำโดยสุจริตต่อดีเอสไอและป.ป.ช. เพราะถูกกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดสอบสวนทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในความผิดที่ตนมิได้กระทำ (คดีที่นายซูดีรือมันตกเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นอาวุธปืนฯ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคดีอื่นที่เกี่ยวข้องนายซูดีรือมันต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนจนพ้นข้อหาความผิด)  คดีดำเนินไปตามขั้นตอนของ ดีเอสไอ และ ป.ป.ช.   แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. นายซูดีรือมันกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหา อ้างเอาถ้อยคำที่นายซูดีรือมันได้ให้การต่อดีเอสไอและป.ป.ช. ซึ่งรวมอยู่ในสำนวนคดีของ ป.ป.ช. แล้ว ว่าเป็นการแจ้งความเท็จ นำไปฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งโดยปกติถ้อยคำที่ให้การดังกล่าวพึงเป็นความลับในสำนวนคดีของ ป.ป.ช. ที่ผู้เป็นพยานมาให้ถ้อยคำจะต้องได้รับความคุ้มครอง  

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เมื่อปี พ.ศ. 2553  ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหา ว่าคดีไม่มีมูล เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ  แต่ในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ ศาลรับฟังได้ว่า มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาดังกล่าวจริงและขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นตำรวจนายหนึ่งในชุดสอบสวนผู้ต้องหาและอยู่ในห้องประชุม สภ.ตันหยง ที่ใช้สอบสวนและทรมานผู้ต้องหาด้วย เพียงแต่นายซูดีรือมัน จำเลย ไม่เคยระบุว่าโจทก์เป็นผู้ร่วมซ้อมทรมานด้วยเท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net