รัฐบาลพม่า-8 กลุ่มชาติพันธุ์ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ-อีก 12 กลุ่มยังไม่ลงนาม

หลังสงครามกลางเมือง 67 ปี วันนี้รัฐบาลพม่า-กลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม รวมทั้งกองทัพรัฐฉาน กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ 'เต็ง เส่ง' หวังให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็น 'ของขวัญ' ชนรุ่นหลัง ขณะที่อีก 12 กลุ่ม ซึ่งรวมทั้งกองทัพสหรัฐว้ายังไม่ลงนาม ด้านกองทัพพม่ายังเปิดฉากโจมตี 5 กลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งคะฉิ่น KIA และกองทัพรัฐฉาน-เหนือ จนมีผู้อพยพระลอกใหม่

พิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

พิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ในภาพถัดจากประธาธิบดีเต็ง เส่ง ทางด้านขวาในภาพคือ นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 1 และญัณ ทุน รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ส่วนทางด้านซ้ายในภาพเป็นผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์

ที่นั่งถัดจากประธานาธิบดีพม่าคือ พล.อ.มูตู เซพอ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้กับพม่ามานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 หรือเมื่อ 67 ปีที่แล้ว นับเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ถ่ายรูปร่วมกับผู้นำรัฐบาลพม่า หลังพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า เมื่อ 15 ต.ค. 2558 (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

 

รัฐบาลพม่า-8 กลุ่มชาติพันธุ์ ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ 'เต็ง เส่ง' หวังให้เป็นของขวัญชนรุ่นหลัง

15 ต.ค. 2558 ที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่าวันนี้ (15 ต.ค.) มีพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students’ Democratic Front  - ABSDF) 2. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party -ALP) 3. กองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front -CNF) 4. กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army -DKBA) หรือกลุ่มของซอ ละเพว หรือ นะคามวย 5. สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC) 6. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และ 7. องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ Pa-O National Liberation Organization (PNLO) และ 8. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)

โดยในรายงานของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) ระบุว่า มีการกล่าวสุนทรพจน์ก่อนเริ่มพิธีลงนาม ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวว่า "ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเป็นของขวัญประวัติศาสตร์จากพวกเราสำหรับชนรุ่นหลัง" และกล่าวด้วยว่า "นี่เป็นมรดกของพวกเรา"

หลังจากนั้นเป็นการกล่าวโดยผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มูตู เซพอ ก่อนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการลงนามในเวลา 09.41 น.

โดยสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานว่า มีเข้าร่วมในพิธีลงนามนับพันคน ประกอบด้วยรัฐมนตรีของรัฐบาลพม่า ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ นักการทูตต่างชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ และสักขีพยาน โดยพิธีลงนามจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเมียนมาร์แห่งที่ 2 (Myanmar International Convention Centre II) ที่เนปิดอว์ โดยรัฐบาลพม่าพยายามจัดให้มีการลงนามเสมือนเป็นการยุติความขัดแย้งลงชั่วคราว หลังจากที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 67 ปี นับเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในโลก

ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และไทย ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มที่ลงนามกับรัฐบาลพม่า ซึ่งนำโดย ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศในวันนี้ถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากการเห็นคัดค้านของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่ปฏิเสธที่จะลงนาม นอกจากนี้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่าง ออง ซาน ซูจี ก็ไม่ได้เข้าร่วมด้วย โดยส่งวิน เถ่ง คณะกรรมการบริหารกลางของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เข้าร่วมแทน

12 กลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ
มีกองทัพสหรัฐว้า-เมืองลา-พรรครัฐมอญใหม่-กลุ่มคะเรนนี ร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เช่น 1) กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังมากที่สุดในพม่า มีฐานอยู่ในพื้นที่รัฐฉานติดกับชายแดนจีน จนถึงชายแดนไทย-พม่า  2) กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army - NDAA) เคลื่อนไหวอยู่ที่เมืองลา รัฐฉาน บริเวณชายแดนจีน-พม่า แต่เดิมระบุว่าขอรอดูท่าที แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA)

3) พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐมอญ 4) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party – KNPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐคะเรนนี ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน 5) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปะหล่อง (Palaung State Liberation Front - PSLF) และ 6) องค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organiztion - WNO) ทั้ง 2 กลุ่มเป็นกองกำลังขนาดเล็กในพื้นที่รัฐฉาน 7) สภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์-คะปลัง (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang - NSCN-K) ที่อยู่บริเวณชายแดนพม่า-อินเดีย

 

ในจำนวนนี้มี 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงสู้รบกับกองทัพพม่า

ส่วนกลุ่มที่เคยหารือเรื่องหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า แต่ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงทั่วประเทศ และมีการปะทะกับรัฐบาลพม่าอยู่ ได้แก่ 8) องค์กรแห่งอิสรภาพคะฉิ่น/กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO/KIA) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยังคงปะทะกับกองทัพรัฐบาลพม่า โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีการปะทะกับกองทัพพม่าที่เมืองผาคาน ในรัฐคะฉิ่น 9) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Progressive Party - SSPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ กองทัพพม่าได้โจมตีบริเวณโดยรอบฐานบัญชาการของกองทัพรัฐฉานเหนือ ที่บ้านไฮ เมืองเกซี และมีพลเรือนนับพันคนต้องอพยพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลพม่าไม่รับรองสถานะการเจรจาและกำลังสู้รบกันอยู่ด้วย ได้แก่ 10) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) 11) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) และ 12) กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมาร์ (Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) หรือกลุ่มโกก้าง โดยกองทัพพม่ากล่าวหาว่าทั้งกองทัพอาระกัน AA ซึ่งมีฐานฝึกอยู่ในรัฐคะฉิ่น และกองทัพตะอาง TNLA ช่วยเหลือกองทัพคะฉิ่น ขณะที่กลุ่มโกก้าง หลังถูกปราบในปี 2552 ต่อมาในต้นปี 2558 ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารขนานใหญ่เพื่อชิงพื้นที่คืนจากรัฐบาลพม่าทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เมืองปางซาง เขตปกครองตนเองว้า ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2558 ผู้นำว้า เปา โหยวเฉียง เรียกร้องให้ผู้นำพม่ารับรองกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ให้เข้าร่วมการเจรจาด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท