Skip to main content
sharethis
 
ศธ.จ่อย้ายอาชีวะเอกชนรวมกับรัฐ เพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
 
15 ต.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธฺ) เป็นประธาน ว่า รมว.ศธ.มีนโยบายให้อาชีวะเอกชนเข้ามาอยู่ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งการเพิ่มจำนวนนักศึกษาอาชีวะฯ ซึ่งเท่าที่ตนได้ไปประชุมร่วมกับอาชีวะเอกชนรับทราบข้อมูลหลายเรื่องมีข้อจำกัด โดยเฉพาะจำนวนนักเรียนมีปริมาณนอยลง แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานกลางก็จะต้องมีอยู่ ดังนั้น รมว.ศธ.จึงมีแนวคิดวให้แยกอาชีวะเอกชนออกมาอยู่ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
 
โดย รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการหารือถึงขอกฏหมาย กรณีการแก้ไข พ.ร.บ.อาชีวศึกษาเอกชน  และ พ.ร.บ.อาชีวศึกษา เพื่อรองรับด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากมีการขยับอัตรากำลังคนของ สช.เข้ามาอยู่ในกำกับของ สอศ.ตามภาระงาน สำหรับเรืองการบริหารจัดการ นั้น สอศ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว  โดยมีเลขาธิการ กอศ.เป็นประธาน มีปลัดศธ.เป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรก ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 08.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน เข้าร่วมด้วย เพื่อหารือถึงการปรับปรุงส่วนต่างๆ การบริหารจัดการ เรื่องค่าใช้จ่ายรายหัว รวมถึงเงินอุดหนุนต่างๆ และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบาย ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกอย่างแล้วเสร็จทันเปิดเทอมในปีการศึกษา 2559
 
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า รมว.ศธ.ได้สอบถามความคืบหน้า ถึงการดำเนินการในเรื่องนี้ และเน้นย้ำว่าปีการศึกษาหน้านี้ ต้องสามารถดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังเป็นห่วงเรื่องการบริหารวิชาการ และบุคลากร ซึ่งคณะทำงานก็จะประชุมกันในวันที่ 21 ต.ค.นี้ หารือถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน และ พ.ร.บ.อาชีวศึกษา เพื่อรองรับการทำงานแลเพื่อให้อาชีวะเอกชน และอาชีวะรัฐ มีมาตรฐานเดียวกัน
 
ขณะที่ นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า การแยกอาชีวะเอกชนออกมาอยู่ในกำกับของ สอศ.เป็นผลดีทั้งหมดไม่มีผลกระทบเลยใดๆ เพราะคำนึงถึงการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากอาชีวะรัฐมีความเชี่ยวชาญและมีพลังสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะความร่วมมือกับสถานประกอบการในระบบทวิภาคีและนานาชาติ ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถเอื้อต่อการพัฒนาด้านอาชีวะได้ ประกอบกับพลังและศักยภาพของอาชีวะเอกชนที่มีอยู่หากใช้ศักยภาพร่วมกัน ก็จะทำให้ทิศทางการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศดียิ่งขึ้นและไปสู่การแข่งขันได้
 
 
เตือนคนไทยเลี่ยงแหล่งชุมนุมในอิสราเอล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในค่ำวานนี้ (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศอิสราเอล ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ออกประกาศคำเตือน เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงในนครเยรูซาเล็ม ว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดตามพัฒนาการความรุนแรงในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2558 ซึ่งจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์กับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอลเรื่อยมาในบริเวณนครเยรูซาเล็ม ต่อมาความรุนแรงได้ลุกลามไปยังบริเวณต่าง ๆ ในอิสราเอล อาทิ เมือง Ranana (ภาคกลาง) เมือง Holon (ภาคกลาง) กรุงเทลอาวีฟ (ภาคกลาง) เมือง Kiryat Gat (ภาคใต้) และเมือง Petach Tikvah (ภาคกลาง) ในรูปแบบของการทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีคม อาวุธปืน และล่าสุดโดยการกราดยิงบนรถโดยสารประจำทางในนครเยรูซาเล็มและการขับรถชนป้ายรถโดยสารประจำทาง 
  
สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องชาวไทยที่พำนักอยู่ในอิสราเอล และขอเรียนว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความเปราะบางมาก และมีความเป็นไปได้ว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อทางการอิสราเอลเริ่มดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นและเริ่มปฏิบัติการในบริเวณต้องสงสัยต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ ขอให้พี่น้องชาวไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งชุมนุมชนต่าง ๆ และมีสติในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในนครเยรูซาเล็มที่มีสถานการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าความขัดแย้งจะไม่เกี่ยวข้องกับชาวไทย แต่หากผู้ก่อความไม่สงบเลือกใช้วิธีที่รุนแรงขึ้น ก็จะมีผลกระทบที่กว้างขึ้นและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านปลอดภัยและใช้ชีวิตโดยสวัสดิภาพ
 
 
คลังเผย ศึกษากองทุนบำนาญแห่งชาติภาคบังคับ
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบกองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ ภาคบังคับที่จะสามารถช่วยลดงบประมาณของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการชราภาพของประชาชนในอนาคตได้ เนื่องจากการศึกษาภาระงบประมาณทางการคลังในด้านดังกล่าวของปี 2567 ใช้วงเงินถึง 8.3 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็น 3% ของจีดีพีประเทศไทย ในขณะที่มองว่างบประมาณขั้นต่่ำอยู่ที่ 6.7 แสนล้านบาทนับเป็นจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ 1% 
 
ทั้งนี้ งบประมาณที่เกี่ยวกับสวัสดิการชราภาพประชาชนได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้านประกันสังคม เป็นต้น ถือเป็นงบประมาณจำนวนมากที่กระทรวงการคลังต้องดูแลทั้งปัจจุบันและในอนาคต จากการมองแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อการลดภาระการคลัง ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งคาดว่าการปรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำมาเป็นภาคบังคับน่าจะเริ่มได้เร็วว่าการตั้งกองทุนภาคบังคับโดยดึงกลุ่มคนที่ไม่เคยมีกองทุนภาคสมัครใจมาเข้ากองทุน ซึ่งมองแนวทางที่มีเอกชนมีส่วนร่วมในกิจการของภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐสามารถมีเงินเหลือเพื่อบริหารส่วนอื่นต่อไป 
 
อย่างไรก็ตาม งบประมาณการคลังที่ใช้อุดหนุนท้องถิ่นที่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ถ้าหากลดลงได้ ก็จะสามารถนำเงินส่วนที่ลดลงไปพัฒนาส่วนอื่นได้ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประเมินงบประมาณสวัสดิการชราภาพ ทั้งระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)ในปี 2567 ในระดับสูงสุด 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ส่วนระดับต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 1% ของจีดีพี
 
"ระดับค่าใช้จ่ายขนาดนี้กับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศไทย อย่างวันนี้ประกันสังคมประกาศออกมาว่ากองทุนจะติดลบในอีก 20 ปีข้างหน้า" นายสมชัย กล่าว
 
นายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังมองว่า การดูแลสังคมผู้สูงอายุ เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญใหม่ ที่เป็นภาคบังคับ กับคนที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญ ที่มีอยู่ 26 ล้านคน แต่การบังคับให้คนออม เป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต้องทำการศึกษาให้รอบด้าน และต้องเกิดในสภาวะเศรษฐกิจต้องดี ถึงจะเกิดได้ ส่วนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการ จะเข้าสู่ระบบนี้ก็ได้
 
"เรื่องนี้ศึกษาโครงสร้างอยู่ ต้องรอบคอบ อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากทุกกลุ่ม ทุกวันนี้ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการบำนาญผู้สูงอายุ แบบองค์รวม ทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียญ อย่าง กอช. ตั้งขึ้นมาแล้วไม่เพียงพอ" นายสมชัยกล่าว 
 
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเจียดเงินมาดูแลผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีรายได้ของตัวเอง จึงได้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรัฐบาลจะได้ลดเงินอุดหนุนท้องถิ่นที่ใช้งบปีละ 2-3 แสนล้านบาท และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยระบบออนไลน์ หรือ อี-เพย์เม้นท์ ทำให้การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นศูนย์การศึกษา เป็นต้น ในขณะที่ทางกระทรวงพยายามเอื้อให้ท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเองได้ อาจจะผ่านทางภาษีโดยให้ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเพิ่มการดูแลส่วนตัวเอง และเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีอีกทางหนึ่ง
 
 
รง.ผนึกเครือข่าย ส่งเสริมคนพิการ มีงานทำในชุมชน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในชุมชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในชุมชน และองค์กรสาธารณประโยชน์นั้น คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนข้อแนะนำในการจ้างงาน สิทธิประโยชน์แก่คนพิการ การส่งเสริมอาชีพคนพิการที่ชัดเจน เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
 
ในส่วนกระทรวงแรงงานจะได้จัดทำตารางแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานคนพิการ คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับปัญหาที่พบ เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการที่ตรงกัน ส่วนการพัฒนาศักยภาพของคนพิการนั้น และได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรกลางเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการได้มีงานทำ นอกจากนี้ให้มูลนิธิ สมาคม และสถาบันที่ทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ได้เข้ามาจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน เพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
 
 
9 เดือนแจก ‘ร.ง.4’ 4.4พันใบ อุตฯ คุยมูลค่าลงทุนแตะ 8 แสนล้าน
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า สำหรับยอดการออกใบ ร.ง.4 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2558 กรมโรงงานได้ออกอนุญาตตั้งและขยายโรงงานทั้งนอกเขต และในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 4,417 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 812,724 ล้านบาท จ้างแรงงาน 203,161 คน ซึ่งแบ่งเป็นโรงงานที่อยู่นอกเขตประกอบการและนอกนิคมอุตสาหกรรม 2,974 โรง เงินลงทุน 324,066 ล้านบาท และโรงงานในนิคมฯ 294 โรง เงินลงทุน 349,955 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่มีเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 20,038 ล้านบาท
 
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของการดำเนินงานเหมืองทองของ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งทีมงานจำนวน 10 ทีม ลงไปรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคัดเลือกมาจากทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง
 
“คณะกรรมการชุดนี้ จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลทุกด้านร่วมกัน เช่นการตรวจเลือดชาวบ้าน การตรวจสอบมลพิษในน้ำ และอากาศร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลภายใต้กรอบเวลา 1 เดือน เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งจะสามารถตัดสินได้ว่าโลหะหนักที่พบในเลือกก่อนหน้านี้เกิดจากเหมืองทองหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด” นางอรรชกา กล่าว
 
นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวว่า กรณีที่ สมอ. ได้ออกใบอนุญาตถาวรนำเข้าเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างให้กับบริษัทที่นำเข้าเหล็กเส้นจากจีน 2 ราย ได้แก่ บ.พีอาร์บางบอน จำกัด และบ.ริสเอเชีย จำกัด ซึ่งที่ผ่านมา บ.พีอาร์บางบอน ได้นำเข้าเหล็กเส้นมาแล้ว 3.8 พันตันแต่ได้ส่งออกไปยังประเทศเมียนมาทั้งหมด ส่วน บ.รีสเอเชีย ยังไม่ได้มีการนำเข้าแต่อย่างใด
 
โดยบริษัททั้ง 2 รายได้เข้ามาขออนุญาตอย่างถูกต้อง และ สมอ. ได้ลงไปตรวจสอบมาตรฐานที่โรงงานผลิตในประเทศจีน และตรวจสอบตัวอย่างเหล็กที่นำเข้าแล้วได้มาตรฐานตามที่กำหนด จึงต้องออกใบอนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งเป็นอำนาจของเลขาฯสมอ. ทำให้อดีตเลขาธิการสมอ. คนก่อนที่ได้เกษียณอายุราชการไป ได้ลงนามอนุมัติ
 
นายธวัชกล่าวว่า ในส่วนของความกังวลของผู้ประกอบการผู้ผลิตเหล็กเส้นของไทยที่เกรงว่าจีนจะนำ เหล็กเจืออัลลอยด์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ในเรื่องนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการผลักดันแก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นใหม่ โดยกำหนดอย่างชัดเจนห้ามเจืออัลลอยด์ทั้ง 5 ชนิดในเหล็กเส้น ก็จะเป็นการปิดกันไม้ให้เหล็กจีนทะลักเข้ามาได้ โดยคาดว่าคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรม (กมอ.)ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ และจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้ผลิตเหล็กและนำเข้าทุกราย จะต้องเข้ามาขอใบอนุญาตตามมาตรฐานใหม่ทั้งหมด ให้เกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรมของทุกฝ่าย
 
 
กยศ.ยกเครื่องกม.สั่งนายจ้างหักเงินลูกหนี้
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันผู้กู้ กยศ.จำนวนมากไม่ดำเนินการแจ้งที่อยู่ที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น กยศ.จึงปรับยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาให้มีอำนาจเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ และสามารถสั่งให้นายจ้างหักเงินเดือนของบุคลากรในหน่วยงานได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้ความเห็นชอบ ทั้งนี้หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับการเห็นชอบและมีการประกาศใช้ ก็จะสามารถบังคับให้มีการชำระหนี้ กยศ.ได้สะดวกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ส่วนใหญ่คิดว่าการที่ไม่แจ้งที่อยู่ปัจจุบัน หรือไม่ติดต่อชำระหนี้กับทาง กยศ. เป็นการกระทำที่จะสามารถทำให้หนี้ที่กู้กับ กยศ.หายไป ตนของยืนยันว่าหนี้ดังกล่าวไม่มีทางหักลบไป และเมื่อถึงเวลาที่ต้องดำเนินการฟ้องคือ เมื่อจบการศึกษา กยศ. จะเว้นระยะให้ไม่ต้องชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี และจะต้องชำระหนี้หลังจากนั้นเป็นระยะเวลา 15 ปี ชำระเป็นรายปี แต่หากไม่ดำเนินการชำระหนี้ติดต่อกันในช่วง 1-4 ปีแรก กยศ.จะบอกเลิกสัญญาและขอให้มาชำระหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้ก็จะดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งทาง กยศ.จะตรวจสอบรายชื่อในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี หากผู้ที่ถูกฟ้องไม่มารับฟังการพิพากษา ศาลก็สามารถพิพากษาถึงที่สิ้นสุดฝ่ายเดียวได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการส่งเรื่องให้ทางกรมบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการยึดทรัพย์
 
น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เป้าหมายของ กยศ.คือเร่งดำเนินการให้ผู้กู้มาชำระหนี้เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับมาตรการติดตามหนี้ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.การส่งใบแจ้งหนี้ 2.ส่งหนังสือติดตามหนี้ 3.มีการจ้างบริษัทติดตามหนี้ ซึ่งการดำเนินการติดตามหนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ ให้ชำระหนี้ก่อนที่จะถูกดำเนินการฟ้อง นอกจากนี้ กยศ.ยังรณรงค์ให้ผู้กู้สะดวกให้การชำระหนี้ จึงเปิดช่องทางการชำระหนี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยสามารถชำระผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ และ กยศ.ยังเดินหน้าทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรนายจ้างให้หักเงินเดือนบุคลากรที่เป็นผู้กู้ โดยมีมาตรการจูงใจต่างๆ อย่างเช่น ในกรณียินยอมให้หักเงินเดือน ในส่วนของผู้ที่ที่ไม่ค้างชำระเลย ในกลุ่มของลูกหนี้ทั่วไปและกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จะได้รับเงินตอบแทน เมื่อชำระเสร็จสิ้นคิดเป็นร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือนับจากวันที่เข้าโครงการ เป็นต้น
 
โดยขณะนี้ กยศ.ได้มีหน่วยงานตัวอย่างที่ทำการบันทึกข้อตกลงแล้ว ได้แก่ กรมบัญชีการ ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นตัวอย่างแก่มหาวิทยาลัย และบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ที่มีพนักงานกว่า 400 คน สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ หากหน่วยงานได้สนใจที่จะเข้าร่วมบันทึกข้อตกลง สามารถติดต่อมาที่ กยศ.โดยตรงได้ทันที โดยจะเปิดการบันทึกข้อตกลงร่วมถึงกันยายน 2559
 
ผู้จัดการ กยศ.กล่าวต่อว่า และในปี 2561 ทาง กยศ.มีนโยบายที่ก็จะนำบัญชีของผู้กู้ทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ดังนั้นเมื่อถึงปี 2561 สถานะบัญชีของผู้กู้เป็นอย่างไร ก็จะขึ้นเป็นประวัติของเครดิตบูโรไว้ จึงขอความร่วมมือผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ให้เร่งดำเนินการติดต่อมายัง กยศ. เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
 
"หลังจากเราติดตามหนี้เข้มข้นในปี 2558 มีอัตราการชำระหนี้สูงถึง 17,000 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2557 ถึง 4,000 ล้านบาทสำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการชำระหนี้ การประนอมหนี้ การติดตามยอดชำระหนี้ ก็สามารถติดต่อมายัง กยศ.ได้ทันที" ผู้จัดการ กยศ.กล่าว.
 
 
'สมาคมเพื่อนชุมชน'รุกพันธมิตร ดันมาบตาพุดสู่เมืองอุตฯเชิงนิเวศ
 
สมาคมเพื่อนชุมชน ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือของ 5 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่ม ปตท. เอสซีจี โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี กลุ่ม บ.ดาว ประเทศไทย และกลุ่มบริษัทโกลว์ ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้ดำเนินงานมาครบ 5 ปี นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของภาคเอกชนในพื้นที่มาบตาพุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อขับเคลื่อนมาบตาพุดก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2562
 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยในงานแถลงข่าว "ครึ่งทศวรรษ เพื่อนชุมชน สู่ชุมชนเดียวกัน" ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าว มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่จังหวัดระยองให้เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาชีวิตชาวระยองอย่างรอบด้าน โดยใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการส่งเสริมด้านสาธารณสุข การสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นบทพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่สมาคมเพื่อนชุมชนเข้าไปสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยอง มีผลการสอบ ONET ขึ้นอันดับ 3 ของประเทศ และยังสามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพจำนวน 200 อัตรา ป้อนเข้าสู่สถานพยาบาลขาดแคลนทั้ง 7 แห่งครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดระยอง
 
สำหรับทิศทางการดำเนินงานสมาคมฯ ในปีต่อไปสมาคมเพื่อนชุมชนพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแผนงานระยะ 6 ปี (2557-2562) โดยเริ่มจากการนำร่องพัฒนาโรงงานของกลุ่มบริษัทผู้ก่อตั้งในปี 2557 จำนวน 2 โรงงาน และขยายผลสู่ สมาชิกผู้ก่อตั้งและสมาชิกที่มีความพร้อม จนได้รับการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
 
แล้ว จำนวน 33 โรงงาน ในปี 2558 รวมทั้งสิ้น 35 โรงงาน ก่อนขยายผลสู่โรงงานในกลุ่มเพื่อนชุมชนทั้งหมดภายในปี 2560 และพร้อมประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มาบตาพุดเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ภายในปี 2562
 
ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าว "ครึ่งทศวรรษ เพื่อนชุมชน สู่ชุมชนเดียวกัน" ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานผ่านสื่อผสมมัลติมีเดีย แสดงภาพความสำเร็จของสมาคมเพื่อนชุมชน สะท้อนเรื่องราวการอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ที่ผ่านมากว่าครึ่งทศวรรษ ทำให้วันนี้ เพื่อนชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชาวระยอง ในภาพของ "เพื่อนชุมชน สู่ชุมชนเดียวกัน" อย่างยั่งยืน
 
โดยด้านการศึกษา สมาคมฯ ได้ดำเนินงานในหลายโครงการ ดังนี้ 1.โครงการทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชนรวม 97 ทุน (ตั้งแต่ปี 2554-2558) 2.โครงการเพื่อนชุมชนติวเตอร์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในจังหวัดระยอง ซึ่ง
 
พบว่าผลคะแนน ONET เฉลี่ยทั้งประเทศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 (สพม.เขต 18) ขยับขึ้นจากลำดับที่ 11 ในปี 2553 ขึ้นมาลำดับที่ 3 ในปี 2556 และปี 2557 3.โครงการมหกรรมการศึกษา Rayong Education Expo เปิดวิสัยทัศน์และแนะแนวด้านการศึกษาให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในจังหวัดระยองทุกช่วงวัย
 
ด้านสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ โครงการสนับสนุนทุนพยาบาล หลักสูตร 4 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในจังหวัดระยอง รวม 440 ทุน โดยในปี 2558 นี้ มีนักเรียนทุนพยาบาลรุ่นที่ 1 สำเร็จการศึกษา และเข้าทำงานในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดระยอง 7 แห่ง จำนวน 200 ทุน ด้านสังคม (เศรษฐกิจชุมชนและการสร้างความไว้วางใจการอยู่ร่วมกัน) ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ โครงการเพื่อนชุมชนพบชุมชน ครอบคลุม 68 ชุมชนในพื้นที่ 6 ตำบลของจังหวัดระยอง เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันในการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมและชุมชน
 
 
พนักงานราชการไทยทวงสิทธิ์หลังไร้ความคืบหน้า ตัวแทน "วิษณุ" ยันเทียบเท่า ขรก.ไม่ได้
 
(19 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มเครือข่ายพนักงานราชการไทยจำนวนประมาณ 70 คนนำโดยนายสมคิด โตสวงษ์ ประธานเครือข่ายฯ ได้มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องขอรับการพิจารณาช่วยเหลือการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีขอรับความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานในภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความมั่นคงแก่อาชีพที่จะสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกับบุคลากรของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวกลุ่มได้เคยเข้าพบสำนักงานข้าราชการพลเรือนมาแล้วครั้งหนึ่ง และได้ข้อสรุปว่าข้อเสนอของเครือข่ายพนักงานราชการไทยนั้นมีหลายประเด็นที่อยู่เหนืออำนาจการพิจารณาแก้ไขของสำนักงานข้าราชการพลเรือน
       
หลังจากนั้นกลุ่มจึงได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 แต่นายกรัฐมนตรีได้มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการบริหารพนักงานราชการเป็นผู้พิจารณา ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแต่ยังมิได้รับความคืบหน้าและความชัดเจนแต่อย่างใด จึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
       
ทั้งนี้ นายสาธิต สุทธิเสริม เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานมวลชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยจัดตัวแทนเครือข่ายฯ 12 คน เข้าหารือกับนายรณภพ ปัทมะดิษ หัวหน้าสำนักงาน รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ที่ชั้น 2 สำนักงาน ก.พ.โดยนายรณภพ ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากตำแหน่งพนักงานราชการเป็นตำแหน่ง ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น จะนำมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งข้าราชการซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมายาวนานแล้วไม่ได้ ดังนั้นสิทธิและสวัสดิการต่างๆ จะเทียบเคียงให้เท่าเทียมกันย่อมเป็นไปไม่ได้ พร้อมทั้งได้สอบถามข้อมูลในเรื่องเงินเดือน สิทธิการรักษาพยาบาล ค่าการศึกษาบุตร สิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมไปถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการในภาพรวมว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในปัจจุบัน เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำเสนอ นายวิษณุ เพื่อดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป 
 
 
BOI เผยยอดนักลงทุนจีนแซงหน้าญี่ปุ่น
 
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สถานการณ์การลงทุนอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า การลงทุนจากญี่ปุ่นตกลงเป็นอันดับ 2 หลังจากนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งลงทุนในนามบริษัทจีน และลงทุนในนามบริษัทสิงคโปร์ โดยการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตยางรถยนต์ โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้คาดว่า นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนยังประเทศไทยด้วยปริมาณเงินลงทุนมากสุดเป็นอันดับ 1 แทนนักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก 
 
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นลดลงมาจากการที่บีโอไอมีการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนที่เน้นดึงดูดเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ซึ่งปกติการลงทุนดังกล่าวมูลค่าจะไม่มาก ดังนั้น แม้ญี่ปุ่นจะสนใจลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสูง แต่ด้วยเม็ดเงินที่ไม่มาก ทำให้มูลค่ารวมลดลง ซึ่งตัวเลขอย่างเป็นทางการช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า การลงทุนจากต่างประเทศ FDI สิงคโปร์
 
อยู่อันดับ 1 มีมูลค่าอยู่ที่ 13,143 ล้านบาท แต่จำนวนนี้โครงการหลักเป็นของนักลงทุนจีน อันดับสองคือ จีน 10,739 ล้านบาท และอันดับสาม ญี่ปุ่น 9,918 ล้านบาท
 
 
สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับ 7 ธนาคารพาณิชย์ อำนวยความสะดวกนายจ้าง จ่ายเงินสมทบออนไลน์
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า สปส.เปิดให้บริการแก้ไขข้อมูล และชำระเงินสมทบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างผ่านระบบ e-Payment โดยเปิดให้บริการงานขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) การแจ้งเข้าทำงาน (สปส.1-03/1) การแจ้งลาออก (สปส.6-09) การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) และการส่งข้อมูลเงินสมทบ(สปส.1-10) และเปิดให้นายจ้างชำระเงินสมทบผ่านการหักบัญชีธนาคารผ่านระบบ e-Payment เข้าบัญชีเงินฝากของสำนักงานประกันสังคม โดยมีธนาคารให้บริการ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชัน และธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งนายจ้างต้องติดต่อลงทะเบียน เพื่อนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทาง www.sso.go.th พร้อมเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร และสมัครชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารที่ให้บริการ เมื่อนายจ้างทำการลงทะเบียนผ่านระบบเรียบร้อยแล้ว จะได้รับ USER และ PASSWORD สามารถเข้าใช้บริการได้ทันที และเมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ธนาคารจะออกใบเสร็จรับเงินส่งให้นายจ้างทางไปรษณีย์
 
นายโกวิท กล่าวอีกว่า นายจ้างสามารถชำระเงินสมทบ โดยผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการชำระเงิน พร้อมรับใบเสร็จทันที ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศหรือโทรสายด่วนสปส. 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
 
 
แห่ทำงานนอกประเทศ! พม่าขาดแรงงานเกษตร ต้องสั่งเครื่องจักรจากไทย
 
20 ต.ค. 2558 ที่บริเวณชายแดนด่านถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก แออัดเป็นอย่างมาก เพราะรถสินค้าต่างมาจอดรอเพื่อรอผ่านด่าน โดยรถบรรทุกจำนวนมากที่จะไปส่งสินค้ายังฝั่ง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ต่างมาเข้าคิวรอแต่เช้า เพราะหากมาสายอาจจะต้องตกค้างข้ามวัน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากรถสินค้าแล้ว ยังมีรถบรรทุกเครื่องจักรกล ทั้งรถไถ รถแทรกเตอร์ รวมทั้งรถเกี่ยวข้าว ที่มีการส่งข้ามไปยังประเทศเมียนมา มากเป็นพิเศษ เดือนหนึ่งกว่า 300 คัน
 
ส่วนสาเหตุทราบว่า ขณะนี้ประเทศเมียนมา กำลังขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรจำนวนมาก เพราะแรงงานที่มีอยู่ต่างพากันเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงสูงกว่าหลายเท่าตัว ทำให้เมียนมา ต้องสั่งเครื่องจักรไปทำงานแทน
 
นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มการสั่งเครื่องจักรเข้าไปในเมียนมา เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะขาดแคลนแรงงานระดับล่าง เนื่องจากต่างพากันไปทำงานนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีค่าแรงสูงกว่ามาก จึงต้องสั่งเครื่องจักรไปทดแทนแรงงาน.
 
 
"ฟิลิปส์" ดีเดย์ปิดฉากโรงงานหลอดไฟบางปู ไตรมาส 3 ปีหน้า ด้าน "พานาโซนิค" ยุบฐานผลิตหม้อหุงข้าวไปมาเลย์-อินเดีย
 
ศูนย์กลางในการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทยอาจต้องเปลี่ยนไป เมื่อตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแบรนด์ยักษ์ใหญ่คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ต่างทยอยโยกย้ายฐานผลิต หรือปิดโรงงานในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด "ฟิลิปส์" ได้ประกาศแจ้งพนักงานเพื่อปิดโรงงานผลิตหลอดไฟที่บางปู ในปลายปี 2559 นี้แล้ว
 
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามประเด็นดังกล่าวไปยัง บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการชี้แจงถึงทิศทางของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ว่า เป็นโรงงานผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สำหรับตลาดในเอเชียและผลิตหลอดฟลูออเรส เซนต์
 
สำหรับตลาดทั่วโลก ซึ่งเตรียมจะปิดโรงงานในปีหน้า เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมแสงสว่างทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงระยะเวลา เปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีแสงสว่างแบบเดิมไปสู่เทคโนโลยี Digital Lighting(LED) ส่งผลให้ความต้องการหลอดไฟเทคโนโลยีแบบเดิมลดลง บริษัทจึงมีแผนจะปิดการดำเนินงานโรงงานผลิตหลอดไฟดังกล่าว โดยมีผลภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2559
 
การปิดโรงงานผลิตหลอดไฟฟลูออเรส เซนต์นี้ เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรม แสงสว่างทั่วโลกในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่โรงงานหลอดไฟที่ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยแต่อย่างใด
 
อย่างไร ก็ตาม บริษัทขอยืนยันว่า การปิดโรงงงานผลิตหลอดไฟนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์หลอดฟลูออเรสเซนต์ทั้งชนิดตรงและ กลมแต่อย่างใด เพราะบริษัทยังขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเมืองไทยต่อไป โดยได้แจ้งให้กับพนักงานรับทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ถึงแผนและกำหนดการปิดสายการผลิต และได้วางแผนเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้ง นี้
 
อนึ่ง ฟิลิปส์ได้ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยนานกว่า 63 ปี ด้วยจำนวนพนักงาน 200-300 คน และเป็น 1 ใน 5 ฐานหลักสำหรับการผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีโรงงานในประเทศแถบยุโรป, อเมริกา,จีน, อินเดีย และไทย เพื่อป้อนตลาดเอเชียและตลาดโลก
 
ขณะ ที่สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่า ล่าสุด โตชิบา ประเทศญี่ปุ่น มีแผนปฏิรูปเครือข่ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ใน 3 ประเทศ คือ จีน อินโดนีเซียและไทย อีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปบริษัทครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูกิจการรวมถึงสร้าง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
 
นายมาซาชิ มุโรมาจิ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โตชิบา คอเปอเรชั่น ญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทต้องรวมศูนย์ฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเปิดตัวสินค้าและนวัตกรรม ที่ล่าช้ากว่าคู่แข่งจนสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ในญี่ปุ่นก็จะอยู่ในข่ายที่ต้องถูกปรับเปลี่ยนทั้งนี้ 
 
โตชิบาอาจจะต้องถอนตัวออกจากสินค้าบางกลุ่มในตลาดเพื่อลดความเสียหายจากการแข่งขันกับสินค้าแบรนด์จีนและไต้หวันที่แย่งส่วนแบ่งตลาดไปอย่างต่อเนื่อง 
 
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ โตชิบาเตรียมประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการในปลายเดือน ต.ค.หรือต้นเดือน พ.ย.นี้
 
สอดคล้อง กับภาพความเคลื่อนไหวค่ายพานาโซนิคที่ประกาศปิดโรงงานผลิตหม้อหุงข้าวไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อนในเมืองไทยและย้ายฐานการผลิตไปยังมาเลเชียและอินเดียเมื่อ วันที่ 30 กันยายน 2558 โดยบริษัทพานาโซนิค แอ็พไลแอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกาศจ่ายเงินค่าชดเชยและเงินพิเศษให้พนักงานที่ได้เข้าโครงการ สมัครใจลาออก ซึ่งทางบริษัทมีการประกาศล่วงหน้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ให้เข้าโครงการให้วันที่ 1 พฤษภาคม-มิถุนายน 2558 ซึ่งมีพนักงานเข้าโครงการเกือบ 400 คน
 
นายเฉลย สุขหิรัญ ประธานสหภาพแรงงานพานาโซนิคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ชี้แจงว่า ต้องการปิดแผนกการผลิต 2 แผนกคือ แผนกผลิตหม้อหุงข้าวกับแผนกผลิตกระติกน้ำร้อน เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ โดยฐานการผลิตกระติกน้ำร้อนจะไปรวมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ส่วนหม้อหุงข้าวได้ย้ายฐานไปประเทศมาเลเซียและอินเดีย
 
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลี 2 ค่าย คือ แอลจี และซัมซุง ได้ย้ายฐานการผลิตทีวีจากไทยไปยังโรงงานเวียดนามแล้ว จากก่อนหน้านี้ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหนึ่งก็ได้ย้ายฐานการผลิตบาง ส่วนออกไปจากไทยแล้วเช่นกัน อาทิ บริษัท โตชิบา สตอเรจ ดีไวซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ย้ายสายการผลิตฮาร์ดดิสก์ ทั้งหมดจากไทยไปที่ฟิลิปปินส์ และขายโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ในไทย 
 
ขณะ ที่โตชิบา ประเทศไทย ได้ย้ายการผลิตทีวีทั้งหมดไปยังโรงงานในมาเลเซีย รวมถึงผู้ผลิตกล้องรายใหญ่ นิคอน ได้ขยายไลน์การผลิตชิ้นส่วนกล้องดีเอสแอลอาร์บางส่วนจากไทยไปยังลาว เมื่อปี 2556 เป็นต้น
 
 
สปส.ยืนยันปี 58 ยังไม่มีการเก็บเงินสมทบเพิ่ม
 
วันที่ 20 ตุลาคม นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวเพิ่มสิทธิประกันสังคมไม่เพิ่มเงินสมทบ ว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ในกรณี เช่น ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เจ็บป่วย เป็นต้น และประเมินว่าจะต้องใช้เงินกองทุนเพิ่มอีกปีละ 4,500 บาท จากเดิมในปี 2557 ที่ใช้งบประมาณในสิทธิประโยชน์ทั้งหมดประมาณ 59,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2558 ใช้งบประมาณ 39,000 ล้านบาท สปส.จึงศึกษาหาแนวทางการเพิ่มเงินในกองทุน แต่ขอยืนยันว่าภายในปี 2558 นี้ยังไม่มีการเก็บเงินสมทบเพิ่ม
 
นายโกวิทกล่าวว่า การศึกษาของ สปส.มีหลายแนวทาง อาทิ การขยายการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนในการจัดเก็บเงินสมทบ จากปัจจุบันต่ำสุดที่ 1,650 – 15,000 บาท โดยอาจจะขยายฐานเงินเดือนเป็นต่ำสุด 3,000 - 20,000 บาท แต่ทุกแนวทางอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูล คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางภายในต้นปี 2559
 
"หากอนาคตมีการขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนเพื่อเก็บเงินสมทบเพิ่มนั้น ขอยืนยันว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้ประกันตน เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ เช่น ชราภาพ ทุพพลภาพมากขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงในระยะยาว"
 
