Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้เขียน note สั้นๆ เรื่องนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน (ดู การแทรกแซงด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เผยแพร่เมื่อ 26 พ.ย. 2555) ซึ่งแยกออกเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง กับ ความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งเป็นความรับผิดผ่านกระบวนการที่ต่างกัน (ส่วนแรกอาจตัดสินโดยการเลือกตั้ง แต่ส่วนหลังต้องไปตัดสินกันด้วยศาล/กระบวนการยุติธรรม) และได้เคยถกเรื่องนี้กับตัวแทนกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่บลูสกายทีวีด้วย(ดู สยามวิพากษ์ 30 06 56 Blusky Channel เบรค 1 และ เบรค 2)

ในที่นี้ ผมขออภิปรายเพิ่มเติมสั้นๆ ในสองประเด็นที่เกี่ยวกับการขาดทุนจากโครงการของรัฐอย่างจำนำข้าว คือ

1. การขาดทุนประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ

1.1 ขาดทุนจากซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดมาก -- ถ้าซื้อมาแพงแล้วขายได้ประมาณราคาตลาด ผมถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งความรับผิดชอบน่าจะจำกัดอยู่ที ความรับผิดชอบทางการเมือง

1.2 ขาดทุนเพิ่มจากการขายข้าวได้ในปริมาณและราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก -- ซึ่งมีโอกาสเกิดจากสามสาเหตุหลักๆ คือ (ก) ความต้องการรักษาราคาข้าวสารให้อยู่ในระดับต่ำ (ข) การขาดประสิทธิภาพในการขาย/ระบายข้าว และ (ค) การจงใจทุจริต (และถ้ามีกรณีหลัง ก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่า (ง) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสมคบคิดหรือประมาทเลินเล่อด้วยหรือเปล่า) ในส่วนนี้ สองข้อแรกถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง (และข้อแรกอาจได้เครดิตจากประชาชนที่ซื้อข้าวสารด้วย) แต่ในสองข้อหลังย่อมถือเป็น ความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งต้องไปตัดสินกันด้วยศาล/กระบวนการยุติธรรม

1.3 การเก็บข้าวไว้นานกว่าที่จำเป็น ทำให้ข้าวเสื่อมมากขึ้นและต้นทุนการเก็บสูงขึ้น -- ใในช่วงรัฐบาลเก่าในช่วงแรกๆ นั้น ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่าเก็บข้าวไว้ราคาจะดีขึ้น (ซึ่งมักไม่จริง และการเก็บข้าวยิ่งนานต้นทุนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย)  สำหรับช่วงหลังรัฐประหารความรับผิดชอบส่วนนี้ (เช่น การที่ข้าวส่วนใหญ่ประมาณ 14-15 ล้านตันยังคงถูกเก็บไว้หลังจาก รปห มาแล้วเกือบปีครึ่ง) ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. (อย่างไรก็ตาม การเก็บข้าวสารบางส่วนจาก 18 ล้านตันไว้ในระยะหนึ่งก็คงถือว่าจำเป็น และรัฐบาลอาจมีเหตุผลที่ฟังไดุ้ในการเลือกจังหวะการขายข้าวที่ไม่ใช้วิธีระบายข้าวทั้งหมดออกไปทันทีหรืออย่างรวดเร็วมาก)

2. ตัวเลขการขาดทุนของโครงการ ที่คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลเก็บข้าวไปเรื่อยๆ – ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังพยายามปิดบัญชีโดยคำนวณมูลค่าสต๊อกจากราคาตลาดในขณะนั้น (mark to market) ในขณะที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่ายังไม่สามารถปิดบัญชีได้ เพราะข้าวเหล่านั้นยังไม่ได้ขายออกไป

เมื่อมีการคำนวณการขาดทุนในช่วงต่อๆมา ก็จะเห็นได้ว่ายอดขาดทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังมีการเก็บข้าวเอาไว้  ดังนั้น ข้ออ้างของรัฐบาล พท ในอดีตที่ว่า จนท ที่ปิดบัญชีสรุปตัวเลขการขาดทุนที่สูงเกินจริงจึงไม่ใช่ข้ออ้างที่สมเหตุสมผลนัก (ในความเป็นจริงยอดการขาดทุนที่คำนวณโดยคณะผู้ปิดบัญชีมีแนวโน้มที่เป็นยอดการขาดทุนขั้นต่ำเสียด้วยซ้ำ เพราะข้าวที่ยังเก็บอยู่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หรืออีกนัยหนึ่ง โครงการจำนำข้าวของรัฐบาล พท มียอดการขาดทุนที่สูงมากจริง และสูงกว่าที่ผู้รับผิดชอบเคยคาดการณ์เอาไว้ตอนเริ่มโครงการมาก)

ในขณะเดียวกัน ยิ่งรัฐบาล คสช. เก็บข้าวไว้นานเกินจำเป็นมากนานเท่าใด ยอดการขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (และสามารถเพิ่มสูงถึง 500,000 ล้านบาทได้ ถึงแม้ว่ามูลค่าข้าวที่รับจำนำจะสูงกว่านั้นไม่มาก เช่น มีมูลค่าข้าวเปลือกที่รับจำนำประมาณ 700,000 ล้านบาทเศษ) แต่ยอดที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่จำเป็นนั้น ย่อมเป็นส่วนที่ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. เอง

 

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบันทึกผ่านเฟซบุ๊กของ วิโรจน์ ณ ระนอง เมื่อ 18 ตุลาคม 2558 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net