นายโกวิทกล่าวว่า หากจะให้กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น จะต้องมีการเพิ่มอัตราเงินสมทบให้มากกว่าปัจจุบันที่จัดเก็บจากนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างรายเดือน และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบร้อยละ 2.5 ซึ่ง สปส.ยังอยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเก็บเงินสมทบของประเทศต่าง ๆ ว่ามีการดำเนินการอย่างไร คาดว่าผลศึกษาจะได้ข้อสรุปภายในปี 2559 หลังจากนั้นจะนำข้อมูลหารือกับรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ปี และหากจะมีการประกาศใช้แนวทางใด ก็จะประกาศให้ทราบล่วงหน้า
 
 
แรงงานสาวโคราช แห่สมัครไปทำงานภาคการเกษตร ที่ประเทศอิสราเอล เป็นจำนวนมาก
 
ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ถ.สืบศิริ ต.ในเมือง นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ สมัครไปทำงานภาคการเกษตร ที่ประเทศอิสราเอล โดยทาง กรมการจัดหางาน ได้ร่วมกับประเทศอิสราเอล จัดขึ้นเพื่อเปิดรับแรงงานเพศหญิงไปทำงาน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากแรงงานสาวเป็นจำนวนมาก นางสาวอมราพร จิตรโคกกรวด อายุ 24 ปี ชาว อ.พิมาย ที่มาร่วมสมัครงานในครั้งนี้ กล่าวว่า การจะหางานทำในจังหวัดนครราชสีมา แล้วมีเงินเดือนที่สูงนั้น คงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งที่ผ่านมาค่าจ้างแรงงานค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องนำมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว เมื่อรับทราบข่าว จึงเดินทางมาสมัคร โดยหวังว่า หากตนได้รับการคัดเลือกจะได้มีประสบการณ์ทำงาน รวมถึงมีเงินเดือนที่สูง สามารถส่งกลับมาเลี้ยงดูครอบครัวได้
 
ด้าน นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การเปิดรับสมัครแรงงานไปทำงานภาคการเกษตร ที่ประเทศอิสราเอลครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่สนใจ อายุระหว่าง 23 - 40 ปี โดยหากแรงงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงาน จะได้รับเงินเดือนประมาณ 4,560 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 37,200 บาท ซึ่งประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่สนใจจะไปทำงาน สามารถมาสมัครได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเปิดรับสมัครถึงพรุ่งนี้ (21 ตุลาคม 2558) นี้ หรือจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา โทร 044 - 355 - 266 - 7 ต่อ 106 ได้ในวันและเวลาราชการ
 
 
แรงงานไทยไหลตายที่อิสราเอลเป็นรายที่ 14 ในปีนี้แล้ว 
 
น.ส.อังสนา สีหพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีแรงงานชายไทยอายุ 27 ปี ชาว จ.มหาสารคาม ซึ่งเดินทางไปทำงานในอิสราเอล ได้เสียชีวิตด้วยโรคไหลตาย นับเป็นแรงงานไทยคนที่ 14 ที่เสียชีวิตในปีนี้ ขณะที่สถิติที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นทางการพบว่าในช่วงปี 2552 จนถึงปี 2558 มีแรงงานไทยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ในอิสราเอลแล้ว 182 ราย หรือโดยเฉลี่ยปีละประมาณกว่า 20 ราย สำหรับรายล่าสุดนี้ญาติแจ้งว่าบิดาเคยเสียชีวิตด้วยอาการเดียวกันมาแล้ว
 
น.ส.อังสนา กล่าวว่าเนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มีไม่น้อย สถานทูตฯ เห็นว่าควรมีการผ่าพิสูจน์ศพเพื่อหาสาเหตุและศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตต้องการให้ส่งศพกลับภูมิลำเนาโดยเร็วและไม่ต้องการให้ผ่าพิสูจน์
 
“แพทย์มีข้อสันนิษฐานว่านอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว การทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอสุขอนามัยและการกินก็มีส่วน ขณะนี้กระทรวงแรงงานและฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หารือกันแล้วว่าแรงงานไทยที่จะเดินทางมาทำงานในอิสราเอลจำเป็นต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไหลตายหรือไม่”
 
น.ส.อังสนา กล่าวว่า ในแง่ความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในอิสราเอลนั้น จากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า สภาพความเป็นอยู่ยังมีคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สถานทูตเองได้รายงานเรื่องนี้ไปยังกระทรวงแรงงานแล้วเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลบังคับใช้กฎหมายและตรวจตรานายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้กับแรงงาน รวมทั้งพยายามผลักดันเรื่องการยกระดับสภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ให้ได้มาตรฐานสากล หรือยอมรับได้ แม้สิ่งนี้จะป้องกันการไหลตายโดยตรงไม่ได้ แต่ก็จะทำให้แรงงานทั่วไปมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
 
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้แรงงานไทยบางส่วนยังมีปัญหาเรื่องค่าแรง สวัสดิการ และการหักภาษีที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดกับแรงงานชาติอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ด้วย
 
“สิ่งที่สถานทูตอยากให้ทำคือ เมื่อทางอิสราเอลซึ่งรับแรงงานจากไทยภายใต้โครงการร่วมมือไทย-อิสราเอล ไม่ทำอะไร เราคงต้องต่อรอง และมาตรการที่ได้ผลที่สุดยิ่งกว่าการเจรจาคือระงับการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล ในเวลาเดียวกันไทยเองก็ควรส่งเสริมให้ส่งเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือให้ออกมาทำงาน เพื่อให้ได้ค่าแรงสูงและได้รับการยอมรับจากนายจ้างหรือสังคมของประเทศนี้ มิใช่ถูกมองเป็นกลุ่มคนในระดับต่ำสุดของสังคม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรไม่ต้องให้คนไทยซึ่งมีทักษะด้านการเกษตรไม่ต้องออกมาขายแรงงานนอกประเทศอยู่แบบยากลำบาก แต่ให้ใช้ภูมิปัญญาเพื่อทำกินในประเทศ ทำงานให้ได้ผลผลิตเต็มที่แก่ประเทศเรา ซึ่งก็กำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร”
 
ด้านนายสงกรานต์ ป่านไหม แรงงานไทยซึ่งทำงานด้านเกษตรอยู่ที่โมชาฟฟาราน ทางตอนใต้ของอิสราเอล บอกกับบีบีซีไทยว่า เขาเดินทางไปทำงานในอิสราเอลตั้งแต่กลางปี 2555 ขณะนี้ประสบปัญหานายจ้างไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาตามจริง 
 
นายสงกรานต์ กล่าวว่าเขาพอใจในการทำงานในระดับหนึ่ง แต่เห็นว่ามาตรฐานทั้งเรื่องรายรับ สภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในแต่ละจุดแตกต่างกัน นอกจากนี้เขายังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายรับที่ได้รับนั้นถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ นายสงกรานต์กล่าวด้วยว่า "หากไม่คิดอะไรก็สุขใจอยู่ แต่ถ้าคิด ก็จะรู้สึกเสียเปรียบ เขากำหนดเราทุกอย่าง เป็นการบีบกันเกินไป”
 
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับแรงงานบางส่วนทางโทรศัพท์ บีบีซีไทยรับทราบว่ามีผู้ที่พอใจกับสภาพการทำงาน และได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างในระดับที่ยอมรับได้เช่นกัน
 
 
ออกแบบก่อสร้างซบตาม ศก. สถาปนิกจี้รัฐหนุนไปต่างประเทศ
 
นายสถิรัตน์ ตัณฑนันท์ ประธานสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย (อาคาเซีย) เปิดเผยว่า ได้ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 36 และยังได้จัดงาน อาคาเซีย ฟอรั่ม ครั้งที่ 18 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 11-16 พฤศจิกายนนี้ โดยมีสถาปนิกกว่า 19 ประเทศเข้าร่วม และจะมีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างอาคาเซียกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอุทกภัยในเอเชียด้วย
 
นายสุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธุ์ กรรมการกลาง สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดงานออกแบบปีนี้ทั้งในภูมิภาคและในประเทศค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น โดยงานออกแบบในไทยชะลอตัวมากสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องออกไปรับงานต่างประเทศมากขึ้น ส่วนการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลต่องานก่อสร้างและงานออกแบบใหม่ในต้นปีหน้า ส่วนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นโอกาสของธุรกิจออกแบบ เพราะเคลื่อนย้ายแรงงานได้ แต่ อยากให้รัฐสนับสนุนผู้ประกอบการออกไปรับงานต่างประเทศ เช่นเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีการสนับสนุนเรื่องเงินทุนด้วย
 
 
สภาพัฒนาการเมืองเก็บข้อมูล ผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษตามหัวเมืองชายแดนที่มีศักยภาพเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นความหวังการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเร่งพัฒนาก็สร้างปัญหาสร้างผล
กระทบให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง เช่น กรณีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษทับที่ทำกินของชาวบ้านใน อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และทับป่าชุมชนในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
 
สภาพัฒนาการเมืองจึงได้ริเริ่มกระบวนการสัมมนาระดมความเห็นเก็บข้อมูลจากพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เปิดเวทีที่ จ.ตราด
 
สมาน ฟูแสง รองประธานสภาพัฒนาการเมืองคนที่ 1 กล่าวว่า การประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด เกิดปัญหาความขัดแย้งหลายพื้นที่ ส่วน จ.ตราด ยังไม่มีปัญหา เห็นว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเร็วเกินไป ได้ประกาศเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและสาธารณประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้
 
“เราจึงทำให้เกิดเวทีและระดมสมองเพื่อเก็บข้อมูลด้วยการจัดเก็บข้อมูลจาก 3 เวทีและตราดเวทีที่ 4 สุดท้ายจะไปที่สระแก้ว และจะมีการประชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อสรุปครั้งสุดท้าย เพื่อให้รัฐบาลทบทวนในส่วนที่มีปัญหา” รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าว
 
สมาน กล่าวว่า ผลสรุปจากเวทีที่ตราดจะรวบรวมพร้อมกับ 4 เวทีแล้วนำเสนอปัญหาให้รัฐบาล หลังได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งสุดท้ายก็จะมีตัวแทนจาก 5 จังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเข้าร่วมประชุมพร้อมกับนักวิชาการ แล้วสรุปปัญหาทั้งหมดให้รัฐบาลได้ทบทวนในพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะพื้นที่หลายแห่งต้องการนำอุตสาหกรรมการหนัก 13 ประเภทเข้าไปทำให้ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน หรือการประกาศพื้นที่พัฒนาทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของประชาชน เช่น ที่ จ.ตาก และมุกดาหาร ที่มีปัญหามากและได้รับการคัดค้านอยู่ แต่ที่ จ.ตราด ไม่มีปัญหามากนัก ซึ่งน่าจะเป็นโมเดลที่น่าสนใจเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดตราด มองในเรื่องของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
ด้าน ชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ตราด มองว่า การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษมาจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแม้จะมีการตั้งที่เร็วไปก็จริงแต่ทางจังหวัดก็รับฟังเสียงและการตั้งเขตที่ อ.คลองใหญ่ ทางจังหวัดมองการพัฒนาในภาพรวมทั้งจังหวัดเพราะทุกอำเภอต้องเตรียมตัวรองรับความเจริญ
 
ผวจ.ตราด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จ.ตราด มีมูลค่าการค้ากับกัมพูชาสูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดเป็นฝีมือของประชาชนล้วนๆ แต่วันนี้รัฐบาลเข้ามาช่วย ซึ่งมั่นใจว่ามูลค่าการค้าจะมากและเพิ่มขึ้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนตราดที่ชอบความสงบ เรียบง่าย
 
“เรายังต้องเป็นเมืองกรีนซิตี้ เราจะไม่เอาอุตสาหกรรมหนัก แต่จะเอาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนิคมอุตสาหกรรมจะไม่เข้ามาในพื้นที่เหมือนที่ จ.ระยอง แต่เราต้องการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น” ผวจ.ตราด กล่าว
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net